1 ทศวรรษ เมษาเลือด-พฤษภาอำมหิต 53 การช่วงชิง “ข้อเท็จจริง-ความยุติธรรม” ยังดำเนินต่อ

การชุมนุมทางการเมืองครั้งนองเลือดที่สุดในห้วงวิกฤตการเมืองของไทยนับตั้งแต่การรัฐประหารปี 2549 ในช่วงเมษายน-พฤษภาคม 2553 ได้บรรจบครบ 10 ปีแล้ว เรื่องราวและความทรงจำ กำลังหาที่ทางในสังคมไทยท่ามกลางความพยายามในการถูกบังคับให้เลือนหาย หรือปฏิเสธว่าเคยมีเหตุความรุนแรงเช่นนี้อยู่

แม้เรื่องราวกำลังถูกลดทอนลงไปพร้อมกับบริบทางการเมือง โดยเฉพาะการเมืองไทยในยุคเผด็จการทหาร คสช. แต่เสียงของการทวงถามความเป็นธรรมให้กับผู้สูญเสียและลงโทษผู้กระทำและผู้มีส่วนร่วมทำผิดยังไม่เคยเลือนหาย

ล่าสุดคณะก้าวหน้าได้แอ๊กชั่น #ตามหาความจริง ซึ่งได้สร้างปฏิกิริยาต่อหลายฝ่ายซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุรุนแรงนี้ ออกมาตอบโต้และเล่าความจริงในแบบของตัวเอง

ไม่ว่าเรื่องราวจะออกมาแบบไหน สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ แม้ตึกอาคารที่ถูกไฟไหม้จะสร้างขึ้นใหม่ แต่ไม่สามารถคืนชีวิตให้กับผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากความรุนแรงนี้ได้

10 ปีผ่านไป เรื่องราวยังไม่ถูกเติมเต็ม

นายศรายุทธ ตั้งประเสริฐ ผู้สื่อข่าวอาวุโสของประชาไทและอดีตคณะทำงาน ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) กล่าวว่า สิ่งที่ ศปช.ทำในช่วงนั้น สามารถรวบรวมข้อเท็จจริงได้เพียงส่วนเดียวและยังไม่สมบูรณ์ ได้เฉพาะแค่ส่วนของประชาชนและผู้ร่วมชุมนุมซึ่งอยู่ในเหตุการณ์หรือได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ เราไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าเป็นความจริงทั้งหมด

ส่วนที่ยังขาดไปคือข้อเท็จจริงในส่วนของฝ่ายผู้ปฏิบัติการ เจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งส่วนนี้ ศปช.ไม่สามารถเข้าถึงได้

แล้วผ่านมา 10 ปี ข้อมูลตั้งแต่ระดับนโยบาย ผู้สั่งการ จนถึงผู้ปฏิบัติตามคำสั่งในสนามมีหลุดออกมาน้อยมากและไม่สามารถยืนยันได้ เลยทำให้ข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วน

“ทุกอย่างดำมืดหมด ตัวบุคคลที่ปรากฏออกมาในช่วงเหตุการณ์นั้นก็มีพลเรือน 2 คนคือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น) และสุเทพ เทือกสุบรรณ (รองนายกฯ และ ผอ.ศอฉ.) ส่วนนอกนั้นเป็นทหาร ซึ่งในส่วนของพลเรือน ไม่เชื่อว่าจะมีอำนาจสั่งการเด็ดขาดทั้งหมด ในกรณีนี้ ถ้าจะบอกว่าคนที่ต้องรับผิดชอบมีแค่ 2 คนนี้ก็ไม่แฟร์สำหรับพวกเขา ในการสั่งให้ทหารใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม สุดท้ายก็ไม่กล้าบอกได้ว่าอภิสิทธิ์และสุเทพควรจะรับผิดชอบทั้งหมดหรือไม่ เพราะข้อเท็จจริงฝั่งรัฐไม่มีออกมา” นายศรายุทธกล่าว

ด้านนายสุณัย ผาสุก จากฮิวแมนไรท์วอทช์ ประเทศไทย ซึ่งได้ร่วมสังเกตการณ์และทำรายงานเหตุความรุนแรงในเวลานั้นด้วย ได้ตั้งข้อสังเกตในเฟซบุ๊กส่วนตัวที่สะท้อนถึงความดำมืดว่า พลแม่นปืนและพลซุ่มยิง (คำสั่ง ศอฉ.ที่ กห ๐๔๐๗.๔๕/๑๓๙ และ กห ๐๔๐๗/๔๕ (สยก.)/๑๓๐ วันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๓) ที่ปฏิบัติการในแต่ละพื้นที่ที่มีพลเรือนถูกยิงเสียชีวิตและบาดเจ็บนั้น

“รายงาน คอป.ไม่ได้ระบุว่าสังกัดหน่วยใด รวมทั้งยังไม่ให้ข้อมูลว่าการใช้กำลังแต่ละครั้งเป็นไปตามหลักสากลหรือไม่”

เมื่อถามถึงการรับรู้ของสังคมไทยเปลี่ยนไปแค่ไหนแม้ผ่านเป็นสิบปี นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ประธานมูลนิธิกระจกเงา และอดีตแกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง ผู้มีบทบาทคืนชีพคนเสื้อแดงหลังการปราบปรามผู้ชุมนุมได้กล่าวว่า คิดว่าคนที่อยู่ในเหตุการณ์ มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ ความคิดคงไม่ได้เปลี่ยนมากนัก อาจมีเวลาเก็บรายละเอียดมากขึ้น

แต่คนที่อยู่นอกเหตุการณ์คือช่วงเวลาการเรียนรู้ ผมสนใจคนกลุ่มนี้ โดยเฉพาะคนที่เคยสนับสนุนให้มีการใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม ที่เรียกว่า “ออกใบอนุญาตฆ่า” คนกลุ่มนี้น่าสนใจ

“ตัวชี้วัดบางอย่างที่น่าสนใจ อย่างเช่น ปรากฏการณ์นกหวีด จนถึงการเลือกตั้งที่ผ่านมา กลุ่มคนที่เลือกพรรคอนาคตใหม่ไม่น้อยเลยเป็นคนที่เคยร่วมหรือสนับสนุนการทำกิจกรรมกับสุเทพ และคนกลุ่มเดียวกันนี้มีแนวโน้มที่เคยสนับสนุนมาตรการความรุนแรงกับผู้ชุนนุม นปช. หมายความว่า มีพลวัตของการเรียนรู้ทางการเมืองภายใน ผมคิดว่าถ้าจะมีจัดเวทีพูดคุย คนกลุ่มนี้น่าสนใจมากกว่า”

นายสมบัติกล่าว

ความเป็นธรรมอันเชื่องช้า

นายสมบัติกล่าวถึงกระบวนการยุติธรรมในการคลี่คลายเหตุการณ์ปี 2553 ที่ยังไปไม่ถึงไหนว่า เราเป็นสังคมอำนาจนิยม ผู้มีอำนาจกำหนดได้ว่า กระบวนการยุติธรรมควรจะออกมาลักษณะไหน หรือขีดเส้นพรมแดนของความยุติธรรมได้ แม้ว่าโดยข้อเท็จจริงเป็นสิ่งค้านสายตามาก มีเรื่องราวมากมายไม่ใช่แค่ปราบม็อบ 6 ตุลาคม 2519, พฤษภาคม 2535, พฤษภาคม 2553 หรือแม้แต่เรื่องนาฬิกาหรู สามารถพลิกคดีดื้อๆ ได้

พวกเขาทำได้ตราบเท่าที่มีอำนาจ ขีดเส้นไม่ให้กระบวนการยุติธรรมเดินเข้าไปสู่พรมแดนของความยุติธรรม

“ขนาดยึดอำนาจ รัฐประหาร กฎหมายอาญา ม.113 ระบุชัดว่ามีความผิด แต่หลังจากทำแล้ว มีกระบวนการรับรองอีก เหตุการณ์ปี 2553 เป็นแค่หนึ่งในปรากฏการณ์ซ้ำที่ยืนยันว่า คนมีอำนาจเป็นคนที่ถูกต้อง” นายสมบัติกล่าว

ผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ปี 2553 นอกจากอภิสิทธิ์และสุเทพแล้ว ยังมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐที่นั่งอยู่ใน ศอฉ. ปัจจุบันได้ขึ้นสู่อำนาจผ่านการรัฐประหารปี 2557 และยังอยู่ในอำนาจต่อหลังการเลือกตั้งปี 2562 กลายเป็นภาพสะท้อนที่สังคมไทยถูกตั้งคำถามถึงความยุติธรรมและวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด

ด้านนายศรายุทธกล่าวถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกลับไม่ต้องรับผิดว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่าการรัฐประหารปี 2557 หลังเหตุการณ์ปี 2553 ประมาณ 4 ปี แรงจูงใจส่วนหนึ่งที่นำไปสู่การรัฐประหารก็มาจากเรื่องนี้ คือการปิดบัง หรือต้องการปกป้องตัวเองไม่ให้ต้องรับผิดในการใช้ความรุนแรงกับประชาชน นี่อาจเป็นแรงจูงใจของคณะรัฐประหารรวมถึงสุเทพด้วย

ส่วนจะตอกย้ำวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดหรือไม่ ก็เป็นอย่างนี้อยู่แล้ว ที่ผ่านมาไม่เคยเลยที่ผู้สั่งการฆ่าประชาชนยอมรับผิดไม่ว่าครั้งไหน มีแต่คนตาย ไม่มีคนผิด ถึงกระนั้นก็ไม่ได้คิดเป็นถึงขั้นวัฒนธรรม แต่เป็นการเมือง

เพราะผู้ที่สั่งฆ่าประชาชนแต่ยังอยู่ในอำนาจทางโครงสร้าง เป็นธรรมดาที่จะไม่ต้องรับผิดในสิ่งที่กระทำไป

 

ข้อโต้แย้ง 2 ความคิดยังยืดเยื้อ

เมื่อใดที่มีการตั้งประเด็นเหตุการณ์ชุมนุมปี 2553 มักจะปรากฏวาทกรรม “เผาบ้านเผาเมือง-เสื้อแดงล้มเจ้า-ชายชุดดำ” คู่ขนานกับ “ทหารฆ่าคนมือเปล่า-ที่นี่มีคนตาย-ยิงคนในเขตอภัยทาน” กลายเป็นข้อโต้เถียงไม่รู้จบ จนล่าสุด คณะก้าวหน้าได้ออกแอ๊กชั่นฉายเลเซอร์ในโอกาสครบ 10 ปี จนเกิดปฏิกิริยาที่หลากหลายในสังคม

นายศรายุทธมองว่า เป็นความคิดความเชื่อซ้ำๆ ฟังกันมา ฟังจากรัฐ จากสื่อ กลายเป็นปัญหาทางวัฒนธรรมของคนเมือง ชนชั้นกลางพวกเขาอยู่ภายใต้ระบบครอบงำของรัฐมากกว่าชนบท พวกเขาเชื่อสื่อรัฐที่เป็นกระบอกเสียงของรัฐพูด แล้วรู้แจ้งแต่กลับไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าโดนครอบงำอยู่ ถ้าเรามองแบบนั้นก็เป็นปัญหาจริงๆ การรับรู้ของคนในเมือง หรือคนที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ พอรับรู้ก็เชื่อแค่นี้ ซึ่งจะเป็นปัญหาในการเรียกร้องเอาผิดจากผู้กระทำด้วย

“ถือเป็นการต่อสู้ช่วงชิงความจำ และเป็นการต่อสู้ที่รัฐสามารถใช้ได้ผลมาโดยตลอด 50 ปีที่ผ่านมา รัฐชิงพื้นที่ส่วนนี้ไปจากคนในสังคมส่วนหนึ่ง ซึ่งมีบทบาท มีปากเสียงอย่างชนชั้นกลาง จนเกิดวัฒนธรรมแบบนี้ เชื่ออะไรก็เชื่อฝังหัว เชื่อโดยไม่ทำให้สถานะตัวเองสั่นคลอน” นายศรายุทธกล่าว

ส่วนแอ๊กชั่นของคณะก้าวหน้านั้น นายศรายุทธมองว่า คนรุ่นใหม่ที่เกิดหลัง 2535 และ 2553 พวกเขาจะพยายามมีที่ยืนทางการเมืองของพวกเขาเอง แต่ไม่ว่าการแสดงออกทั้งทวีตข้อความหรือฉายเลเซอร์ เป็นเพียงการเริ่มต้นและยังไม่เห็นผลถึงขั้นสะเทือนเปลี่ยนโครงสร้าง อาจได้แค่พื้นที่พอหวือหวา แต่ถ้ากระแสตกแล้วจะทำอะไรต่อ ถึงน่าสนใจแต่ยังไม่เพียงพอ

ขณะที่นายสมบัติกล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ว่าบนท้องถนน ในสภาหรือในโลกออนไลน์ ล้วนเป็นปฏิกิริยา ตัวมูลเหตุคือความไม่พอใจจากการใช้อำนาจหรือการกระทำของรัฐ ประชาชนจึงมีปฏิกิริยา ส่วนหนักเบาแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความไม่ถูกต้องชอบธรรมของรัฐ ถ้าเลยเส้นพรมแดนนั้น ก็เกิดพลังจำนวนมากที่แสดงออกมา รัฐจะสามารถต่อกรได้แค่ไหนอยู่ที่ความชอบธรรม

“ข้อความนั้น ทำให้เห็นว่าความคิดนั้นเป็นพลวัต มีความซับซ้อน ต้องการเวลาเพื่อเรียนรู้ พอมีเหตุการณ์ก็จะคลี่คลายออกมา เพียงแต่คนเสื้อแดงมองเห็นก่อน คนที่มองไม่เห็นก็ยังไม่เข้าใจ คนเสื้อแดงจะเคลื่อนไหวอะไรขนาดนั้น พอเวลาผ่านไป เห็นอะไรชัด ก็มีเวลาเปลี่ยนแปลง” นายสมบัติกล่าวถึงบุคคลส่งข้อความขอโทษที่เคยร่วมบิ๊กคลีนนิ่งหลังปราบม็อบ

ทั้งนี้ นายสมบัติกล่าวว่า เหตุการณ์ทางการเมืองไทยนั้นต่อเนื่องกันแทบไม่หยุด ข่าวสารการเมืองครอบคลุมคนจำนวนมาก นี่จึงเป็นทศวรรษของการเมืองไทยที่ “แท้จริง” และ “ยาวนาน”