สมชัย ศรีสุทธิยากร | รัฐธรรมนูญเจ้าปัญหา (8) ปัญหาของประเทศ คือปัญหาจากรัฐธรรมนูญ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ออกจะใจร้ายไปไหม ถ้ากล่าวว่าปัญหาต่างๆ ที่ประเทศเผชิญหน้าอยู่ขณะนี้ ล้วนมีผู้ร้ายชื่อ “รัฐธรรมนูญ 2560” เป็นตัวการสำคัญ

“หน้ากากอนามัยที่ขาด ไม่เห็นเกี่ยวอะไรกับรัฐธรรมนูญ”

“ภัยแล้งนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติ หุ้นตก ก็ตกกันทั่วโลก เศรษฐกิจไม่ดี ความเป็นอยู่ฝืดเคืองไม่เห็นจะเกี่ยวอะไรกับรัฐธรรมนูญ” การคิดดังกล่าวเป็นตรรกะแบบมองเหตุการณ์เฉพาะหน้า ไม่เชื่อมโยงกับผลพวงของการออกแบบในรัฐธรรมนูญ

แต่หากพิจารณาอย่างเป็นเหตุผลที่สัมพันธ์ เราจะเห็นว่า การออกแบบกลไกในรัฐธรรมนูญฉบับนี้นำไปสู่ผลทางการเมืองหลายประการ อาทิ

รัฐบาลที่ขาดเสถียรภาพ

ระบบการเลือกตั้งที่ใช้บัตรใบเดียว ระบบการคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบจัดสรรปันส่วนผสม พรรคไหนได้คะแนนรวมทั้งประเทศเท่าไร นำมาคิดคำนวณเป็นจำนวน ส.ส.ที่พึงจะมี ตามมาตรา 91 โดยหากได้ ส.ส.เขตมากกว่า ส.ส.ที่พึงจะมี ก็ไม่มีสิทธิได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่ม

ตั้งแต่ออกแบบเสร็จ ทั้งผู้ร่าง ทั้งนักวิชาการ ล้วนคาดการณ์ว่าวิธีการดังกล่าวจะนำไปสู่การที่ไม่มีพรรคการเมืองขนาดใหญ่พรรคใดที่มีเสียงในสภาอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เชื่อว่ารัฐบาลหลังการเลือกตั้งต้องเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค และสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นยิ่งเกินกว่าการคาดหมายคือ รัฐบาลปัจจุบันประกอบด้วยพรรคการเมืองที่มาร่วมกันมากถึง 19 พรรค (รวมพรรคประชาชนปฏิรูปที่ยุบพรรคตนเองและมารวมกับพรรคพลังประชารัฐและพรรคเศรษฐกิจใหม่ ที่ประกาศจุดยืนในภายหลังว่าสนับสนุนรัฐบาล)

การแบ่งโควต้ารัฐมนตรีจึงมาจากการต่อรองของพรรคร่วมรัฐบาล โดยพรรคที่มี ส.ส.ในมือมากจะต่อรองเอากระทรวงใหญ่ กระทรวงสำคัญ เช่น ประชาธิปัตย์ขอคุมกระทรวงพาณิชย์ ภูมิใจไทยขอคุมกระทรวงสาธารณสุข ขณะที่พลังประชารัฐได้ดูแลกระทรวงการคลังและกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น

การทำงานแบบมีอาณาเขตของตนที่ผู้อื่นไม่อาจรุกล้ำจึงเกิดขึ้น

เมื่อวิกฤตใหญ่อยู่ตรงหน้าในเรื่องการระบาดของไวรัสมรณะ เราจึงไม่เห็นการทำงานอย่างเป็นบูรณาการของกระทรวงหลักทั้งสามสี่กระทรวงดังกล่าว แม้ว่าจะมี พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี

รัฐสภาที่อ่อนแอ
ไม่สามารถตรวจสอบการทำงานรัฐบาล
ได้อย่างเข้มแข็ง

ผลพวงจากการเลือกตั้ง และการคำนวณปัดเศษให้กับพรรคการเมืองขนาดเล็ก ทำให้พรรคไม่มีความพร้อมเป็นพรรคการเมืองที่สามารถทำงานในสภาอย่างแท้จริง เป็นอุบัติเหตุทางการเมืองที่ทำให้เข้ามานั่งในสภาได้ เช่นเดียวกับ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีความเชี่ยวชาญของพรรคการเมืองเก่าไม่สามารถเข้าสภา แต่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่ได้ส้มหล่นจากระบบการเลือกตั้งดังกล่าวเข้ามาได้เป็นจำนวนมากแบบที่พรรคเองก็ไม่เคยคาดคิดมาก่อน

บุคลากรทางการเมืองในสภาจึงประกอบด้วยนักการเมืองใหม่ที่อาจจะยังไม่มีประสบการณ์มากเพียงพอและขาดระบบพรรคที่เข้มแข็งในการสนับสนุน การทำหน้าที่ตรวจสอบหรือหน้าที่ทางนิติบัญญัติต่างๆ จึงยังไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร

ดูจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ (มาตรา 151 และ 152) หรือการทำงานในกรรมาธิการชุดต่างๆ ที่สะท้อนถึงความไม่เข้มแข็งของสภา การตรวจสอบรัฐจึงเป็นกระบวนการตรวจสอบที่อ่อนแอ

การให้ ส.ส.สามารถโหวตลงมติสวนกับมติพรรค (มาตรา 114 และมาตรา 124) และให้สามารถหาพรรคใหม่อยู่ได้ภายใน 30 วัน หากพรรคมีมติขับออก (มาตรา 101(9)) ยิ่งทำให้พรรคไม่สามารถควบคุมสมาชิกในพรรคได้ ปรากฏการณ์ของการเสนอประโยชน์เพื่อให้ลงคะแนนให้แก่ฝ่ายตรงข้ามและปรากฏการณ์งูเห่าจึงเกิดขึ้นแพร่หลายในรัฐสภาชุดปัจจุบัน

สภาที่อ่อนแอ ย่อมไม่สามารถกำกับตรวจสอบรัฐบาลอย่างได้ผล

สมาชิกวุฒิสภา
ที่ไม่ทำหน้าที่เป็นผู้มีวุฒิหรือความรู้
ในการสนับสนุนการทำงาน

หวังอะไรได้บ้างกับสมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบัน ที่ได้มาตามมาตรา 269 ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้มาจากการแต่งตั้ง คัดเลือกโดย คสช.เกือบทั้งหมด

วุฒิสภาจึงมีหน้าที่เพียงการเป็นเสาค้ำจุนอำนาจของรัฐบาลทหารที่แปรรูปมาเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยเท่านั้น

บทบาทของ ส.ว.จึงแทบจะไม่เห็นว่าจะเสนอแนะอะไรรัฐบาลยามประเทศเกิดวิกฤต

การขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินหรือเพื่อให้คำเสนอแนะแก่รัฐบาลในการบริหารประเทศ ตามมาตรา 153 จึงไม่เคยเกิดขึ้น

หรือหากจะเกิดคงต้องสบสายตาขออนุญาตจากหัวหน้ารัฐบาลผู้ลงนามแต่งตั้งเขามาก่อน

องค์กรอิสระ
ที่ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นจากประชาชน

การออกแบบองค์กรอิสระที่กำหนดคุณสมบัติของผู้มาเป็นองค์กรอิสระ (ตามมาตรา 201, 202 และมาตราอื่นๆ ที่เป็นคุณลักษณะเฉพาะของแต่ละองค์กร) ที่เอื้อต่อผู้ผ่านหน้าที่ในงานราชการระดับสูง มากกว่าที่จะให้ความสำคัญต่อประสบการณ์ที่ตรงกับหน้าที่ หรือเปิดโอกาสให้ภาคส่วนอื่น เช่น ตัวแทนจากภาคประชาสังคมต่างๆ เข้ามาเป็นองค์ประกอบ ทำให้กรอบวิธีการคิดขององค์กรอิสระมีความเป็นอนุรักษนิยมที่มุ่งรักษาความชอบธรรมของผู้มีอำนาจมากกว่าจะเดินหน้าในการแก้ไขปัญหาพัฒนาประเทศ

หนำซ้ำ การใช้อำนาจของ คสช.ในการต่ออายุองค์กรอิสระต่างๆ รวมถึงการยกเว้นในเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญให้แก่กรรมการองค์กรอิสระบางท่าน

ยิ่งเป็นการบั่นทอนความเชื่อมั่นของประชาชนว่า การตัดสินขององค์กรเหล่านี้จะเป็นเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมเป็นไปตามหลักนิติธรรม

หรือเป็นไปเพื่อตอบสนองผู้มีพระคุณในการต่ออายุ

สังคมที่ไม่เชื่อมั่น

ในความสามารถของรัฐที่จะนำพาผ่านวิกฤต

เมื่อองค์ประกอบต่างๆ ที่ตามมาจากการออกแบบในรัฐธรรมนูญที่ขาดความสมบูรณ์ ทำให้ผลพวงที่ตามมาในการบริหารราชการแผ่นดินง่อยเปลี้ย เรื่องง่ายที่ควรแก้ไขกลับกลายเป็นเรื่องยาก

และเมื่อเจอเรื่องยาก สถานการณ์วิกฤตที่ประเทศไม่เคยเผชิญ

รัฐธรรมนูญ 2560 ไปไม่เป็นเลยครับ