ยุบพรรคจาก “รับบริจาคเงินสีเทา” เอาจริงเอาจังกันแค่ไหน

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ตั้งง่าย อยู่ยาก ยุบง่าย อาจเป็นคำนิยามที่เหมาะสมสำหรับพรรคการเมืองไทย ภายใต้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ที่ไม่รู้ว่าจะเป็นการส่งเสริมหรือเป็นปัญหาอุปสรรคสำหรับการดำเนินกิจการพรรคการเมืองในประเทศไทย

ว่ากันว่า นับแต่รัฐธรรมนูญ ปี 2540 มีพรรคการเมืองที่ถูกยุบพรรคโดยศาลรัฐธรรมนูญมากกว่า 110 พรรค

ส่วนมากเป็นพรรคการเมืองขนาดเล็กที่ไม่สามารถทำตามกติกาที่กำหนดในกฎหมายพรรคการเมืองได้

เช่น ไม่มีการจัดทำรายงานการดำเนินการ ไม่สามารถหาสมาชิกครบตามจำนวนที่กำหนดในกฎหมายในระยะเวลาที่กำหนด ไม่มีการจัดส่งรายงานทางการเงินตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด เป็นต้น

แต่ก็มีพรรคการเมืองขนาดกลางและใหญ่หลายพรรคที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบด้วยสาเหตุอื่นที่บางครั้งดูขัดใจประชาชนไม่ใช่น้อย

อีกทั้งซีกฝั่งของพรรคการเมืองที่ถูกกระทำ มักจะเป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับขั้วอำนาจในปัจจุบันทั้งสิ้น เช่นการยุบพรรคไทยรักไทยในปี พ.ศ.2550 การยุบพรรคพลังประชาชนในปี พ.ศ.2551 การยุบพรรคไทยรักษาชาติในปี พ.ศ.2562 การยุบพรรคอนาคตใหม่ในปี พ.ศ.2563 ในขณะที่ซีกฝั่งของผู้มีอำนาจในปัจจุบันกลับถูกยุบโดยคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญไม่มากนัก

กรณีการบริจาคเงินของนักธุรกิจจีนสัญชาติไทยที่เป็นเจ้าของกิจการบันเทิงซึ่งเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้กับพรรคพลังประชารัฐในปี พ.ศ.2564 เป็นเงิน 3 ล้านบาท กลายเป็นประเด็นร้อนที่สังคมให้ความสนใจขึ้นมาทันที ว่าจะเป็นเหตุที่จะนำไปสู่การยุบพรรคการเมืองหรือไม่ ในเมื่อพรรคการเมืองพรรคนี้มีสถานะเป็นพรรคแกนนำของพรรคร่วมรัฐบาล

พรรคไทยรักษาชาติ

กติกาการบริจาคเงินของพรรคการเมือง

พรรคการเมืองมีรายจ่ายมากมาย นับแต่ ค่าใช้จ่ายในการรณรงค์หาเสียง ค่าเช่าสำนักงาน ค่าจ้างบุคลากรประจำพรรคการเมือง และค่าใช้จ่ายจิปาถะ ในขณะที่รายได้ของพรรคการเมืองนั้นมาจากเงินทุนประเดิมจากสมาชิกผู้ก่อตั้งพรรคที่มีไม่มากแค่ 1 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมการเป็นสมาชิกก็เพียงปีละ 200 บาทต่อคนหรือตลอดชีพ 2,000 บาท รายได้จากการระดมทุน เงินอุดหนุนจากกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง และส่วนที่สำคัญสุดและมีสัดส่วนมากที่สุด น่าจะเป็นจากเงินบริจาคของประชาชนและธุรกิจกลุ่มทุน

การบริจาคนั้นมีเพดาน ไม่ว่าจะเป็นบุคคล หรือนิติบุคคล จะบริจาคให้แก่พรรคการเมืองเกินกว่าปีละ 10 ล้านบาทไม่ได้ และหากเป็นการบริจาคในนามบริษัทหรือนิติบุคคล หากมีการบริจาคต่อปีเกิน 5 ล้านบาทต้องมีการแจ้งให้แก่ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นทราบด้วย

สำหรับบุคคล หากเป็นเงินบริจาคที่ไม่มาก การบริจาคอาจมาจากความนิยมในพรรค ชื่นชมในอุดมการณ์ อยากสนับสนุนพรรคให้เกิดความสำเร็จทางการเมือง ความรู้จักมักคุ้นกับผู้เป็นผู้บริหารพรรค แต่หากเป็นเงินบริจาคจำนวนมาก คงยากจะปฏิเสธว่า บุคคลผู้บริจาคนั้นล้วนมีจุดมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ในทางการเมืองหรือประโยชน์คืนกลับสู่ตนเองในทางใดทางหนึ่งอย่างแน่นอน

สำหรับประโยชน์ทางการเมืองต่อบุคคล อาจมุ่งให้ตนเองได้ลงสมัครเลือกตั้งในส่วนผู้สมัคร ส.ส.เขต หรืออยู่ในลำดับต้นๆ ของผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรค หรือมีโอกาสได้ตำแหน่งทางการเมือง หากมีจำนวนเงินที่บริจาคในระดับที่มากพอ

ในด้านประโยชน์ทางธุรกิจ การบริจาคเงินของนักธุรกิจย่อมเล็งเห็นประโยชน์จากการบริจาคให้พรรคการเมืองที่มีโอกาสเป็นรัฐบาลซี่งอาจเอื้อประโยชน์ให้แก่ธุรกิจของตนได้

ยิ่งผู้ประกอบการในธุรกิจสีเทา ยิ่งมุ่งหวังความสัมพันธ์กับฝ่ายการเมืองเป็นโล่เกราะคุ้มครองธุรกิจตน

การบริจาคเงินให้แก่พรรคการเมืองจึงจำเป็นต้องมีข้อห้ามเป็นกฎเหล็กที่เข้มงวด

 

ห้ามต่างชาติ ห้ามธุรกิจสีเทา

มาตรา 74 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 เป็นเรื่องการห้ามรับบริจาคเงินจากบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย หรือจากนิติบุคคลต่างชาติที่มาประกอบธุรกิจในไทย หรือนิติบุคคลที่แม้จดทะเบียนในไทยแต่มีต่างชาติถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 49

ในกรณีนี้น่าจะไม่เป็นปัญหาเพราะการตรวจสอบเบื้องต้นของการบริจาคเงิน 3 ล้านบาทดังกล่าว มาจากบุคคลที่เป็นนักธุรกิจชาวจีนแต่ปัจจุบันได้ถือสัญชาติไทยแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2557

ส่วนในมาตรา 72 ระบุว่า “ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดํารงตําแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

จึงเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปว่า เงินบริจาคดังกล่าวมีแหล่งที่มาจากธุรกิจที่ผิดกฎหมายหรือไม่

สิ่งที่คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องดำเนินการ

มาตรา 5 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 กำหนดให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งรักษาการตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ นั่นแปลว่า หากพบเห็นสิ่งที่ผิดกฎหมายต้องเป็นผู้ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย

ดังนั้น เมื่อมีความปรากฏว่าอาจมีการฝ่าฝืนในกรณีพรรคการเมืองไปรับเงินบริจาคโดยรู้หรือควรจะรู้ หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประธานกรรมการการเลือกตั้งพึงสั่งการเลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนให้ตรวจสอบโดยพลันและรายงานต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยเร็ว เช่น ภายในเวลา 30 วัน เป็นต้น

มาตรา 92(3) ระบุว่า เมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองใดกระทำการฝ่าฝืน มาตรา 72 (การรับเงินจากแหล่งที่มามิชอบด้วยกฎหมาย) ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น

โดยในวรรคท้ายระบุว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการไต่สวนแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทำผิด ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น

การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งนั้น หมายความว่าไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งทุกประเภทตลอดชีวิต และยังไม่สามารถดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีตลอดชีวิตด้วย เพราะในมาตรา 160(6) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ระบุคุณสมบัติของผู้เป็นรัฐมนตรีไว้คือ ไม่มีลักษณะต้องห้ามของผู้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งข้อหนึ่งในลักษณะต้องห้ามดังกล่าว คือ “ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง”

เรื่องใหญ่ เกินจะบอกว่า ไม่ได้ตรวจสอบ

การรับบริจาคเงินของพรรคการเมือง ยิ่งเป็นเงินจำนวนมาก ยิ่งจำเป็นต้องมีการตรวจสอบให้ชัดเจนว่า มีแหล่งที่มาหรือมีข้ออันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

เพราะบทกำหนดโทษนั้นเป็นที่รับรู้โดยทั่วไปนั้นรุนแรงถึงขนาดยุบพรรค ตัดสิทธิในการรับสมัครเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งทางการเมือง

คนเอาเงินมาให้ทีละหลายล้าน จึงมาอ้างว่าไม่รู้จัก ไม่สนิทกับใครเลย และไม่สนใจจะตรวจสอบแหล่งที่มาของเงินจึงเป็นไปไม่ได้

ยิ่งพรรคการเมืองที่มีฐานะเป็นพรรครัฐบาล นักธุรกิจสีเทาทั้งหลายยิ่งอยากเข้าใกล้ ยิ่งอยากสนับสนุน การรับบริจาคยิ่งต้องระมัดระวัง มิเช่นนั้นฝ่ายตรงข้ามก็อาจกลั่นแกล้งให้คนที่ทำธุรกิจผิดแฝงตัวเข้ามาบริจาคจนนำไปสู่การยุบพรรค

เผือกร้อนจึงตกอยู่ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าจะดำเนินการในเรื่องราวดังกล่าวอย่างตรงไปตรงมา และในระดับความรวดเร็วเช่นการยุบพรรคอื่นๆ ในอดีตหรือไม่ อย่าให้ประชาชนมีภาพจำซ้ำเพิ่มว่า เอาแต่จัดการฝ่ายตรงข้ามผู้มีอำนาจเท่านั้น