จิตต์สุภา ฉิน : บันทึก (ไม่) ลับ อดีตพนักงานกูเกิล

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

เจมส์ ดามอร์ อดีตวิศวกรของกูเกิลไม่รู้ไปกินดีหมีมาจากไหน จู่ๆ ก็ลุกขึ้นมาเขียนเมโม่ความยาว 10 หน้า ที่มีเนื้อหาหลักๆ เกี่ยวกับการตำหนิวัฒนธรรมของกูเกิลและชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงไม่มีความสามารถในการทำงานในวงการเทคโนโลยีได้ดีเท่าผู้ชายอันเนื่องมาจากสาเหตุทางด้านชีวภาพ

แน่นอนว่าเขียนถึงขนาดนี้โลกเทคโนโลยีก็ร้อนเป็นไฟ เนื่องจากช่วงหลังๆ มานี้มีความพยายามที่จะสร้างสังคมการทำงานในซิลิคอนวัลเลย์ที่มีความเท่าเทียมกันระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย ลดความแตกต่างทางด้านเพศ เชื้อชาติ และส่งเสริมให้มีความหลากหลายในบริษัท

ซึ่งกูเกิลเองก็เป็นหนึ่งในบริษัทที่ตกที่นั่งลำบากเนื่องจากสัดส่วนของผู้หญิงที่ทำงานในบริษัทไม่สอดคล้องกับสัดส่วนของผู้ชาย

แถมรายได้ก็น้อยกว่าผู้ชายที่ทำงานในตำแหน่งที่เท่ากันอีก

ดามอร์เขียนในบันทึกของเขาซึ่งตีแผ่ออกไปให้สาธารณชนได้อ่านกันถ้วนหน้าว่ากูเกิลปิดปากไม่ให้คนทางฝั่งอนุรักษนิยมได้แสดงความคิดเห็น ทำให้บางความคิดไม่ถูกนำมาถกเถียงกันอย่างตรงไปตรงมา

และสาเหตุที่จำนวนของผู้หญิงที่ทำงานในแวดวงเทคโนโลยี หรือผู้หญิงที่ครองตำแหน่งผู้นำมีน้อยกว่าผู้ชายนั้นไม่ได้เป็นเพราะว่าผู้หญิงถูกกีดกัน หรือถูกปฏิบัติโดยไม่เท่าเทียมแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะว่าทางชีวภาพแล้วผู้หญิงไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นแบบเดียวกับผู้ชาย

และการที่กูเกิลพยายามทำให้สัดส่วนทางเพศและเชื้อชาติเท่ากันโดยปราศจากความลำเอียงนั้นกลับทำให้กูเกิลเพิกเฉยต่อความหลากหลายทางความคิดไปด้วย

เขาระบุชัดเจนว่าเขาเชื่อว่ากูเกิลเอนเอียงไปทางฝั่งซ้ายมากเกินไป

 

ดามอร์บอกว่าเมื่อเทียบระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายแล้ว ผู้หญิงมีความสนใจเกี่ยวกับผู้คนมากกว่าสิ่งของ

ซึ่งสิ่งที่เขาพูดถึงก็คือทฤษฎี empathizing – systemizing (E-S) หรือการแบ่งคนออกเป็นสองมิติ มิติแรกหรือ E หมายถึง คนที่ให้ความสนใจ ใส่ใจ และเข้าใจ ความรู้สึกของคนอื่น

ส่วนมิติที่สอง หรือ S คือ คนที่ให้ความสนใจในระบบ หรือคนที่ชอบวิเคราะห์และปลูกสร้างระบบนั่นเอง

ดังนั้น นี่คือสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะชอบทำงานด้านสังคมหรืองานศิลปะ

ในขณะที่ผู้ชายจะชอบทำงานอย่างการเขียนโค้ดคอมพิวเตอร์ที่จะต้องใช้ระบบเข้ามาช่วย

ดามอร์เขียนไว้ว่านิสัยการเป็นคนชอบเข้าสังคม ชอบพูดคุยกับคนอื่น และเห็นด้วยกับอะไรง่ายๆ นี่แหละที่ทำให้ผู้หญิงไม่มีความสามารถในการต่อรองเงินเดือน ขอขึ้นเงินเดือน พูดความต้องการของตัวเองออกมา ไปจนถึงการรับบทบาทเป็นผู้นำได้

ในขณะที่ผู้ชายจะมีบุคลิกของการยืนหยัดในตัวเอง ซึ่งดามอร์บอกว่าถึงแม้ว่าจะเป็นคุณสมบัติที่อาจจะมีร่วมกันทั้งสองเพศ แต่ดูเหมือนจะเป็นปัญหาสำหรับเพศหญิงมากกว่า

เขายังเขียนต่อไปว่า ผู้ชายมักจะมีแรงขับที่อยากจะได้สถานะมากกว่าผู้หญิง

ซึ่งแรงขับนี้นี่เองที่ผลักดันให้ผู้ชายได้ไปยืนอยู่ในตำแหน่งที่ได้รับเงินค่าตอบแทนสูงกว่าแม้ว่างานอาจจะไม่เป็นที่น่าพึงประสงค์สักเท่าไหร่แต่ก็แลกกับการได้มาซึ่งสถานะนั้นๆ

ดามอร์ปิดท้ายเมโม่ของเขาด้วยการบอกว่าเขาไม่ได้บอกว่าความหลากหลายเป็นเรื่องแย่ และไม่ได้บอกว่าเราไม่ควรแก้ไขอคติที่มีอยู่ในตอนนี้ แต่เขาต้องการจะสื่อว่าเราไม่รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง ปิดหูปิดตาไม่ยอมมองหลักฐานที่ขัดแย้งกับมโนคติของเรา

เขายืนยันว่าเขาไม่ได้บอกให้เราจำกัดคนเพียงเพราะบทบาททางเพศ แต่สิ่งที่เขาต้องการเสนอคือการปฏิบัติต่อแต่ละบุคคลในฐานะปัจเจกบุคคล ไม่ใช่เป็นเพียงเพราะคนๆ นั้นมีเพศหรือเชื้อชาติไหน

(แต่เอ๊ะ ถ้าหากเขาบอกให้เราปฏิบัติต่อกันในฐานะปัจเจกบุคคล ถ้าอย่างนั้นเมโม่ฉบับนี้ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเขียนขึ้นมาตั้งแต่แรก จริงไหมคะ)

 

อย่างไรก็ตาม เสียงตอบรับหลังจากเมโม่ของเขาถูกเผยแพร่นั้นค่อนข้างร้อนแรงมากและนำไปสู่การจบสัญญาว่าจ้างพนักงานระหว่างกูเกิลและเจมส์ ดามอร์ ในที่สุด

ผู้หญิงในวงการเทคโนโลยีจำนวนไม่น้อยออกมาแสดงความไม่พอใจ รวมถึง ซูซาน วอจิกสกี ซีอีโอหญิงแห่งยูทูบ ก็ออกโรงมาเขียนเมโม่โต้ตอบและเล่าถึงประสบการณ์การถูกปฏิบัติโดยไม่เท่าเทียมที่เธอเคยประสบพบเจอมาด้วยตัวเอง

ซุนดาร์ พิชัย ซีอีโอของกูเกิลรีบจบทริปพักผ่อนกับครอบครัวกะทันหันเพื่อบินกลับมาจัดการปัญหาเรื่องนี้

เขาเขียนเมโม่โต้ตอบว่ามีหลายประเด็นที่ดามอร์ยกขึ้นมาซึ่งควรค่าต่อการนำมาถกเถียงกันต่อไป แต่สิ่งที่ยอมรับไม่ได้คือเนื้อหาบางส่วนในเมโม่ของดามอร์นั้นไปตอกย้ำภาพเหมารวมทางเพศที่เป็นอันตรายต่อการทำงาน ซึ่งขัดกับหลักจริยธรรมของบริษัท อีกทั้งการเขียนถึงเพื่อนร่วมงานบางกลุ่มว่าไม่สามารถทำงานได้ดีพออันเนื่องมาจากไม่มีสภาวะทางชีวภาพที่เหมาะสมถือเป็นการลบหลู่ดูหมิ่นและยอมรับไม่ได้เลย

ซู่ชิงยอมรับว่าตอนที่ได้ฟังข่าวนี้ก่อนที่จะได้อ่านเมโม่เต็มๆ ของดามอร์ ก็เกิดความรู้สึกไม่พอใจอยู่บ้างเหมือนกัน ว่า เอ๊ะ ยุคสมัยนี้แล้ว ยังมีคนกล้านำเสนอไอเดียว่าผู้หญิงไม่มีความเหมาะสมในการทำงานที่ใช้สมอง ทักษะ และความสามารถ เพียงเพราะเรามีโครงสร้างทางชีวภาพที่ไม่เหมือนผู้ชายอยู่อีกหรือ

แต่พอได้มาอ่านละเอียดขึ้นและลองมองจากมุมของผู้เขียนก็พอจะทำให้เข้าใจได้บ้างว่าเขาต้องการสื่ออะไร

และเข้าใจที่ ซุนดาร์ พิชัย บอกว่ามีประเด็นบางอย่างที่น่านำมาถกเถียงกันต่อ

 

การจำกัดนิสัยหรือคุณลักษณะบางอย่างว่าจะติดมากับเพศหญิงเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการยินยอมกับอะไรง่ายๆ เห็นด้วยกับอะไรง่ายๆ ไม่ยืนหยัดในตัวเอง หรือมีความอดทนต่ำภายใต้สภาวะที่กดดันสูง นับเป็นการเหมารวมที่ไม่เป็นธรรม

และนี่ก็จะยิ่งไปตอกย้ำให้ผู้หญิงรู้สึกว่าต้องพยายามหนักขึ้นอีกสองเท่าเพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าไม่ได้เป็นแบบที่ถูกกล่าวหา

คล้ายๆ กับหนังสือเรื่องผู้ชายมาจากดาวอังคาร ผู้หญิงมาจากดาวศุกร์ ที่บอกว่าผู้หญิงทุกคนไม่มีเหตุผล อะไรทำนองนั้น

ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ควรนำมาขบคิดต่อจากในเมโม่ที่ดามอร์เขียน ก็คือมีคนกลุ่มหนึ่งในบริษัทที่รู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถพูดความคิดเห็นออกมาได้อย่างเสรี โดยเฉพาะกลุ่มที่คิดไม่สอดคล้องกับคนส่วนใหญ่

คนกลุ่มนี้รู้สึกกลัว อึดอัด ไม่กล้าพูดความคิดของตัวเองออกมา ทั้งๆ ที่ความคิดเหล่านั้นก็ควรได้รับการรับฟังและอาจนำไปสู่การแก้ไขปัญหาบางอย่างได้

อย่างเช่น ในกรณีของดามอร์ที่เขาตั้งคำถามเกี่ยวกับมโนคติในที่ทำงานของกูเกิล ซึ่งก็น่าจะเป็นประโยชน์หากนำมาถกเถียงกันต่อว่ามันเป็นไปได้จริงมากน้อยแค่ไหน และมีใครรู้สึกถูกทิ้งไว้ข้างหลังจากความพยายามทำให้มโนคตินั้นกลายเป็นความจริงบ้างหรือเปล่า

การจะทำให้ทั้งสองอย่างนี้สมดุลกันได้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ทำอย่างไรให้พนักงานสามารถแสดงความคิดเห็นได้เต็มที่ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ขัดต่อหลักจริยธรรมของบริษัท เพราะความคิดเห็นที่อันตรายและท้าทายก็อาจนำไปสู่การขบคิดชนิดแหกกรอบได้มากพอๆ กับที่มันอาจจะสร้างความโกลาหลวุ่นวายและเพิ่มดีกรีอคติความเกลียดชังให้สูงขึ้นได้ด้วย

นี่จะเป็นโจทย์ที่ทุกวงการจะถูกท้าทายให้ขบคิดบ่อยขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความหวังว่าสักวันหนึ่งเราจะไปถึงจุดสมดุลกันได้ในที่สุด