ทฤษฎีสมคบคิด! | สุรชาติ บำรุงสุข

การตั้งรัฐบาลหลังจากการเลือกตั้งพฤษภาคม 2566 ดูจะเป็นเรื่องน่าติดตามอย่างมาก และดูจะเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมากกว่าผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นเสียอีก เนื่องจากในแต่ละวัน เราได้ยินเรื่องราวของความพยายามในการจัดตั้งรัฐบาลในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะสิ่งที่เกิดในที่ไม่เปิดเผย หรือที่เรียกกันว่า “ดีลลับ” ตลอดรวมถึงข่าวปล่อยในเรื่องของการ “ชิงไหว-ชิงพริบ” ของพรรคอันดับ 1 และ 2 จนแทบจะกลายเป็น “ดราม่ารายวัน”

ข่าวของดีลลับและข่าวหักเหลี่ยมบนโต๊ะเจรจาถูกนำเสนอให้เราตื่นเต้นได้ทุกวัน และทำให้เราต้องติดตามอย่างใจจดใจจ่อ จนทำให้เราลืมประเด็นสำคัญไปว่า เรากำลังเห็นการจัดตั้ง “รัฐบาลผสม” ซึ่งเป็นเรื่องของการเจรจาต่อรองทางการเมือง และไม่มีรัฐบาลผสมใดเกิดขึ้นได้โดยปราศจากการต่อรองทางการเมือง เพราะการเจรจาต่อรองคือ ธรรมชาติทางการเมืองของความเป็นรัฐบาลผสมในตัวเอง แม้จะเป็นรัฐบาลผสมที่มีพรรคหลักได้คะแนนเสียงอย่างท่วมท้นเพียงใด ก็หลีกเลี่ยงเรื่องของการต่อรองในทางการเมืองไม่ได้
เราอาจสรุปแบบวิชา “รัฐศาสตร์ภาคปฎิบัติ” ได้ว่า การจัดตั้งรัฐบาลคือ การเจรจาทางการเมือง และยิ่งเมื่อเกิดภาวะที่เป็นรัฐบาลผสมแล้ว การต่อรองยิ่งมีมากขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่พรรคที่ได้เสียงอันดับ 1 ไม่ได้ชนะเด็ดขาด และจำเป็นต้องพึ่งเสียงของพรรคลำดับ 2 ที่คะแนนรองลงมา และเป็นพรรคอันดับ 2 ที่มีคะแนนไล่เลี่ยกัน การจัดตั้งรัฐบาลในเงื่อนไขเช่นนี้ จึงยิ่งมีนัยของการต่อรองมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย

ว่าที่จริงแล้ว ในทุกครั้งที่การเลือกตั้งสิ้นสุด พร้อมกับเห็นถึงลำดับคะแนนของพรรคต่างๆ แล้ว สิ่งที่ตามมาของระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาก็คือ การดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลจากคะแนนเสียงที่ได้ ซึ่งก็นำไปสู่การต่อรองทางการเมืองเพื่อที่จะรวมเสียงให้ได้มากเพียงพอในรัฐสภา หรือที่เป็นหลักการในระบบรัฐสภาว่า รัฐบาลจะต้องได้เสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่ง เพื่อให้รัฐบาลสามารถผ่านร่างกฎหมายที่รัฐบาลจะผลักดันเป็นนโยบายได้

โดยนัยของระบบรัฐสภาก็คือ การจัดตั้ง “รัฐบาลเสียงข้างมาก” และในระบบเช่นนี้ อาจจะต้องยอมรับว่า ยิ่งได้เสียงข้างมาก ก็ยิ่งดี เพราะจะทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพในสภา แม้ในเงื่อนไขทางการเมืองบางครั้ง อาจจะเกิด “รัฐบาลเสียงข้างน้อย” ได้บ้าง แต่โดยทฤษฎีแล้ว รัฐบาลเสียงข้างน้อยมีปัญหาในตัวเองตั้งแต่ต้น เพราะจะเสี่ยงต่อการที่รัฐบาลอาจจะถูกล้มในสภา อันเป็นผลจากการที่ร่างกฎหมายที่นำเสนอนั้น ไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา และต้องลาออกตามกติกาทางการเมืองของระบบรัฐสภา

ดังนั้น ความพยายามที่จะรวบรวมเสียงในการจัดตั้งรัฐบาล จึงมีความหมายโดยตรงถึงการเจรจาต่อรองทางการเมือง และความสำเร็จของการต่อรองเช่นนี้คือ จุดเริ่มต้นของการจัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากเสียงของพรรคอันดับ 1 ที่ไม่ “ชนะขาด” นั้น ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด

การจัดตั้งทุกรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ไม่ได้อยู่เกินกว่าสิ่งที่กล่าวแล้วในข้างต้น หรือแม้กระทั่งรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารก็อาจมีการต่อรองทางการเมืองในเชิงอำนาจอีกแบบหนึ่ง
แต่ในครั้งนี้ อาจเป็นเพราะผลการเลือกตั้งพลิกความคาดหมาย และพรรคที่ได้รับชัยชนะก็เป็นพรรคที่ถูกจับตามองอย่างมากในหลายๆ เรื่อง จึงทำให้เกิดการอธิบายถึงการจัดตั้งรัฐบาลในแบบที่เป็น “ทฤษฎีสมคบคิด” อย่างหลากหลาย จนบางครั้งเราไม่อาจตอบได้เลยว่า ข้อมูลที่ถูกนำมาใช้ในการอธิบายผ่านจอทีวี หรือผ่านจอไซเบอร์นั้น มีความถูกต้องเพียงใด

หากถามในทางการข่าวกรองก็คือ ข้อมูลเหล่านี้สามารถยืนยันความถูกต้องได้เพียงใด หรือสามารถตรวจสอบได้เพียงใด แต่เราก็อาจจะได้คำอธิบายว่า เมื่อเป็น “เรื่องลับ” ก็ไม่ต้องตรวจสอบ และขอให้เชื่อไปก่อน

ถ้าเราสังเกตสักนิด เราจะเห็นถึงการ “ประกอบสร้างข้อมูล” เพื่อทำให้ “ทฤษฎีสมคบคิด” มีความน่าเชื่อถือ และเกิดภาวะที่ทำให้ “ดูสมจริง” โดยอาศัยความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองเป็นตัวเดินเรื่อง และอีกส่วนอาจจะเป็นเพราะปัญหา “ธรรมชาติของนักการเมืองไทย” ที่คนในสังคมไม่ไว้ใจมากนัก การสร้างข่าวถึงการดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลในแบบ “หักเหลี่ยม-หักมุม” หรือ “ชิงไหว-ชิงพริบ” จึงดูจะเป็นจริงในตัวเอง และคนอีกส่วนในสังคมเอง ก็พร้อมที่จะเชื่อในทันที

อีกทั้ง การนำเสนอเช่นนี้ ก็ดูจะสอดรับกับจริตของสังคมไทยอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการนำเสนอของสื่อ ที่ต้องมี “ตัวดี-ตัวร้าย” ในการเดินเรื่อง แทบไม่ต่างกับเรากำลังดูละครทีวีบางช่อง ซึ่งนอกจากจะมีตัวดี-ตัวร้ายแล้ว ก็ต้องมี “ตัวอิจฉา” เข้ามาร่วมด้วยเพื่อให้เกิด “อรรถรส” แบบละครไทย และทั้งยังมีการนำเสนอแบบละครไทย ที่ต้องสร้างให้มี “ดรามา” อย่างต่อเนื่องเพื่อเรียกคนดู และคนดูก็พลอยตื่นเต้นไปกับการเดินเรื่องของทฤษฎีเช่นนี้

ถ้าเราสังเกตอีกสักหน่อย เราจะเห็นได้ว่า เราฟังข้อมูลและการวิเคราะห์ในแบบ “ดีลลับ-หักเหลี่ยม” หรือฟังการวิเคราะห์ของนักวิชาการบางคนที่เปิดผ่าน “ทฤษฎีสมคบคิด” ในแต่ละวันนั้น แทบจะเหมือนกับเรากำลังฟังเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองรายงาน “ข่าวลับ” ให้ฟัง แน่นอนว่า ข่าวเช่นนี้น่าสนใจ … น่าตื่นเต้น … น่าติดตาม

แต่ถ้าเราลองตั้งหลักทางความคิดสักนิด ก็อาจต้องยอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ของพรรคการเมืองที่ได้อันดับ 1 และ 2 ในปัจจุบัน คือ ธรรมชาติของกระบวนการเจรจาต่อรองทางการเมือง ที่ไม่ได้ตอบด้วยความถูกผิดในแบบของวิชา “จริยธรรม” แต่ตอบด้วยวิชา “รัฐศาสตร์” ของการเมืองในระบบรัฐสภา

หลักการในระบบรัฐสภาจึงมีแต่เพียงประการเดียวว่า การเจรจาต่อรองคือ จุดเริ่มต้นของการจัดตั้งรัฐบาล … การสิ้นสุดของการต่อรองคือ จุดเริ่มต้นของการมีรัฐบาล

วันนี้สังคมการเมืองไทยติดอยู่กับ “ทฤษฎีสมคบคิด” ทั้งเรื่องของการเมืองภายใน และการเมืองภายนอก โดยเฉพาะ “ทฤษฎีสมคบคิดในการเมืองภายนอก” ก็เป็นอีกเรื่องที่สร้างความหวั่นไหวให้กับผู้ฟังอย่างมาก จนการวิเคราะห์การเมืองในสังคมไทยวันนี้น่าตื่นเต้นและชวนติดตามยิ่งกว่า “หนังเกาหลีใน Netflix ” เสียอีก!