มงคล วัชรางค์กุล : สองฟากฝั่งแอฟริกา หนึ่งราตรีที่ Addis Ababa, Ethiopia

บินกลับมาจากลากอส (Lagos) ไนจีเรีย สู่แอดดิสอาบาบา (Addis Ababa) เมืองหลวงของเอธิโอเปีย (Ethiopia) ด้วยเครื่องโบอิ้ง 777-300 ER เที่ยวบิน ET 900 Ethiopian Airlines ใช้เวลาบิน 5 ชั่วโมง 20 นาที ออกจากลากอสตอนบ่ายโมง 40 นาที มาถึง ADD ตอน 3 ทุ่มเวลาท้องถิ่น

โหลดกระเป๋าสู่จุดหมายปลายทาง Maputo, Mozambique

 

ความเหมือนของเที่ยวบิน ET กับเที่ยวบินของ AI-Air India และการบินไทย TG เฉพาะเที่ยวบินที่ไปและกลับจากเมืองแขก คือเมื่อเครื่อง Landing แล้วและกำลังวิ่ง Taxi จะเข้าสู่ที่จอดตรงงวงช้างหรือบนรันเวย์ก็ตาม ในเครื่อง Ethiopian Airlines ที่ผู้โดยสารส่วนมากเป็นชาวแอฟริกันชาติต่างๆ จะรีบแย่งกันลุกขึ้นเปิดหยิบกระเป๋าจากที่เก็บของเหนือศีรษะนำลงมาแล้วยืนคอยออกจากเครื่อง ทั้งที่เครื่องยังวิ่ง Taxi อยู่และไฟแจ้งรัดเข็มขัดก็ยังเปิดอยู่

มิไยที่แอร์โฮสเตสจะวิ่งออกมาห้ามปรามก็ไม่มีใครฟังเสียง

มีเพียงผมและเพื่อนร่วมเดินทางที่ยังนั่งรัดเข็มขัดอยู่กับที่

แล้วอุบัติเหตุก็เกิดขึ้น

แอฟริกันคนหนึ่งทำกระเป๋าหล่นใส่หัวเพื่อนผมอย่างจัง

ผมตวาดหาตัวผู้รับผิดชอบ แอฟริกันแถวนั้นหัวหดหมด ไม่มีใครออกมากล่าวคำขอโทษ

เครื่องยังวิ่งแท็กซี่บนรันเวย์แต่แอฟริกันบนเครื่องยืนเข้าแถวต่อคิวรอลงจากเครื่องกันแล้ว

จนเครื่องจอดสนิท ไฟรัดเข็มขัดปิดลง คนโดยสารทยอยลงจากเครื่อง จนถึงคิวเราสองคน ผมแจ้งเรื่องที่เกิดขึ้นกับแอร์โฮสเตสตรงปากประตู ให้ดูรอยปูดโนบนหัวเพื่อนผม

เธอบอกให้นั่งรอบนเครื่องก่อนจะให้เจ้าหน้าที่พาไปห้องพยาบาล

ระหว่างนั่งรอ กัปตันเดินออกมาเตรียมลงจากเครื่อง เขาถามเรื่องราวที่เกิดขึ้นจากแอร์โฮสเตส แล้วหันมาบอกผมว่า

“No evidence”

“ไม่มีพยานรู้เห็น”

ผมชี้ให้ดูหัวที่ปูดโนของเพื่อนร่วมทาง แล้วถามว่า

“แค่นี้ยังเป็นพยานไม่พอหรือ”

กัปตันคนนี้เป็นญี่ปุ่น เป็นคนไร้น้ำใจและขาดความยุติธรรม จึงต้องระเห็จมาหากินไกลถึงแอฟริกา

เจ้าหน้าที่ของเอธิโอเปียน แอร์ไลน์สพาลงลิฟต์ไปห้องพยาบาลที่อยู่ชั้นล่างของสนามบิน ที่นั่นมีพยาบาล 2 คน มีเพียงบาล์มทาแก้ปวดบวมและจ่ายยาแก้ปวดมาให้ ผมอยากให้เอ็กซเรย์ดูกะโหลก เธอบอกว่าต้องไปทำที่โรงพยาบาลข้างนอก จะให้คนพาไป แล้วเธอโทรศัพท์ติดต่อ

นั่งรอนานกว่าครึ่งชั่วโมงยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น จึงตัดสินใจยกเลิกการเอ็กซเรย์ แต่ให้พยาบาลออกหนังสือรับรองการรักษาพยาบาล หากมีอาการใดเป็นผลข้างเคียงในภายภาคหน้า จะได้เป็นหลักฐานในการเรียกร้องความรับผิดชอบต่อไป

ถือเป็นอีกหนึ่งบทเรียน ถ้าเดินทางกับสายการบินที่คนโดยสารด้อยคุณภาพ จะต้องระวังตัวให้จงหนัก

 

ตามกฎการบิน ถ้าต้องรอเปลี่ยนเครื่องนานกว่า 8 ชั่วโมง ทางสายการบินต้องจัดโรงแรมที่พักและอาหารให้ผู้โดยสาร ผมมาถึงตอนสามทุ่ม เที่ยวบินผมวันรุ่งขึ้นออกบิน 9 โมงเช้า ต้องรอ 12 ชั่วโมงจึงเช็กกระเป๋าทรูไปปลายทาง เตรียมตัวมาให้พร้อมมีชุดเดินทางโอเวอร์ไนต์ใส่กระเป๋าลากไปเปลี่ยนที่โรงแรม

คืนนั้น Ethiopian Airlines พาผมมาพักที่โรงแรมของสายการบิน

โชคดีที่บุฟเฟ่ต์มื้อเย็นยังพอมีเหลืออยู่ จึงได้ดินเนอร์ตอนห้าทุ่ม แล้วอาบน้ำนอนหลับสบายในอ้อมกอดขุนเขาเอธิโอเปีย

 

บินกับ Ethiopian Airlines หลังอาหารมื้ออร่อย คือโอกาสพิเศษได้รื่นรมย์กับกาแฟหอมละมุนระดับโลก

African Ethiopian Coffee

หนังสือบนเครnjองบินชื่อ Selamata ฉบับ December 2018 เล่าเรื่องกาแฟเอธิโอเปียน รวมกับที่ผมค้นคว้ามาบอกเล่าได้ดังนี้

เรื่องราวโบร่ำโบราณเกี่ยวกับกาแฟเอธิโอเปียนมีการเล่าขานกันมานานหลายศตวรรษ หรือที่จริงนานกว่าสามพันปี เป็นตำนานที่นักท่องเที่ยวจะได้ยินเรื่องของคนเลี้ยงแพะชาว Abyssinian (หรือต่อมาคือชาว Ethiopian) ชื่อ Kaldi กับหมู่แพะเต้นระบำ (Dancing Goats) ของเขา เรื่องเล่ามีอยู่ว่า

Kaldi สังเกตเห็นว่า หลังจากฝูงแพะเคี้ยวใบพืชชนิดหนึ่งและกินเมล็ดสีแดง (Red Berries) ของต้นพืชนั้นแล้ว ฝูงแพะจะมีอาการร่าเริง สดชื่น เหมือนทำท่าร่ายรำ Kaldi จึงทดลองกินเมล็ด Berries สีแดงนั้นบ้าง แล้วค้นพบว่าตัวเองเต็มไปด้วยความสดชื่น มีความสุขที่สุดเป็น “the happiest herder in Arabia”

Kaldi นำความอัศจรรย์เรื่องใบไม้และเมล็ด Berries สีแดงไปเล่าให้พระฟัง พระรู้ทันทีว่าสิ่งที่ตนเฝ้าสวดมนต์ภาวนาแสวงหานั้นมาปรากฏแล้ว เพราะการกินเมล็ด Berries สีแดงช่วยให้พระสดชื่นไม่นั่งหลับตอนสวดมนต์อีกต่อไป

พระยังนำเมล็ดกาแฟมาตากแห้งแล้วคั่ว ต้มดื่มกับน้ำ เป็นที่ชื่นชอบของบรรดาพระทั้งวัด เพราะพระทั้งหมดสดชื่น ไม่มีใครนั่งหลับตอนสวดมนต์

กาแฟเมล็ดแรกของโลกก่อกำเนิดจากดินแดนเอธิโอเปีย ณ บัดนั้น

 

แหล่งก่อกำเนิดกาแฟของโลกอยู่ที่บริเวณตะวันตกเฉียงใต้ของเอธิโอเปีย ในบริเวณขุนเขาชื่อ Kaffa

Kaffa คือคำที่เพี้ยนมากลายเป็น Coffee

แต่เดิมต้นกาแฟเกิดเองตามธรรมชาติบริเวณราวป่าบนภูเขา Kaffa และในภูมิภาคที่มีอากาศคล้ายกัน เพิ่งจะมีการเพาะปลูกทำเป็นไร่กาแฟในศตวรรษที่ 9

พ่อค้าเอธิโอเปียนยุคบุกเบิกนำกาแฟติดตัวเป็นเสบียงแล้วเผยแพร่ยังเยเมนเมื่อ 600 ปีที่แล้ว พวกนี้ดื่มกาแฟกับเนย กาแฟมีสองอย่างเรียกว่า Kaffa and Sidamo สองสิ่งนี้เป็นมาตรฐานคู่ของกาแฟเอธิโอเปียนตราบจนทุกวันนี้

มีบันทึกว่า ปี 1454 พวกเจ้าแห่งเอเดน (the Mufti of Aden) มาเยือนเอธิโอเปีย ได้ทดลองดื่มและชื่นชอบกาแฟจนเป็นที่แพร่หลายในหมู่ชาวเยเมนที่ดื่มกาแฟระหว่างพิธีทางศาสนา จนนำกาแฟสู่นครเมกกะ (Mecca)

ที่เมกกะ ครั้งแรกกาแฟถูกกล่าวหาว่าเป็น “เครื่องดื่มของปีศาจ” แต่ต่อมาสุลต่านก็ยอมรับ

กาแฟจึงกลายเป็นสิ่งยอดนิยมในเมกกะ Coffee House แห่งแรกของโลกเปิดที่เมกกะ มีชื่อเรียกว่า Kaveh Kanes เป็นที่ชุมนุมทางศาสนา ต่อมากลายเป็นที่พบปะ คุยซุบซิบ ร้องเพลง เล่านิทาน

แล้วร้านกาแฟกลายเป็นที่ชุมนุมมุสลิม

 

Arabic Coffee House กระจายไปทั่วโลกมุสลิม เป็นต้นกำเนิดของ European Cafe และ Coffee House of London

จากคาบสมุทรอาระเบียน (Arabian Peninsula) เมล็ดกาแฟเดินทางต่อไปทางทิศตะวันออก พ่อค้ามุสลิมนำมันไปสู่ศรีลังกา (Ceylon) ในปี 1505 แล้วเดินทางสู่ตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดียในศตวรรษที่ 17

ปี 1517 เมล็ดกาแฟเดินทางมาถ7ง Constantinople พร้อมกับชัยชนะของกษัตริย์ Salim I แห่งอียิปต์ และปี 1530 ได้เผยแพร่ใน Damascus แล้ว Coffee House เปิดใน Constantinople ปี 1554

พ่อค้าชาวเวนิสนำกาแฟสู่ยุโรปปี 1615 หลังการมาถึงของชา (Tea) 5 ปี

ครั้งแรกในอิตาลี กาแฟถูกกล่าวหาว่าเป็น “เครื่งดื่มของปีศาจ” เช่นเดียวกับที่เมกกะ แต่โชคดีที่โป๊ปสมัยนั้นยอมรับและชื่นชอบกาแฟถึงกับบอกว่า เป็นเครื่องดื่มของ “a true Christian drink”

Coffee House แห่งแรกในเวนิสเปิดเมื่อปี 1683 แล้วร้าน Cafe Florian ที่ the Piazza San Marco เปิดเมื่อปี 1720 เป็นร้านกาแฟเก่าแก่ที่สุดในยุโรปที่ยังให้บริการจนทุกวันนี้

ในศตวรรษที่ 17-18 Coffee House และ Cafe แพร่หลายในยุโรปและยืนยงมานานกว่า 400 ปีจนปัจจุบัน

ปี 1650 ร้านกาแฟแห่งแรกของอังกฤษเปิดที่เมือง Oxford

ในช่วงศตวรรษที่ 17 กลุ่มอาณาจักรในยุโรปต่างแข่งขันกันขยายการปลูกกาแฟในอาณานิคม เริ่มจาก Dutch ปลูกที่ Mocha ในเยเมน แล้วขยายปลูกใหญ่ในศรีลังกาปี 1658 ปี 1699 การปลูกกาแฟของ Dutch ใน Malabar และชวาได้ผลดีมาก

ปี 1706 เมล็ดกาแฟจากชวาถูกส่งกลับมา Amsterdam และแพร่กระจายไปทั่วยุโรป

ปี 1718 Dutch ขยายการปลูกกาแฟในเกาะ Surinam

แล้วไม่นานปีจากนั้น เมล็ดกาแฟก็แพร่ขยายสู่อเมริกาใต้ จนกลายเป็นศูนย์กลางการปลูกกาแฟของโลกในปัจจุบัน

ปี 1878 เรื่องราวการเดินทางของเมล็ดกาแฟรอบโลกจากเอธิโอเปียจบบริบูรณ์ครบรอบโลกเมื่ออังกฤษนำเมล็ดกาแฟมาปลูกที่ประเทศเพื่อนบ้านเอธิโอเปีย เคนยา ในนามของ British East Africa

สิ้นสุดการเดินทางรอบโลก 1,000 ปี หลังจากการค้นพบเมล็ดกาแฟเอธิโอเปียนครั้งแรก

 

หนังสือ Selemta ลงรูปและเล่าเรื่องการผลิตกาแฟเอธิโอเปียนว่า

ฤดูกาลการเก็บเกี่ยวเมล็ดกาแฟสีแดงเริ่มต้นเมื่อสิ้นสุดฤดูฝนอันยาวนาน คือราวเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน เรื่อยไปจนถึงเดือนมกราคมหรือกุมภาพันธ์ พอเก็บเกี่ยวเสร็จ วิธีดั้งเดิมคือนำเมล็ดกาแฟมาตากให้แห้งบนลานตาก ใช้เวลา 2 อาทิตย์

ตอนแรกกาแฟจะเปลี่ยนจากสีแดงเป็นสีม่วงเข้มแล้วต่อมาเป็นสีดำ เป็นเพราะการตากแดดทำให้น้ำระเหยออกไป

หลังจากนั้น จึงทำการกะเทาะเปลือกออกด้วยเครื่องขัดสี (เหมือนการสีข้าว) จะเหลือแก่นเนื้อในเมล็ดกาแฟสองซีก

วิธีที่สองคือ วิธีการล้าง คือนำเมล็ดกาแฟสีแดงมาปั่นในเครื่องปอกเปลือกเหมือนเครื่องปั่นผลไม้ขนาดใหญ่ ปั่น 24 ชั่วโมง วิธีนี้จะลอกเยื่อหุ้มเปลือกเป็นเมือก ต้องเอามาหมักในแท็งก์น้ำอีก 36 ชั่วโมง ในระหว่างการหมัก คราบความหวานที่ห่อหุ้มเมล็ดกาแฟจะละลายไป ทำให้เหลือแต่เมล็ดกาแฟแท้ หลังจากการหมักและล้างน้ำแล้ว เมล็ดกาแฟจะถูกนำมาตากบนลานตาก ตากทิ้งไว้ทั้งวันทั้งคืน

ในขั้นตอนสุดท้าย ไม่ว่าเมล็ดกาแฟจะผ่านกระบวนการตากแห้งหรือผ่านการล้างน้ำก็จะต้องนำมาบรรจุในกระสอบเหมือนกัน เมล็ดกาแฟที่ผ่านกรรมวิธีการล้างจะถูกส่งไปโรงงานที่แอดดิสอาบาบาเพื่อเข้าสู่กระบวนการส่งออก ส่วนพวกเมล็ดกาแฟเกรดดีและเกรดส่งออกจะส่งไปยังบริษัทส่งออกเพื่อกระจายไปทั่วโลกทันที

กาแฟที่ส่งออกจากเอธิโอเปียส่วนใหญ่คือ Coffea Arabica เป็นกาแฟสายพันธุ์ดีที่สุดในโลก 70% ของการบริโภคกาแฟ ผู้คนทั้งโลกนิยมดื่มกาแฟ Arabica

ปี 2006 เอธิโอเปียมีส่วนแบ่งการตลาดกาแฟ Arabica 3% ของโลก เทียบเท่ากับ 34% ของสินค้าส่งออกของเอธิโอเปีย

ปี 2006-2008 Star Buck ขยายกิจการร่วมลงทุนทำไร่กาแฟในเอธิโอเปีย กระจายรายได้สู่ชาวไร่กาแฟโดยตรง

กลับจากแอฟริกาคราวนั้น ผมมีของฝากให้ตัวเองคือ “กาแฟเอธิโอเปียน” ได้ดื่มลิ้มรสด้วยความชื่นมื่น ถ้าคุณเป็นคอกาแฟตัวจริง ต้องรู้จัก African Ethiopian Coffee กาแฟดีที่สุดในโลก