ธีรพล บัวกระโทก / Proxy Crisis : ภาวะโหยหาอดีตของคนยุคสงครามเย็น

สงครามตัวแทนหรือ “Proxy war” ไม่ใช่คำใหม่

แต่กลับมาเป็นที่พูดถึงกันในสังคมไทยอีกครั้ง หลังจากที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) นำคำนี้กลับมาแนะนำให้คนไทยได้ไปขบคิดกัน ระหว่างให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวหลังจบการตรวจเยี่ยมการทดสอบสมรรถภาพร่างกาย ผู้บังคับหน่วยระดับกองพันที่สนามกีฬากรมยุทธ์ โรงเรียนเสนาธิการทหารบก เมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา

พล.อ.อภิรัชต์ได้กล่าวถึงการสนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมการออกกำลังกายด้วยการวิ่งอย่างสร้างสรรค์ เหมือนในต่างประเทศที่มีการจัดการวิ่งแข่งขันโดยการมีส่วนร่วมระหว่างทหาร ข้าราชการ และพลเรือน พร้อมทั้งระบุว่า ในไทยกลับมีบางกลุ่มบางพวกจัดการวิ่งแบบมีนัยแอบแฝง

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงการรับมือกับการชุมนุมทางการเมืองในปี 2563 พล.อ.อภิรัชต์ก็ได้แสดงความคิดเห็นว่า

“มันยังไม่เกิดขึ้น แต่ประเทศไทยผ่านวิกฤตมาหลายต่อหลายอย่าง แต่วิกฤตในภาษาอังกฤษที่เขาเรียกว่า Crisis นั้น ณ ปัจจุบันนี้ ผมฝากไว้แล้วกันว่ามันเป็น Proxy คือเป็น Proxy crisis ยังไม่ใช่ Proxy war เพราะถ้าเป็น War แปลเป็นภาษาไทยตรงๆ ก็คือสงคราม ก็จะไปมองว่าเป็นการห้ำหั่นกัน แต่ Proxy crisis คือวิกฤตการณ์ที่มีคนบางคนอยู่เบื้องหลัง ไม่ออกมาสู้ ไม่สามารถที่จะมาสู้กับภาครัฐได้โดยตรง ก็ต้องมีการสร้างตัวแทนขึ้นมา ก็ลองไปหาอ่านกันเองว่า Proxy war หรือ Proxy crisis นั่นมันคืออะไร แล้วก็มันจะสอดคล้องกับสถานการณ์เมืองไทยในขณะนี้”

ผู้สื่อข่าวจอมขยี้จึงถามต่อไปว่า คนที่อยู่เบื้องหลังนั้นอยู่ภายในหรือภายนอกประเทศ ผบ.ทบ.ก็ได้ตอบว่า “มันมีหลายอย่าง แม้กระทั่งเรื่อง 3 จังหวัดชายแดนภายใต้เองก็มี Proxy เรื่องการเมืองเองก็มี Proxy ผมพูดแบบหลักวิชาการ ไม่ได้พูดถึงสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง ไม่ได้กล่าวถึงชื่อใคร และก็พูดเป็นเรื่องให้ไปคิดกัน”

คำให้สัมภาษณ์ของท่าน ผบ.ทบ. นับว่าเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง จึงอยากชักชวนให้ผู้อ่านลองมาพยายามทำความเข้าใจวิธีคิดดังกล่าวดู

 

Proxy war คืออะไร

Proxy war หรือสงครามตัวแทน เป็นคำที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในวงวิชาการ โดยมากแล้วหมายถึงการสู้รบระหว่างรัฐหรือตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ (non-state actors) อย่างเช่น กองกำลังติดอาวุธ ซึ่งต่างเป็นตัวแทนผลประโยชน์ที่ได้รับความช่วยเหลือหรือการสนับสนุนจากรัฐหรือกลุ่มอำนาจอื่น

อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันว่า การสู้รบครั้งใดบ้างที่จะนับได้ว่าเป็น Proxy war ซึ่งขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ในการพิจารณา

โดยนักวิชาการบางกลุ่มอาจมองว่า Proxy war สามารถย้อนกลับไปไกลได้ถึงสงครามในยุคกรีกโบราณเลยทีเดียว

แต่โดยทั่วไปแล้ว Proxy war มักจะถูกเชื่อมโยงกับการสู้รบในช่วงสงครามเย็น (Cold war) ซึ่งเป็นยุคสมัยที่การเมืองโลกถูกแบ่งออกเป็นสองขั้ว ระหว่างขั้วเสรีทุนนิยมนำโดยสหรัฐอเมริกา และขั้วสังคมนิยมคอมมิวนิสต์นำโดยสหภาพโซเวียต

ซึ่งประเทศผู้นำของทั้งสองขั้วต่างหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าทางการทหารกันโดยตรง เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดความเสียหายรุนแรงมหาศาลและซ้ำเติมความยากลำบากหลังสงครามครั้งที่ 2 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป

ดังนั้น จึงใช้วิธีการสนับสนุนคู่ขัดแย้งกับอีกฝ่ายในการสู้รบแทนตนเอง

ในยุคสงครามเย็นได้เกิดสงครามย่อยที่นับเป็น Proxy war ขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก

อย่างเช่น สงครามเกาหลีและสงครามโซเวียต-อัฟกานิสถาน รวมถึงในกลุ่มประเทศละตินอเมริกา โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการพยายามขยายอิทธิพลของสหภาพโซเวียตผ่านการสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อเปลี่ยนการปกครองมาเป็นคอมมิวนิสต์

ขณะที่สหรัฐเองก็เชื่อมั่นในทฤษฎีโดมิโน (domino theory) ซึ่งหวาดกลัวว่าแนวคิดคอมมิวนิสต์จะแผ่อิทธิพลครอบงำโลกได้สำเร็จ หลังจากที่ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีนก็เปลี่ยนไปปกครองด้วยรูปแบบคอมมิวนิสต์ตามอย่างโซเวียต และเริ่มมีจำนวนประเทศคอมมิวนิสต์ในโลกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

Proxy war ที่สังคมไทยคุ้นชินกันดีคือสงครามเวียดนาม จากการที่ไทยเข้าไปมีส่วนพัวพันทั้งการสนับสนุนทางการทหารและอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้กับฝ่ายโลกเสรีในการสู้รบกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ในเวียดนาม ขณะเดียวกันก็ได้รับประโยชน์จากงบประมาณและความช่วยเหลือมหาศาลจากสหรัฐอเมริกา จนนำมาซึ่งการพัฒนาในหลายด้าน แม้ว่าสุดท้ายแล้ว สงครามเวียดนามจะจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของสหรัฐอเมริกา

ในปัจจุบันก็ยังคงมีความขัดแย้งในหลายพื้นที่ทั่วโลกที่อาจนับได้ว่าเป็น Proxy war อยู่เช่นกัน

สังคมไทยตกอยู่ใน Proxy crisis?

แม้ว่าผู้เขียนจะพยายามสืบค้นคำนิยามของ Proxy crisis แต่ก็ไม่พบคำจำกัดความที่ชัดเจนและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในวงวิชาการ แต่จากการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.อภิรัชต์ก็อาจจะอนุมานได้ว่า

Proxy crisis หมายถึง “วิกฤตตัวแทน” ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐหรือตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐที่มีผู้อยู่เบื้องหลัง โดยไม่แสดงตัวออกมาต่อสู้ด้วยตนเอง แต่ใช้วิธีการสนับสนุนตัวแทนออกมาสร้างความขัดแย้ง แต่ยังไม่ถึงขั้นใช้กำลังทหารเข้าห้ำหั่นกันจนเป็นสงคราม จึงเป็นเพียง “วิกฤต” เท่านั้น

ตามคำให้สัมภาษณ์ของ ผบ.ทบ. ที่ระบุว่า Proxy crisis สอดคล้องกับสถานการณ์เมืองไทยในขณะนี้ ก็นับได้ว่าเป็นความจริง แต่ไม่ทั้งหมด

เนื่องจากความขัดแย้งสองฝ่ายของสังคมไทยในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าร้าวลึกจนยากที่จะประนีประนอม

ส่วนหนึ่งมาจากความชื่นชอบในตัวบุคคลบางคนเป็นพิเศษ ทำให้เกิดความไม่พอใจต่ออีกฝ่าย จนนำไปสู่การใช้ทุกวิถีทางในการพยายามสลายอำนาจของอีกฝ่ายกันไปมาและรักษาอำนาจของตนไว้ให้นานที่สุด

หนึ่งในวิธีการเหล่านั้นคือ การสนับสนุนกลุ่มมวลชนฝ่ายตนเองออกมาต่อสู้แทนตนเอง ซึ่งมีการกระทำเช่นนั้นอยู่จริงแทบทุกฝ่าย

แต่ความขัดแย้งในสังคมไทยเป็นเพียง Proxy crisis ที่มีผู้บงการอยู่เบื้องหลังเท่านั้นจริงหรือ?

คำตอบคือไม่

เพราะ “อุดมการณ์” ได้กลายเป็นสิ่งสำคัญของความขัดแย้งในสังคมไทยขณะนี้ จากกลุ่มคนที่ต้องการเห็นบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ ที่ไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร การสืบทอดอำนาจและผลพวงที่ตามมา ขณะที่อีกกลุ่มก็มองว่ารัฐประหารคือทางออก จึงพยายามรักษาอำนาจและผลประโยชน์ที่ได้จากการรัฐประหารเอาไว้

ดังนั้น การกล่าวว่าการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยหรือสิทธิเสรีภาพในทุกพื้นที่ของประเทศไทยเป็นเพียง Proxy crisis จึงเป็นการสะท้อนความพยายามไม่รับฟังปัญหา ด้วยการลดทอนความขัดแย้งให้เหลือเพียงการตราหน้ากลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องว่ามีผู้บงการอยู่เบื้องหลัง ซึ่งไม่นำไปสู่การทางออกใดๆ

และยังน่าตั้งคำถามกลับไปว่า ผู้ที่เชื่อว่าเรากำลังเผชิญ Proxy crisis นั้นเป็นตัวแทนของใครและทำไมจึงเชื่อเช่นนั้น

ภาวะโหยหาอดีตของคนยุคสงครามเย็น

คงไม่อาจก้าวล่วงไปตอบแทนผู้ที่เชื่อเช่นนั้นได้ว่าเป็นตัวแทนของใคร แต่สิ่งที่อาจจะอธิบายได้ว่าทำไมจึงมีคนเชื่อว่าเรากำลังเผชิญ Proxy crisis คือ “ภาวะโหยหาอดีต” (Nostalgia) ของคนยุคสงครามเย็น

คนซึ่งเกิดและเติบโตมาท่ามกลางความขัดแย้งแบ่งข้าง ในยุคสมัยที่รัฐบาลไทยใช้มาตรการปราบปรามขบวนการคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง ทั้งการโหมโฆษณาชวนเชื่อและการปลุกเร้าอุดมการณ์รัฐ ผ่านเครื่องมือไม่ว่าจะเป็นระบบการศึกษา ครอบครัว ไปจนถึงระบบระเบียบต่างๆ

ซึ่งสิ่งสำคัญประการหนึ่งที่รัฐไทยใช้ปลูกฝังคนยุคนั้นให้เห็นโทษภัยของลัทธิคอมมิวนิสต์คือ การชี้ว่าขบวนการคอมมิวนิสต์นั้นได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากต่างชาติ ที่มุ่งหวังจะเข้ามาโค่นล้มทำลายสังคมไทยอันดีงาม ดังนั้น หน้าที่ของคนไทยคือการร่วมมือกันต่อต้านเพื่อการรักษาไว้ซึ่งความดีงามเหล่านี้

ยิ่งไปกว่านั้นหลังจากที่สถานการณ์โลกเริ่มพลิกผัน ประเทศในค่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์เริ่มขัดแย้งอันเอง รวมถึงการอ่อนกำลังลงของขบวนการคอมมิวนิสต์ในสังคมไทยจนนำไปสู่การล่มสลายในท้ายที่สุด ยิ่งก่อให้เกิดความภาคภูมิใจแก่กลุ่มคนที่สมาทานอุดมการณ์รัฐที่มองว่าตนสามารถเอาชนะคอมมิวนิสต์ได้สำเร็จ

สิ่งเหล่านี้ฝังรากลึกลงไปในวิธีคิดของคนรุ่นนั้นจนกลายเป็นคำอธิบายหลักที่สามารถสอดรับได้กับทุกสถานการณ์

ทำให้เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นในปัจจุบัน ความคิดและบรรยากาศเก่าๆ ที่คุ้นเคยของคนที่ใช้ชีวิตผ่านพ้นยุคสงครามเย็นก็กลับมาอีกครั้ง จนอดไม่ได้ที่จะใช้ประสบการณ์ดั้งเดิมมาอธิบายสถานการณ์ในปัจจุบัน

แต่สถานการณ์โลกไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกต่อไปแล้ว โลกไม่ได้มีสองขั้วให้เลือกอีกต่อไป และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มหาศาล จนการโฆษณาชวนเชื่อและการบงการอยู่เบื้องหลังแทบไม่ได้ผล

สุดท้ายแล้ว การใช้ประสบการณ์ส่วนตัวมาเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์สถานการณ์และการแก้ปัญหาก็เป็นธรรมชาติของมนุษย์ทุกคน จึงไม่น่าแปลกใจถ้าคนที่ผ่านยุคสงครามเย็นจะมองโลกในปัจจุบันด้วยสายตาแบบสองขั้วใต้บงการ

ชัยชนะในการรักษาอำนาจในยุคนั้นยังตลบอบอวลในความทรงจำ เมื่อนึกถึงคราวใดจิตใจก็ฮึกเหิม อยากจะปราบเสี้ยนหนามแดนดินให้หมดสิ้นไปทุกครา

จนลืมไปว่า ผู้คนในปัจจุบันมีวิจารณญาณมากพอที่จะตัดสินใจเรียกร้องสิทธิเสรีภาพได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องเป็นตัวแทนของใคร