โลกและไทย 2566 | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอันสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เมื่อใกล้เปลี่ยนศักราช เกือบทุกฝ่ายต้องทบทวนสิ่งที่ผ่านมา แล้วคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า เพื่อเตรียมตัว เตรียมการ เผชิญสิ่งต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามา

บทความสั้นๆ แต่เขียนยากมากชิ้นนี้ คือความพยายามหนึ่ง

ทั้งนี้ ขอให้ช่วยกันคิดต่อไป

 

โลกกำลังเผชิญอะไร

ความเห็นจาก Southeast Asia Globe ซึ่งเป็น Think Tank ที่มีชื่อเสียง อธิบายสิ่งที่ผู้เขียนเรียกว่าย้อนแย้งกันอยู่คือ เขามองว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่จบสิ้นจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการผันแปรของโลกในปี 2566

แต่ในเวลาเดียวกัน เขาก็หยิบยกประเด็นที่เขาคิดว่าจะเป็นพลังขับเคลื่อนใหญ่ในปีหน้าด้วย นั่นคือ บทบาทของเยาวชน (Youth) ในหลายประเทศ

สื่อนี้ได้รับความคิดเห็นมากมายจากผู้นำเยาวชนชี้ถึงความสำคัญของเทคโนโลยี พวกเขาเห็นว่าจะดิจิทัลไลเซชั่นกันอย่างไร (how digitalization?)

ตรงนี้ที่ผู้เขียนคิดว่าย้อนแย้ง กล่าวคือ ท่ามกลางสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่สิ้นสุดและก่อผลต่อโลกในช่วงเกือบ 1 ปีที่ผ่านมาหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลับทันทีของซัพพลายเชน การทำลายโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะต่อยุโรปเท่านั้น เงินงบประมาณของชาติต่างๆ ทั้งรัสเซียเอง สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และชาติอื่นๆ นั้น ย่อมทำให้ GDP โลกลดลง อย่างน้อยก็ก่อผลสะเทือนถึงอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเลยทีเดียว

นอกจากนี้ ยังไม่รวมถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น พื้นที่เกษตรกรรม พืชผลถูกทำลาย โดยเฉพาะข้าว ข้าวสาลี ข้าวโพด ธัญญาหารต่างๆ แน่นอน สงครามรัสเซีย-ยูเครนได้เผาผลาญพลังงานน้ำมันและก๊าซทิ้งเสียเปล่าๆ

นี่ยังไม่นับเม็ดเงินอีกจำนวนมหาศาลที่จะต้องทุ่มลงไปเพื่อการฟื้นฟูบูรณะประเทศโดยเฉพาะยูเครน อย่างไรก็ตาม รัสเซียและพันธมิตรก็ต้องใช้งบประมาณของตัวฟื้นฟูบูรณะประเทศเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม แม้สงครามจะยังเป็นตัวการทำลายล้างโบราณที่ผู้นำหลายชาตินิยมใช้กันอย่างเมามัน ผู้นำเยาวชนคนรุ่นใหม่ก็เรียกร้อง ดิจิทัลไลเซชั่น อันอาจหมายถึง เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา การสื่อสาร การอุตสาหกรรม วิถีชีวิต รวมทั้งสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองอีกด้วย ผู้เขียนเห็นพลังของผู้นำเยาวชนซึ่งเป็นพลังเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงนี้ผ่านดิจิทัลไลเซชั่น

ผู้เขียนเชื่อว่าเกิดทั่วทุกมุมโลก แม้แต่ในรัสเซีย จีน เกาหลีเหนือ ยูกันดา โซมาเลีย กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม ปากีสถาน บังกลาเทศ อาร์เจนตินา นิการากัว ฯลฯ

ดิจิทัลไลเซชั่น เครื่องมือการขับเคลื่อนที่ไม่มีพรมแดน เพศ ศาสนา ลัทธิใดๆ กำลังทำลายกำแพงทุกชนิดที่มนุษย์ประกอบสร้างขึ้นมา

 

เศรษฐกิจและการเมืองโลกปี 2566

ประเด็นที่น่าจะเป็นปัจจัยร่วมที่เขย่าเศรษฐกิจโลกคือ ภาวะเงินเฟ้อ การขึ้นอัตราดอกเบี้ย หนี้สาธารณะในเกือบทุกเขตเศรษฐกิจใหญ่ของโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกาและอเมริกาเหนือ ยุโรป จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี รวมทั้งอาเซียนอีกด้วย

ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ได้แก่ การเลือกตั้งในหลายประเทศ เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เป็นต้น เราจะยังเห็นกระแสการต่อสู้ระหว่างอนุรักษนิยมกับเสรีนิยมใหม่

สรุป สงครามรัสเซีย-ยูเครนจะฉุดรั้งเศรษฐกิจโลกต่อไป อัตราการเติบโตลดลง ภาวะเงินเฟ้อ การขึ้นดอกเบี้ย ซัพพลายเชนติดขัดชะงักงัน วิกฤตพลังงานยังมีอยู่ ไม่มีประเทศไหนหลีกเลี่ยงได้ รวมทั้งไทย

 

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปี 2566

จริงอยู่ มีหลายรัฐบาลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังมองในมุมบวกว่า หลังโรคระบาดโควิด-19 ผู้นำประเทศเหล่านี้มองว่าภูมิภาคของเขาจะกลับสู่ New normal

ได้แก่ อินโดนีเซียจะเปิดประเทศอีกครั้งเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ในวันที่ 12 มกราคม

ฟิลิปปินส์จะยกเลิกข้อจำกัดของการเดินทางของ 150 ประเทศ ตั้งแต่ 10 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป

รวมทั้งมาเลเซียและสิงคโปร์ต่างกำลังเฉลิมฉลองเพื่อหวังให้มีโชคดี มั่งคั่ง โดยระมัดระวัง (ไม่มียั่งยืน)

แต่ใช่ว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีแต่แง่มุมบวก ภูมิภาคยังมีความเสี่ยงอีกหลายชนิดในปีหน้า

เช่น วิกฤตการณ์น้ำมันในลาว หนี้สินต่างประเทศของรัฐบาลลาว อันก่อให้เกิดความไม่แน่นอนในอนาคตโดยเฉพาะในทางการพัฒนาเศรษฐกิจ1

ที่เป็นวิกฤตการณ์ระดับภูมิภาคและส่งผลต่อโลกคือ วิกฤตการณ์การเมืองเมียนมา ซึ่งยังคงดำดิ่ง และนำภูมิภาคนี้สู่เวทีการเมืองระดับโลกอย่างไม่เคยมีมาก่อน

การรัฐประหารของทหารเมียนมา มีการจับกุมผู้นำทางการเมือง ฝ่ายค้าน การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กลุ่มชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยด้วยอาวุธสงครามทั้งปืนใหญ่ จรวด การทิ้งระเบิดจากเครื่องบินรบ

ไม่เพียงเท่านั้น ยังรวมถึงการประหารนักการเมือง ผู้นำนักศึกษา ด้วยการแขวนคอ ไม่เพียงยิ่งซ้ำเติมวิกฤตการณ์ในเมียนมา ตอนนี้ที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nation Security Council-UNSC) ลงมติประณามการกระทำดังกล่าว และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้นำคือ นางออง ซาน ซูจี และคณะเป็นอิสระทันที

การมีมติดังกล่าวของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติของสหประชาชาติ โดยงดออกเสียงของจีน รัสเซีย ไม่ใช้สิทธิ VETO ทำให้มตินี้ผ่านออกมาได้เป็นประวัติศาสตร์ในรอบ 74 ปีขององค์การสหประชาชาติ

แน่นอน แม้ผู้นำทหารเมียนมานิ่งเฉย ไม่สนใจมติขององค์การสหประชาชาติ แต่ในความเป็นจริง ผู้นำเมียนมายังไม่อาจคาดการณ์อนาคตทางการเมืองของตัวเองได้ จากแรงกดดันครั้งประวัติศาสตร์ขององค์การสหประชาชาติครั้งนี้

ไม่กี่วันก่อนหน้านี้ องค์การสหประชาชาติปฏิเสธทูตประจำสหประชาชาติของรัฐบาลทหารเมียนมา แรงกดดันจากสหประชาชาติก่อผลต่อภูมิภาคทันที

ทางการไทยจัดประชุมแบบไม่เป็นทางการที่กรุงเทพฯ แต่มีสมาชิกอาเซียนไม่เข้าร่วมประชุมคือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ท่ามกลางข้อมูลที่สับสน มีคำตอบเลาๆ ว่า ผู้จัดประชุมอ้างว่านี่เป็นการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ เกิดคำถามมากมายว่า การประชุมนี้ประชุมในนามประเทศหรืออาเซียน มีวัตถุประสงค์อะไร ละเมิดฉันทานุมัติ 5 ข้อของอาเซียนที่ห้ามตัวแทนรัฐบาลเมียนมาเข้าประชุม มีตัวแทนฝ่ายอื่นๆ ของเมียนมาเข้าประชุมหรือไม่

คนที่ตกที่นั่งลำบากคือ เจ้าภาพผู้จัดการประชุม หลังจากได้รับคำสรรเสริญเรื่องจัดประชุมเอเปคที่กรุงเทพฯ ไม่นาน

หน้าแตกละเอียด

สรุป ภูมิภาคมีความเปราะบางทางเศรษฐกิจ ไร้เสถียรภาพทางการเมือง วิกฤตการเมืองเมียนมาย้อนกลับมาทำลายความร่วมมือ ชื่อเสียง เสี่ยงความมั่นคงทางทหารและเกิดการเคลื่อนผู้ลี้ภัยใหญ่ ประเทศด่านหน้าคือ ไทยนั่นเอง

 

ไทยกำลังเผชิญอะไร

แปลกแต่จริง ผู้นำไทยเหมือนไม่รู้ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นในโลกนี้

ไทยไม่ได้ประณามรัสเซียที่รุกรานยูเครน ซึ่งผู้เขียนยังงงๆ กับเหตุผลของทางการไทย “เราเป็นประเทศเล็ก” แล้วเศรษฐกิจไทยที่เป็นหนึ่งในห่วงโซ่ซัพพลายโลก ไม่กระทบอะไรจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนเลยหรือ

สงครามเย็นใหม่ (New Cold War) ที่ก่อตัวในรูปของความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน โดยเฉพาะการเดินทางเยือนไต้หวันของประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา ที่จุดประกายความขัดแย้งทางทหาร ระหว่างสองชาติและพันธมิตร ไม่ได้ก่อผลอะไรต่อไทยบ้างหรือ

ช่วงนี้ ประเทศไทยอยู่ตรงไหนของ Australian United Kingdom United State of America-AUKUS จตุภาคีความร่วมมือด้านความมั่นคงภูมิภาค

ประเทศไทยได้อะไรและเสียเปรียบเรื่องอะไรในความร่วมมือล้านช้างแม่โขง (Langchang Mekong Cooperation-LMC) ที่สัมพันธ์ต่อไทยในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงโดยตรง

การทูตเงียบๆ (Quiet Diplomacy) ของทางการไทยคืออะไร มีตรรกะทางยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างประเทศอะไร ที่มีพลังและอานุภาพมากพอให้ประเทศไทยรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ อธิปไตย เกียรติภูมิของชาติ สัมฤทธิผลของการทูตเงียบๆ มีบ้างไหม

หรืออ้างว่านี้คือ อำนาจละมุน (Soft Power) จริงหรือ มีชาติไหนเขาเชื่อมั่นและเกรงใจการทูตเงียบๆ ของเราบ้างไหม

ไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว หลังจากรอคอยมานานแสนนาน เลือกตั้งแล้วจะเกิดเสถียรภาพทางการเมืองหรือไม่

ทำไมจึงเชื่อว่าพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่นำโดยนายกรัฐมนตรี 8 ปีอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะสร้างเศรษฐกิจไทยให้มั่นคง ยั่งยืน ทั้งๆ ที่ไม่ได้สร้างมาเลยตลอด 8 ปีที่ผ่านมา

เชื่อได้อย่างไรว่า พล.อ.ประยุทธ์จะสร้างเสถียรภาพทางการเมืองได้ เพราะท่านคือหัวหน้าคณะรัฐประหารครั้งล่าสุดที่ผ่านมา

นายพลที่มาเล่นการเมืองไทยในประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัย ยังไม่เคยมีใครสร้างพรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองขึ้นมาเลย แต่ทำตรงกันข้ามไม่เว้นนายพลท่านนี้ พรรคพลังประชารัฐได้ประกาศตัวมาตั้งแต่ต้น ไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ แล้วตอนนี้เป็นพรรคการเมืองชนิดไหน

เช่นเดียวกัน พรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งมีแต่นักการเมืองหน้าเก่าๆ ที่ย้ายพรรคกลับไปกลับมาจนจำพรรคของตัวเองไม่ได้

พรรคการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์มีนโยบายสร้างชาติไทยอะไรบ้าง นอกจากเดินตามท่าน ฟังท่าน อดทนท่านเวลาท่านโกรธ

เป็นเด็กดี มีวินัย ใฝ่ความดี อันนี้เป็นคำขวัญให้นักการเมืองทุกท่านครับ

1 Calvin Goodfrey, “On the ground in the leat of Laos Fuel crisis” Globe 8 August 2022.