ศัลยา ประชาชาติ : เหตุเกิดที่ KBank “บัณฑูร ล่ำซำ” วางมือสายฟ้าแลบ ท่ามกลางกระแสข่าวลือ

การลาออกจากจากตำแหน่งประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทยของ “บัณฑูร ล่ำซำ” สร้างความเซอร์ไพรส์ให้กับคนในแวดวงการเงินการธนาคารอยู่ไม่น้อย

โดย “บัณฑูร” ได้ยื่นหนังสือขอลาออกจากการเป็นกรรมการและตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารทันที ภายหลังการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นธนาคารกสิกรไทย ครั้งที่ 108 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563 ที่จัดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีผลตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2563 เป็นต้นไป

ในวันเดียวกันนั้น บอร์ดธนาคารก็ได้ประชุมและมีมติแต่งตั้งผู้บริหารแบงก์ 2 หญิงแกร่งขึ้น “รับไม้ต่อ” นำทัพธนาคารกสิกรไทยยุคต่อไป ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ไม่ใช่คนในตระกูล “ล่ำซำ”

คนแรกคือ “กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร” ได้รับแต่งตั้งขึ้นทำหน้าที่รักษาการประธานกรรมการ มีผลตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2563 จากก่อนหน้านี้ “กอบกาญจน์” ดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการ (อิสระ) เมื่อได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) “กอบกาญจน์” จะกลายเป็นประธานกรรมการที่มาจากตำแหน่งกรรมการอิสระเป็นคนแรกของธนาคารเลยทีเดียว

อีกคนคือ “ขัตติยา อินทรวิชัย” ได้รับแต่งตั้งให้นั่งในตำแหน่งซีอีโอคนใหม่อย่างเป็นทางการ มีผลตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2563 เป็นต้นไปเช่นเดียวกัน

วันถัดมาบอร์ดธนาคารกสิกรไทยมีมติยกย่อง “บัณฑูร” โดยมอบฉายา “ประธานกิตติคุณ (Chairman Emeritus)” ให้ ซึ่งฉายาดังกล่าวจะไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการของธนาคาร แต่เป็นการยกย่องให้เกียรติ ในฐานะที่ “บัณฑูร” ได้ร่วมงานกับธนาคารกสิกรไทยมาเป็นเวลา 40 ปี ได้สร้างคุโณปการอย่างอเนกอนันต์ เป็นผู้นำพาองค์กรให้เจริญก้าวหน้า มั่นคงอย่างยั่งยืน มีความรับผิดชอบต่อสังคมและมีธรรมาภิบาล สามารถนำธนาคารผ่านวิกฤตสำคัญของประเทศ และของโลกได้หลายครั้ง

จนทำให้ธนาคารกสิกรไทยเป็นหนึ่งในองค์กรต้นแบบ ที่เป็นที่รู้จักและยอมรับอย่างสูงทั้งในประเทศและต่างประเทศ

 

พลันที่ปรากฏข่าว “ลาออก” ของ “บัณฑูร” พายุข่าวลือก็โหมกระหน่ำทันที ผู้คนต่างคาดเดากันไปต่างๆ นานา มีทั้งคาดเดาว่า “บัณฑูร” อาจจะก้าวไปรับตำแหน่ง “รัฐมนตรี” ในรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เพราะที่ผ่านมามีบทบาทช่วยเหลือ ให้คำปรึกษาแนะนำรัฐบาล “บิ๊กตู่” มาตลอด อย่างการเข้าไปเป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (ซูเปอร์บอร์ด) ในช่วงที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บริหารจัดการประเทศ

มีกระแสข่าวไปไกลกระทั่งว่า เขาอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับตำแหน่ง “ผู้นำ” ที่จะเข้ามากอบกู้วิกฤตหลังจากประเทศไทยต้องเผชิญมรสุมจาก “ไวรัสโควิด-19” และต้องการนักบริหารที่จะพาประเทศฝ่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่น่าจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในเวลานี้

ทว่าบุคคลใกล้ชิด “บัณฑูร” ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า “เป็นไปไม่ได้” เพราะนายใหญ่แบงก์สีเขียวปฏิเสธการทาบทามมาตลอดทุกยุคทุกสมัย

อีกทั้งธนาคารกสิกรไทยได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตั้งแต่ปลายปีก่อนว่า ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคาร ครั้งที่ 9/2562 เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2562 ได้อนุมัติแต่งตั้ง “ขัตติยา” เป็นกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของธนาคาร แทน “บัณฑูร”

พร้อมแต่งตั้ง “บัณฑูร” ให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ประเภทกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร รวมถึงดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาแก่คณะจัดการ โดยให้มีผลตั้งแต่วันถัดจากวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้นปี 2563 เป็นต้นไป

เป็นการเตรียมการวางมือไว้ล่วงหน้าแล้วนั่นเอง

นอกจากนี้ ยังมีคำถามตามมาว่า หลังนายใหญ่แบงก์กสิกรไทยวางมือจากองค์กรที่มีสินทรัพย์เฉียด 3 ล้านล้านบาทแล้วจะไปทำอะไรต่อ

 

และหลังจากกระแสข่าวลือสะพัดออกไปมากขึ้นๆ ในที่สุด “บัณฑูร” ก็ออกมาเปิดอกผ่านช่องทางออนไลน์ เมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา

โดยยืนยันหนักแน่นว่า “ไม่เล่นการเมืองแน่นอน”

เพียงแต่พร้อมทำงานที่ต้องทำร่วมกับฝ่ายการเมืองและฝ่ายราชการ

รวมถึงระบุสิ่งที่คนในวัยย่าง 68 ปีอย่างตนจะทำต่อไปคือ “ภารกิจการฟื้นฟูป่าต้นน้ำจังหวัดน่าน” ซึ่งเป็น “โจทย์ท้าทาย” ต้องลงไปทำอย่างจริงจัง เพื่อค้นหาองค์ความรู้ใหม่ในการที่จะทำให้ “คนสามารถทำมาหากินอยู่ร่วมกับป่า” ได้อย่างยั่งยืน

“การฟื้นฟูป่าต้นน้ำจังหวัดน่าน เป็นโจทย์ที่ท้าทาย หลายฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ต้องร่วมกันหาทางแก้ ต้องทำให้ประชาชนมีที่ทำกิน พร้อมกับทำให้ป่าที่ถูกทำลายไปมากสามารถฟื้นฟูกลับมาได้ ซึ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ องค์ความรู้ใหม่ในการทำการเกษตร การทำมาหากิน ซึ่งตอนนี้ยังไม่รู้ ต้องไปหา ทั้งหาเอง แล้วก็ดึงคนที่มีความรู้มาช่วยกัน อยากจะทำให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น” นายบัณฑูรกล่าว

สำหรับแบงก์กสิกรไทยในวันที่ไม่มี “บัณฑูร” นั่งบริหาร เขาเชื่อว่าไม่มีปัญหาแน่นอน เนื่องจากเชื่อมั่นในทีมผู้บริหารใหม่ ทั้ง “กอบกาญจน์” ที่เป็นคนเก่ง และ “ขัตติยา” ที่เก่งในแวดวงบริหารธนาคาร แถมใจดี มีเมตตา ผู้คนรักใคร่ มีความเฉียบคมในความรู้ทางด้านเทคนิคการเงิน ตลอดจนผู้บริหารธนาคารทั้งหมด ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะนำพาองค์กรผ่านพ้นวิกฤตไปได้

“สองหญิงแกร่ง เป็นคนเก่ง เราไม่ได้คิดแค่ข้ามคืน แต่วางหมากในใจมาตั้งนานแล้ว มีการวางชิ้นส่วนต่างๆ ให้ครบ จึงจะส่งไม้ต่ออย่างมั่นใจได้” นายบัณฑูรกล่าว

ขณะที่ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน “บัณฑูร” กล่าวว่า เป็นวิกฤตครั้งใหญ่รอบใหม่ หลังจากประเทศไทยเคยเผชิญวิกฤตครั้งใหญ่เมื่อ 20 ปีก่อน คือวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งหลังครั้งนั้น ตนโชคดีที่ได้รับฟังกระแสพระราชดำรัสในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ที่ทรงเตือนว่า ต้องมีการเตรียมการเพื่อรับมือพายุลูกใหม่ไว้ล่วงหน้าเสมอ

และวิกฤตรอบนี้ก็ถือว่าเป็นพายุ ต่างกันเพียงว่า ครั้งก่อนปัญหาเกิดจากระบบเศรษฐกิจ แต่ครั้งนี้เกิดจากโรคระบาด แต่ก็กระทบทั้งโลก อย่างไรก็ตาม ถือว่าโชคดีที่รอบนี้โครงสร้างสถาบันการเงินไทยมีการ “ตุนเสบียงสำรอง” เอาไว้พอสมควร

“ถ้าเศรษฐกิจถดถอย คนไม่สามารถทำงาน หรือค้าขายไม่ได้เป็นเวลานานๆ ระบบธนาคารตอนนี้ยังรับมือได้ คงสูญเสียกำไรไป แต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะช่วงนี้ต้องร่วมมือกัน ต้องฟื้นฟู ทั้งรัฐบาล และทุกฝ่ายก็ต้องช่วยกันเต็มที่ มาตรการที่เตรียมการกันไว้ขั้นหนึ่ง น่าจะช่วยสกัดได้” นายบัณฑูรกล่าว

นอกจากนี้ มองว่าทุกฝ่ายก็ต้องเตรียมพร้อมไว้รับมือหลังสถานการณ์ไวรัสระบาดจบลงแล้ว ซึ่งโจทย์ใหญ่ก็คือต้องมองหาองค์ความรู้ใหม่ และหาวิชาชีพที่เหมาะสมสำหรับคนไทย เพราะไม่เช่นนั้นก็จะแข่งขันสู้คนอื่นไม่ได้

 

“สําหรับผม จากนี้ถือเป็นการเริ่มต้นอีกฉากหนึ่งของชีวิต เพราะงานธนาคารก็ไม่รู้จะทำอะไรแล้ว ทำธนาคารมา 40 ปี สมควรแก่เวลา และถือว่าวันนี้สามารถส่งไม้ต่อได้อย่างสบายใจเลยทีเดียว” ประธานกิตติคุณแบงก์กสิกรไทยกล่าว

ถือเป็นการ “ปิดฉาก-วางมือ-หันหลัง” ให้กับการบริหารธนาคาร คลุกคลีทำงานมายาวนาน 40 ปี ลงอย่างสิ้นเชิงนับจากนี้