จิ๋วเล่าเรื่องป๋า (8) : ป๋าเจออีกแล้ว “กบฏไอ้โม่ง”

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เล่าเรื่อง / บุญกรม ดงบังสถาน เรียบเรียง

ถึงแม้ความกดดันจากผู้นำกองทัพได้ลดลง ด้วยเวลาและการทำความเข้าใจทำให้ท่าทีของ พล.อ.อาทิตย์อ่อนลงมาก แต่ในฝ่ายการเมืองแล้วพรรคชาติไทยซึ่งเป็นฝ่ายค้านได้ออกเดินสายอภิปรายนอกสภาด้วยการกล่าวโจมตี พล.อ.เปรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่พรรคชาติไทยเคยร่วมรัฐบาล พล.อ.เปรมมาก่อน

เมื่อช่วงเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์มาเป็น พล.อ.เปรมนั้น พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้สนับสนุน พล.อ.เปรมเป็นนายกรัฐมนตรีและเมื่อจัดตั้งรัฐบาลพรรคชาติไทยก็ได้เข้าร่วมรัฐบาลมาตลอด

แต่พอตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งเมื่อเดือนเมษายน 2526 พรรคชาติไทยไม่ได้เข้าร่วมรัฐบาลเฉยเลย

ผมไม่ทราบจริงๆ ว่าทำไม สาเหตุเกิดจากอะไร แต่ก็มีสื่อวิเคราะห์กันในช่วงนั้นว่าสาเหตุที่ พล.อ.เปรมไม่เอาพรรคชาติไทยเพราะไม่พอใจ พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้าพรรคชาติไทย ที่ต้องการจัดตั้งรัฐบาลแข่งโดยพล.ต.อ.ประมาณจะเป็นนายกรัฐมนตรีเสียเอง แต่เมื่อไม่สำเร็จจึงถูกกันเป็นฝ่ายค้าน

อย่างไรก็ดี รัฐบาล “เปรม 4” บริหารมาได้แค่ 2 ปีกว่าๆ เท่านั้นก็ถูกท้าทายจากนักรัฐประหาร “เจ้าเก่า” อีกครั้ง

นั่นคือ พ.อ.มนูญ รูปขจร (ชื่อและยศขณะนั้น) คราวนี้ใช้กำลังทหารจำนวนไม่มากนักก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2528 ใช้อาคารในสนามเสือป่าเป็นที่ตั้งกองบัญชาการคณะปฏิวัติ ควบคุม พล.อ.อ.ประพันธ์ ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นตัวประกัน

ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 1 ลงวันที่ 9 กันยายน 2528 มีชื่อ พล.อ.เสริม ณ นคร เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่นอกประจำการเข้าร่วม อาทิ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ พล.อ.ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา พล.อ.อ.กระแส อินทรัตน์ เป็นต้น

โดยขณะเกิดเหตุ พล.อ.เปรมเดินทางไปเยือนอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการ ส่วน พล.อ.อาทิตย์ไปสวีเดน

การจัดตั้งกองบัญชาการปราบปรามผู้ก่อการของฝ่ายรัฐบาลค่อนข้างทำได้รวดเร็ว เนื่องจากรู้ระแคะระคายมาก่อนว่าจะมีการปฏิวัติ จึงได้เตรียมการไว้ล่วงหน้า ทั้งกำลังพล อาวุธ อุปกรณ์สื่อสารต่างๆ โดยมี พล.อ.เทียนชัย ศิริสัมพันธ์ รองผู้บัญชาการทหารบกเป็นหัวหน้าฝ่ายปราบปรามปฏิวัติ

ขณะเดียวกันคณะทำงานของ พล.อ.เปรม เช่น คุณประสงค์ สุ่นศิริ คุณปิยะ จักกะพาก ไม่ได้เดินทางไปส่ง พล.อ.เปรมที่สนามบินดอนเมือง เมื่อเกิดเหตุทุกคนไปรวมกันอยู่ที่บ้านสี่เสาฯ กันหมด

 

คุณปิยะ จักกะพาก ซึ่งขณะนั้นเป็นอธิบดีกรมประมวลข่าวกลาง คุมงานข่าวทั้งหมด เล่าทบทวนเหตุการณ์ไว้ในหนังสือ “โลกสีขาว” ว่า เรื่องมันแตก เขาจะลงมือกันแล้ว หมง (พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์) โทร.หาผมบอกว่า

“ป๋าสั่งมีอะไรให้พูดกับพี่จิ๋ว ผมบอกว่าใช่ ที่ไม่ไปส่งที่ดอนเมือง ส่งที่บ้านสี่เสาฯ ก็เพราะนี่แหละ”

เบื้องหลังการคลี่คลายสถานการณ์ 9 กันยายน ผมได้เล่าไว้ในหนังสือ “รัฐบุรุษเปรม” ดังนี้

คืนวันที่ 9 กันยายน ประมาณตี 4 พ.ต.ประดิษฐ์ชัย บุญรักษ์ (ยศขณะนั้น) ได้โทรศัพท์มาหาบอกว่าฝ่ายปฏิวัติเริ่มลงมือแล้ว ให้ออกจากบ้านโดยด่วน ฝ่ายปฏิวัติกำลังจะมาจับตัวแล้ว

หลังจากได้รับแจ้งจึงได้ออกจากบ้านตรงดิ่งเข้าไปในกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ จัดตั้งกองบัญชาการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในขึ้นทันที ซึ่งคงเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกที่ฝ่ายปฏิวัติจัดตั้งกองบัญชาการเสร็จในเวลาไล่เลี่ยกับฝ่ายต่อต้าน เพราะที่ผ่านมาฝ่ายปฏิวัติจะควบคุมสถานที่ราชการสำคัญๆ ไว้ กว่าฝ่ายรัฐบาลจะเตรียมตัวทันก็เกือบสาย

จากนั้นเหตุการณ์ตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ เกิดบรรยากาศเผชิญหน้า และเมื่อฝ่ายปฏิวัติรู้ว่าฝ่ายรัฐบาลตั้งกองบัญชาการขึ้นมาก็ได้ใช้มาตรการรุนแรงขึ้นทันที ด้วยการระดมยิงใส่สถานีวิทยุกองพลที่ 1 รักษาพระองค์

เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 5 คน บาดเจ็บ 60 คน ทรัพย์สินทางราชการเสียหาย

ตกบ่ายผมเห็นว่าสถานการณ์ยังคงตึงเครียด ฝ่ายปฏิวัติไม่มีท่าทียอมจำนน หากปล่อยให้สถานการณ์ยืดเยื้อความเสียหายก็จะยิ่งมากขึ้น จึงแจ้งกับนายทหารอากาศชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งในกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศว่า ให้เวลาถึงบ่าย 3 โมง เกินจากนั้นก็จะ “ลุย” เข้าไปแล้ว

แต่ด้วยความเป็นห่วง พล.อ.อ.ประพันธ์ ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่ถูกจับเป็นตัวประกัน นายทหารอากาศท่านนั้นจึงห้ามไว้ แต่จริงๆ แล้วผมไม่ต้องการใช้กำลังปราบปราม เพราะทหารที่เข้าร่วมก่อการก็เป็นพี่ๆ น้องๆ กันทั้งนั้น เป็นเพียงต้องการออกข่าวเพื่อสร้างความปั่นป่วนให้กับฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น

ฝ่ายผู้ก่อการผิดพลาดที่ไม่สามารถควบคุมบุคคลสำคัญ นายทหารชั้นผู้ใหญ่ตลอดจนสถานที่ราชการสำคัญไว้ได้ การปล่อยข่าวนี้ออกไปนอกจากสร้างความรวนเร สับสน ให้กับฝ่ายปฏิวัติแล้วยังแสดงถึงความเหนือกว่าของฝ่ายรัฐบาล กำลังพลที่จะเข้าร่วมก็เปลี่ยนใจกะทันหัน เพราะไม่มั่นใจว่าคณะผู้ก่อการจะปฏิวัติสำเร็จ

ทางด้าน พล.อ.เปรมได้บินกลับประเทศไทยด้วยสายการบินการบินไทย ในระหว่างอยู่บนเครื่องบิน พล.ต.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ ทส.พล.อ.เปรม (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) ได้ติดต่อกับผมตลอดเพื่อขอทราบสถานการณ์เป็นอย่างไร

ผมได้แจ้งให้ทราบว่าได้ควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว ให้บินตรงมากรุงเทพฯ ได้เลย

 

พล.อ.มงคลได้เล่าเหตุการณ์ช่วงนั้นในหนังสือ “โลกสีขาว” ว่า รู้ข่าวปฏิวัติระหว่างอยู่ในอินโดนีเซีย พองานเลี้ยงเสร็จราว 4 ทุ่มส่งป๋าเข้านอนแล้วก็ไปนั่งคุยกินเหล้ากันต่อกับคุณพงส์ สารสิน คุณฉัตรชัย บุณยะอนันต์ กลับมาตี 1 ตี 2 ก็เริ่มได้ข่าวแล้ว เพราะก่อนไปอินโดนีเซียก็ได้ข่าวมาบ้างว่าจะมีการปฏิวัติ จึงวางกำลังไว้ตามจุดต่างๆ ที่สำคัญใน กทม.

ขากลับตอนอยู่บนเครื่องบินก็ได้รับแจ้งจาก พล.อ.ชวลิตให้บินไปลงที่กรุงเทพฯ เลย เพราะควบคุมสถานการณ์ไว้ได้หมดแล้ว จึงได้เรียนป๋าไป ป๋าถามว่าจะเอาอย่างไร

ผมก็บอกกับป๋าว่าไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่น ไปเข้าเฝ้าฯ ป๋าจะเป็นจะตายยังไงก็ต้องไปเข้าเฝ้าฯ เข้าเฝ้าฯ แล้วก็ว่ากันใหม่ จึงไปลงที่หาดใหญ่โดยมีเครื่องบินพระที่นั่งมารับ”

พล.อ.มงคลเล่าต่ออีกว่า ตอนนั้นยังไม่รู้ใครเป็นใคร ต้องลงไปเช็กให้แน่ใจก่อนว่าเขาจะไม่เอานายไปติดกับ ได้สั่งกัปตันเครื่องบินเมื่อลงไปแล้วไม่มีคำสั่งให้ปิดประตูเอาเครื่องขึ้นเลย ทิ้งตนได้เลย แสดงว่าเหตุการณ์มันไม่ดี

แต่ก็ไม่มีอะไร ป๋าเข้าเฝ้าฯ จากนั้นก็ได้รับการติดต่อจาก พล.อ.ชวลิตให้ป๋าเข้ากรุงเทพฯ เร็วที่สุด เพื่อแสดงให้เห็นว่าศูนย์รวมอำนาจบริหารอยู่ที่นายกรัฐมนตรี ประชาชนจะได้ไม่ตกใจเพราะฝ่ายรัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว

พล.อ.เปรมกลับเข้ากรุงเทพฯ ตามคำแนะนำของ พล.อ.ชวลิต แถลงต่อสื่อมวลชน ทีวีออกข่าวไปทั่วประเทศ ขณะที่สถานการณ์พัฒนาไปเรื่อยๆ จนกระทั่งฝ่ายรัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ทั้งหมด

อย่างไรก็ดี หนังสือรัฐบุรุษเปรมเล่าว่า เมื่อเครื่องบินพา พล.อ.เปรมไปลงที่หาดใหญ่ก่อนทำเอาใจคอ พล.อ.ชวลิตไม่ค่อยดี เพราะในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานอย่างนั้นช้าก้าวเดียวก็แพ้แล้ว

ในเวลาเดียวกัน พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุด กำลังบินตรงจากสวีเดนกลับประเทศไทย และสั่งการลงมาจากเครื่องบินให้ พล.อ.ชวลิตควบคุมสถานการณ์เอาไว้ให้ได้จนกว่า พล.อ.อาทิตย์จะมาถึง

แต่สถานการณ์เช่นนี้รออะไรไม่ได้อีกแล้ว ครั้นจะส่งกำลังเข้าปราบเดี๋ยวนั้นเลยก็คงล้มตายกันเป็นเบือและอาจจะเป็นการขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาโดยตรง

ระหว่างรอการตัดสินใจด้วยความอึดอัดว่าจะเอาอย่างไรดี ก็ปรากฏว่ามีอัศวินขี่ม้าขาวมาช่วยไว้ทันเวลาพอดิบพอดี โดย พล.ท.พิจิตร กุลละวณิชย์ แม่ทัพภาคที่ 1 (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) ได้ติดต่อมายัง พล.อ.ชวลิต ขออาสาไปยุติเรื่องเอง

หลังจากตัวแทน พล.ท.พิจิตรเข้าไปเจรจากับฝ่ายปฏิวัติประมาณ 30 นาที ปัญหาทุกอย่างได้คลี่คลายทันที พ.อ.มนูญ รูปขจร ถูกส่งตัวขึ้นเครื่องบินแอฟโรว์ของกองทัพอากาศไปลงที่ประเทศสิงคโปร์ ส่วนผู้ร่วมก่อการซึ่งเป็นนายทหารนอกประจำการได้รับการปล่อยตัวให้กลับบ้านได้

พล.อ.เปรมถูกปฏิวัติ 2 ครั้ง แต่ล้มเหลวทั้ง 2 ครั้ง