เศรษฐกิจ / ‘โควิด’ ขวิดเศรษฐกิจ… สร้างจุดเปลี่ยนการเมือง ล้มแผน รบ.ปีลงทุน…คนจนหมดประเทศ ถึงเวลา ‘บิ๊กตู่’ สร้างดรีมทีมแก้ ศก.ชุดใหม่?

เศรษฐกิจ

 

‘โควิด’ ขวิดเศรษฐกิจ…

สร้างจุดเปลี่ยนการเมือง

ล้มแผน รบ.ปีลงทุน…คนจนหมดประเทศ

ถึงเวลา ‘บิ๊กตู่’ สร้างดรีมทีมแก้ ศก.ชุดใหม่?

 

ผ่านมาแล้วเกือบจะ 5 เดือนเต็มของปี 2563 ที่ต้องยอมรับว่าเป็นปีที่อะไรหลายๆ อย่างดูจะผิดแผนไปเสียหมด หลังจากเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เข้ามาสร้างความปั่นป่วนไปทั่วทั้งโลก

วิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้ ถือว่ามีความรุนแรงมากกว่าวิกฤตเศรษฐกิจในทุกครั้งที่เคยผ่านมา ด้วยผลกระทบเกิดเป็นวงกว้างกระทบทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป จากที่รัฐบาลตัดสินใจใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เข้าควบคุมสถานการณ์ หยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจแทบจะทุกอย่าง หวังการหยุดเชื้อ ตามสโลแกน “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”

ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ห้างสรรพสินค้า สถานบันเทิง สนามมวย โรงหนัง ฟิตเนส โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจด้านการท่องเที่ยว เกี่ยวข้องหลายภาคส่วนธุรกิจ อย่างโรงแรม ร้านอาหาร ทัวร์ ขนส่ง ต้องหยุดเพื่อยับยั้งการระบาดของเจ้าโควิด

เพียง 2 เดือน ผลกระทบที่ถาโถมเข้ามา ต้องเรียนกว่า “โคม่า” ในหลายกิจการ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประชาชนผู้มีรายได้ต่ำ กลุ่มคนหาเช้ากินค่ำ ได้ค่าจ้างแรงงานเป็นรายวัน หรือซ้ำเติมกว่านั้น เป็นกลุ่มคนที่ในช่วงเวลาปกติก็แทบจะหารายได้เลี้ยงตนเองไม่ไหว เพราะมีข้อจำกัดหลายอย่าง

อาทิ โรคประจำตัว ไม่มีความรู้ หรือเป็นผู้สูงอายุ ที่ไม่ใช่วัยแรงงาน ซึ่งต้องยอมรับว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีสัดส่วนจำนวนมากในภาพรวมประชากรของประเทศไทย

การเข้ามาของโควิดจึงเปรียบเสมือนเป็นการกระตุ้นให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำทางสังคมในปริมาณที่สูงมาก!

 

หากย้อนกลับไปดูการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2563 ติดลบที่ 1.8% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปี 2562 ซึ่งนับเป็นการติดลบครั้งแรกตั้งแต่ไตรมาส 1/2557 และติดลบมากที่สุดตั้งแต่ไตรมาส 4/2554 โดยหากเทียบกับไตรมาส 4/2562 เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ติดลบมากขึ้นกว่า 2.2%

สะท้อนให้เห็นความเปราะบางของเศรษฐกิจ และการก้าวเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิคแล้วหรือไม่

เนื่องจากไตรมาสแรกของปี ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ยังเข้ามาไม่เต็มที่ แต่เศรษฐกิจไทยตอบรับด้วยการติดลบไปแล้ว

ทำให้ไตรมาส 2 หลายฝ่ายประเมินว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยจะสาหัสมากกว่าเดิม เพราะผลกระทบจากโรคระบาดจะรับรู้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น

สอดคล้องกับที่ภาคเอกชนประเมินไว้ อาทิ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย มองว่าไตรมาส 2 ของปีนี้ จีดีพีจะอยู่ในจุดต่ำสุดติดลบกว่า 14% ส่วนไตรมาส 3 และ 4 ยังมีโอกาสติดลบเลข 2 หลัก ประมาณ 10% อยู่ ส่วนทั้งปีนี้เฉลี่ยติดลบ 8.9%

ซึ่งถือว่ารุนแรงกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540

 

โอกาสที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้อีกครั้ง จะอยู่ในช่วงไตรมาส 1-2 ของปี 2564

ไม่แตกต่างจากศูนย์วิจัย ธนาคารกรุงไทย ที่ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้อาจติดลบประมาณ 8.8% เพราะโควิด-19 เข้ามาเขย่าเศรษฐกิจทั่วโลกให้หยุดชะงักอย่างทั่วถึง จนทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่อุปทานหยุดชะงัก (ซัพพลายช็อก) อันเนื่องจากการยับยั้งการแพร่ระบาดผ่านการชัตดาวน์เมือง และมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม

ทำให้สายพานการผลิตและการจ้างงานต้องหยุดลงอย่างกะทันหัน และส่งผ่านผลกระทบกลับมายังอุปสงค์โดยรวมที่อ่อนแออยู่ก่อนแล้วให้หดตัวอย่างรวดเร็วมากขึ้น

ซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจหนักขึ้นด้วยหนี้ไม่ก่อรายได้ (เอ็นพีแอล) หรือหนี้เสีย ที่ประเมินว่าจะพุ่งขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะโควิด-19 ทำให้ธุรกิจหลายภาคส่วนชะลอตัว รายได้เป็นศูนย์

ขณะที่รายจ่ายยังมีเท่าเดิม

 

“สุรพล โอภาสเสถียร” ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) คาดว่า ปี 2563 ปริมาณการเกิดหนี้เสียจะเพิ่มขึ้นเกิน 1 ล้านล้านบาท สูงเกิน 10% หรือเป็นตัวเลข 2 หลัก เนื่องจากศักยภาพชำระหนี้ของลูกหนี้ลดลง เพราะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้รายได้ลูกหนี้ลดลง

โดยจากข้อมูลของเครดิตบูโรพบว่า ในไตรมาสแรกปี 2563 ประเทศไทยมีหนี้เสียปรับสูงขึ้นกว่า 9.5 แสนล้านบาท คิดเป็น 8.1% ของหนี้ครัวเรือนที่เก็บในเครดิตบูโร มูลค่าประมาณ 11.7 ล้านล้านบาท เพิ่มจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มี 7.7 แสนล้านบาท

เมื่อสถานการณ์ดูจะย่ำแย่เกินต้านทาน คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จึงมีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ต่อปี จากระดับ 0.75% เหลืออยู่ที่ 0.50% ต่อปี ในการประชุมคณะกรรมการ กนง.ครั้งล่าสุด

ระดับดอกเบี้ยที่ 0.50% ทำจุดต่ำสุดใหม่ นับตั้งแต่ประเทศไทยมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

แต่ภาคเอกชนก็มองว่าการลดดอกเบี้ยคงช่วยอะไรได้ไม่มากนัก เพราะในภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ ต้องการใช้มาตรการทางด้านการคลังแบบตรงจุด เพื่อให้เห็นผลในทันทีมากกว่า

 

ยังไม่ถึงครึ่งปีแรก ทิศทางการขับเคลื่อนประเทศดูเหมือนจะ “สรวน” (เบลอ) มากเป็นพิเศษ เพราะความจริงปีนี้ หลายฝ่ายมองว่าจะต้องเป็นปีที่ไปได้สวยมากกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากปีที่แล้วไทยได้รับผลกระทบทั้งภาคการส่งออก ที่ค่าเงินแข็ง จนเสียเปรียบด้านการแข่งขัน และภาคการท่องเที่ยว ที่นักท่องเที่ยวจีนหายไปจำนวนมาก

แม้แต่รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ยังเคยประกาศไว้เมื่อต้นปีว่า รัฐบาลวางเป้าหมายปี 2563 จะเป็นปีแห่งการลงทุน วางยุทธศาสตร์สำคัญคือคนจนจะหมดไปจากประเทศ โดยชูธง โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี จะเป็นโครงการแม่เหล็กดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

เพิ่งจะผ่านไตรมาสแรกของปี 2563 กลายเป็นหนังคนละม้วน เพราะสะดุดโควิด การลงทุนไม่มา คนไทยจนลงทั้งประเทศ

หนี้เสียพุ่งเพิ่ม

 

ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องบังเอิญ หรือเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เพราะเป็นจังหวะที่ซีกพรรครัฐบาลอย่างพลังประชารัฐ เริ่มเขย่าเก้าอี้กันเองในพรรค เริ่มทวงเก้าอี้หัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค ซึ่งล้วนเป็นคนของรองนายกฯ สมคิดนั่งอยู่ พร้อมทั้งมีความพยายามบีบให้คืนตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี

งานนี้คนที่มองเกมการเมืองออก ฟันธงว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เริ่มไม่ปลื้มฝีมือ “สมคิด” เพราะล่าสุดการแก้ปัญหาหนี้ก้อนใหญ่ของบริษัท การบินไทย มีการแต่งตั้งคณะกรรมการการบินไทยคนใหม่อย่างเร่งด่วน จำนวน 4 คน ซึ่ง 3 ใน 4 คนที่ปรากฏชื่อล้วนเป็นคนสายตรงของ พล.อ.ประยุทธ์ และ 2 ใน 4 คน เคยมีชื่อปรากฏเป็นดรีมทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ที่ พล.อ.ประยุทธ์แต่งตั้งขึ้นเมื่อปี 2562

เป็นที่แน่นอนว่าหลังรัฐบาลกำราบเชื้อร้ายโควิดได้แล้ว จะมีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ท้ายที่สุดต้องมาดูกันว่าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดปัจจุบันจะเหลือกี่คน ชื่อ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ยังคงอยู่กับ ครม.ชุดใหม่หรือไม่

หรือนายกฯ จะสร้างทีมเศรษฐกิจใหม่รับ New Normal