นักวิชาการกฎหมายชวนมอง “รัฐธรรมนูญไทย” บนเส้นทาง “การเปลี่ยนผ่าน”

วันพระราชทานรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา กลุ่ม Third Way Thailand ได้จัดงานเสวนา รัฐธรรมนูญไทย บนเส้นทางการเปลี่ยนผ่าน โดยนำนักวิชาการด้านกฎหมายมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองต่อรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 นี้ว่า

รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะนำพาประเทศไทยไปสู่การเปลี่ยนผ่านในรูปแบบไหน และอะไรคือสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป

 

สมชาย ปรีชาศิลปกุล / รัฐธรรมนูญฉบับอภิชนเป็นใหญ่ และคนตายไม่ควรปกครองคนเป็น

นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล นักวิชาการนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเริ่มว่า เวลาคิดถึงสังคมไทยเปลี่ยนผ่านจากอะไรสู่อะไร อยากลองคิดแบบโลกสวย คือคาดหวังว่าระบอบเผด็จการจะเสื่อมความนิยมและประชาชนลุกฮือ คือมันดี แต่ต้องระวังแง่ร้ายด้วย หากเรียกระบอบที่เป็นอยู่ในตอนนี้ว่า “ระบอบคสช.” คิดว่าระบอบคสช. มันไม่ใช่ระบบอำนาจนิยมของทหารเพียงอย่างเดียว แต่มีเครือข่ายรายล้อม หนุนเสริมอย่างสำคัญ ถ้าตัวอย่าง ระบอบ คสช. ใช้มาตรา 44 ทุกวัน มันจะใช้ไม่ได้เลยถ้าศาลไม่เกี่ยวข้องด้วย เวลาคิดถึงระบอบคสช. ต่อให้ คสช.ไปแล้ว แต่โครงสร้างยังอยู่ เรียกว่าต่อให้ประยุทธ์ไม่อยู่ แต่สิ่งนี้ยังอยู่ นี่คือเครือข่ายที่รายล้อมและยังคงอยู่หากอาศัยมาตรฐานที่เป็นอยู่ในสังคม

ต่อให้มีรัฐธรรมนูญ หรือเลือกตั้ง อย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญ 2560 เป็นแบบไหน ถ้าถามขึ้นมา คงสรุปได้ว่า รธน.2560 คือ “รัฐธรรมนูญฉบับอภิชนเป็นใหญ่” ไม่ใช่รัฐธรรมนูญของคนทุกคนแต่เป็นของคนบางกลุ่ม มันสถาปนาเครือข่ายเสียงข้างน้อย ต่อให้มีการเลือกตั้ง อาจเปลี่ยนจากระบอบอำนาจนิยมสู่ “ประชาธิปไตยจำแลง” เปลี่ยนเหมือนไม่เปลี่ยน อาจเห็นทหารน้อยคน หรือไม่มีสมาชิกสภาคนดีทั้งหลาย แต่กรอบระบบยังกำหนดสังคมไทยต่อได้อีก

เรื่องที่สอง การเปลี่ยนผ่านมันสำคัญอย่างไร รัฐธรรมนูญจะทำหน้าที่ยังไง ตนคิดว่าเวลาสังคมเปลี่ยนผ่าน สิ่งที่รัฐธรรมนูญมันสำคัญคือ แง่หนึ่งคือ มันให้ความชอบธรรมกับสถาบันทางการเมืองที่ดำรงอยู่ แต่อีกแง่ สิ่งที่รัฐธรรมนูญจะทำให้สังคมเดินหน้า ในภาษาอังกฤษจะใช่้คำว่า Self-Collecting System หมายความว่ารัฐธรรมนูญมีกลไกแก้ไขในตัวมันเอง คือ

“รัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้น ไม่มีฉบับใดสมบูรณ์เพรียบพร้อมและใช้ไปตราบฟ้าดินสลาย แต่รัฐธรรมนูญถูกเขียนขึ้น ณ สถานการณ์ใด นั้นมันทำให้มีข้อบกพร่อง เปลี่ยนแปลงได้ และในรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย มันเปิดโอกาสให้ประชาชน แก้ไขเยียวยาได้ในตัวเอง”

ตัวอย่างของลักษณะของการแก้ไขในตัวเอง อย่างนายโทมัส เจฟเฟอร์สัน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 3 หนึ่งในผู้ก่อตั้งประเทศ นายเจฟเฟอร์สันเสนอว่า รัฐธรรมนูญนั้นควรเขียนใหม่ทุกรุ่นคน หมายความว่า รัฐธรรมนูญเขียนแล้วไม่ควรใช้ไปเรื่อยๆ เพราะมันถูกเขียนขึ้นภายใต้บรรยากาศสังคมแบบหนึ่ง จึงควรสามารถเปลี่ยนได้

โดยคำถามหลักคือ คนรุ่นหนึ่งมีสิทธิสร้างภาระให้กับคนอีกรุ่นหรือไม่ นายเจฟเฟอร์สันกล่าวว่า คนรุ่นเรามีสิทธิกำหนดชะตากรรมคนรุ่นถัดไปขนาดไหน ในจดหมายฉบับหนึ่งที่นายเจฟเฟอร์สันเขียนไว้ ได้สรุปไว้ว่า Dead should not govern the living (คนตายไม่ควรปกครองคนเป็น) ตอนนั้นรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาฉบับแรกในปี ค.ศ.1787 ถูกยกย่องเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่สมบูรณ์แบบที่สุด ฉะนั้นเมื่อเป็นฉบับแรก ความกังวลเหล่านี้จึงน่าสนใจ จึงเสนอว่าพอคนรุ่นหนึ่งจากไป คนรุ่นใหม่ก็เขียน ตั้งแต่ 1787 จนถึง ตอนนี้ สหรัฐฯยังคงใช้ฉบับเดิม เพียงแต่เปิดโอกาสให้แก้ไขตัวมันเอง ถ้าตรงไหนไม่ได้ก็แก้ไข ทำให้รัฐธรรมนูญสหรัฐฯฉบับเดียว ถูกแก้ไขมาแล้วกว่า 20 ครั้ง ไม่ต้องเขียนใหม่ เพราะการเปิดให้แก้ไขสิ่งที่บกพร่องได้ นี่จึงเป็นหัวใจสำคัญ

ถ้าจะใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนผ่าน มันต้องมีระบบแก้ไขตัวเองรองรับ ข้อเสนอของเจฟเฟอร์สันจึงน่าสนใจ จึงกล่าวได้ว่า รัฐธรรมนูญถูกสร้างขึ้น ไม่ได้ถูกค้นพบ มีกาละเทศะ มันเหมาะกับช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยยังต้องเปิดให้แก้ไขเพราะว่า มันไม่มีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ การเขียนรัฐธรรมนูญและใช้ไปชั่วลูกชั่วหลานนั้นไม่มี

นายสมชายกล่าวว่า สำหรับประเทศไทย ผ่านมา 85 ปี มีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 20 ฉบับ เฉลี่ยฉบับละ 4 ปี 3 เดือน รัฐประหาร 12-13 ครั้ง เฉลี่ยเกิดขึ้นทุก 7 ปี ในแง่นี้ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยมันไม่สืบเนื่องหรือเปิดโอกาสให้ระบบได้แก้ไขตัวเอง หากพิจารณาการเปลี่ยนผ่านของสังคมไทยกับรัฐธรรมนูญ คิดว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงแต่ไม่สืบเนื่อง หรือมีรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ให้สืบเนื่อง

ที่ผ่านมา สังคมไทยที่เผชิญกับระบอบอำนาจนิยม เกิดความเสื่อมนิยมและเคลื่อนไหวผลักดัน ขับไล่ มันมีบทเรียนที่ต้องคิด อย่างแรก การลุกฮือจากอารมณ์ปะทุของประชาชน มักจบลงที่การเปลี่ยนตัวบุคคลหรือเอาบุคคลออกจากตำแหน่ง เอายอดภูเขาน้ำแข็งออกไปแต่ไม่ได้เอาฐานน้ำแข็งของปัจจัยการสร้างอำนาจให้เกิดขึ้น การแก้ไข ออกแบบรัฐธรรมนูญมันไม่ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงในส่วนต่างๆ โดยเฉพาะเครือข่ายที่เกื้อหนุน คสช. อุดมการณ์ขององค์กรรัฐที่มีต่อระบอบเผด็จการ ไม่ใช่เรื่องที่แก้ได้ชั่วข้ามคืน ต่อให้ประยุทธ์ไป แต่อุดมการณ์ยังอยู่และจะหวนกลับมาได้ อำนาจเผด็จการที่อยู่ในสังคมไทยมันไม่ใช่แค่มาจากปากกระบอกปืน แต่ยังมีอำนาจต่่างๆค่อยส่งเสริมอยู่

อย่างที่สอง เวลาพูดถึงการเปลี่ยนผ่าน เรามักคาดหวังกับการเดินไปข้างหน้า แต่กลับละเลยพลังปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ 2540 คือตัวอย่างที่ดีที่เราคาดหวังในการเดินหน้า การกระจายอำนาจ การตรวจสอบถ่วงดุล แต่กลับไม่มีเรื่องปฏิรูปกองทัพอย่างจริงจัง ถ้าเราจะเปลี่ยน พลังที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเปลี่ยนแปลงสู่ระบอบประชาธิปไตยต้องถูกคิดถึงมากขึ้น ถ้าไม่คิดถึงปัจจัยที่สนับสนุนเผด็จการ มันจึงเป็นเพียงแค่พลังประชาชนที่เปลี่ยนยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น

 

ปิยบุตร แสงกนกกุล / “รัฐธรรมนูญไทย” สิ่งบ่งชี้อำนาจผู้สถาปนา

นายปิยบุตร แสงกนกกุล นักวิชาการนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวว่า ถ้าลองดูรัฐธรรมนูญไทยที่มีอยู่ 20 ฉบับ เมื่อพูดถึงการเปลี่ยนผ่าน ในด้านรัฐศาสตร์ มันจะศึกษาเฉพาะเจาะจงในเรื่อง การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย หรือ Democratization จะทำยังไงเพื่อให้ออกจากเผด็จการไปสู่ประชาธิปไตย ซึ่งมีหลายรูปแบบ ที่นี้ในวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่ศึกษาในตัวรัฐธรรมนูญ และเป็นไปได้ว่า รัฐธรรมนูญที่มีอยู่จะถูกเปลี่ยนไปอีกฉบับนั้นด้วยวิธีการอะไร ถ้าศึกษาในแง่นั้น จะวางตัวเป็นกลางทางการเมือง มันจึงเป็นไปได้เสมอที่รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยจะเปลี่ยนเป็นเผด็จการก็ได้ หรือรัฐธรรมนูญเผด็จการเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยก็ได้

ถ้าดูในแง่การเปลี่ยนผ่าน รัฐธรรมนูญที่ถูกเปลี่ยนใหม่ มันเปลี่ยนด้วยวิธีอะไร เห็นได้ว่าส่วนใหญ่เกิดจากการรัฐประหาร รัฐธรรมนูญที่ดีถูกฉีกทิ้งและแทนที่ด้วยรัฐธรรมนูญอีกฉบับ มันมีอยู่ 3 กรณี ที่เปลี่ยนโดยไม่ได้เกิดจากการรัฐประหาร ครั้งที่ 1 คือ จาก 24 มิ.ย.2475 เป็นฉบับ 10 ธ.ค.2475 ครั้งที่ 2 ฉบับ 10 ธ.ค.2475 มาเป็นฉบับ 10 พ.ค.2489 และอีกครั้งคือ ฉบับ 9 ธ.ค.2534 มาเป็น รธน.2540 ซึ่งใช้วิธีนุ่มนวล ไม่ได้ใช้กำลัง ประเทศไทยเปลี่ยนมาหลายครั้ง แต่เปลี่ยนตามวิถีอารยธรรมเพียง 3 ครั้ง

การเปลี่ยนผ่านที่ราบรื่นทั้ง 3 ครั้ง มันสะท้อนสภาพทางการเมืองในแต่ละช่วงเวลาว่า มันเกิดฉันทามติที่ให้ผ่านได้ ถ้าไม่มีวันให้ทำก็จะทำไม่สำเร็จ ถูกมีอำนาจทางการเมือง พลังทางการเมืองแต่ละฝ่าย มันยินยอมพร้อมใจให้ทำไหม ก็ทำได้ แต่ถ้าไม่พร้อมใจให้ทำ ไม่มีวันสำเร็จและทางออกก็จะเป็นการรัฐประหาร

ถ้ามองช่วงเวลาของรัฐธรรมนูญทั้ง 20 ฉบับ ฉบับที่อายุยืนที่สุดคือ 10 ธ.ค. 2475 รองลงมาคือ ฉบับ 2540 รองลงอีกคือ ธรรมนูญการปกครองยุคสฤษดิ์ พ.ศ.2502 จะเห็นว่าที่เหลือจะมีแต่รัฐธรรมนูญชั่วคราว รัฐธรรมนูญที่อายุยาวหรือสั้น อยู่ที่ดุลยภาพทางการเมืองในเวลานั้นๆ 10 ธ.ค.2475 ที่อายุยืนได้เพราะเป็นผลของการประนีประนอมระหว่างฝ่ายจารีตนิยมกับคณะราษฎร ถึงกระนั้น ก็ยังมีอุบัติเหตุทางการเมืองเกิดขึ้นแต่ยังผ่านมาได้ ส่วนฉบับ พ.ค.2489 ก็มีอุบัติเหตุทางการเมืองครั้งใหญ่ ที่จบลงด้วยการรัฐประหาร 2490

ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 อยู่ยาวนานได้ยังไง เพราะในตอนนั้น ประชาชนมีฉันทมติว่า จะปฏิรูปการเมือง เปลี่ยนผ่านให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น หลังอยู่ในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบมาหลายปี บวกกับวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 จนต้องเรียกร้องว่าต้องเป็นแบบนี้ แต่ยังถูกฉีกทิ้ง เพราะปัญหาดุลอำนาจ

ในทางกลับกัน รัฐธรรมนูญที่อยู่กันยาวๆ มีแต่เกิดรัฐประหาร ดังนั้น ทั้ง 20 ฉบับ มันไม่ได้เป็นเพียงกองกระดาษปึกใหญ่ แต่เบื้องหลังกลับเต็มไปด้วยการวัดกำลังของกลุ่มอำนาจทางการเมืองฝ่ายต่างๆ หากเรียกง่ายๆ จะเป็นระหว่างฝ่ายชนชั้นนำกับฝ่ายประชาธิปไตย ประลองกำลังกันมาตลอด 85 ปี แล้วยังไม่จบ มีอีกหลายยก ชีวิตรัฐธรรมนูญไทยมันผูกพันกับเรื่องพวกนี้ และยังตกลงไม่ได้

วงจรชีวิตของรัฐธรรมนูญ เรามักจะเรียนกันว่า ประเทศไทยอยู่ในวงจรอุบาทว์ พอมีรัฐธรรมนูญ นักการเมืองโกง ชั่วช้า ทหารต้องมาฉีกรัฐธรรมนูญและทำฉบับใหม่ พอเลือกตั้งซักพักกลับมาวุ่นวายอีก สิ่งที่กล่าวมาอยากให้กลับไปคิดดูว่า วงจรชีวิตรัฐธรรมนูญไทยที่เป็นแบบนี้ มันใช่วงจรอุบาทว์อย่างที่โฆษณาให้เชื่อกันมาตลอดหรือไม่

ส่วนวิธีที่แก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นทำกันอย่างไร หากจะแก้ไขฉบับ 2560 อย่างแรกคือทำตามกลไก คือ มาตรา 256 หากไม่สำเร็จ ใช้อีกวิธีคือประชาชนด้วยกันในการเรียกร้องให้ลงประชามติเพราะรัฐธรรมนูญเป็นของประชาชนก็มีสิทธิแก้ไขมันได้ เมื่อถึงตรงนั้น องค์กรรัฐจะตอบรับหรือไม่ เพราะในเมื่อคณะรัฐประหารมีอำนาจฉีกรัฐธรรมนูญและทำใหม่ แล้วทำไมประชาชนจะทำการแก้ไขไม่ได้ ยกตัวอย่างกรณี ประชามติของแคว้นกาตาลุญญาในสเปนซึ่งชาวคาตาลันทำกันเอง เป็นต้น ดังนั้น เราจะออกแบบรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ คือกลับไปหาอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญซึ่งเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

ปัญหาที่เกิดขึ้นในการเมืองไทย มันไม่ใช่เรื่องของการออกแบบรัฐธรรมนูญอย่างไร มันยังมีอีกมาก นั้นคือ ปัญหารากฐานหัวใจของทุกระบอบการเมือง ที่สุดท้ายใครคือเจ้าของอำนาจในการทำรัฐธรรมนูญตัวจริง

 

ปูนเทพ ศิรินุพงศ์ – สิ่งแรกของการเปลี่ยนผ่านคือ การยอมรับว่าปัญหามีอยู่จริง

นายปูนเทพ ศิรินุพงศ์ นักวิชาการนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถามขึ้นว่า เมื่อเวลาพูดถึงการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนผ่านสังคม แน่นอนในสมัยใหม่เป็นการเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการสู่ประชาธิปไตย มันไม่ที่ไหนในโลกที่เข้ากระบวนการสู่ประชาธิปไตยเป็นเผด็จการ ถ้าประชาชนหรือองค์กรที่ใช้รัฐธรรมนูญเข้ามา การเปลี่ยนผ่านก็ต้องเป็นจากเผด็จการสู่ประชาธิปไตย กลับมาอยู่ร่วมกัน มีหลักการบางอย่างยึดเข้าไว้ด้วยกัน

การจัดทำรัฐธรรมนูญเพื่อที่จะเปลี่ยนผ่าน สิ่งที่ต้องคิดก็คือ ถ้าคิดจะเปลี่ยนผ่าน ปัญหาทุกปัญหาต้องถูกออกมาพูด ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกปิดปากไม่ให้พูด ว่ากันง่ายๆ ถ้าคิดจะเปลี่ยนผ่าน จะเปลี่ยนผ่านอะไร มันเป็นคำถามแรกพื้นฐานสำคัญที่สุดที่ต้องตอบกันตรงไปตรงมา ตราบใดที่พูดกันไม่ได้ ไม่มีทางเกิดอนาคตที่เป็นจริงได้ 

ในช่วงระหว่างการจัดรัฐธรรมนูญ จะเป็นช่วงสุญญากาศทางการเมือง เป็นช่วงที่กำลังทำกฎเกณฑ์ กติกาสูงสุดของระบบกฎหมาย มันจะเป็นตัวกำหนด จำกัด รับรองกลไกที่จะตามมา พร้อมทั้งรับกฎเกณฑ์ที่มีมาก่อนอยู่ในตัวมันเอง หมายความว่า เวลาจะทำรัฐธรรมนูญ เราต้องพูดได้ทุกเรื่อง ไม่ใช่ว่าพูดได้ภายใต้กรอบกติกาว่าอาจผิดกฎหมายได้ อย่างในบริบทสังคมไทย จะจัดทำรัฐธรรมนูญที มันมีกรอบ ข้อจำกัดเต็มไปหมด มาตรการคำสั่งที่กำหนดโทษทางอาญา แม้แต่การรณรงค์ที่นำไปสู่การจับกุมคุมขังหรือดำเนินคดีในช่วงลงประชามติ ดังนั้น การจะเข้าสู่ตรงนี้ มันต้องมีหลักประกันตามรัฐธรรมนูญ

วิธีแรกที่นำไปสู่การจัดทำคือ การใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่นำไปสู่การทำใหม่ ในต่างประเทศมันไม่ใช่ทหารฉีกแล้วไปทำใหม่ แต่เป็นรัฐธรรมนูญถูกทำขึ้นโดยสภาพสังคมหรือมีการรณรงค์หรือหาเสียงว่าจะจัดทำรัฐธรรมนูญ ส่วนใหญ่หลายที่ไมไ่ด้ทำเรื่องนี้ไว้ แต่มันมีกลไกเพิ่มเติม ใช้วิธีการที่มีอยู่เป็นกรอบพื้นฐาน ตัวรัฐธรรมนูญชั่วคราวจะเกิดขึ้นเพื่อนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ต้องอยู่ในความยินยอมเห็นชอบ ซึ่งจะไปรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

อีกวิธีหนึ่งคือ รัฐธรรมนูญชั่วคราวแต่ไม่ใช่รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับใหม่ขึ้นมา แต่เป็นการย้อนกลับไปในอดีต หาคุณค่าทางอุดมการณ์บางอย่าง ตัวอย่างเช่น ประเทศที่เคยปกครองแบบคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก สิ่งที่พวกเขาทำคือ จัดทำรัฐธรรมนูญเพื่อเยียวยา แต่ไม่ทำใหม่หมด เพราะมันไม่ได้ทำลายคุณค่าอันผิดพลาด ไม่เป็นธรรมในยุคคอมมิวนิสต์ แต่พวกเขาย้อนกลับไปอดีต สู่รัฐธรรมนูญยุคก่อนที่โซเวียตเข้ายึดครอง เพื่อจะบอกว่าที่จริงแล้ว ระบบกฎหมายที่มีแต่เดิม ได้เดินมาอย่างต่อเนื่องตามระบอบประชาธิปไตยมาตั้งแต่ก่อน เพียงแต่ก้าวพลาดไปบ้าง แต่สามารถสืบย้อนคุณค่าเดิมได้ 

ส่วนรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 เราจะถือว่าเป็นกติกาได้หรือไม่ ถ้าเราย้อนดูรัฐธรรมนูญชั่วคราวทุกฉบับในอดีต ไม่เคยเขียนกลไกแก้ไขในรัฐธรรมนูญชั่วคราวเอาไว้ ถามว่าทำไมไม่เขียน มีนักวิชากฎหมายท่านนหนึ่งเขียนว่า เหตุผลที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้เขียนว่า เพราะว่าคณะรัฐประหารต้องการให้ประชาชนมั่นใจว่าโรดแมปที่ประกาศไว้มันจะเกิดขึ้นจริง ถ้าเกิดแก้ไขเพิ่มขึ้นมา อะไรที่ไม่เคยเห็น ก็อาจจะได้เห็น

สุดท้ายพอมีกลไกแก้ไข มันไม่ได้มีหน้าที่เป็นกรอบอะไร เป็นเพียงแค่ตัวกฎหมายที่คอยทำหน้าที่ แก้ไขเพื่อสนองต่อความต้องการของผู้มีอำนาจไปวันๆ

ลักษณะจึงคล้ายกับสังคมในแก๊งมาเฟีย ที่เจ้าพ่อปกครอง ต่อให้มีกฎเกณฑ์แต่จะมีกฎข้อหนึ่งนั้นค่ือ “เจ้าพ่อถูกเสมอ” หมายความว่า ต่อให้มีกรอบกติกา ตัวเจ้าพ่อไม่ได้ผูกพักกับกรอบและกติกานั้นต้องสนับสนุน ส่งเสริม รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ก็ไม่ได้เป็นอะไรไปมากกว่าเศษกระดาษที่รับรองผู้เขียนรัฐธรรมนูญที่อยากให้เป็น

นายปูนเทพกล่าวอีกว่า แล้วไทยจะเป็นอย่างไรต่อ ถ้าไม่แก้ไขเพิ่มเติมในตัวบท และอยากสถาปนาอำนาจประชาชนขึ้นมา คำถามคือ ทำอย่างไร เป็นสิ่งที่ยากมากในทางความคิดเชิงรูปธรรม แต่ไม่ได้แปลว่าเป็นไปไม่ได้ โดยวิธีที่ใช้อาจจะเป็นความไม่เป็นเหตุผลของระบบที่เป็นอยู่ เป็นเครื่องมือในการหาคนเข้ามาเห็นด้วย เข้าไปมีส่วนร่วมทุกขั้นตอนอย่างแท้จริง ง่ายที่สุด กระบวนการที่ชอบธรรมที่สุดอาจเริ่มจากการทำประชามติ เพื่ออนุมัติกลไกการทำรัฐธรรมนูญ แม้ไม่ได้เป็นสิ่งที่ รธน.2560 ให้ทำได้ แต่เป็นสิ่งที่เป็นคุณค่าพื้นฐาน ในเมื่อทำประชามติจัดทำรัฐธรรมนูญได้ ก็สามารถทำประชามติยกเลิกรัฐธรรมนูญได้เช่นกัน

ถ้าประชามติของประชาชนในการจัดทำรัฐธรรมนูญเป็นที่สุด มันจะเป็นการยืนยันอำนาจสถาปนาว่าเป็นของประชาชน ไม่ใช่มีการทำประชามติแล้ว มีองค์กรรัฐใดปฏิเสธ หรือไม่ยอมรับสิ่งที่ผ่านประชามติไปแล้ว ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นและมันเป็นสิ่งที่อธิบายได้ดีว่า รัฐธรรมนูญที่ประชาชนทำขึ้นยังไงก็ดีกว่าสิ่งที่ทำขึ้นมาตลอด 85 ปีที่ผ่านมา