บทความพิเศษ : ถึงคราวที่ “เฟซบุ๊ก” ถูกใช้เป็นเครื่องมือ ใน “ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร”

บทความพิเศษ/อิสราชัย จิรภัทรนิชพันธ์

นวัตกรรมการสื่อสารในยุคนี้ไปแบบก้าวกระโดด ชนิดที่ว่า มีอัพเดตปีต่อปีหรือเร็วกว่านั้นมาก ไม่เพียงแค่เล็กลง แต่เข้าถึงและใช้งานง่ายขึ้น ทุกคนสื่อสารถึงกันได้ง่ายไม่ว่าอยู่ไกลแค่ไหน

หากยกตัวอย่าง คือ บรรดาโซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆ โดยเฉพาะเฟซบุ๊ก ซึ่งมีผู้ใช้งานทั่วโลกแล้วหลายล้านคน

ผู้คนสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูล หามิตรภาพใหม่ๆ ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องระยะเวลาหรือระยะทางอีกแล้ว

และนั่นยังหมายถึงบรรดาข้อมูลข่าวสาร ได้ถูกส่งไปออกไปอย่างกว้างขวาง มันคือเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพที่เราไม่ต้องลงทุนมากแต่แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว

มันจึงเป็นพื้นที่ที่ถูกใช้ในหลายวัตถุประสงค์

รวมถึงเป้าหมายในการ “ควบคุมความคิด” ผ่านสิ่งที่เรียกว่า “ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร”

 

เมื่อช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา เฟซบุ๊กได้ออกรายงานชิ้นหนึ่งระบุว่า โซเชียลเน็ตเวิร์กชื่อดังนี้ ถูกใช้เป็นเครื่องมือจากองค์กรจัดตั้ง อันได้แก่ รัฐบาลประเทศต่างๆ และตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ ในการบิดเบือนความคิดทางการเมืองทั้งในและต่างประเทศ ควบคุมความรู้สึกนึกคิดของสาธารณชนต่อเหตุการณ์ต่างๆ โดยนิยามว่าเป็น “ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร” หรือที่ภาษาย่อที่ชอบเรียกคือ ไอโอ (Information Operations – IO)

“ไอโอ” เป็นศัพท์ทางยุทธวิธีที่ระบุถึงปฏิบัติการทางจิตวิทยาในการสอดแนม จารกรรม หรือสร้างความสับสน ลดทอนเสถียรภาพของเป้าหมาย ผ่านการกุมความคิดและข่าวสารข้อมูล

โดยเฟซบุ๊กระบุว่ามีการใช้วิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การสร้างข่าวปลอม (Fake News), การให้ข้อมูลที่ไม่มีเค้ามูล (disinformation) หรือการสร้างเครือข่ายแอ็กเคาต์หรือผู้ใช้งานตัวปลอม (Fake Account) เพื่อจุดมุ่งหมายในการควบคุมและชี้นำ (เฟซบุ๊กนิยามวิธีต่างๆ นี้ว่าเป็น “การกระจายข้อมูลเท็จ” (False Amplifier))

ทั้งนี้ ไอโอไม่ใช่ของใหม่อะไร แต่เก่าแก่อยู่คู่อารยธรรมมนุษย์มานาน หลายอาณาจักรไม่ว่า เปอร์เซีย โรมัน จีน หรือมองโกล ขยายอาณาจักรและกำชัยในสนามรบได้เพราะมีไอโอเป็นส่วนหนึ่งของการบรรลุเป้าหมาย

 

มาถึงยุคปัจจุบัน รัฐบาลประเทศต่างๆ หรือกลุ่ม องค์กรทั้งในประเทศหรือต่างประเทศ หรือข้ามชาติ ก็ยังใช้วิธีดังกล่าวนี้อยู่

โดยส่วนมากเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองมากกว่าทางเศรษฐกิจ กับหลายเหตุการณ์

รวมทั้งการเลือกตั้งในสหรัฐและฝรั่งเศสที่กำลังเข้าโค้งสุดท้ายในการชิงระหว่าง เอ็มมานูเอล มาคง และ มารีน เลอเปน

ส่วนประเทศไทย จากที่เคยได้เห็น ไอโอถูกใช้อย่างเข้มข้นตั้งแต่หลังการรัฐประหารปี 2549 และยังอยู่กับผู้ใช้งานชาวไทยจนถึงวันนี้

ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร หรือไอโอ ยังคงวัตถุประสงค์เดิมของมันแม้เครื่องมือจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย โดยทางเฟซบุ๊กระบุในรายงานว่า ไอโอถูกประยุกต์ใช้บนโซเชียลมีเดีย โดยเล็งเห็นว่า

1) การเข้าถึงในระดับโลกนั้นเป็นไปได้ สามารถใช้ไอโอ ส่งข้อมูลไปยังผู้ชมในต่างประเทศ

2) ผู้ใช้ทุกคนคือผู้กระจายข้อมูลที่มีศักยภาพ คนที่มีความเชื่อมั่นในเรื่องใด และยิ่งเป็นผู้ใช้งานที่มีอิทธิพล มีเพื่อนที่คิดเหมือนกัน ชอบไลก์ ชอบแชร์ ข้อมูลต่างๆ จะกระจายต่อไปได้อีกมาก

เฟซบุ๊กจึงได้จัดกลุ่มวัตถุประสงค์ของผู้ใช้วิธีไอโอบนโลกโซเชียล โดยมุ่งใน 3 เรื่อง คือ

1) การเก็บข้อมูลเป้าหมาย ซึ่งก็คือการจารกรรม การแฮ็กเฟซ หรือการขุดคุ้ยข้อมูลที่ไม่เผยแพร่ในที่สาธารณะออกมาเปิดเผย ซึ่งหลายคนต่างตกเป็นเหยื่อ ตั้งแต่รัฐบาล นักเคลื่อนไหว สื่อมวลชน บริษัทเอกชน จนถึงคนธรรมดา

2) การสร้างกระแส ไม่ว่าป้อนเรื่องราวเพื่อเผยแพร่ การทำมีม (Meme) คือหยิบยกเรื่องราวมาจุดเป็นประเด็นจนคนพูดถึงและขยายต่อออกไป การสร้างตัวตนปลอม

3) กระจายข้อมูลเท็จ ได้แก่ เฟซปลอมที่กระจายข้อมูล กลุ่มหน้าม้าเพื่อกระจายข้อมูลซ้ำเป็นฐานกำลังสนับสนุน และความเห็นที่เป็นสแปม (Spam) หมายถึงข้อความเดิมที่ถูกเผยแพร่ซ้ำต่อเนื่อง

ไอโอบนโลกโซเชียลโดยส่วนมากเกิดจากตัวบุคคลที่สร้างตัวตนสมมุติที่ไม่ใช่ตัวตนจริงขึ้นมา มากกว่าเป็นโปรแกรมที่ถูกกำหนด

โดยบุคคลเหล่านี้ มีเจตจำนงหรือความเชื่อบางอย่าง แสดงความคิดเห็นหรือเผยแพร่ข้อความต่างๆ ที่ทำให้โลกโซเชียลเกิดความสับสน หรือเชื่ออย่างผิด ไม่ว่าจากรัฐบาลหรือจากกลุ่มเคลื่อนไหว จะใช้วิธีตามแบบฉบับไอโออยู่ไม่กี่อย่างนี้กับผู้คนบนโลกโซเชียล

 


หากเปรียบเทียบเครื่องมือการสื่อสารยุคเก่าอย่างเพียงโทรทัศน์ วิทยุ สิ่งพิมพ์ตั้งแต่ใบปลิวจนถึงหนังสือพิมพ์ ผู้ใช้ไอโอโดยส่วนใหญ่มักเป็นรัฐบาล เพราะเป็นองค์กรเดียวที่มีการใช้ไอโออย่างเป็นระบบ มีกำลังคน มีทรัพยากร ซึ่งทำเช่นนี้ก็เพื่อรักษาความชอบธรรม กุมความคิดผู้คนในสังคม ไม่ให้บั่นทอนเสถียรภาพรัฐบาล

แต่เมื่อเครื่องมือสื่อสารที่ถูกคิดค้นอย่างอินเตอร์เน็ต รวมถึงโซเชียลมีเดีย เป็นสิ่งที่เหนือกว่าและยังใช้งานง่าย ทำให้เปลี่ยนโฉมสังคมทั้งหมด ทุกคนจะไม่เป็นแค่ผู้รับสารอีกต่อไป แต่ยังสามารถเป็นผู้กำหนดเนื้อหา ผู้เผยแพร่ ส่งต่อเรื่องราวต่างๆ ไปยังทุกส่วน รวมถึงการแสดงความคิดในทำนองวิพากษ์วิจารณ์หรือเปิดโปงเรื่องอื้อฉาวที่ส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมาก

รัฐบาลหลายประเทศที่ไม่เปิดกว้างในการแสดงความคิดเห็น จึงเห็นโซเชียลมีเดียในเชิงลบ หากไม่สามารถควบคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ก็จะใช้ไอโอบนพื้นที่สื่อใหม่นี้เช่นกัน

เฟซบุ๊กได้สรุปตอนท้ายในรายงานว่า ไอโอสามารถส่งผลต่อระบบนิเวศทางข้อมูล (information ecosystem) อย่างมหาศาล จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันยับยั้ง ให้เฟซบุ๊กยังคงเป็นพื้นที่ที่ทุกคนได้แบ่งปันเรื่องราว ถกเถียงกันอย่างสร้างสรรค์ มากกว่าถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความปั่นป่วนให้กับผู้ใช้งาน

ทั้งนี้ ทุกคนต้องระลึกเสมอว่า ในบางสถานการณ์ ย่อมมีความเสี่ยงจากผู้ไม่ประสงค์ดี ใช้โซเชียลมีเดียชักนำผู้คนไปในทางที่ผิดหรือส่งเสริมการสื่อสารที่ไม่ถูกต้องได้สูง