สมหมาย ปาริจฉัตต์ : นักเรียน 4.0 ครู 4.0 การศึกษา 4.0 เพาะพันธุ์ปัญญา คือคำตอบ (จบ)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

เวทีนำเสนอผลงานระดับประเทศประจำปี 2560 เพาะพันธุ์ปัญญา สำหรับเด็กไทย 4.0 สำเร็จลงด้วยความราบรื่น ต่างคนต่างเดินทางกลับไปทำหน้าที่สร้างคน สร้างชาติภายใต้ความรับผิดชอบของตนกันต่อไป

ครูแกนนำ ครูพี่เลี้ยง พากันสะท้อนความคิด หลากหลายลีลาและอรรถรสผ่าน Facebook ทันที

วิสารดา ฉิมน้อย โรงเรียนจักรคำคณาธร ลำพูน บันทึก “สี่ปีที่ทำงานในโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาของฉัน” ได้อย่างลึกซึ้ง กินใจ

 

“แม้ว่าโครงการนี้ตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาการศึกษา แก้ปัญหาทางการศึกษาของไทย แต่ด้วยวิธีการที่ได้รับการหล่อหลอมนั้น ส่งผลต่อการคิดและการดำเนินชีวิตส่วนตัวของครูและนักเรียนในโครงการอย่างสูง ผลที่ตามมาคือได้รับการเชื่อถือในวิธีการของการทำงาน องค์กรสามารถพึ่งพาประสิทธิภาพและกระบวนการทำงานของครูและนักเรียนเพื่อนำไปพัฒนาและแก้ปัญหาการเรียนการสอนได้ต่อไป”

ขณะที่ ปิยะฉัตร จิตต์ธรรม ศูนย์พี่เลี้ยงมหาวิทยาลัยมหิดล เธอบันทึกว่า ผ่านมา 5 ปีกับการทำโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาที่เหมือนกับการเดินทางหาความหมายของชีวิต การเริ่มต้นที่ไม่รู้ว่าจุดหมายปลายทางเป็นเช่นไร หากแต่ทุกคนที่ร่วมเดินทางบนเส้นทางสายนี้ล้วนมีวิริยะและศรัทธา ที่ทำให้เราได้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงของครูและนักเรียน รวมทั้งตัวเอง

ความฝันที่อยากจะเห็นเด็กไทยเติบโตเป็นบุคคลตามความต้องการในศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่ความฝันลมๆ แล้งๆ เพราะทุกคนที่ผ่านหนทางสายนี้ได้ประจักษ์ชัดในผลที่เกิดขึ้นกับนักเรียน จากการเรียนรู้ผ่านการทำโครงงานฐานวิจัย ความสำเร็จนี้เกิดขึ้นจากการเริ่มต้นเปลี่ยนตัวเอง

ไม่น่าเชื่อว่า เพียงแค่ได้เห็นเด็กนำเสนอได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล เด็กที่ไม่เคยสนใจเรียนสามารถเล่าโครงงานที่ทำได้เป็นฉากๆ เด็กบอกเล่าการเปลี่ยนแปลงในตนเอง มันกลับทำให้เราสุขใจและอิ่มใจอย่างบอกไม่ถูก เมื่อหันไปมองแววตาของครู เรารู้สึกไม่ต่างกัน และแม้จะเหนื่อย จะยากลำบาก ทุกคนก็พร้อมไปต่อ

 

ครับ นี่เป็นเพียงบางส่วนของบทสะท้อนคิดจากครูผู้ร่วมทาง ที่แสดงถึงความมั่นใจว่าพวกเขามาถูกทางแล้วและพร้อมไปต่อ

แต่ตรงจะไปต่อนี่แหละ เป็นโจทย์ใหญ่ การบ้านข้อหลักที่ถูกฝากความหวังจากผู้บริหารการศึกษาไทย จะนำกระบวนการเพาะพันธุ์ปัญญาเข้าสู่ระบบการศึกษาไทยอย่างไร

ผมคิดว่าคำตอบอยู่ในบทบันทึกของครูแกนนำหลายท่านในหนังสือรอยจารึกบนเส้นทางครูเพาะพันธุ์ปัญญา นั่นแหละครับ ความสำเร็จเกิดขึ้นจากการเริ่มต้นเปลี่ยนตัวเองก่อน

อย่าง ครูวรวุฒิ ศรีโพธิ์ โรงเรียนสะลมวิทยา จ.ศรีสะเกษ เขียนว่า “สิ่งสำคัญคือพวกครูเราได้ คือความคิดใหม่ในการสอน เราเปลี่ยนวิธีการสอนโดยใช้จิตวิญญาณ ใช้ใจในการสอน ไม่ใช่สอนเพื่อจบๆ ไป”

ครูอรุณวรรณ กลั่นกลึง โรงเรียนท้ายหาด จ.สมุทรสงคราม เธอว่า “การทำ RBL จะมีผลได้ดีควรต้องถูกบรรจุเข้าไปในแผนงานของโรงเรียน จะไปอยู่ในวิชาอะไร หรือจะไปอยู่ในกิจกรรมอะไรก็ว่าไป จะต้องมีความชัดเจนและต้องได้รับการยอมรับจากสมาชิกในโรงเรียน”

โรงเรียนอาจจะยังไม่เข้าใจและเกิดความไม่มั่นใจ เพราะว่าไม่เป็นโครงการที่ถูกสั่งมาจาก สพฐ. โดยตรง และครูส่วนใหญ่ก็มีภาระหน้าที่มากมาย เขาก็ไม่อยากจะหางานเพิ่มหรือโครงการอาจจะไม่ตรงกับความต้องการของครูบางคน

โรงเรียนไม่ได้ห้าม แต่ก็ไม่ได้สนับสนุน ไม่สานต่อ กระนั้นก็ตามครูยังยืนหยัด คิดว่าเป้าหมายเราชัดเจนคือตัวนักเรียน เลยทำด้วยตัวเองและแก้ปัญหาด้วยตัวเองไปตามสภาพ ฟาดฟันกับตัวเอง

เรายังมีเด็กอีกมากที่โรงเรียนไม่สนใจช่วยเขาเพราะโรงเรียนรู้วิธีเดียวเอามาใช้กันหมด เด็กต้องเชื่อฟัง การเรียนต้องอยู่ใต้อำนาจครู อย่างนี้เขาก็ต่อต้านสิ

คำพูดของครูอรุณวรรรณเป็นสิ่งยืนยันเงื่อนไขหลักของความสำเร็จอยู่ที่ความเข้าใจ ความอดทน มุ่งมั่น ความเสียสละเพื่อนักเรียนของคนเป็นครู สำคัญยิ่งกว่าแรงสนับสนุนจากส่วนบน เพราะหากครูถอดใจก็ไปไม่รอด

 

บทบันทึกของครูแต่ละคน ล้วนเป็นคำตอบต่อวิธีการนำกระบวนการเพาะพันธุ์ปัญญาเข้าสู่ระบบการศึกษา

พัฒนาการล่าสุดเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาคือการลงนามความตกลงระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ นำแนวทางพัฒนาการศึกษา พัฒนาครูแบบเพาะพันธุ์ปัญญา ทำกับทุกโรงเรียนมัธยมในสังกัด อบจ.

เป็นผลพวงของความสำเร็จที่พัฒนามาตามลำดับ จากโครงการยุววิจัยของโรงเรียนขุนหาญวิทยาสรรค์ และโรงเรียนอื่นๆ ภายใต้การสนับสนุนของศูนย์พี่เลี้ยงมหาวิทยาลัยศรีสะเกษ

ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ทั้งทักษะชีวิต ทักษะวิชาการ ทั้งนักเรียนและครู มั่นใจว่าการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานฐานวิจัย (Research Based Learning – RBL) ซึ่งประกอบด้วย 3 วิชาหลักคือ วิชาจิตตปัญญาศึกษา วิชากระบวนการคิด และวิชาวิจัย เป็นคำตอบหรือทางออกของระบบการศึกษา สามารถพัฒนานักเรียน ครู ผู้บริหาร ผู้ปกครอง

เพื่อนำไปสู่ความเป็นไทยแลนด์ 4.0 ได้ในที่สุด

 

แนวทางเดินหน้าโครงการยังสะท้อนจากบทบันทึกของครูใหญ่ รศ.สุธีระ ภายหลังเวทีนำเสนอผลงานระดับประเทศประจำปี 2560 เสร็จสิ้นลง

“ตั้งเป้าว่าอีก 2 ปีที่เหลือใน phase 2 จะสร้างโรงเรียนที่เป็นต้นแบบ 16 โรง ไม่ได้คาดหวังว่าจะทำทั้งโรงเรียนเพราะไม่มีทางทำได้ในบริบทที่เป็นอยู่ การที่ ผอ. เอาด้วยก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำได้ทั้งโรงเรียน บางแห่งครูข้างในรวมตัวกันค้าน ผอ. อยากทำก็ทำไม่ได้”

กลุ่ม 16 โรงเรียนเป้าหมาย สร้างให้อยู่ที่โรงเรียน สนับสนุนเขาให้ขยายผลในโรงเรียนได้เต็มที่ ซึ่งต้องอาศัยการสนับสนุนจาก สพฐ. อย่างมาก จากนั้นใช้โรงเรียนเหล่านี้ขยายผล เราจะมี 4 โรงเรียนในแต่ละภูมิภาค

ที่ สกว. คิดว่าจะทำคือขยายไปเป็นภารกิจของอุดมศึกษา ซึ่งไม่พ้นทำเรื่องเก่าๆ ไม่มีใครเข้าใจ RBL แบบเพาะพันธุ์ปัญญา หาก 2 แท่งการศึกษาเข้าใจตรงกันจะง่ายขึ้นอีกมาก มีงบฯ มากมาย ไม่ใช่เรื่องขาดแคลนแต่อย่างใด ทำได้แต่ต้องมาเรียนรู้จริงๆ ก่อน

วิธีที่ดีที่สุดคือลองมาทำเองกับทีมพี่เลี้ยงที่มีอยู่ เอามหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง 2 แห่งในแต่ละภาคมาเป็นต้นแบบให้มหาวิทยาลัยอื่นเรียนรู้จากการปฏิบัติเพิ่มอีก 10 แห่ง ไม่เกิน 2 ปี การใช้งบประมาณะพัฒนาการศึกษาก็จะมีประสิทธิผลมากขึ้น

ผมคิดว่า สกว. อ.ไพโรจน์ และผม ยินดีคุยกับคนที่เกี่ยวข้องจริงๆ ของ สพฐ. เรื่องนี้ แต่ต้องเป็น workshop ของเพาะพันธุ์ปัญญา ลองปฏิบัติเอง ขอ 3-4 วันเต็มๆ บวกกับดูงานจริงที่โรงเรียน คุยกับครู นักเรียน และผู้ปกครอง

 

ครับ แนวทางข้อเสนอ ตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม แถมยังสะท้อนถึงคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ และโครงการคูปองครูอย่างน่าคิด ใครสนใจฟังเรื่องนี้ ติดตามถามไถ่ครูเองนะครับ

ประเด็นอยู่ที่ว่า ใคร หน่วยไหน จะให้คำตอบกับข้อแนะนำนี้จนเกิดผลในทางปฏิบัติจริง

มองเห็นประกายเพชรเจิดจรัสที่มีอยู่ในมือแค่ไหน