คุยกับ “บก.ลายจุด” การเคลื่อนไหวของ “คนรุ่นใหม่” คือ “คุณภาพใหม่” ในสังคมไทย

การเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ใน พ.ศ.2563 ที่เปี่ยมด้วยสีสัน อารมณ์ขัน และประเด็นอันแหลมคม คือหมุดหมายหนึ่งที่บ่งชี้ว่าสังคมการเมืองไทยยุคปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยยะสำคัญ

หนึ่งในนักกิจกรรมทางการเมืองที่สามารถวิเคราะห์วิถีทาง-ลักษณะเด่นของ “ม็อบคนรุ่นใหม่” ได้อย่างน่าสนใจ ก็คือ “สมบัติ บุญงามอนงค์” หรือ “บ.ก.ลายจุด”

ซึ่งมีสถานะเป็นทั้ง “นักเคลื่อนไหวรุ่นพี่” คนแรกๆ ที่นำเอาสัญลักษณ์และเสียงหัวเราะมาผสมผสานกับม็อบการเมืองหลังเหตุการณ์ความรุนแรงและโศกนาฏกรรมกลางเมืองเมื่อ พ.ศ.2553 ได้อย่างทรงพลัง

ทั้งยังเป็น “ผู้ใหญ่” ที่พร้อมจะเปิดใจรับฟัง “เด็กๆ” รุ่นหลัง ผู้มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับลูกสาวของตน

สมบัติบอกกับทีมข่าวการเมืองมติชนทีวี ว่า ในเชิงคุณภาพ “การชุมนุมของคนรุ่นใหม่” รอบนี้ คือ “คุณภาพใหม่” ที่มี “มิติใหม่” บางด้าน ซึ่งไม่เคยปรากฏในสังคมไทย

“เอาอย่างน้อยที่สุด ผมไม่เคยเห็นการเคลื่อนไหวของเด็กในระดับมัธยม เราอาจจะเคยเห็นการเคลื่อนไหวของเขาในประเด็นเรื่องที่ใกล้ตัว เรื่องทรงผม เรื่องการศึกษาบ้าง

“ในเรื่องระดับมหภาคนี่ก็นับว่าเป็นครั้งแรกในชีวิตผม ที่ผมเห็นการเคลื่อนไหวนี้ ตอนที่เขาไปวิ่งแฮมทาโร่ เด็กส่วนใหญ่เป็นเด็กมัธยม ไม่ใช่เด็กมหาวิทยาลัย ผมถือว่านี่เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่าคุณภาพใหม่ได้เลย”

อย่างไรก็ดี บ.ก.ลายจุด ยังมองว่า “ม็อบคนรุ่นใหม่” ณ พ.ศ.2563 นั้นต้องผ่านบทพิสูจน์สำคัญอีกหนึ่งด้าน

“คุณภาพใหม่นี้มันยังต้องพิสูจน์ว่ามันเป็นคุณภาพของเด็กบางส่วน เด็กบางกลุ่มเท่านั้น หรือว่าจริงๆ มันเป็นทั้งเจเนอเรชั่นเลย

“คือถ้ามันเป็นทั้งเจเนอเรชั่น เด็กมันจะออกมาแบบมหาศาล มันจะเกิดการเคลื่อนไหวในโรงเรียน เกิดขึ้นที่หน้าเสาธงเลย มันจะต้องไปถึงขนาดนั้น แล้วมันจะลงไปถึงเด็กมัธยมต้นไหม? หรือมันจะลงไปต่ำกว่ามัธยมอีก มันจะลงไปถึงประถมปลายไหม? คือถ้ามันไปถึงจุดนั้น ก็เรียกว่าพังเลย

“เรียกว่ารัฐในเวลานี้จะไม่สามารถได้รับการยอมรับใดๆ เลยจากคนรุ่นใหม่ ล้มเหลว! ซึ่งเป็นจุดอ่อนมากนะ รัฐที่สื่อสารกับเด็กไม่ได้ มันยุ่งยากมากเลย”

เมื่อถามว่าอะไรคือปัจจัยหลักที่ผลักดันให้ “คนรุ่นใหม่ยุคปัจจุบัน” มีความสนอกสนใจกับเรื่องการเมืองมากยิ่งขึ้น จนถึงขั้น “ลงถนน” สมบัติชี้นิ้วไปยัง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี

“การดำรงอยู่ของคุณประยุทธ์ทำให้เด็กสามารถมองเห็นได้ชัดเจนเลยว่าอนาคตของเขามันมืดมน เพราะว่าคุณประยุทธ์อยู่นานมาก

“และตลอดการเรียนรู้ของเด็ก โตขึ้นมาแล้วก็มอง เริ่มสนใจเรื่องสังคม ก็เห็นคุณประยุทธ์อยู่ในทุกหนแห่ง และมันยาวพอ 6 ปี ถ้าสมมุติเป็นเด็ก ม.1 ก็จนถึงเด็ก ม.6 นะ งั้นถ้าเด็ก ม.1 ถึง ม.6 มันเรียนรู้เกี่ยวกับผู้นำประเทศแบบนี้ มันนานมากเลย และเขาก็มองออกว่าคุณประยุทธ์ก็อยากจะอยู่ต่อนานมาก

“ดังนั้น เด็กจึงมีความเห็นว่าเขาต้องอยู่กับประเทศที่มันตกต่ำขนาดนี้ และยังต้องอยู่โดยที่ทิศทางหรืออนาคตของประเทศมันจะแย่แบบนี้ไปเรื่อยๆ ผมคิดว่าสำหรับคนหนุ่ม-สาว เขามองเรื่องอนาคตหนักมาก ดังนั้น เขาจึงเห็นว่าคุณประยุทธ์นั้นเป็นภัยต่ออนาคตของพวกเขา”

จุดแข็งข้อหนึ่งสำหรับการจัดตั้ง “ม็อบแบบคนรุ่นใหม่” ตามทัศนะของหนึ่งในผู้บุกเบิกการชุมนุมเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ ก็คือการมีสถาบันการศึกษาเป็นแหล่งระดมกำลังพล

“เด็กมันมีองค์กรจัดตั้งแบบหนึ่งก็คือมีโรงเรียน มีสถาบันการศึกษา มันเหมือนเป็นการจัดตั้งเพื่อการศึกษา แต่ว่าการที่เขาเป็นคนอายุเดียวกัน พูดจาภาษาเดียวกัน มีวัฒนธรรมคล้ายๆ กัน รับรู้คล้ายๆ กัน พอมันมีเมสเสจ (ข้อความ) ที่เกี่ยวกับการเมืองเข้าไปปุ๊บ มันง่ายที่จะผลิตวิธีการสื่อสารหรือการย่อยเมสเสจ

“และทำให้เวลาเขาเคลื่อน เขาคุยง่าย ไม่ต้องนัดหมายกันไกลๆ มาเจอกัน ขับรถมา นัดหมายไกลๆ ไม่ มันอยู่ในโรงเรียน เขาใช้เวลาว่างคุยกัน มีกลุ่มไลน์ มีเฟซบุ๊ก คุยกันมันง่ายมาก มันง่าย มันเป็นการจัดตั้งมาแล้ว เพียงแต่ว่าใส่เมสเสจเข้าไป”

ทว่า “จุดแข็ง” ดังกล่าว ก็อาจกลายสภาพเป็น “เป้าหมายหลัก” ที่ถูกผู้ถือครองอำนาจรัฐมุ่งโจมตีได้เช่นกัน

“คุณดูเหอะ อย่างในพม่าหรือในจีน ตอนที่เกิดเหตุการณ์ใหญ่ๆ ในพม่าตอนที่นักศึกษาเคลื่อนไหว สิ่งที่เขาต้องทำคือปิดมหาวิทยาลัย เพราะว่ามหาวิทยาลัยมันเป็นองค์กรจัดตั้ง มันจัดตั้งกันในมหาวิทยาลัย คุณให้มหาวิทยาลัยย่างกุ้งเปิดไม่ได้

“ที่เมืองจีนก็เป็นตอนเทียนอันเหมิน ก็ต้องปิดมหาวิทยาลัย เพราะถ้าคุณปล่อยให้เด็กมหาวิทยาลัยมาเจอกันที่มหาวิทยาลัยได้ มันก็ชุมนุมกันแหลกลาญเลย ฮ่องกงก็เป็นเหมือนกันเลย”

อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ระหว่าง “คนรุ่นใหม่” ผู้กระตือรือร้นกับการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ดูจะเป็นปรากฏการณ์สากลที่เกิดขึ้นทั่วโลกชนิดหลีกเลี่ยงได้ยาก ดังเช่นประสบการณ์ของลูกสาวสมบัติ ซึ่งเดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศ

“ที่อเมริกาก็เป็นเหมือนกัน เด็กๆ ออกมาทั้งโรงเรียน มาเดินขบวนกัน ลูกสาวผมก็ไปเดินขบวนกันที่โรงเรียน เด็กนักเรียนนี่แหละ”