เปิดศึกชิง “อนุบาล 3 ขวบ” หลัง รธน.ให้รัฐจัด “ก่อนวัยเรียน” ฟรี??

กลายเป็นประเด็นที่มีการพูดคุยกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการจัดอนุบาล 3 ขวบ ของโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อรองรับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่ ที่กำลังจะประกาศใช้

โดยในมาตรา 54 ระบุว่า รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย รัฐต้องดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาตามวรรคหนึ่ง เพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย โดยส่งเสริม และสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนเข้ามีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย

ซึ่ง “นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้หารือร่วมกับ “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.) เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนระดับอนุบาลในสถานศึกษาของรัฐที่สังกัด ศธ. เพื่อรองรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะปัจจุบันการจัดการศึกษาระดับอนุบาลยังลักลั่น โดยโรงเรียนสังกัด สพฐ., โรงเรียนเอกชนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสถานศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สังกัด มท.

จากการพูดคุยกันระหว่างรัฐมนตรีว่าการ ศธ. และรัฐมนตรีว่าการ มท. นั้น “นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์” ปลัด ศธ. ระบุว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้ความสำคัญกับการศึกษาปฐมวัย และแม้ว่า อปท. จะมีสัดส่วนการจัดการศึกษาปฐมวัยมากที่สุด แต่ พล.อ.อนุพงษ์ เห็นว่า ศธ. ควรจะเป็นหน่วยงานหลักในการจัดการศึกษาปฐมวัย หรืออนุบาล 3 ขวบ

ดังนั้น ศธ. จะรวบรวมว่ามีหน่วยงานใดที่จัดการศึกษาระดับอนุบาลให้เด็กอายุ 3 ขวบบ้าง ใช้หลักสูตรและสื่อใด ครูผู้สอนจบวิชาเอกปฐมวัย หรือเป็นเพียงครูพี่เลี้ยง เพื่อปรับปรุงหลักสูตร พัฒนาครู รวมถึงต้องคำนวณอัตราเงินอุดหนุนรายหัวเด็กอนุบาล 3 ขวบใหม่

โดยภายหลังจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้ ภายใน 60 วัน จะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เพื่อพิจารณากฎหมายที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปการศึกษาเป็นหลัก!!

 

อย่างไรก็ตาม หลังมีความชัดเจนว่าโรงเรียนสังกัด สพฐ. จะต้องจัดอนุบาล 3 ขวบ “นายชิตวร ลีละผลิน” ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลทองพูน และประธานเครือข่ายโรงเรียนเอกชนกรุงเทพมหานคร มองว่า แม้มาตรา 12 จะให้ความสำคัญกับการเข้ามามีส่วนร่วมของสังคมในกระบวนการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับแนวความคิดของยูเนสโก ที่ระบุว่ารัฐต้องส่งเสริม และสนับสนุนเอกชนในทุกรูปแบบ แต่ปัญหาการจัดการศึกษาที่ผ่านมา ภาครัฐไม่เคยให้โอกาส หรือสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ทั้งที่การศึกษาที่ภาครัฐจัดอยู่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ และไม่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนเห็นความสำคัญของการศึกษาได้

ขณะที่หน่วยงานอื่นๆ ที่จัดการศึกษา อย่างการบริหารการศึกษาของ มท. ในส่วนกลาง การบริหารจัดการโรงเรียนในความรับผิดชอบ ทั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจนถึงระดับมัธยม 438 แห่ง มีการพัฒนา เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง ทั้งรูปแบบสถานที่สวยงาม สภาพแวดล้อมดี การจัดกระบวนการสอน รวมถึง ให้บริการอุปกรณ์การเรียนการสอน เสื้อผ้า กระเป๋า รวมกว่า 20 รายการ ยังไม่เคยพบปัญหา

ส่วนการพัฒนาการจัดการศึกษาส่วนท้องถิ่น ซึ่ง มท. ดำเนินการมานาน มีหน้าที่ดูแลการศึกษาขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) มีรูปแบบการศึกษาที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนโยบายนำครู และผู้บริหาร ซึ่งเป็นคนในท้องถิ่นมาร่วมจัดการศึกษา รวมถึงงบประมาณการจัดการศึกษา ถูกนำไปใช้อย่างคุ้มค่า แม้แต่การจัดการเรียนการสอนด้านเด็กเล็ก และเด็กอนุบาล เนื่องจากต้องให้บริการอย่างทั่วถึง เพราะแบ่งเบาภาระประชาชนและผู้ปกครองในท้องถิ่นได้อย่างมาก

ที่สำคัญ เป็นการดำเนินการตามนโยบายของนักการเมืองในท้องถิ่นที่สัญญาไว้กับประชาชน…

ต่างจากการบริหารของ ศธ. ที่ทำตามนโยบายของรัฐ แต่ไม่ได้ทำเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน!!

นายชิตวรยังมองด้วยว่า เมื่อเทียบกับการจัดการศึกษาของ ศธ. ทำให้วิเคราะห์ได้ว่าการกระจายอำนาจด้านการศึกษาทั้งประเทศนั้น ศธ. ไม่ประสบความสำเร็จ แต่ ศธ. กำลังจะจัดการศึกษาอนุบาล 3 ขวบ เท่ากับซ้ำซ้อนกับ มท. และ สช. ผลที่จะตามมาคือ การแย่งกำลังคน การจัดงบฯ ซ้ำซ้อน และทำลายระบบการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการศึกษาภาคโรงเรียนเอกชน

พร้อมกับฝาก “คำถาม” ที่โดนใจ ถึงผู้เกี่ยวข้องทุกระดับคือ ปัจจุบันภาครัฐจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมถึงมัธยม แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ แล้วจะหันมาจัดการศึกษาระดับอนุบาลเพิ่ม จะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่ารัฐจะทำได้สำเร็จ??

 

ล่าสุด ศูนย์เทคโนโลยีและการสื่อสาร สำนักงานปลัด ศธ. ได้รวบรวมข้อมูลนักเรียนระดับก่อนประถมศึกษาทั้งในระบบโรงเรียน และนอกระบบโรงเรียน จำแนกตามสังกัด และชั้น ปีการศึกษา 2559 พบว่า มีนักเรียนอนุบาล 1 หรืออนุบาล 3 ขวบ 251,192 คน คิดเป็น 32% ของเด็กอายุ 3 ขวบทั้งหมด 780,000 คน พบว่า หน่วยงานสังกัด ศธ. จัดอนุบาล 3 ขวบ มากที่สุด 191,137 คน คิดเป็น 76.09% ของนักเรียนระดับอนุบาล 3 ขวบทั้งหมด แบ่งเป็น

สังกัด สช. 188,344 คน คิดเป็น 74.98%

สังกัด สพฐ. 1,536 คน คิดเป็น 0.61%

สังกัด สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (โรงเรียนสาธิต) 1,257 คน คิดเป็น 0.05%

สังกัด มท. 60,055 คน คิดเป็น 23.91%

สังกัด อปท. 59,311 คน คิดเป็น 23.61%

และสังกัดเมืองพัทยา 744 คน คิดเป็น 0.30%

ปลัด ศธ. ระบุว่า จากข้อมูลดังกล่าว พบว่า มีเด็กอายุ 3 ขวบ ที่ยังไม่เข้าสู่ระบบการศึกษาอีก 528,808 คน ซึ่งหน่วยงานที่จัดการศึกษาระดับปฐมวัย จะต้องช่วยกันรับเด็กเข้าเรียนเพิ่มมากขึ้น โดย สพฐ. จะไม่เปิดห้องเรียนเพิ่ม แต่ใช้วิธีบริหารจัดการห้องเรียนที่มีอยู่ให้เพียงพอ และ ศธ. จะกำหนดหลักสูตรแกนกลางที่ใช้ร่วมกันทุกสังกัด เพื่อรับประกันให้ได้ว่าการจัดการศึกษาระดับปฐมวัยจะได้มาตรฐานเดียวกันทั้งระบบ โดยรัฐบาลจะต้องจัดสรรงบฯ เพิ่มอีกประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรายหัว 1,700 บาทต่อคนต่อปี

“เท่าที่พูดคุยกับผู้บริหารโรงเรียนเอกชน ส่วนใหญ่เห็นด้วยในภาพรวม แต่ขอให้แบ่งการรับเด็กตามเขตพื้นที่บริการให้ชัดเจน และขอให้ สพฐ. ไม่จัดในพื้นที่ทับซ้อนกับ สช. และ อปท. ซึ่งไม่มีปัญหา เพราะโรงเรียนเอกชน และ อปท. ส่วนใหญ่อยู่ในเขตเมือง หรือเทศบาล ขณะที่ สพฐ. เน้นจัดการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างโอกาสให้กับเด็กชนบท”

นายชัยพฤกษ์กล่าว

 

คราวนี้ลองมาฟังเสียงผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา ว่ามีความพร้อมในการจัดอนุบาล 3 ขวบ มากน้อยแค่ไหน

เริ่มจาก “นายเชิดศักดิ์ ศรีสง่า” ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ขอนแก่น 1 กล่าวว่า มีโรงเรียนในพื้นที่ 40 แห่ง ได้เตรียมความพร้อมเปิดสอนอนุบาล 3 ขวบ โดยพัฒนาครูให้จัดการเรียนการสอนระดับปฐมวัยอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงจะหารือโรงเรียนสังกัด สช. และ อปท. เพื่อแบ่งสัดส่วนการรับเด็กแต่ละพื้นที่ไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อน

“นางพรรณี สกุณา” ผู้อำนวยการ สพป.นครศรีธรรมราช เขต 2 กล่าวว่า มีเสียงเรียกร้องจากผู้ปกครองในพื้นที่ให้เปิดสอนอนุบาล 3 ขวบมาต่อเนื่อง เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐจัด จึงเป็นเรื่องที่ดี ขณะนี้ได้เตรียมคัดเลือกโรงเรียนขนาดกลางที่มีความพร้อมเปิดสอนอนุบาล 3 ขวบ ประมาณ 50 โรงเป็นแกนหลัก ซึ่งไม่น่ามีปัญหาซ้ำซ้อนกับโรงเรียน สช. และ อปท.

“นายทวนทอง ศรีสวัสดิ์” ผู้อำนวยการ สพป.เชียงใหม่ เขต 1 กล่าวว่า มีโรงเรียนที่พร้อมเปิดสอนอนุบาล 3 ขวบ ประมาณ 32 โรง แต่มีนโยบายชัดเจนไม่ให้โรงเรียนรัฐเปิดสอนซ้ำซ้อนกับโรงเรียน สช. และ อปท. อย่างไรก็ตาม จ.เชียงใหม่ จะมีปัญหาในส่วนของเด็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งอยู่ระหว่างรวบรวมว่ามีมากน้อยแค่ไหน เพื่อเตรียมบุคลากร ครูพี่เลี้ยง และอุปกรณ์การเรียน ช่วยสนับสนุนการจัดการศึกษาให้เด็กมีโอกาสเข้าเรียนครบทุกคน

ต้องติดตามว่า จะเกิดศึกชิง “เด็กอนุบาล” ระหว่างโรงเรียนในสังกัดต่างๆ หรือไม่!!