รำลึก 18 พฤษภา กวางจูลุกฮือ “เกาหลีใต้” เปล่งเสียง ดังก้องถึง “ไทย”

การลุกฮือเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนและนักศึกษาในเมืองกวางจู ในวันนี้ เมื่อ 36 ปีก่อน ยังคงเป็นเหตุการณ์ที่ต้องต่อสู้ช่วงชิงพื้นที่ความทรงจำร่วมกับประวัติศาสตร์ของเกาหลีใต้ ที่มีคนทั้งพยายามรำลึกให้เป็นบทเรียนอันทรงคุณค่า และพยายามลบล้างไม่ให้ปรากฎสู่การรับรู้ของสาธารณชน

แต่ในปีนี้ เสียงของงานรำลึกกลับมากึกก้องอีกครั้ง เพราะนอกจากองค์กรและภาคประชาชนที่ร่วมจัดอย่างเข้มแข็งแล้ว รัฐบาลชุดใหม่ของนายมุน แจ อิน ที่ได้นั่งเป็นประธานาธิบดีหมาดๆ ได้ผลักดันงานครั้งนี้ เป็นพิธีสำคัญของชาติ

 

สำนักข่าวยอนฮัพของเกาหลีใต้ได้รายงานว่า นายมุน แจ อิน ได้ร่วมเป็นประธานพิธีที่อนุสรณ์สถานประชาธิปไตยในเมืองกวางจู โดยได้กล่าวตอนหนึ่งว่า ในสังคมของพวกเรา  ยังหลงเหลือปรากฎการณ์แห่งการบิดเบือนและดูถูกกระบวนการประชาธิปไตย 18 พฤษภาคม  ซึ่งเป็นสิ่งที่มิอาจยอมทนได้

“รัฐบาลชุดใหม่จะประสานสายโลหิตกับการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยกวางจู  จะสืบทอดจิตใจการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยกวางจู และ”แสงเทียนปฎิวัติ”  เพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตยขึ้นใหม่บนผืนแผ่นดินนี้” นายมุน กล่าว

คำประกาศเรียกร้องหาความจริงของนายมุนครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากมีการเปิดตัวหนังสืออัตชีวประวัติของนายพล ชุน ดู ฮวาน ซึ่งระบุว่านายพลชุน ไม่ได้สั่งทหารเข้าล้อมปราบกลุ่มเคลื่อนไหวในกวางจู ที่ลุกฮือต่อต้านการขึ้นสู่อำนาจจากการก่อรัฐประหารของคณะทหารนำโดยนายพลชุนในปี 1979

นายมุน ยังกล่าวเสริมอีกว่า การค้นหาความจริงเบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าว เพียงเพื่อต้องการเรียกร้องในเรื่องสามัญสำนึกและความยุติธรรม ไม่ได้มุ่งให้เป็นความขัดแย้งระหว่างฝ่ายเสรีนิยมและอนุรักษ์นิยม

 

นอกจากนั้น นายมุนยังเลือกเพลง “ก้าวเดินเพื่อคนที่เรารัก” (March of the Beloved) ซึ่งเป็นเพลงสัญลักษณ์ของเหตุนองเลือดและการสละชีวิตของกลุ่มผู้ชุมนุม มาเป็นเพลงประจำงานรำลึกอย่างเป็นทางการ แม้เพลงดังกล่าวถูกคัดค้านจากพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามและกลุ่มอนุรักษ์นิยมก็ตาม

การผลักดันเพลงประจำของผู้ชุมนุมให้เป็นเพลงประจำพิธีทางการนี้ เป็นสิ่งที่นายมุนได้กล่าวไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีที่เมืองกวางจู ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของพรรคประชาธิปไตยเกาหลีเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

 

งานรำลึกในปีนี้ นอกจากการเดินขบวน จุดเทียนรำลึกผู้เสียชีวิต การจัดนิทรรศการเหตุการณ์แล้ว ไฮไลท์สำคัญอีกอย่างของงานรำลึกคือ พิธีมอบรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน ของมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก องค์กรนำที่จัดงานรำลึกในทุกๆปี และปีนี้ มูลนิธิฯได้เลือกผู้รับรางวัลอันทรงคุณค่านั้นคือ

“นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา” หรือ “ไผ่ ดาวดิน”

การประกาศชื่อให้นายจตุภัทร์ เป็นผู้รับรางวัลที่มีบุคคลสำคัญเคยได้รับ ไม่ว่าจะเป็น ออง ซาน ซูจี, ซานาน่า กุฌเมา, มิน โค เหนียง, หรือนางอังคณา นีละไพจิตร ได้สร้างเสียงกึกก้องจากเกาหลีใต้มาถึงไทย เพราะนายจตุภัทร์ เป็นนักกิจกรรมที่เป็นคู่ตรงข้ามกับรัฐบาล คสช.นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากการเคลื่อนไหวคัดค้านการรัฐประหาร ร่วมกับชาวบ้านต่อสู้กับทางการในเรื่องที่ดินทำกิน ปัญหาสิ่งแวดล้อมจนถูกใช้กำลังจับกุมมาแล้วหลายครั้ง

ล่าสุดนายจตุภัทร์ถูกจับในคดีตามมาตรา 112 และพรบ.คอมพิวเตอร์จากการแชร์ข่าวของสำนักข่าวต่างประเทศและถูกฝากขังไว้ที่เรือนจำในจังหวัดขอนแก่น ก่อนได้รับการประกันตัว ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ร้องศาลขอให้เพิกถอนประกันตัว อ้างว่าเนื่องจากนายจตุภัทร์ได้โพสต์ข้อความที่มีลักษณะเย้ยหยันอำนาจรัฐ ซึ่งศาลให้เพิกถอน และนายจตุภัทร์ถูกนำตัวกลับไปที่เรือนจำจนถึงทุกวันนี้

ตลอดช่วงที่นายจตุภัทร์ถูกฝากขัง ครอบครัวของนายจตุภัทร์ เพื่อนนักกิจกรรมได้เรียกร้องให้ปล่อยตัวชั่วคราวแต่ก็ถูกยกคำร้องแล้วถึง 9 ครั้ง และทุกครั้งที่นายจตุภัทร์ขึ้นศาลที่จังหวัดขอนแก่น ก็มีการพิจารณาคดีแบบปิดลับ ไม่ให้ประชาชนหรือสื่อมวลชนเข้าร่วมฟัง ยกเว้นทนายกับครอบครัว

การที่นายจตุภัทร์ถูกเลือกให้รับรางวัลอันทรงคุณค่าและเป็นที่ยอมรับในระดับโลกนี้ ได้ทำให้นายจตุภัทร์และปัญหาที่นายจตุภัทร์เผชิญกลายเป็นจุดสนใจและให้ความสำคัญมากขึ้น ทางมูลนิธิได้ส่งจดหมายไปยังทางการไทยเพื่ออนุญาตให้นายจตุภัทร์เดินทางไปรับรางวัล ซึ่งได้รับการตอบกลับมาในรูปของจดหมายจากสถานทูตไทยประจำกรุงโซล โดยระบุว่า นายจตุภัทร์ได้กระทำผิดตามกฎหมายไทย พร้อมระบุว่าคดีดังกล่าวได้รับการพิจารณาจากกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นธรรม ซึ่งกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าบิดเบือนข้อเท็จจริง

เท่ากับว่านายจตุภัทร์ไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปรับรางวัล และต้องให้ครอบครัวเดินทางไปรับรางวัลแทน

 

ไม่เพียงเท่านี้ อีกเสียงที่ย้ำการปฏิเสธให้นายจตุภัทร์เดินทางไปรางวัล มาจากนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ให้สัมภาษณ์ว่า ยังไม่ได้รับรายงานเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นทางการ เพียงแต่ทราบจากข่าว แต่จะต้องไปตรวจสอบว่ามูลนิธินี้เป็นองค์กรเกี่ยวกับอะไร เป็นเครือข่ายเดียวกันกับกลุ่มของไผ่ ดาวดิน หรือไม่ อย่างไรก็ตาม เท่าที่เห็นจากข่าว พอจะประเมินได้ว่าเป็นผู้ที่ทำกิจกรรมลักษณะคล้ายกัน

ทำให้ทางครอบครัวของนายจตุภัทร์ ได้ส่งหนังสือมายังกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อให้ออกมาขอโทษอย่างเป็นทางการและชี้แจงข้อเท็จจริงที่ถูกต้องกลับไปยังมูลนิธิ พร้อมระบุว่า การรับรางวัลนายจตุภัทร์ นอกจากเป็นชื่อเสียงของวงศ์ตระกูลแล้ว ยังเป็นการสร้างชื่อให้ประเทศชาติอีกด้วย

ความพยายามที่จะลดความสำคัญของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลแต่ต่างประเทศกลับยกย่องเช่นนี้ ทำให้งานรำลึก 18 พฤษภาที่เกาหลีใต้ มีความหมายและสร้างแรงกระเพื่อมมายังไทย ให้เกิดการตั้งคำถามว่า รัฐบาลจะอนุญาตและให้ความสำคัญกับการจัดงานรำลึกผู้เสียชีวิตในเหตุนองเลือดที่เกิดขึ้นจากการใช้กำลังโดยรัฐหรือไม่ และจะใช้โอกาสเช่นนี้ สร้างการยอมรับจากต่างประเทศให้มากขึ้นหรือไม่