‘สแตนอัพ คอมมานดื้อ’ กับ ‘Comedy Against Dictatorship’ จากการเมืองในบ้าน สู่ก้าวลงถนนตะโกนให้ได้ยิน

ในการชุมนุมของประชาชนปลดแอกเมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา นอกจากความน่าสนใจในแง่จำนวนผู้ร่วมชุมนุมตั้งแต่คนหนุ่ม-สาวจนถึงคนสูงวัยกว่าหมื่นคนแล้ว ม็อบใหญ่นี้ยังขนหลากกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่มีสีสันในเนื้อหาเฉียบคมแต่แฝงความสนุกสนานและเสียงหัวเราะ

ในการแสดงกลางเวทีชุมนุม ปรากฏหนุ่มหน้าขาวยืนเดี่ยวไมโครโฟนต่อหน้าคนจำนวนมาก เล่าถึงชีวิตของครอบครัวตัวเองที่ “แม่ตัวเองเป็นสลิ่ม” และวิธีการเปลี่ยนคุณแม่ให้เลิกเสพสื่อบางค่ายที่นำเสนอเนื้อหาชี้นำเร้าอารมณ์ให้เกิดความเกลียดชัง แล้วหันมาศึกษาข้อมูลทางเลือก ด้วยลีลาท่าทางชวนหัวร่อเฮฮา

สิ่งที่มากกว่ารอยยิ้มและการปล่อยมุขคือ การยืนยันตัวตนว่า ไม่ว่าถูกเรียกว่าอะไร แต่พวกเขาคือ “ประชาชน”

“08” (ศูนย์-แปด) คือชื่อในวงการของนักแสดงวัย 29 ปีชาวกรุงเทพฯ แห่งกลุ่มศิลปินเฉพาะกิจภายใต้ชื่อ “Comedy Against Dictatorship” ได้เล่าย้อนถึงสาเหตุที่ทำให้ได้ขึ้นแสดงเดี่ยวไมโครโฟนบนเวทีชุมนุมวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า รู้จักกับเพื่อนที่เป็นคนจัดคิวการแสดง เพื่อนคนนี้เห็นว่าเราแสดงเดี่ยวไมโครโฟน ก็น่าสนใจและอาจมีมุมมองแปลกใหม่ในการชุมนุม

ส่วนการเตรียมตัวนี้ พูดได้ว่าตั้งใจกับบทนี้มากที่สุด เรากำลังจะพูดกับสังคมวงกว้าง ไม่อยากให้ผิดพลาด ต้องซ้อมหนักเป็น 10 รอบ พูดอยู่คนเดียวในห้องและมีพี่ๆ หลายคนในวงการช่วยเกลาบท มีจุดไหนต้องเพิ่มหรือลด จริงๆ งานนี้ทำกับเพื่อนหลายคน

“ยอมรับว่ายากมากสุด มีทั้งความกดดัน ตื่นเต้น ดีใจ เยอะมาก” ศูนย์แปดกล่าว

เมื่อถามว่ามีความคาดหวังกับกระแสตอบรับจากผู้ชมที่เป็นผู้ร่วมชุมนุมแค่ไหน ศูนย์แปดกล่าวว่า ไม่ได้คาดหวังมาก พอมีคนบอกว่าคนร่วมชุมนุมจะไปถึงสนามหลวงแล้ว ผมตกใจว่าเยอะมาก ตอนนี้รู้สึกแค่อยากเล่าเรื่อง ไม่รู้จะฮาหรือเปล่า เวลาเดี่ยวไมโครโฟน บางมุขกะว่าขำแน่ แต่พวกเขาก็ฮากับมุขที่ไม่คิดว่าจะฮา

ศูนย์แปดกล่าวอีกว่า มีคนคอมเมนต์ว่าทำไมไม่พูดเรื่องที่จริงจังมากกว่านี้ หรือพูดเรื่องที่มีคนเดือดร้อน แต่ตัวเองเอาเรื่องแม่เพราะเราอิน เจอมาจริงๆ เราไม่ใช่ผู้ปราศรัย แต่เป็นนักแสดงตลก

 

ศูนย์แปดได้เล่าถึงวัตถุดิบหลักเอานำไปสู่การเดี่ยวไมโครโฟน “แม่ผมเป็นสลิ่ม” จากจุดเริ่มต้นเกี่ยวกับความคิดทางการเมืองและสังคมของตัวเองว่า จริงๆ เริ่มสนใจจริงจังตั้งแต่ คสช.รัฐประหารปี 2557 เลย ก่อนหน้านี้รู้แค่เสื้อเหลือง-เสื้อแดง

ส่วนมุมมองทางการเมืองกับความสัมพันธ์ของครอบครัวนั้น ศูนย์แปดกล่าวว่า ที่บ้านเลือกจะไม่คุยการเมืองมากกว่า เราไม่กล้าคุยเรื่องการเมือง อย่างมากเรื่องรักษาน้ำใจกัน ไม่พูดแล้วกัน มากกว่าพูดว่า ม้า (แม่) ทำไมไม่ย้ายฝั่งอะไรประมาณนี้ ก็เลือกสันติวิธีเลย

แต่จะไม่พูดการเมืองในบ้านเลย สำหรับศูนย์แปด อาจไม่ใช่ทางออกที่ดี แต่เรารู้ว่าแม่เป็นคนยังไง ชัดเจนกับสิ่งที่เลือกและไม่ฟังเรา แต่ก็ไม่เวิร์กหากเลือกที่จะเงียบ จึงใช้วิธีการที่เราสามารถยังคุยแม้แนวคิดต่างกัน นี่เป็นสารที่จะสื่อในงานที่เล่นเดี่ยวไมโครโฟนวันนั้น

ศูนย์แปดเล่าประสบการณ์นี้ต่อว่า ในที่สุดก็สามารถโน้มน้าวให้แม่รับฟังอีกความคิด แต่ว่าตัวเองก็ไม่ได้ภูมิใจ เพราะไม่ได้มีส่วนร่วม แต่ต้องขอบคุณเพื่อนคนหนึ่งที่ส่งคลิปป้าวันเพ็ญให้แม่ดูแล้วชอบ อาจเพราะสไตล์ใกล้เคียงกัน คุณแม่จะฟังอยู่สองคนคือ “ป้าวันเพ็ญ” และ “ลีน่า จัง”

“เหมือนแม่ได้เจอข้อมูลอีกชุดหนึ่งมากกว่า เหมือนเจอข้อมูลที่มีความเป็นไปได้และคิดเอง เลือกจะเปลี่ยนความคิดอันไหน น่าจะได้ข้อมูลที่ดูสมเหตุสมผลมากกว่า” ศูนย์แปดกล่าว และว่า แม่ใช้คำว่า “ตาสว่าง” รู้สึกได้เห็นอะไรมากขึ้น

ม้าใช้คำว่า “ตาสว่าง” เลย

 

ศูนย์แปดยังฝากถึงคนรุ่นเดียวกันที่ประสบปัญหาเดียวกันนี้ว่า เคยได้ยินเรื่องราวเพื่อนที่มีพ่อ-แม่อยู่คนละฝั่งอย่างสิ้นเชิง และเล่าให้ฟังว่า ไม่รู้สึกว่าบ้านเหมือนเป็นที่ปลอดภัยหรืออบอุ่นเลย อยากออกไปข้างนอกตลอดเวลา เพราะอยู่บ้านแล้วเหมือนมีมวลบางอย่างปะทะอยู่

จึงอยากให้ทั้งผู้ใหญ่และคนรุ่นใหม่เปิดใจและให้เกียรติกัน ไม่ดีนักที่ต่างฝ่ายด่าใส่กัน เด็กมองผู้ใหญ่ว่าเป็นไดโนเสาร์คร่ำครึ หรือผู้ใหญ่มองเด็กว่าปากไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม

ผมเชื่อว่า ไม่ว่าคุณอยู่ฝั่งไหน คุณก็รักประเทศนี้ อยากเห็นประเทศนี้ดีขึ้น เราลองมาหาฉันทามติร่วมกันดีกว่าไหม

การออกมาชุมนุมนับตั้งแต่การชุมนุมของเยาวชนปลดแอกเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมสู่การชุมนุมใหญ่ที่สุดในรอบ 6 ปีเมื่อ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา สิ่งที่ถูกพูดถึงมากขึ้นคือ ทัศนะความคิดของคนหนุ่ม-สาวที่เด่นชัดว่าอยากเห็นอนาคตที่ดีกว่านี้และไม่เอารัฐบาลสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และตัดสินใจก้าวออกมาเป็นตัวเป็นตนในการชุมนุมทางการเมือง

ศูนย์แปดกล่าวถึงการก่อรูปทางความคิดของตัวเองว่า ผมรู้สึกว่าไม่ได้มานานแล้ว ความรู้สึกที่ทนไม่ไหว พอมีการบอกล่วงหน้าว่ามีการชุมนุมประชาชนปลดแอก เราล็อกคิวเตรียมตัวไว้ รู้สึกว่าหลายๆ เรื่องที่เกิดขึ้นในสังคม ทำให้เราเห็นชัดๆ ว่าความอยุติธรรมเกิดขึ้นจริง แล้วฝั่งนั้นลอยหน้าลอยตา

ผมชอบประโยคหนึ่งในเพลงหนึ่งว่า “พูดไม่ได้ยิน ต้องตะโกน” ถ้าเราแสดงออกแค่ในโซเชียล ยังไม่พอ ผมจะทำมากกว่านั้น

ศูนย์แปดมองว่า โซเชียลมีเดียคือปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การออกมาชุมนุม ที่ทำให้คนหนุ่ม-สาวมีความคิดไม่เหมือนรุ่นพ่อ-แม่เรา โซเชียลมีเดียไม่ได้ถูกควบคุม แพร่กระจายเร็ว วันนั้นอาจารย์ท่านหนึ่งพูดว่า ในทวิตเตอร์มีทุกอย่างที่พวกเขาไปค้นหาได้ในสิ่งที่อยากรู้ ไม่เคยถูกสอนในโรงเรียน พอ 6 ตุลา 19 เวียนมา ก็เข้าไปศึกษา เป็นอะไรที่ส่งผลมาก

ส่วนการขึ้นเวทีเดี่ยวไมโครโฟนนั้น ศูนย์แปดยอมรับว่า มีความกังวลบ้าง เพราะแกนนำถูกคุกคาม แล้วรู้สึกว่าผมเป็นแค่นักแสดงตลก ถ้าเราเชื่อว่าเครื่องมือนี้สามารถใช้ในม็อบได้ ก็ต้องเห็นอะไรบางอย่าง เสียงหัวเราะอาจเป็นอาวุธหนึ่งไว้ล้อเลียนกับอำนาจไม่เป็นธรรม ลดทอนความน่าเกรงขาม

เหมือนตู้บ๊อกการ์ดในแฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่ปล่อยสิ่งที่เรากลัวที่สุดในจินตนาการ เราก็สู้และเปลี่ยนเป็นสิ่งตลกขบขัน

การแสดงออกทางการเมืองของคนหนุ่ม-สาวไม่ว่าในรูปของข้อความในป้าย จนถึงการชู 3 นิ้วและผูกโบสีขาวนั้น ศูนย์แปดศูนย์แปดมองว่า คนหนุ่ม-สาวกำลังบอกว่า พวกเขาโกรธเคือง หลายเหตุการณ์ที่เป็นเทรนด์ทวิตเตอร์ แต่ไม่ถูกเอาไปเป็นกระแสหลักบนโลกของความเป็นจริง ผู้ใหญ่อาจได้ยินแต่ไม่ตอบรับ นั้นทำให้คนหนุ่ม-สาวจึงต้องออกมา

ผมตกใจมากที่นักเรียนมัธยมในรุ่นนี้มีความตื่นตัวมาก ผิดกับสมัยตัวเองไม่มีอะไรมาก ยังเตะบอลอยู่เลย มาตื่นตัวก็ตอนเข้ามหาวิทยาลัย แสดงว่าพวกเขาได้รับผลกระทบจริงๆ ไม่อย่างนั้นพวกเขาไม่ออกมากันขนาดนี้

ถึงกระนั้น ปฏิกิริยาโต้กลับการเคลื่อนไหวของคนหนุ่ม-สาวที่มีท่าทีคุกคามจนถึงข่มขู่ใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นตลอดการชุมนุมของคนหนุ่ม-สาว ศูนย์แปดก็มีความกังวลอยู่ว่า ไม่อยากให้เกิด แม้แต่คลิปการแสดงเดี่ยวไมโครโฟนก็ส่งผลในอนาคตของตัวเอง แต่ตัวเองมองว่า เราถูกทำให้รู้สึกต้องหวาดกลัวมากเกินไป ทั้งที่เรามีสิทธิพูด แสดงความคิดเห็น

ถ้าผมไม่ได้พูด ผมอาจเสียใจกับตัวเองมากกว่าที่ไม่กล้าพูดในสิ่งที่เราเห็น ผมเชื่อว่าสิ่งตัวเองทำนั้นถูกต้อง

 


กว่า 12 ปี ของการจัดงาน Healthcare เครือมติชนร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ส่งต่อความรู้และให้บริการสุขภาพแก่คนไทยในทุกมิติ ทั้งการป้องกัน ดูแล และรักษา โดยเฉพาะการบริการตรวจสุขภาพฟรีจากสถานพยาบาลชั้นนำ เวิร์กชอป ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ รวมถึงการยกระดับเวทีเสวนาให้เป็น “Health Forum” เปิดเวทีให้แพทย์ และ Speaker ระดับประเทศ มาร่วมพูดคุยถึงแนวทางการป้องกัน การรักษา และนำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์ รวมถึงเรื่องราวสุขภาพในแบบเอ็กซ์คลูซีฟที่จะมาให้อัปเดตตลอด 4 วันของการจัดงาน เดินทางสะดวกโดยทางด่วนและ MRT ลงสถานีสามย่าน ทางออกที่ 2
ลงทะเบียนเข้างานฟรี มีต้นไม้แจกด้วยนะ (จำนวนจำกัด)