สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ตามรอยครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครูคือผู้ให้ แห่งฟิลิปปินส์ (9)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

รายการ Show and Share ถ่ายทอด ถอดบทเรียนของครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ในเวทีประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 1 ดำเนินต่อไปจนถึงลำดับที่ 4 จากประเทศฟิลิปปินส์

ครูวิลเลียม โมราคา (Mr.William Moraca ) อายุประมาณ 50 ปี เป็นครูใหญ่สอนที่โรงเรียนประถมศึกษา Datal Salvan ตั้งอยู่ในภูเขา General Santo เกาะมินดาเนา (Mindanao) ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นพื้นที่ห่างไกล การคมนาคมยากลำบาก มีนักเรียน 90 คน

ทั้งหมดเป็นชาติพันธุ์ BLaan (บะละอาน) โรงเรียนไม่มีบ้านพักครู จึงต้องใช้ห้องครูใหญ่เป็นทั้งห้องรับแขก ห้องประชุม และห้องนอนสำหรับครูสี่ห้าคน ต้องนอนกับพื้น

ครูแต่ละคนบ้านอยู่ไกลมาก กลับบ้านเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์

 

นอกจากเป็นครูใหญ่ กลางวันช่วยสอนหนังสือเด็ก กลางคืนออกไปอยู่กับชาวบ้าน ช่วยเหลือทำงานพัฒนาชีวิต

ครูมีผลงานนวัตกรรมที่ใช้เป็นสื่อในการเรียนการสอน โดยได้ใช้ทักษะความสามารถ ความถนัดด้านอิเล็กทรอนิกส์และไฟฟ้าที่มีนำมาต่อยอดสร้างเป็นนวัตกรรมการเรียนรู้ได้

อาทิ การคิดค้นกังหันลมเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับโรงเรียนและชุมชน

ระบบน้ำ Magnetic water system เพื่อลำเลียงน้ำจากลำธารเข้ามาให้ในชุมชน

การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพิ่มเพื่อให้มีไฟฟ้าใช้งาน

เอาน้ำพุร้อนตามธรรมชาติที่ร้อนจัด ลงเล่นไม่ได้ มาผสมกับน้ำเย็นตามธรรมชาติให้เล่นได้ ทำให้เป็นที่ท่องเที่ยว ชาวบ้านมีรายได้

ครูทำงานเพื่อพัฒนาที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนอย่างต่อเนื่อง จึงได้รับความร่วมมือจากชุมชน หัวหน้าชนเผ่าและรัฐบาลท้องถิ่น ส่งผลให้การดำเนินการต่างๆ สำเร็จลงได้

“เมื่อชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดี มีอาหารเลี้ยงครอบครัว จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนดีขึ้น” ครูวิลเลียมย้ำ

 

ในเวทีสัมมนาปฏิบัติการครั้งนี้ ครู William นำเสนอเทคนิคการสอนที่มีประสิทธิภาพ ที่ได้เผยแพร่ผ่านสถานีโทรทัศน์ในประเทศฟิลิปปินส์มาแล้ว

โดยจำลองกำแพงเมืองจีนให้เด็กได้เห็น ทดลองสร้างนวัตกรรมด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นลูกโลกพูดได้ เพื่อใช้ในนำเสนอข้อมูลทางภูมิศาสตร์ แบบจำลองสามมิติ (simulation) เกมโชว์ต่างๆ รวมทั้งใช้กล้องปลายปากกาและกล้อง cctv ติดตามการสอน เสียงสะท้อนจากนักเรียน

พบว่า นักเรียนรู้จักกับระบบสุริยะมากขึ้นจากเครื่องมือจำลองที่ครูสร้างขึ้น

“นวัตกรรมเป็นสิ่งที่มีความสำคัญในการจัดการเรียนรู้ในยุคศตวรรษที่ 21 เพราะจะช่วยทำให้ห้องเรียนไม่น่าเบื่อ และผู้เรียนเห็นภาพมากยิ่งขึ้น นวัตกรรมไม่ใช่สิ่งไกลตัว และสามารถสร้างได้จากสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนนั้นๆ” ครู William แสดงให้เห็นแล้วว่า

“ความยากจนไม่ใช่อุปสรรคในการที่จะประสบความสำเร็จทางด้านวิชาชีพครู”

 

นอกจากนี้ ครูได้จำลองกิจกรรมหน้าห้อง โดยการเล่นเกมถามตอบ และกดกริ่งไฟฟ้าเพื่อตอบคำถาม

เช่น ใครเป็นนายกฯ ของประเทศไทยคนปัจจุบัน เมืองหลวงของประเทศไทยชื่อว่าอะไร เป็นต้น

โดยกิจกรรมลักษณะนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนให้มีความสนุกสนาน เพราะในโลกปัจจุบันเทคโนโลยีมีความจำเป็นที่จะต้องนำเอานวัตกรรมมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน เพราะชอล์กกับกระดานดำอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ต้องใช้วิธีการที่สร้างสรรค์ สร้างบรรยากาศในห้องเรียนทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุข

เช่น การใช้ Magnetic black board เพื่อเล่นเกมต่อคำให้เด็กเรียนรู้คำใหม่ หรือในวิชาคณิตศาสตร์ก็ใช้วิธีนี้ในการคิดสมการ ทำให้เด็กคิดเร็ว แม่นยำ ถูกต้อง เด็กจะแข่งกันเพื่อให้ได้คะแนน ซึ่งวิธีการนี้สามารถช่วยเด็กให้ได้ทุนที่ North America การใช้นวัตกรรมจึงเป็นการเพิ่มประโยชน์ในการเรียนรู้

บันทึกจากการนำคณะกรรมการมูลนิธิ เดินทางไปพบเยี่ยมเยียนครูวิลเลียม ของ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิ ระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน-1 กรกฎาคม 2559 เล่าว่า ครูวิลเลียมซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี และสัญญาว่าจะทำงานให้หนักขึ้นต่อไป

รวมทั้งได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรในหลายโอกาสในประเทศฟิลิปปินส์ เช่น การกล่าวสุนทรพจน์ในงานรับปริญญาบัตร และได้รับรางวัลครูดีเด่น

 

หลังจากได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีแล้ว ครูได้ระดมทรัพยากรสำหรับโรงเรียนโดยร่วมกับสโมสรโรตารี ประเทศฟิลิปปินส์ จัดหาอาหารกลางวันให้เด็ก รวมถึงจัดหาสิ่งของบริจาค เช่น อุปกรณ์กีฬา หมวก ถุงเท้า กระเป๋า ขนมต่างๆ เพื่อนำมาแจกเด็กๆ ในชุมชน ทำห้องเรียนเด็กเล็ก ทำห้องสอนคอมพิวเตอร์ ทาสีโรงเรียนทั้งสี่อาคารทั้งด้านในด้านนอก ทาสีเก้าอี้นักเรียน ติดม่านสีสวย ซื้อชุดรับแขก ปลดหนี้ที่ครูกู้เงิน (ดอกเบี้ยโหด 5-10% ต่อเดือน) มาปรับปรุงโรงเรียน

“การที่ได้เป็นทั้งครู และผู้บริหาร ต้องอยู่ชุมชน ไม่ได้ก่อปัญหาให้ครูแต่อย่างใด เนื่องจากทางราชการมีความเข้าใจว่าเป็นโรงเรียนขนาดเล็กและอยู่ในพื้นที่ห่างไกล จึงได้รับข้อยกเว้นไม่ต้องเข้าร่วมประชุมในทุกๆ เดือน”

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของการเป็นครู คือ การทำงานโดยให้ได้รับความร่วมมือ การสนับสนุนจากชุมชนด้วย นอกจากนี้ เห็นว่าควรพัฒนาการท่องเที่ยว สุขภาพ สิ่งแวดล้อม โดยหวังว่าจะพัฒนาพื้นที่เหล่านี้ให้ก้าวหน้าต่อไป

ครู William เชื่อว่า “การศึกษาเพื่อการพัฒนาชุมชน เป็นพลังที่สำคัญมีความหมายต่อทุกๆ คน ทั้งในระดับโรงเรียน ชุมชน สังคม และประเทศ”

 

แรงบันดาลใจอีกอย่างหนึ่งของครู คือ ต้องการให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

แม้ปัจจุบันต้องเผชิญปัญหาด้านสุขภาพเนื่องจากประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์จากการเดินทางไปโรงเรียน ทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับเส้นเลือดไปเลี้ยงสมอง และทำให้ความทรงจำบางอย่างหายไป พูดเป็นคำได้ไม่ชัดเจน แสดงออกเป็นคำพูดได้ยากลำบาก แต่ครูยังคงมุ่งมั่นทำงานเพื่อพัฒนาชุมชน และเข้าใจดีว่า น้ำคือสิ่งที่ต้องการของชุมชนเป็นอันดับแรก จึงได้ผลิตสิ่งประดิษฐ์เกี่ยวกับระบบน้ำและไฟเพื่อชุมชน

กรรมการมูลนิธิที่ไปเยี่ยมถามว่า “ทำไมจึงจมปลักอยู่ในที่ลำบากอย่างนี้ได้และทำงานเกินหน้าที่ครูมาก”

คำตอบคือ “My heart is with the poor. If I do not help them nobody is coming to help”

เรื่องเล่า เรื่องราวชีวิตของครูวิลเลียมจากปลายนิ้วสัมผัสคีย์บอร์ดของครูกฤษณพงศ์ ใน “ครูไทยพบครูเทศ” สะท้อนภาพความเสียสละ ทุ่มเท ด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครูผู้ให้ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าครูดอย ครูชายขอบ ตามพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารในบ้านเราทีเดียว