วิรัตน์ แสงทองคำ : ผู้นำ กับยุทธศาสตร์ (2)

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

หมายเหตุ – ข้อเขียนชุดใหม่ว่าด้วยการติดตามความเป็นไปสังคม ในบางมิติซึ่งเชื่อมโยงธุรกิจไทย ผ่านเรื่องราวบุคคลเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ โฟกัสที่ภูมิหลัง ว่าด้วยความรู้และประสบการณ์

ผู้นำกับการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ มีความเชื่อมโยงกันส่งผลสะเทือนต่อกัน จากปัจเจกสู่ “ตัวแทน” กลุ่มพลังอิทธิพล สะท้อนวิวัฒนาการหลายช่วงหลายตอนของสังคมไทย

ภาพกว้างๆ เกี่ยวกับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ โดยเฉพาะกับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิบางคน ซึ่งเกริ่นไว้ในตอนที่แล้ว

ในตอนนี้ขอกล่าวในภาพกว้างเชื่อมโยงกับบริบทสังคมธุรกิจไทย เฉพาะกรณี กานต์ ตระกูลฮุน บัณฑูร ล่ำซำ และ ชาติศิริ โสภณพนิช

ต้องยอมรับว่า บรรดากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ ข้างต้น ถือว่าเป็นคนมีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ในการทำงาน จากภาพย่อยๆ กลายเป็นแผนยุทธศาสตร์ซึ่งเชื่อมโยงกับบริบทสังคมไทยและโลกภายนอกเสมอมา ต้องยอมรับว่าเป็นบุคคล เป็นผู้นำ ซึ่งเป็น “ตัวแทน” สังคมธุรกิจไทย

สะท้อนภาพความเป็นไปของเศรษฐกิจไทยในภาพรวม

 

กานต์ ตระกูลฮุน

“คุณกานต์มีประสบการณ์การทำงานร่วมกับองค์กรชั้นนำที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง เช่น กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ประธานกรรมการ บริษัท กฎหมายเอสซีจี จำกัด กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซรามิคซิเมนต์ไทย จำกัด ปัจจุบัน คุณกานต์ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการและประธานที่ปรึกษาฝ่ายจัดการของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการและประธานกรรมการพัฒนาความเป็นผู้นำและกำหนดค่าตอบแทน บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) การเป็นผู้ที่มีประสบการณ์และความสามารถในการบริหารจัดการองค์กรขนาดใหญ่ การวางแผนกลยุทธ์ และการกำกับดูแลกิจการของคุณกานต์ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดำเนินงานของธนาคาร” ข้อมูลธนาคารไทยพาณิชย์ (www.scb.co.th) กล่าวถึง กานต์ ตระกูลฮุน ในฐานะกรรมการธนาคารไว้อย่างย่อๆ

เรื่องราว กานต์ ตระกูลฮุน กับเครือซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจี นับเป็นตำนานที่มีสีสัน ในฐานะ “ลูกหม้อ” อย่างแท้จริงคนแรก ทำงานมาตั้งแต่ต้น ผู้มีความสามารถอย่างโดดเด่น โดยเฉพาะในช่วงเวลาวิกฤตการณ์

สามารถไต่เต้าจนเป็นผู้จัดการใหญ่ (2549-2558)

จากนั้นบทบาทของเขาเปิดกว้างมากขึ้น เขายังผูกพันกับองค์กรดั้งเดิม ดำรงตำแหน่งกรรมการเอสซีจีต่อไป และเป็นประธานที่ปรึกษาฝ่ายจัดการ เชื่อว่าอยู่อีกสักระยะหนึ่ง

นอกจากนี้ เขาได้มาเป็นกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ (ตั้งแต่ปี 2559) ถือว่าเป็นเพียง 1 ใน 2 คนในฐานะเคยเป็นผู้บริหารเอสซีจี มีบทบาทเป็นกรรมการทั้งธนาคารไทยพาณิชย์และเอสซีจีในเวลาเดียวกัน (อีกคนหนึ่งคือ ชุมพล ณ ลำเลียง)

ที่สำคัญ กานต์ ตระกูลฮุน เป็นเพียง 1 ใน 3 คนซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการทั้งธนาคารไทยพาณิชย์ และเอสซีจี อีกคนหนึ่งคือ ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ซึ่งมีตำแหน่งสำคัญ เป็นผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

สำนักงานทรัพย์สินฯ คือผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้งธนาคารไทยพาณิชย์ และเอสซีจี ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นองค์กรที่มีบทบาทกำกับการบริหารกิจการ (พิจารณาตัวบุคคล ซึ่งเป็นกรรมการ) ทั้งสองมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เป็นปัจจัยหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสัมพันธ์กับการดำรงอยู่ การพัฒนา ฝ่าวิกฤตการณ์ต่างๆ หลายช่วง หลายสมัย จนกลายเป็นองค์กรธุรกิจใหญ่ และสำคัญของสังคมไทย ตลอดช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ถือเป็นจุดตั้งต้นธุรกิจไทยในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งก่อกำเนิดขึ้นท่ามกลางอุปสรรคมากมายในยุคอาณานิคม

“ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารแห่งแรกของไทย ดำรงอยู่มากว่าศตวรรษ…ให้ภาพสะท้อนโอกาสทางธุรกิจ เชื่อมโยงกับสายสัมพันธ์ทางธุรกิจตามยุคสมัย ตั้งแต่ยุคต้นกับเครือข่ายธุรกิจในยุคอาณานิคม สู่ธุรกิจในโลกตะวันตกนำโดยสหรัฐ และโลกตะวันออกโดยเฉพาะญี่ปุ่นในช่วงสงครามเวียดนาม และในสายสัมพันธ์ที่ปรากฏในหลายกรณีเป็นการผนึกกำลังระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์กับเครือซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจี” ผมเพิ่งเสนอภาพกว้างๆ ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์กับเอสซีจีไว้” (สังคม กับธุรกิจสื่อสาร (5) – SingTel มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 กรกฎาคม 2560)

อีกด้าน กานต์ ตระกูลฮุน มีบทบาทในธุรกิจใหม่ด้วย พลังธุรกิจซึ่งก่อกำเนิดขึ้นยุคโลกาภิวัตน์ นั่นคือ ธุรกิจสื่อสาร เขาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส (ตั้งแต่ปี 2559) และเป็นกรรมการ บริษัทอินทัชโฮลดิ้งส์ (ตั้งแต่ปี 2560)

เอไอเอส เป็นผู้ให้บริการระบบสื่อสารแบบเคลื่อนที่ได้ อันดับหนึ่งของไทย (พิจารณาจากจำนวนผู้ใช้บริการ)

ส่วนอินทัชโฮลดิ้งส์ เป็น Holding company ถือหุ้นใหญ่ในเอไอเอส และถือว่า เอไอเอสเป็นกิจการหลักของเครือข่ายธุรกิจในประเทศไทย ที่สำคัญเป็นที่รู้กันว่าทั้งสองกิจการอยู่ในเครือข่าย (ถือหุ้นจำนวนมาก อย่างมีนัยยะสำคัญ) ของ Temasek Holding และ SingTel แห่งสิงคโปร์

เป็นที่ทราบกันด้วยอีกว่า Temasek Holding และ SingTel กับการเข้าสู่ธุรกิจสื่อสารสำคัญในประเทศไทย มีความเชื่อมโยงกับบทบาทธนาคารไทยพาณิชย์ และอดีตผู้บริหารคนสำคัญของเอสซีจี (ชุมพล ณ ลำเลียง) เป็นดีลที่ครึกโครมเกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน (เรื่องราวและมุมมองว่าด้วยความสัมพันธ์ดังกล่าว ผมได้เสนอไว้ในข้อเขียน อ้างไว้แล้วข้างต้น (สังคม กับธุรกิจสื่อสาร ว่าด้วย SingTel)

Temasek Holding หน่วยงานการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ มีบทบาทอย่าางเอาการเอางานในประเทศไทย ในช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 ด้วยแผนการลงทุนในกิจการต่างๆ อย่างหลากหลาย

ว่าไปแล้วเป็นพัฒนาการอีกช่วงหนึ่งของสังคมธุรกิจไทย ว่าด้วยการเข้ามาของธุรกิจต่างประเทศ โดยเฉพาะในช่วงหลังสงครามโลกครั้งสองเป็นต้นมา ในยุคสำนักงานทรัพย์สินฯ เริ่มมีบทบาทมากขึ้น ธุรกิจตะวันตกเข้ามาในช่วงต้นๆ สงครามเวียดนาม และตามมาด้วยเครือข่ายธุรกิจญี่ปุ่น ล้วนสะท้อนสายสัมพันธ์สำคัญคล้ายๆ กัน

เชื่อว่าบทเรียนนั้นได้ส่งต่อไปยังธุรกิจสิงคโปร์ด้วย

บัณฑูร ล่ำซำ

พิจารณาโปรไฟล์ของ บัณฑูร ล่ำซำ มีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นเป็นหนึ่งเดียวกับธนาคารกสิกรไทย ธนาคารซึ่งสะท้อนพัฒนาการอีกช่วงหนึ่ง อีกมิติหนึ่งของสังคมไทย

ธนาคารกสิกรไทย ก่อกำเนิดขึ้นนับเป็นผลพวงต่อเนื่องจากสายสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจไทยกับอิทธิพลตะวันตก ซึ่งต่อเนื่องและหลงเหลืออยู่ตั้งแต่ยุคอาณานิคม จากเครือข่ายธุรกิจสัมปทานป่าไม้อาณานิคมอังกฤษ สู่ธุรกิจการค้า จนถึงยุคต้นธนาคารกสิกรไทยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้นำธนาคารกสิกรไทยสองคนแรก ล้วนผ่านการเรียนรู้ ฝึกฝนการบริหารธนาคารจากระบบอังกฤษ—โชติ ล่ำซำ (2488-2491) และยุค เกษม ล่ำซำ (2491-2505)

จากนั้นธนาคารกสิกรไทยสามารถก้าวเข้าสู่ยุคสงครามเวียดนามได้อย่างน่าทึ่ง ยุคผู้นำคนที่สาม–บัญชา ล่ำซำ (ผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย 2505-2534) ผู้มีโปรไพล์ที่แตกต่างจากคนตระกูลล่ำซำก่อนหน้านั้น แต่สอดคล้องกับยุคใหม่อย่างยิ่ง บัญชา ล่ำซำ American connection คนสำคัญคนหนึ่งในสังคมธุรกิจไทย ในช่วงเวลาเดียวกันที่ตระกูลสารสิน เป็น American connection ในเชิงการเมือง

เมื่อมาถึงยุค บัณฑูร ล่ำซำ เป็นทั้งความต่อเนื่อง และหัวเลี้ยวหัวต่อใหม่ เป็นผลพวงของ American connection ในฐานะผู้ผ่านการศึกษาโมเดลเฉพาะของสหรัฐ

บัณฑูร ล่ำซำ ทำงานธนาคารกสิกรไทยอย่างต่อเนื่องยาวนานเกือบ 4 ทศวรรษแล้ว

เขาก้าวขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทยตั้งแต่ปี 2535 ในช่วงก่อนการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างของธุรกิจธนาคารไทยเริ่มปรากฏขึ้น

จากนั้นมานับเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญอย่างยิ่ง ท่ามกลางวิกฤตการณ์รุนแรงที่สุดในระบบธนาคารไทยในเริ่มต้นช่วงปี 2540

เขาและธนาคารกสิกรไทยสามารถปรับตัวอย่างน่าทึ่ง ทายาทตระกูลเก่าแก่ที่มีรากฐานของสังคมไทย กับความพยายามรักษาธุรกิจธนาคารไทยเอาไว้ได้

ชาติศิริ โสภณพนิช

บัณฑูร ล่ำซำ กับ ชาติศิริ โสภณพนิช ว่าไปแล้วถือเป็น “ตัวแทน” ธุรกิจไทยซึ่งเป็น “แกนกลาง” สังคมไทยมายาวนาน ซึ่งเป็นธนาคารไม่กี่แห่งสามารถฝ่าวิกฤตการณ์ครั้งสำคัญมาได้

ธนาคารกรุงเทพ ดูเหมือนเป็นภาพซ้อนทับกับธนาคารกสิกรไทยอยู่บ้าง ธนาคารซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาธนาคารเกิดใหม่รุ่นแรกในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แต่มาเกี่ยวข้องกับตระกูลโสภณพนิชทีหลัง ตระกูลธุรกิจซึ่งมีบทบาทในธนาคารใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของไทยมาแล้ว 3 รุ่น ยาวนานกว่า 6 ทศวรรษ

ชิน โสภณพนิช ก้าวเข้ามา (ปี 2495) นำพาธนาคารกรุงเทพพ้นวิกฤตการณ์การปรับตัวในช่วงต้นๆ ด้วยแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งสำคัญ กระทรวงเศรษฐการ (กระทรวงพาณิชย์ปัจจุบัน) เข้ามาถือหุ้นใหญ่ เข้าไปมีบทบาทเป็นธนาคารเพื่อการค้าและพาณิชย์ของรัฐบาล ในฐานะธนาคารอยู่ในอาณัติรัฐบาล (2495-2500)

ความสัมพันธ์กับกลไกการส่งออกข้าวของรัฐบาล ต่อเนื่องเป็นสายสัมพันธ์กับกลุ่มพ่อค้าข้าวผู้ทรงอิทธิพลในย่านชาวจีนโพ้นทะเล ธนาคารกรุงเทพจึงกลายเป็นธนาคารที่มีโอกาสทางธุรกิจมากที่สุดในเวลานั้น เติบโตอย่างมากจนเป็นธนาคารอันดับหนึ่งของไทย

ความสัมพันธ์อันมั่นคง ระหว่างธนาคารกรุงเทพ กับอำนาจรัฐและเครือข่ายชาวจีนโพ้นทะเล ส่งต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน เชื่อว่าสัมพันธ์กับพัฒนาการ ดำรงอยู่ และก้าวผ่านพ้นวิกฤตสำคัญในหลายช่วง จนมาถึง ชาติศิริ โสภณพนิช ในรุ่นที่ 3 (ผู้จัดการใหญ่ 2537-ปัจจุบัน)

เรื่องราวข้างต้น ล้วนให้ภาพเชื่อมโยงต่อเนื่องกัน ตั้งแต่ธุรกิจเก่าแก่ตั้งแต่ยุคอาณานิคม สู่ยุคธนาคารไทย มาจนถึงธุรกิจยุคใหม่ อิทธิพลซึ่งดำรงอยู่อย่างสัมพันธ์กัน