SLAPP เมื่อกฎหมายถูกใช้ปิดปาก เสียงค้านโครงการรัฐ-ทุน

รายงานพิเศษ// อิสราชัย จงภัทรนิชพันธ์

การรุกคืบของสิ่งที่เรียกว่า “การพัฒนา” ไม่ว่าจากนโยบายรัฐหรือโครงการของเอกชนที่เข้ามา ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนอย่างชุมชนที่มีทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ในจังหวัดของภาคอีสาน จนต้องออกมาลุกขึ้นต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิในการมีชีวิตที่บรรพบุรุษตกทอดให้กับพวกเขาและหมายมั่นส่งต่อให้กับลูกหลาน

ข้อพิพาทระหว่างท้องถิ่นกับทุนและรัฐ มีการใช้กลวิธีเพื่อยับยั้งหรือบั่นทอนการเคลื่อนไหวของประชาชนธรรมดา

ไม่ว่าการใช้กำลังโดยตรง ยุทธวิธีทางจิตวิทยา

ไปจนถึงการใช้กฎหมาย ซึ่งเป็นวิธีสุดท้ายเป็นที่นิยมใช้มาหลายปีและถูกใช้เข้มข้นมากขึ้นตลอด 3 ปีของรัฐบาล คสช.

เทคนิคที่ว่านี้คือ “การใช้กลไกกฎหมายเพื่อยับยั้งการมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะ” หรือ “สแล็บ” (SLAPP – Strategic Lawsuit Against Public Participation)

 

นายวิเชียร อันประเสริฐ นักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า ในงานวิจัยของต่างประเทศนิยามลักษณะของสแล็บ ว่าเป็น 1) คดีแพ่งหรือมีคำสั่งบางข้อเพื่อห้าม 2) ฟ้องกับบุคคลที่ไม่ใช่รัฐ 3) บุคคลที่ไม่ใช่รัฐกำลังสื่อสารไปยังรัฐหรือตัวแทนเพื่อลงมาช่วยเหลือ 4) ประเด็นที่เป็นประโยชน์สาธารณะ 5) เป็นการฟ้องที่ไม่มีสาระอะไรแต่หวังผลทางเศรษฐกิจและการเมือง โดยไม่สนความถูกผิดของคดี แต่หวังเพียงทำให้อีกฝ่ายเสียเวลา ทรัพย์สินเพื่อจัดการกับคดี

กรณีหนึ่งที่มีการใช้ “สแล็บ” อย่างเช่น จังหวัดเลย ชาวบ้านถูกบริษัทฟ้องเป็นจำนวน 21 คดี ตั้งแต่ปลายปี 2556 จนถึงปัจจุบัน ด้วยกฎหมายที่ใช้ฟ้องถึง 7 ฉบับ โดยฟ้องชาวบ้านจำนวน 38 คน พร้อมเรียกร้องค่าเสียหายเป็นจำนวน 320 ล้านบาท

การต่อสู้เพื่อคัดค้านเหมืองทองที่อำเภอวังสะพุงมาเกือบ 6 ปี ชาวบ้านที่เรียกร้องถูกทำร้ายร่างกาย กักขังหน่วงเหนี่ยว ข่มขู่ ตามสอดส่องชาวบ้าน จากการสร้างกำแพงไม่ให้ขนสารเคมีเข้าเหมืองหรือขนแร่ออกไป การร้องขอตรวจสอบแร่ที่ขนออกไปถูกกฎหมายหรือไม่ รวมถึงการคัดค้านบริษัทได้รับการต่อใบอนุญาตพื้นที่ขอใช้ที่ป่าไม้และ ส.ป.ก. เพื่อทำเหมือง

ส่งผลให้ชาวบ้านเจอฟ้องโดยบริษัทเอกชน 19 คดี จาก อบต.เขาหลวง 2 คดี และจากตำรวจ 1 คดี ในข้อหาจัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งให้ทราบ

ทำให้เห็นว่ามีการใช้กฎหมายหลายตัว ตั้งแต่กฎหมายแพ่ง อาญา กฎหมายเยาวชน พ.ร.บ.ชุมนุม พ.ร.บ.การจราจร รวมถึงกฎหมายที่โยงกับกฎหมายแร่ ที่ทั้งหมดได้ผลักให้ชาวบ้านไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ต้องเดินทางไปหาตำรวจ ศาลหรืออัยการในคดีหนึ่งกว่า 6-13 ครั้ง ซึ่งเป็นอัตราที่สูง

นอกจากนี้ คดีที่เกิดขึ้น สำหรับชาวบ้านที่ร่วมแรงร่วมใจ ไม่ใช่คดีของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของชุมชนที่ร่วมต่อสู้กัน จึงเห็นภาพไปศาลกันเป็นร้อยคน

แต่นั่นยังส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจด้วย เพราะโดยปกติ ชาวบ้านจะมีรายได้วันละ 3-5 พันบาท จากการกรีดยางและขายลอตเตอรี่ แต่การกักขังหน่วงเหนี่ยว ถูกข่มขู่และค่าใช้จ่ายหลายอย่างในการฟังศาล ต่อคนวันละ 2-2.5 พันบาท นับว่าส่งผลกระทบอย่างหนัก

สแล็บจึงเป็นสิ่งที่น่ากลัว คนจะนึกไม่ถึงจนกระทั่งถูกฟ้อง ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการกีดกันด้วยกฎหมายคือ “ความกลัว” ใช้ความกลัวที่มีต่อคดี ทำให้ไม่กล้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นสาธารณะ

 

ด้าน นายแสงชัย รัตนเสรีวงษ์ ทนายความสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า สำหรับสแล็บ มองว่าเป็นการกลั่นแกล้ง ฟ้องคดีเพื่อแสวงหาประโยชน์ ซึ่งภาษากฎหมายเรียกว่า เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

มันมีลักษณะอาการที่เห็นคือ มันกลับไปตรงกันข้าม จากคนที่โจทก์ฟ้องเพราะเป็นผู้เสียหายกลับต้องตกเป็นจำเลย

ส่วนคนที่ต้องพิสูจน์ว่าโครงการนั้นดีจริงหรือไม่ ประเทศเจริญก้าวหน้า คนอยู่กินดี กลับไม่ต้องพิสูจน์ แต่ไปกล่าวหาคนที่ปกป้องรักษาทรัพยากร ใช้สิทธิเพื่อตรวจสอบหน่วยงานต่างๆ

แล้วอาการนี้เกิดขึ้นไม่เฉพาะแค่โครงการพัฒนา ประเด็นทางการเมืองสาธารณะอื่น เช่น คดีกับนักศึกษาบางกลุ่ม ชูป้ายประท้วง พร้อมพยายามเชื่อมโยงกับกลุ่มก้อนการเมืองฝั่งตรงข้าม นี่เป็นลักษณะที่คล้ายกัน

อย่างที่ว่าไป เนื้อแท้ของวิธีนี้ ไม่สนว่าผลของคดีจะเป็นอย่างไร เพียงแค่ทำให้อีกฝ่ายวุ่นวาย หาเงินประกันตัว อย่าง ไผ่ ดาวดิน ที่ถูกจำคุกมา 200 กว่าวัน บางคนประกันตัวไม่ได้ ความกลัวที่จะแสดงออก กลายเป็นว่าผลของคดี เป็นการทำให้ผู้คนไม่กล้ารักษาสิทธิของตัวเอง เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จงใจใช้คดีกับฝ่ายคัดค้านที่รักษาทรัพยากรกลัว กลัวต้องขึ้นศาล สู้แล้วไม่รู้ว่าจะติดคุกหรือไม่

สิ่งที่เกิดขึ้น ยังสะท้อนความขัดแย้งในประเด็นการพัฒนาว่า ประเทศไทยยังคงเป็นอุตสาหกรรมเน้นฐานทรัพยากรเป็นปัจจัยการผลิต แก่งแย่งจนไปมีข้อพิพาทกับชุมชน

หากขยายด้านนี้ต่อ ก็ต้องพบกับการแก่งแย่งทรัพยากรกับชุมชนอยู่ร่ำไป

ทว่า ชุมชนไม่มีพลังมากพอที่จะคัดค้านจนสร้างความเปลี่ยนแปลง เว้นแต่ผู้มีส่วนได้ประโยชน์จากการบริโภคทรัพยากรตามเมืองโดยเฉพาะชนชั้นกลางจะขานรับร่วมกับชุมชน

ถ้าสื่อสามารถทำให้คนกลุ่มนั้นเข้าใจ ก็จะสนับสนุนบริษัทที่ใช้ทรัพยากรบนพื้นที่ชุมชนอย่างมีความรับผิดชอบ ให้รู้ว่าชุมชนก็ร่วมลงทุนกับบริษัทที่ทำโครงการด้วย เพราะต้นทุนพวกเขาคือ ชีวิต สุขภาพที่ต้องสูดดม ดื่มกินจากสิ่งที่เกิดบนพื้นที่เอกชน เวลาเกิดอะไร เอกชนต้องพูดคำแรกว่า “ชุมชนต้องมาก่อน” ไม่ใช่พูดว่า “ไม่เกินค่ามาตรฐาน”

 

นายแสงชัยกล่าวอีกว่า สิทธิการฟ้องย่อมได้รับความคุ้มครอง แต่โอกาสที่จะสู้คดีเพื่อพิสูจน์ว่าไม่สุจริตนั้นไม่ง่าย เพราะความขัดแย้งอีกเรื่องที่สำคัญ คือความขัดแย้งในการจัดการกระบวนการยุติธรรม

เช่น ชาวบ้านมีข้อมูลโครงการที่มีปัญหาน้อยมาก หรืออีกฝ่ายคือหน่วยงานราชการ อำนาจต่อรองย่อมต่างกัน

ทำให้การต่อสู้คดีไม่เท่าเทียมมาตั้งแต่ต้น หากลดความไม่เท่าเทียมได้ ก็คงเกิดการฟ้องน้อย อีกอย่างคือระบบพิจารณาตามกระบวนการยุติธรรมที่ต้องอยู่ตรงกลางเพื่อตรวจสอบ แทนที่จะไม่อยากรบกวนดุลยพินิจอำนาจรัฐ ซึ่งทุกวันนี้เห็นแล้วว่ารัฐไม่ใช่คนกลางอีกต่อไป แต่เป็นคู่ขัดแย้ง

ดังนั้น ต้องทำให้กระบวนการยุติธรรมวางตัวตรวจสอบทั้งสองฝ่าย และดึงทุกฝ่ายมาถกพูดคุย ไม่ใช่กล่าวหาอีกฝ่ายขัดขวางความเจริญ

อย่างไรก็ตาม ระบบนั้นสามารถทำได้หรือไม่ แต่เราพบว่าชาวบ้านสามารถทำเรื่องนี้ได้ อย่าคิดว่าต้องพึ่งแต่กฎหมายเท่านั้น เพราะกว่ากฎหมายจะตกลงกันได้ คงใช้เวลาหลายสิบปี แต่พลังของชุมชนที่รวมตัวกันและมีประสบการณ์ต่อสู้ในหลายพื้นที่ พวกเขาทำได้

เปลี่ยนคดีที่ถูกฟ้อง หวังใช้เป็นเครื่องมือทำลายความสามัคคี กลับทำให้ชาวบ้านรวมตัวได้หนักแน่นมากขึ้น พวกเขาจะภูมิใจว่าเดินถูกทางแล้ว ถ้าไม่ฟ้องแสดงว่าเดินไม่ถูก ถ้าคัดค้านแล้วอีกฝ่ายไม่สะเทือน พวกเขาไม่ฟ้อง

กลุ่มชาวบ้านที่มีความเชื่อเช่นนี้ จะไม่หวั่นไหว กลับคิดว่าจะใช้การฟ้องคดีมาใช้ประโยชน์ยังไง ยกกรณีชาวกะเหรี่ยงที่โดนฟ้อง พวกเขากลับได้เจอคนที่ไม่มีโอกาสพบมาก่อน และมีกลุ่มต่างๆ จากหลายที่ร่วมกัน ไม่ว่าอาจารย์ สื่อมวลชน

อีกอย่างคือฟ้องยังดีกว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่งั้นต้องมีอะไรผิดปกติ ใช้ความพยายามของชุมชนสื่อสารไปยังผู้พิพากษาจนเปลี่ยนท่าที เปลี่ยนแม้แต่ทนายฝ่ายตรงข้ามให้รู้สึกอับอายยังได้

แสดงให้เห็นและพิสูจน์ได้ว่าเป็นคนจริง ที่ปกป้องสิทธิ รักษาทรัพยากรธรรมชาติ จึงไม่มีอะไรดีกว่าความสุจริตของชุมชน

แต่จะเป็นเช่นนี้ไม่ได้ หากชุมชนนั้นไม่เป็นชุมชน ไม่ต้องฝากความหวังกับใคร

แต่หากเชื่อมั่นในชุมชน แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ต้องต่อสู้นั้นเพราะปกป้องประโยชน์ของชุมชน แสดงให้ชัดแล้วเราจะเปลี่ยนได้ ถึงจุดนั้น ผู้ออกกฎหมายจะเห็นเองและยอมแก้ข้อเสนอ

อย่างไรก็ตาม ถือว่าตอนนี้ยังไม่มากพอ เพราะหลายคดีมักเจอทนายที่ไม่มีความรับผิดชอบหรือผู้นำชุมชนที่ละเมิด ก็ทำให้ความเป็นชุมชนที่ใช้ต่อสู้มันสลายไป เราต้องร่วมช่วยกัน จะสำเร็จหรือไม่อยู่ที่พวกเรา