10 ฉากสุดท้าย…ของผู้นำทหาร! | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

หากพิจารณาการสิ้นสุดอำนาจของนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้นำทหารทั้งหลาย จากยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เริ่มจากรัฐประหารพฤศจิกายน 2490 จนถึงปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า “เก้าฉากสุดท้าย” ของผู้นำทหารในการเมืองไทยมีความแตกต่างกันในแต่ละแบบอย่างน่าสนใจ

อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้นำทหารใส่ใจกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างจริงจังแล้ว พวกเขาอาจจะพบว่า ประวัติศาสตร์ให้คำตอบที่ชัดเจนสำหรับอนาคตของพวกเขา ซึ่งผู้นำทหารที่เป็นนายกรัฐมนตรีแต่ละคนต้องตัดสินใจ “เลือกครั้งสุดท้าย” เพื่อกำหนดเส้นทางชีวิตของตนเอง ซึ่งผลที่เกิดขึ้นอาจจะคาดเดาไม่ได้ด้วย!

(Photo by HO / BANGKOK METROPOLITAN ADMINISTRAT / AFP)

ฉากทัศน์ที่ 1: 2516- ถูกขับไล่ จนต้องลี้ภัย

กรณีที่ 1 เป็นคำตอบจากประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เมื่อผู้นำหลักทั้งสามของรัฐบาลทหารในขณะนั้น คือ นายกรัฐมนตรี “จอมพลถนอม กิตติขจร” และคณะคือ จอมพลประภาส จารุเสถียร พันเอกณรงค์ กิตติขจร ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน และสูญเสียความชอบธรรมในหลายกรณี จนสุดท้ายนักศึกษาและประชาชนตัดสินใจลุกขึ้นสู้ จนเป็นการประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่ใหญ่ที่สุดในการเมืองไทย รัฐบาลทหารพ่ายแพ้การต่อสู้บนถนน จนสุดท้ายแล้ว ผู้นำทหารทั้งสามต้องลงจากอำนาจ และลี้ภัยไปต่างประเทศ

ฉากทัศน์ที่ 2: 2535- ถูกไล่ จนต้องลาออก

กรณีที่ 2 มาจากเหตุการณ์ “พฤษภาคมทมิฬ 2535” เมื่อผู้นำทหารในช่วงเวลาดังกล่าว คือ นายกรัฐมนตรี “พลเอกสุจินดา คราประยูร” ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน อันเป็นผลจากการยึดอำนาจในเดือนกุมภาพันธ์ 2534 และรัฐบาลถูกต่อต้านอย่างมาก จนขยายตัวเป็นการประท้วงขนาดใหญ่ของนักศึกษา และประชาชนอีกครั้ง แต่ผู้นำทหารตัดสินใจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม และจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของรัฐบาลและกองทัพในปี 2535 จนนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้นำทหารต้องยอมลาออก อันเป็นการพ่ายแพ้ทางการเมืองครั้งใหญ่อีกครั้งของทหารในการเมืองไทย

ฉากทัศน์ที่ 3: 2500- ถูกรัฐประหาร

กรณีที่ 3 เกิดขึ้นเมื่อนายกรัฐมนตรี “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” และกลุ่มสายราชครูพยายามที่จะสืบทอดอำนาจ ด้วยการอาศัยการ “โกงการเลือกตั้ง” ผลจาก “การเลือกตั้งสกปรก” ในปี 2500 ทำให้เกิดการต่อต้านในหมู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง และตามมาด้วยการประท้วงขนาดใหญ่ของนิสิต นักศึกษา จนกลายเป็นช่องทางให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใช้เป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหาร และจอมพล ป. ต้องลี้ภัยไปญี่ปุ่น เขาเป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนแรกในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ต้องลี้ภัยทางการเมือง และจบชีวิตลงในต่างแดน

ฉากทัศน์ที่ 4: 2514- รัฐประหารตนเอง

กรณีที่ 4 เป็นรัฐประหารที่แปลกที่สุด เมื่อนายกรัฐมนตรี “จอมพลถนอม กิตติขจร” ไม่สามารถทนแรงกดดันทางการเมืองได้ และตัดสินใจยึดอำนาจรัฐบาลตนเองในเดือนพฤศจิกายน 2514 ฉะนั้น การตัดสินใจ “ยึดอำนาจตนเอง” กลายเป็นทางเลือกของผู้นำทหารที่อยากสืบทอดอำนาจเสมอ แต่ก็ต้องตระหนักว่า สุดท้ายแล้วการยึดอำนาจตนเองเช่นนี้ไปจบลงด้วยการประท้วงใหญ่ และปิดฉากรัฐบาลทหารลงในปี 2516

ฉากทัศน์ที่ 5: 2523- รัฐประหารเงียบ

กรณีที่ 5 เป็นตัวแบบคลาสสิคของการล้มผู้นำทหารในการเมือง คือ การ “ถูกจี้” ให้ลงจากอำนาจ ดังเหตุการณ์เมื่อนายกรัฐมนตรี “พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์” เผชิญแรงกดดันทางการเมือง แต่พยายามที่จะอยู่ในอำนาจต่อไป จนสุดท้ายแล้ว กลุ่มยังเติร์กที่ผลักดันพลเอกเกรียงศักดิ์ขึ้นสู่อำนาจ ตัดสินใจใช้ “กำลังบังคับ” หรือเป็น “รัฐประหารเงียบ” จนนายกรัฐมนตรีต้องประกาศการลาออกกลางสภาในเดือนกุมภาพันธ์ 2523

ฉากทัศน์ที่ 6: 2540- ออกเอง

กรณีที่ 6 เป็นการตัดสินใจที่ผู้นำทหารมักจะไม่ยอมเลือก แต่เมื่อ นายกรัฐมนตรี “พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ” เผชิญกับแรงต่อต้านจากการประกาศขึ้นภาษีน้ำมัน ส่งผลให้เกิดการประท้วงจากกลุ่มนักธุรกิจและภาคประชาสังคม ที่บริเวณย่านสีลมและหน้าทำเนียบรัฐบาล ทำให้นายกรัฐมนตรีได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายน 2540 เพื่อไม่ให้การประท้วงลุกลามขยายตัวในสังคมไทย ซึ่งเป็นการตัดสินใจลาออกด้วยตนเอง แต่ไม่ใช่การถูกบังคับจากฝ่ายทหาร และเป็นกรณีที่ถูกยกขึ้นเป็นตัวอย่างที่ผู้นำทหารยอมตัดสินใจลาออก

ฉากทัศน์ที่ 7: 2550- ไม่สืบทอดอำนาจ

กรณีที่ 7 เกิดเมื่อรัฐบาลทหารของนายกรัฐมนตรี “พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์” เข้ามารับหน้าที่หลังรัฐประหารกันยายน 2549 แต่รัฐบาล “ขิงแก่” ไม่ประสบความสําเร็จในทางนโยบาย และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในหลายเรื่อง จึงตัดสินใจยุติบทบาทด้วยการเปิดการเลือกตั้งในเดือนธันวาคม 2550 เพื่อถ่ายโอนอำนาจ และเป็นรัฐบาลทหารที่มีอายุสั้นมากเพียง 1 ปีเศษเท่านั้น แต่ก็เป็นโอกาสให้พลเอก สุรยุทธ์ สามารถมีบทบาทในสังคมได้ในเวลาต่อมา

ฉากทัศน์ที่ 8: 2531- ลาออกดีกว่า

กรณีที่ 8 บอกถึงการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี “พลเอกเปรม ติณสูลานนท์” ซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐบาลที่มีอายุยืนยาวมากที่สุดชุดหนึ่งในการเมืองไทย คือ 8 ปี 5 เดือน จนเมื่อเกิดการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม 2531 และสังคมเริ่มส่งสัญญาณถึง ความต้องการนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง พลเอกเปรมตัดสินใจสุดท้ายที่จะยุติบทบาททางการเมือง ด้วยคำกล่าวว่า “ผมพอแล้ว” อันส่งผลให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกหลังเหตุการณ์ตุลาคม 2519 และการยุติบทบาทช่วยลดกระแสต้านรัฐบาลลงทันที

ฉากทัศน์ที่ 9: 2506- ตายในตำแหน่ง

กรณีที่ 9 เป็นสถานการณ์ที่ผู้นำทหารเสียชีวิตในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คือ “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” มีอาการป่วย และถึงแก่อสัญกรรมในต้นเดือนธันวาคม 2506 เขาจึงเป็นผู้นำทหารคนเดียวที่เสียชีวิตในระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่เขาก็ทิ้งมรดกทั้งทางการเมืองและส่วนตัว จนกลายเป็นเรื่องที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในสังคมไทย แม้กระนั้นผู้นำทหารในสายอำนาจนิยมก็มักจะฝันถึงการเป็น “สฤษดิ์สอง” ที่มีอำนาจและความมั่งคั่งเสมอ ทั้งที่ในความเป็นจริง เงื่อนไขและบริบทของการเมืองไทยไม่เอื้อให้เกิดภาวะเช่นนั้น

ฉากทัศน์ที่ 10: 2566- ประกาศวางมือ?

ผู้นำทหารที่เป็นนายกรัฐมนตรีทุกคนมักต้องการที่จะอยู่ในอำนาจอย่างยาวนานเสมอ แต่จาก 9 ฉากทัศน์ในข้างต้นเป็นดัง “เครื่องเตือนใจ” อย่างดีแก่การตัดสินใจของผู้นำทหาร และยังเตือนใจแก่บรรดาทหารการเมืองว่า อำนาจทางการเมืองของทหารในการเมืองไทยไม่ยั่งยืนเสมอไป และอาจล้มพังทลายได้เมื่อเผชิญกับแรงเสียดทานใหญ่จากสังคม

(หมายเหตุ : ฉากทัศน์ที่ 10 อัพเดตโดยกองบรรณาธิการ เนื่องจากบทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 2564 โดยขณะนั้นพล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่ได้ประกาศท่าทีทางการเมืองอย่างเป็นทางการ)

(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)