จิ๋วเล่าเรื่องป๋า : จาก ผบ.ทบ.สู่เก้าอี้นายกฯ (3)

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ บุญกรม ดงบังสถาน เรียบเรียง

ผมได้ครองยศพลตรีเมื่อได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายทหารคนสนิท (ทส.) ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ทำหน้าที่ประสานทั้งในส่วนของการเมืองและกองทัพ แม้กระทั่งมวลชน และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็เกิดขึ้นในช่วงนี้ เมื่อ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ประกาศลาออกกลางสภาหลังเจอวิกฤตเศรษฐกิจและการเมือง

พล.อ.เกรียงศักดิ์ได้ร่วมกับ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ทำรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520 ต่อมา วันที่ 11 พฤศจิกายน ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี และถัดมาอีกวันคือวันที่ 12 พฤศจิกายน 2520 ปะกาศรายชื่อคณะรัฐมนตรี โดย พล.อ.เปรมผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นถูกแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

หลังเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2522 เมื่อมีการซาวเสียงในสภา ปรากฏว่าสมาชิกส่วนใหญ่โหวตเลือก พล.อ.เกรียงศักดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี คราวนี้ พล.อ.เปรมได้รับความไว้วางใจแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนอกเหนือจากผู้บัญชาการทหารบกซึ่งเป็นอยู่ก่อนแล้ว

แต่การกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกรอบหลังเลือกตั้งของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ไม่เหมือนกับคราวก่อน เนื่องจากถูกปัญหาต่างๆ รุมเร้ามากขึ้น ไหนจะปัญหาราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่สูงขึ้น จนรัฐบาลต้องประกาศขึ้นราคาน้ำมันในประเทศ ค่าไฟฟ้า น้ำประปาขึ้นหมด นักศึกษาประท้วงที่รัฐบาลสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน ฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล

แม้จะปรับ ครม.หลังถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่สถานการณ์ก็ไม่ดีขึ้น ประชาชนยังแสดงความไม่พอใจรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง เหตุการณ์ทำท่าจะลุกลามมากขึ้น

ในที่สุด พล.อ.เกรียงศักดิ์ทนต่อการถูกบีบไม่ไหว ต้องประกาศลาออกกลางสภาเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2523 และถัดมาอีก 3 วัน คือวันที่ 3 มีนาคม 2523 สภาโหวตเลือก พล.อ.เปรมเป็นนายกรัฐมนตรี

 

เบื้องหลังการเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.เปรมมีเรื่องราวที่น่าสนใจมาก ไม่เฉพาะพรรคการเมืองเท่านั้นที่สนับสนุนท่าน กองทัพได้มีบทบาทสำคัญมากในการผลักดันให้ พล.อ.เปรมได้เป็นผู้นำรัฐบาลต่อจาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ เพราะในขณะนั้น พล.อ.เปรมเป็นตัวเลือกที่มีความเหมาะสมที่สุด

คือ เป็นทหารอาชีพ ซื่อสัตย์ สุจริต มีความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นผู้บัญชาการทหารบกที่เป็นศูนย์รวมอย่างแท้จริงของทหารในกองทัพเวลานั้น

คุณกร ทัพพะรังสี เล่าไว้ในหนังสือ “โลกสีขาว” บางส่วน ดังนี้

วันที่ 2 มีนาคม 2523 เป็นวันเกิด พล.อ.เสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งคืนนั้นมีผู้ใหญ่ไปร่วมงานเลี้ยงที่บ้าน พล.อ.เสริม ณ นคร ตรงสี่แยกไฟแดง สวนรื่นฯ จำนวนมาก นอกจาก พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ แกนนำพรรคชาติไทยแล้ว บุคคลสำคัญอีกท่านหนึ่ง คือ พล.อ.เปรม โดยนายกรได้ติดตามน้าชาติไปและนั่งโต๊ะถัดจากโต๊ะผู้ใหญ่

ปกติน้าชาติชอบดื่ม 2 ยี่ห้อ ที่ชอบพิเศษคือ จอห์นนี่ วอล์กเกอร์และเฮนเนสซี่ แต่คืนนั้นน้าชาติดื่มเฮนเนสซี่ เมื่อดื่มได้ที่ น้าชาติเจ้าของฉายา “No Problem” จึงได้พูดขึ้นกลางวงว่า

“เฮ้ย เสริมเป็นนายกฯ เถอะ ประเทศเราไม่มีนายกฯ” ทว่าถูกปฏิเสธจาก พล.อ.เสริม เพราะท่านต้องการเป็นทหารมากกว่าการเข้าสู่การเมือง จากนั้นน้าชาติจึงหันไปพูดกับ พล.อ.เปรมขอให้เป็นนายกรัฐมนตรี

“ถ้าพรรคของผู้การสนับสนุนผมก็ยินดี” นายกรอ้างคำพูดของ พล.อ.เปรมในคืนนั้น

และก่อนจะขึ้นรถกลับ พล.อ.เปรมได้พูดกับนายกรว่าให้เลือกคณะรัฐบาลเอาและให้ทำงานเรื่องนี้กับ “จิ๋ว”

นอกจากพรรคการเมืองแล้ว กองทัพก็มีบทบาทสำคัญที่ให้การสนับสนุน พล.อ.เปรมซึ่งขณะนั้นยังเป็นผู้บัญชาการทหารบกอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มทหารหนุ่มหรือทหารยังเติร์ก ซึ่งส่วนมากเป็นทหารที่จบจากโรงเรียนนายร้อย จปร.รุ่น 7 ทหารกลุ่มนี้เคยสนับสนุน พล.อ.เกรียงศักดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี

แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน มิหนำซ้ำยังซ้ำเติมปัญหาอีกด้วยการขึ้นราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า น้ำประปา ทหารกลุ่มนี้จึงหันมาสนับสนุน พล.อ.เปรมอย่างลับๆ

ดังที่ พล.อ.เปรมเล่าไว้ในหนังสือ “รัฐบุรุษชื่อเปรม” ตอนหนึ่งว่า

“ก็มนูญ (พ.อ.มนูญ รูปขจร ชื่อและยศในขณะนั้น) นี่แหละเป็นคนโทรศัพท์มาบอกในเช้าวันหนึ่งที่บ้านว่า ป๋าครับ ตอนนี้พี่เกรียงคงจะไม่ไหวแล้ว ให้ป๋าเป็นเถอะ”

ได้รับคำตอบจาก พล.อ.เปรมว่าเป็นไปไม่ได้หรอก เพราะท่านไม่ได้เตรียมตัวที่จะเป็นนายกฯ และก็ไม่อยากเป็นด้วย อย่างไรก็ดี พ.อ.มนูญรับว่าไม่เป็นไร เขาจะไปจัดการให้เอง เขาจะดูแลให้เป็น

“ซึ่งผมเองก็บอกเขาไปอีกว่า อย่าไปจัดการอะไร เพราะผมไม่อยากเป็น”

แต่ถึงกระนั้น พล.อ.เปรมก็ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2523 ซึ่งเป็นไปตามที่ พล.อ.ชาติชายและ พ.อ.มนูญได้ทาบทามขอให้ท่านรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ส่วนผมในฐานะ ทส. ซึ่งขณะนั้นยังประจำกองบัญชาการกองทัพบกด้วย ได้ทำหน้าที่ประสานพรรคการเมืองที่จะเข้าร่วมรัฐบาล โดย พล.อ.เปรมท่านจะพิจารณาตัดสินใจขั้นสุดท้ายรวมทั้งคนที่จะมาช่วยงานในตำแหน่งอื่นๆ ด้วย