แพทย์ พิจิตร : การเปลี่ยนแปลงแบบแผนการยุบสภาของอังกฤษ (10)

ในช่วงที่อังกฤษมีการถกเถียงเกี่ยวกับกติกาการยุบสภาในช่วงทศวรรษ 1990

คนที่เห็นด้วยว่าควรมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกติกาการยุบสภาเพื่อความเป็นธรรมในการเลือกตั้ง ลดทอนอำนาจในการยุบสภาของนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดการจัดการการเลือกตั้งที่ดีขึ้น และช่วยปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์โดยลดหรือกำหนดการใช้พระราชอำนาจวินิจฉัยขององค์พระมหากษัตริย์ให้มีขอบเขตชัดเจน

อันจะช่วยหลีกเลี่ยงวิกฤตการณ์ทางรัฐธรรมนูญที่อาจจะเกิดขึ้นจากการที่มีการถวายคำแนะนำต่อองค์พระมหากษัตริย์เพื่อให้มีการยุบสภาก่อนครบวาระ

แต่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยมีข้อติงว่า แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงและวางกติกาในการยุบสภาใหม่ แต่ในทางปฏิบัติ ก็อาจจะไม่มีประสิทธิภาพในการบังคับใช้ได้จริงๆ

เพราะประสบการณ์ของสภาที่มีวาระที่แน่นอนในประเทศต่างๆ ชี้ให้เห็นว่า ข้อกำหนดให้สภามีวาระที่แน่นอนนั้นอาจจะไม่ได้ผล

เพราะในที่สุดแล้ว หากรัฐบาลใดมีความจำเป็นที่ต้องการยุบสภาก่อนกำหนด รัฐบาลก็มักจะหาทางใดทางหนึ่งที่จะยุบสภาจนได้

อย่างเช่นในกรณีของผู้นำเยอรมนี Helmut Kohl ในปี ค.ศ.1982 และ Gerhard Schroder ในปี ค.ศ.2005 ที่ตัวผู้นำเองพยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้รัฐบาลพ่ายแพ้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเพื่อให้มีการยุบสภา

 

ต่อกรณีการยุบสภาในปี ค.ศ.1982 และ ค.ศ.2005 เราจำต้องรับรู้ถึงเงื่อนไขบางประการของรัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐเยอรมนีที่เกี่ยวข้องกับกรณีทั้งสอง นั่นคือ มาตรา 67 และมาตรา 68

โดยในมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญเยอรมนีได้บัญญัติไว้ว่า

“1) สภาบุนเดสตักอาจแสดงความไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีสหพันธ์ได้ก็แต่โดยการเลือกผู้สืบต่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสหพันธ์ ด้วยคะแนนเสียงข้างมากของสมาชิกทั้งหมดของสภา และโดยการร้องขอให้ประธานาธิบดีสหพันธ์ให้ถอดถอนนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ประธานาธิบดีสหพันธ์ต้องปฏิบัติตามคำร้องขอ และแต่งตั้งผู้ที่ได้รับเลือก 2) ระยะเวลาระหว่างการเสนอญัตติให้มีการเลือกตั้งผู้สืบต่อตำแหน่งกับการเลือกนั้นจะต้องมีระยะอย่างน้อย 48 ชั่วโมง”

และมาตรา 68 บัญญัติไว้ว่า

“1) หากญัตติที่เสนอโดยนายกรัฐมนตรีให้สภาบุนเดสตักลงมติไว้วางใจรัฐบาลไม่ได้รับความสนับสนุนด้วยคะแนนเสียงข้างมากของสมาชิกทั้งหมดของสภาบุนเดสตัก ประธานาธิบดีสหพันธ์อาจยุบสภาบุนเดสตักภายในเวลา 21 วัน ตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี สิทธิในการยุบสภาสิ้นสุดลงในเมื่อสภาบุนเดสตักเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ด้วยคะแนนเสียงข้างมากของสมาชิกทั้งหมด 2) เวลาระหว่างการเสนอญัตติกับการลงคะแนนเสียงต้องมีระยะอย่างน้อย 48 ชั่วโมง”

 

ผลที่ตามมาจากมาตราทั้งสองข้างต้น คือ การพ่ายแพ้ในญัตติไว้วางใจไม่ได้บังคับให้คณะรัฐมนตรีต้องลาออกหรือมีการเลือกตั้งใหม่โดยอัตโนมัติ

คณะรัฐมนตรีอาจจะอยู่ในตำแหน่งต่อไปในฐานะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ถ้าไม่มีเสียงข้างมากที่แสดงออกชัดเจนสำหรับผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งต่อไป ประธานาธิบดีก็อาจจะยุบสภาได้ด้วย หลังจากนายกรัฐมนตรีพ่ายแพ้ในการลงมติไว้วางใจ แต่สภาก็อาจจะไม่ยุบสภาได้ด้วยเช่นกัน บทบัญญัตินี้มุ่งจำกัดอำนาจของประธานาธิบดี

ผลพวงประการหนึ่งของบทบัญญัตินี้คือ นายกรัฐมนตรีไม่ได้เป็นผู้ร้องขอประธานาธิบดีให้ยุบสภาจากความเห็นของลำพังตัวนายกรัฐมนตรีคนเดียว

แต่การยุบสภาจะต้องเป็นผลจากการที่เสียงส่วนใหญ่ในสภาไม่สนับสนุนมติไว้วางใจซึ่งแตกต่างไปจากระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาโดยส่วนใหญ่

ในปี ค.ศ.1982 นาย Helmut Kohl ต้องการยุติรัฐบาลผสมระหว่างพรรค SPD กับพรรค FDP ขณะนั้น นาย Helmut Schmidt เป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นผู้นำพรรค SDP ในช่วงต้นปี ค.ศ.1982 สมาชิกสภาส่วนใหญ่ของพรรค SDP เริ่มไม่เห็นด้วยกับนโยบายความมั่นคงของ Schmidt

ในขณะที่นักการเมืองส่วนใหญ่ของพรรค FDP ยังคงสนับสนุนนโยบายดังกล่าวของเขาอย่างแข็งขัน

ในเดือนกุมภาพันธ์ 1982 Schmidt ชนะการลงมติไว้วางใจ (a motion of confidence) ในสภา แต่ต่อมาในวันที่ 17 กันยายน รัฐบาลผสมได้เกิดแตกแยก รัฐมนตรีจากพรรค FDP ลาออก

แต่นาย Schmidt ยังคงดำรงตำแหน่งผู้นำรัฐบาลต่อไป เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยที่มีแต่รัฐมนตรีที่สังกัดพรรค SDP เท่านั้น

พรรค FDP ได้ไปเจรจาจัดตั้งรัฐบาลผสมกับพรรค CDU และพรรค CSU เมื่อถึงวันที่ 1 ตุลาคม 1982 สภาได้ลงมติไม่ไว้วางใจนาย Schmidt และเลือกนาย Helmut Kohl ผู้นำพรรค CDU เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่

การลงมติไม่ไว้วางใจครั้งนี้ถือเป็นครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ของสหพันธรัฐเยอรมนีที่ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งจากการลงมติไม่ไว้วางใจ

 

การลงมติไม่ไว้วางใจนาย Schmidt เกิดขึ้นจากการที่พรรค FDP ต้องการที่จะเปลี่ยนไปจัดตั้งรัฐบาลผสมกับพรรค CDU โดยพรรค FDP ได้ไปเจรจาต่อรองไว้แล้วในช่วงที่กำลังจะมีการลงมติไม่ไว้วางใจ

ขณะเดียวกัน เสียงภายในพรรค SDP ก็แตกกันเองด้วย กระนั้น เสียงข้างมากในการลงมติดังกล่าวก็ชนะไปเพียงเจ็ดเสียงเท่านั้น

และเสียงดังกล่าวก็หันไปสนับสนุนนาย Helmut Kohl

หลังการลงมติไม่ไว้วางใจนาย Schmidt นาย Helmut Kohl ผู้นำพรรค CDU ได้เสนอญัตติให้สภาลงมติไว้วางใจตัวเขาเองตามมาตรา 68 วรรค 1 ข้างต้น เขาสามารถทำให้พรรค CDU และ FDP พร้อมใจกัน “ตั้งใจลงมติไม่ไว้วางใจตัวเขา” ทั้งๆ ที่ทั้งสองพรรคนี้ก็เพิ่งลงคะแนนเสียงสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี

การที่ Kohl ทำเช่นนี้ก็เพราะเขาต้องการให้มีการยุบสภาเกิดขึ้นเพื่อหวังจะได้คะแนนเสียงสนับสนุนพรรคการเมืองที่เป็นร่วมเป็นรัฐบาลผสม (นั่นคือ พรรค CDU และ FDP) ของเขามากขึ้น

วิธีการดังกล่าวนี้ถือเป็นกุศโลบายที่จะหาทางยุบสภาได้ตามที่รัฐธรรมนูญเยอรมนีได้กำหนดไว้

ขณะเดียวกัน มีผู้ไม่เห็นด้วยกับการยุบสภาครั้งนั้นได้นำเรื่องขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญ

แต่ศาลก็ไม่สามารถตัดสินว่าการยุบสภาครั้งนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญ

แต่ได้มีการวางกฎเกณฑ์ให้เข้มงวดขึ้นสำหรับการเสนอญัตติในลักษณะดังกล่าวในอนาคต

และหลังจากที่มีการยุบสภาและมีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมีนาคม 1983 การยุบสภาอย่างเจ้าเล่ห์ของนาย Kohl ก็บรรลุเป้าหมายตามที่เขาต้องการ

ด้วยทั้งสองพรรคได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งจากประชาชนเป็นจำนวนมาก

ส่งผลให้รัฐบาลผสมสองพรรคนั้นเป็นรัฐบาลที่มั่นคงแข็งแรง

และสามารถเป็นรัฐบาลได้จนถึงปี ค.ศ.1998 นับเป็นเวลาถึง 15 ปีเต็ม

 

ส่วนในกรณีการยุบสภา ค.ศ.2005 เริ่มจากการที่พรรค SPD พรรค CDU ในการเลือกตั้งในเขต North Rhine-Westphalia ทำให้นายกรัฐมนตรี Gerhard Schroder ผู้นำพรรค SPD ประกาศว่า เขาจะให้มีการเลือกตั้งทั่วไปโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเขาจะใช้มาตรา 68 เสนอญัตติให้มีการลงมติไว้วางใจตัวนายกรัฐมนตรี ซึ่งส่งผลให้เขาพ่ายแพ้ในญัตติดังกล่าว

โดยคะแนนเสียงที่ไว้วางใจเขาคือ 151 และไม่ไว้วางใจ 296

โดยเขาได้ขอให้สมาชิกพรรคของเขาลงคะแนนเช่นนั้น ด้วยเขาต้องการจะให้มีการยุบสภาเพื่อให้เกิดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้น

และเหมือนกับกรณีการยุบสภา ค.ศ.1982 ของนาย Kohl คือมีผู้นำเรื่องการยุบสภาครั้งนี้ขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยอมรับการเสนอญัตติไว้วางใจดังกล่าวของนาย Schroder ส่งผลให้ประธานาธิบดีต้องยุบสภาตามมาตรา 68 และมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในเวลาต่อมา

แต่ไม่มีฝ่ายไหนได้คะแนนเสียงข้างมากในสภา ไม่ว่าจะเป็นพรรคที่ร่วมเป็นพันธมิตรอย่าง SPD และพรรค Green หรือพันธมิตรขั้ว CDU/CSU และ FDP ที่นำโดยนาง Angela Merkel

จนในที่สุดในวันที่ 10 ตุลาคม 2005 พรรคการเมืองใหญ่ต่างเห็นพ้องที่จะจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกัน (grand coalition government) ขึ้น

โดยนาย Schroder ยอมรับให้นาง Merkel เป็นนายกรัฐมนตรี โดยพรรค SPD ยังคงได้โควต้าตำแหน่งรัฐมนตรีส่วนใหญ่ของรัฐบาลและยังคงสามารถควบคุมกำหนดนโยบายของรัฐบาลได้

 

จากกรณีการยุบสภาในเยอรมนีทั้งสองครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า แม้ตัวรัฐธรรมนูญจะตั้งใจกำหนดให้สภามีวาระที่แน่นอนโดยสภาเท่านั้นที่จะเป็นผู้ตัดสินใจยุบสภาได้

แต่ในที่สุด ผู้นำที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างนาย Kohl และนาย Schroder ก็สามารถมียุทธวิธีที่ทำให้เสียงข้างมากในสภาลงมติไม่สนับสนุนเขาในญัตติไว้วางใจได้

ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว เสียงข้างมากในสภายังสนับสนุนพวกเขาอยู่ ถือเป็นการลงมติที่ไม่สอดคล้องกับเจตนาที่แท้จริง และก็เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปด้วย

แล้วถ้าเป็นนักการเมืองบ้านเราล่ะ?!