วรศักดิ์ มหัทธโนบล : ปัญญาของ “ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ” จากนักวิชาการสู่ผู้วางนโยบาย

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

อินเทลลิเจนท์เซียแห่งซอยราชครู (2)

ระหว่างที่เตรียมตีพิมพ์หนังสือรวมบทความของไกรศักดิ์อยู่นั้นก็ได้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้นมา เมื่อ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ บิดาของไกรศักดิ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 17 ของประเทศไทยในปี 2531

สำหรับไกรศักดิ์แล้วถือเป็นเหตุการณ์ที่เปลี่ยนชีวิตไปอย่างที่ไม่อาจย้อนกลับคืนได้อีก

ที่ว่าเปลี่ยนชีวิตก็คือ นายกฯ ชาติชายได้ขอให้ไกรศักดิ์มาช่วยเป็นที่ปรึกษา และไกรศักดิ์ก็รับปากพร้อมกับเชิญชวนกัลยาณมิตรในวงวิชาการมาร่วมด้วยช่วยกัน

จากเหตุนี้ ไกรศักดิ์จึงต้องลาออกจากการเป็นอาจารย์นับแต่นั้นมา

เมื่อลาออกแล้วเข้าไปทำหน้าที่ที่ปรึกษานายกฯ จนเวลาผ่านไปราวสองสัปดาห์เห็นจะได้ ผมจึงพบกับไกรศักดิ์อีกครั้งหนึ่ง

คราวนี้ไม่ได้พบที่บ้านในซอยราชครู หากแต่ไปพบที่บ้านพิษณุโลกซึ่งเป็นสำนักงานของคณะที่ปรึกษานายกฯ และไปพบก็เพราะไกรศักดิ์นัดให้ไปพบ

ตัวผมแม้จะมีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับที่มาของคณะที่ปรึกษาชุดนี้ก็ตาม แต่หลังจากที่มีการแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาไปเรียบร้อยแล้วผมก็ไม่รู้อะไรอีกเลย ตอนนั้นผมได้ย้ายมาทำงานวิจัยที่สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ แล้ว งานการค่อนข้างยุ่งกว่าตอนอยู่กลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมือง

จึงทำให้ไม่ได้พบกับไกรศักดิ์บ่อยเหมือนเดิม

 

ที่บ้านพิษณุโลก ไกรศักดิ์ที่ผมเห็นในวันนั้นไม่ใช่คนที่มีเสื้อผ้าหน้าผมแบบที่ผมเล่าไว้ข้างต้น แต่เป็นชายที่ตัดแต่งทรงผมเรียบร้อย ไม่ยาวจนปรกใบหูแบบแต่ก่อน เคราก็โกนหายจนเกลี้ยงเกลา เหลือไว้ก็แต่เรียวหนวดเหนือริมฝีปากที่ถูกตัดแต่งให้ดูเข้มแต่พองาม

ส่วนเสื้อผ้าที่สวมใส่ก็เปลี่ยนไป มาเป็นผูกเน็กไท ใช้สายคล้องกางเกง สวมเสื้อกั๊ก และใส่สูทเมื่อต้องออกไปข้างนอก

พอพบกันไกรศักดิ์ก็บอกผมว่า ขอให้ระงับการตีพิมพ์หนังสือรวมบทความของตนเอาไว้ชั่วคราว จนกว่าจะไม่ได้ทำงานการเมืองแล้วค่อยว่ากันใหม่

พอได้ยินเช่นนั้นผมก็เห็นด้วยทันที เพราะขืนพิมพ์จริงรัฐบาลคงมีปัญหาแน่

แต่ที่ว่าให้ระงับไว้ชั่วคราวนั้นผมคิดว่าไกรศักดิ์คิดเช่นนั้นจริงๆ ว่าเมื่อบิดาหมดวาระลงแล้ว ตนก็หมดวาระลงด้วย และคงกลับมาเป็นนักวิชาการต่อ แล้วหนังสือเล่มนั้นก็คงจะได้พิมพ์ต่อ

เมื่อเป็นเช่นนี้ผมจึงหยุดบรรณาธิกรต้นฉบับลงเพื่อรอจนกว่าจะพิมพ์จริงแล้วค่อยว่ากันใหม่

โดยที่ไม่รู้เลยว่าโอกาสนั้นจะไม่มีทางหวนกลับมาอีกแล้ว

เพราะหลังจากนั้นได้เกิดเหตุการณ์ที่พลิกผันต่างๆ เข้ามาอีกมากมาย ซ้ำบางเหตุการณ์ก็หนักหน่วง

 

เมื่องานที่ปรึกษาเข้าที่เข้าทางแล้ว ผมก็มีโอกาสพบกับไกรศักดิ์บ่อยเหมือนเดิม พบกันคราวนี้ไม่เหมือนแต่ก่อนอยู่อย่างคือ แต่ก่อนเราคุยกันเรื่องการต่อสู้ทางชนชั้น แต่ตอนนี้เราคุยกันในเรื่องงานการเมืองที่คณะที่ปรึกษาต้องสัมผัสอยู่ทุกวัน

ช่วงนี้เองที่ทำให้ไกรศักดิ์ได้สัมผัสกับความเป็นจริงทางการเมือง ที่ต่างกันโดยสิ้นเชิงกับความเป็นจริงทางวิชาการ

แต่สิ่งที่ไกรศักดิ์แตกต่างไปจากนักการเมืองทั่วไปอยู่อย่างคือ ไกรศักดิ์มีความคิดที่เป็นระบบในเชิงทฤษฎีมาก่อน ครั้นมาสัมผัสกับการเมืองเข้าจึงสามารถตีความมันได้อย่างเป็นระบบระเบียบ

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงรู้สึกสนุกเวลาที่ฟังไกรศักดิ์เล่าเรื่องการเมืองที่ตนสัมผัส ที่บ่อยครั้งที่จบลงด้วยการวิเคราะห์เชิงทฤษฎี

ที่สำคัญ หลายเรื่องเป็นเรื่องที่ไม่ได้เปิดเผยในสื่อสาธารณะ ซึ่งมีทั้งเรื่องที่ไม่ควรพูดกับเรื่องที่เป็นความลับ

เรื่องเหล่านี้ถือเป็นข้อมูลทางวิชาการที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง ชั้นแต่ผมที่มิได้เป็นผู้ปฏิบัติโดยตรงก็ยังรู้สึกเลยว่า หากนำเรื่องที่ว่ามาเขียนแล้วรับรองได้ว่าหนังสือจะต้องขายดีเป็นเทน้ำเทท่า แล้วถ้าหากไกรศักดิ์และที่ปรึกษาท่านอื่นๆ นำมาเขียนจะขายดีสักเพียงใด

แต่ประเด็นข้างต้นก็ทำให้ผมเข้าใจสังคมไทยมากขึ้น ว่าเหตุใดจึงมีหนังสือในแนวบันทึกความทรงจำทางการเมืองน้อยยิ่งนัก

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะไทยเรามีวัฒนธรรมที่รักษาน้ำจิตน้ำใจบุคคลอื่น

วัฒนธรรมนี้ทำให้ไม่มีใครจะเขียนบันทึกพาดพิงบุคคลในเชิงลบ ซึ่งเรื่องการเมืองมักหลีกเลี่ยงประเด็นเชิงลบไปไม่ได้ จะเห็นแต่บันทึกที่กล่าวถึงบุคคลในเชิงบวกเป็นส่วนใหญ่

และกลายเป็นวัฒนธรรมของการบันทึกอย่างที่เห็น

 

ผมคงตอบไม่ได้ว่าวัฒนธรรมนี้ดีหรือไม่ ตอบได้แต่เพียงว่า วัฒนธรรมนี้ทำให้เรื่องราวจำนวนมากจมหายไปกับกาลเวลา แล้วปล่อยให้คนรุ่นหลังสงสัยและถกเถียงกันไปต่างๆ นานาเรื่อยมา

ผิดกับตะวันตกที่ไม่มีวัฒนธรรมแบบนี้ หนังสือบันทึกทางการเมืองจึงปรากฏออกมาให้เห็นอยู่เรื่อยๆ และให้ข้อมูลที่มีคุณค่าในทางวิชาการอย่างมาก

เหตุดังนั้น หากไกรศักดิ์จะเขียนบันทึกทำนองที่ว่าแล้วก็แทบไม่ต้องใส่แหล่งอ้างอิงอันใดเลย เพราะตัวของไกรศักดิ์เป็นแหล่งอ้างอิงในตัวเองอยู่แล้ว ที่สำคัญ บางเรื่องพอเล่าเสร็จก็วิเคราะห์ต่อในเชิงวิชาการ

จนสังเกตได้ว่า ข้อวิเคราะห์ในหลายเรื่องทำให้เห็นว่าไกรศักดิ์ยังคงให้ความสำคัญกับประเด็นทางชนชั้น

และถึงแม้ไกรศักดิ์จะไม่ได้เอ่ยชื่อเจ้าลัทธิสังคมนิยมดังแต่ก่อน แต่เราก็รู้ได้โดยนัยว่าไกรศักดิ์ยังคงใช้ทฤษฎีมาร์กซิสต์อยู่เช่นเดิม

จากฐานะเช่นนั้นของไกรศักดิ์จึงทำให้ผมได้ยินได้ฟังเรื่องราวต่างๆ มากมายอย่างที่ไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าจะได้ยิน

แต่ผมก็ติดอยู่กับวัฒนธรรมดังกล่าว จึงได้แต่เก็บสิ่งที่ได้ยินได้รู้ไว้ในความทรงจำเท่านั้น

 

อย่างไรก็ตาม บทบาทของไกรศักดิ์กับคณะในเวลานั้นได้รับทั้งก้อนอิฐและดอกไม้วนกันไปมา ที่เป็นก้อนอิฐมักเป็นประเด็นความขัดแย้งกับกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ส่วนที่เป็นดอกไม้มักเป็นนโยบายใหม่ๆ หลายนโยบาย เรื่องเหล่านี้มีผู้กล่าวถึงเอาไว้ในหลายที่อยู่แล้ว ผมจึงไม่ขอกล่าวถึงอีก

แต่มีเรื่องหนึ่งที่ยังไม่มีใครกล่าวถึงก็คือ การยกเลิกการให้สัมปทานป่าไม้แก่เอกชนในปี 2532

เรื่องนี้มีมูลเหตุมาจากในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2531 ได้เกิดน้ำป่าไหลหลากรุนแรงที่หมู่บ้านกะทูน อ.พิปูน และหมู่บ้านคีรีวง อ.ลานสะกา จ.นครศรีธรรมราช น้ำป่านี้ได้พัดพาเอาต้นซุงสัมปทานและซุงเถื่อนถล่มทับหมู่บ้านทั้งสองจนจมอยู่ใต้ทะเลโคลน และคร่าชีวิตชาวบ้านไป 359 คน บาดเจ็บ 2,022 คน สูญหาย 74 คน ค่าเสียหาย 6,472,134,865 บาท

เหตุการณ์อันเศร้าสลดครั้งนี้ทำให้รัฐบาลประกาศปิดป่าในภาคใต้ และพยายามหาทางยกเลิกสัมปทานป่าไม้ทั่วประเทศต่อไป

 

นโยบายดังกล่าวได้เป็นที่ยอมรับขององค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไกรศักดิ์เล่าให้ฟังว่า องค์กรต่างประเทศองค์กรหนึ่งได้ส่งจดหมายชื่นชมมายังบ้านพิษณุโลก หัวหน้าองค์กรนี้เป็นสามีของ “มินจา” อดีตภรรยาลูกครึ่งเกาหลี-ญี่ปุ่นของไกรศักดิ์ที่เลิกรากันไปก่อนหน้านี้หลายปี

อย่างไรก็ตาม รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 ได้ทำให้การร่างกฎหมายยุติสัมปทานป่าต้องสะดุดลง และรัฐบาลหลังจากนั้นก็มิได้ทำตามเจตนารมณ์เดิม นับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง

แต่ก็ด้วยรัฐประหารครั้งนั้นก็ได้ทำให้บทบาทของไกรศักดิ์สิ้นสุดตามรัฐบาลชาติชายไปด้วย โดยไกรศักดิ์ได้หนีภัยรัฐประหารไปอยู่ที่อังกฤษ

วันที่เกิดการรัฐประหารนั้น ผมไปถ่ายทำสารคดีสำหรับรายการพฤหัสสัญจรที่จังหวัดนครปฐม รายการนี้มีไกรศักดิ์เป็นเจ้าของ ตอนที่มีการยึดอำนาจ ผมกับคณะถ่ายทำไม่รู้อะไรเลยแม้แต่น้อย พอกลับมากรุงเทพฯ ถึงได้รู้ และรู้ด้วยว่าไกรศักดิ์ได้หนีภัยรัฐประหารไปแล้ว

นับแต่นั้นมาอีกนานนับปี ผมก็ไม่ได้พบกับไกรศักดิ์อีกเลย แต่รายการพฤหัสสัญจรยังคงอยู่ต่อไปจนถึงหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ไปแล้วจึงได้ยุติไป

 

ตอนนั้นแม้บรรยากาศทางการเมืองจะดีขึ้น แต่ไกรศักดิ์ก็ยังคงใช้ชีวิตอยู่ที่อังกฤษ จนอยู่มาวันหนึ่ง ไกรศักดิ์ได้รับทุนสนับสนุนจากองค์กรหนึ่งในอังกฤษให้จัดทำสารคดีการเมืองในไทยขึ้น โครงการนี้ประสงค์ให้คนไทยทำด้วยตัวเอง และให้ใช้ภาษาไทยตลอดโดยมีคำบรรยายภาษาอังกฤษ

ไกรศักดิ์ซึ่งอยู่ที่อังกฤษจึงมอบหมายให้คำรณ คุณะดิลก เป็นผู้เขียนบทและผลิต โดยได้บอกเล่าเนื้อหากว้างๆ ให้แก่คำรณ

ผมเป็นคนหนึ่งที่ถูกเรียกตัวให้มาช่วยทำสารคดีชิ้นนี้ โดยมีเงื่อนไขว่าจะไม่มีชื่อปรากฏในเครดิตท้ายเรื่องด้วยเหตุผลของความปลอดภัย จะมีก็แต่ชื่อของไกรศักดิ์กับคำรณเท่านั้นที่ออกหน้ารับแทน

สารคดีเรื่องนี้มีความยาวไม่ถึงครึ่งชั่วโมง และมีเนื้อหาในเชิงวิพากษ์การเมืองไทยอย่างตรงไปตรงมา

แม้ผมจะมีประสบการณ์จากพฤหัสสัญจรมาก่อน แต่ยอมรับว่าไม่เคยเหนื่อยขนาดนี้มาก่อน ยิ่งใกล้วันกำหนดส่งงานด้วยแล้วก็แทบไม่ได้หลับไม่ได้นอน แต่เราก็ส่งทันตามกำหนดเวลาให้กับไกรศักดิ์

หลังจากที่แพร่ภาพที่อังกฤษแล้วได้มีการนำไปเผยแพร่ในมหาวิทยาลัยบางแห่งในบ้านเรา แต่จนทุกวันนี้ผมไม่มีสารคดีเรื่องนี้อยู่ในมือ มีก็แต่ความทรงจำที่ดีว่า เนื้อหาของสารคดีนี้หากนำมาให้ดูในวันนี้ก็ยังไม่ล้าสมัย ทั้งๆ ที่มีอายุเกือบสามสิบปีแล้ว

สารคดีเรื่องนี้มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า Just Games