การแก้ไขรัฐธรรมนูญพม่า : โอกาสครั้งใหม่สร้างประชาธิปไตยปึกแผ่น ลดพลังทหารการเมือง?

การแก้ไขรัฐธรรมนูญพม่า ถูกหยิบยกเป็นประเด็นอยู่เนืองๆ นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่จนถึงวันนี้อย่าง รัฐธรรมนูญฉบับปี 2008 (2551) ที่ถูกเขียนขึ้นโดยคณะกรรมการยกร่างซึ่งถูกแต่งตั้งโดย สภาความมั่นคงและการพัฒนาแห่งรัฐ หรือเอสพีดีซี ซึ่งเป็นคณะรัฐบาลทหารของพม่า นำโดยนายพลขิ่น ยุ้น

แม้ถูกใช้มานานกว่า 10 ปี แต่ด้วยเนื้อหาสาระและหลักการในรัฐธรรมนูญที่แสดงถึงบทบาทของกองทัพยังคงครอบงำการเมืองพม่า ทั้งในด้านนิติบัญญัติและบริหาร ทำให้นักเคลื่อนไหวในพม่าและพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยในพม่าพยายามขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าว

จนกระทั่งการบริหารของรัฐบาลชุดปัจจุบันนำโดยพรรคสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี นำโดยนางออง ซาน ซูจี มุขมนตรี ซึ่งชนะครองเสียงข้างมากในการเลือกตั้งปี 2558 ได้มีโอกาสขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าวในสภา จนสามารถจัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปจะมีขึ้นในปีหน้า

อย่างไรก็ตาม สมาชิกรัฐสภาฝ่ายทหาร ได้ดับฝันของประชาชนพม่าด้วยการใช้สิทธิวีโต้ ไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ

นำไปสู่การประท้วง และทำให้การเมืองพม่าเข้าสู่ภาวะตึงเครียดอีกครั้ง

 

ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญพม่าได้ยกระดับสู่การเคลื่อนไหวของกลุ่มมวลชน ในช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา

เมื่อประชาชนหลายพันคนได้เคลื่อนขบวนมายังเจดีย์ซูเล่ ใจกลางนครย่างกุ้ง เมืองหลวงเก่าของพม่า

พวกเขามาพร้อมกับผ้าคาดสีแดงพร้อมข้อความระบุว่า “แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2008” กดดันสมาชิกรัฐสภาฝ่ายทหารเพื่อยุติการขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

แต่เมื่อมีฝ่ายเรียกร้องให้แก้ไข ก็ต้องมีมวลชนฝ่ายสนับสนุนกองทัพและคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นั่นคือ ขบวนการชาตินิยม นำโดยพระสงฆ์พม่า ที่สนับสนุนทหารในฐานะผู้ปกป้องประเทศที่มีชาวพุทธส่วนใหญ่ ด้วยการกังวลว่าหากแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะทำให้คนต่างศาสนาสามารถขึ้นนั่งประธานาธิบดีได้

ในส่วนระดับรัฐสภานั้น นายเน โพน ลัต สมาชิกสภาพรรคเอ็นแอลดี กล่าวกับรอยเตอร์สว่า จุดหมายสำคัญของพรรคในการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือการลดอิทธิพลของกองทัพในรัฐสภา ด้วยการลดจำนวนที่นั่งฝ่ายทหาร จาก 25% ให้เหลือ 15% ภายในปี 2021

อย่างไรก็ตาม ตามบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้พรรคเอ็นแอลดีจะครองเสียงข้างมาก ก็ต้องผ่านความเห็นชอบทั้งสองสภาคือ สภาผู้แทนราษฎรและสภาชนชาติ ด้วยคะแนนเสียงมากกว่า 75% ซึ่งหมายถึงต้องอาศัยเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาฝั่งทหารที่มีอยู่ 25% ด้วย

ซึ่งนายเนกล่าวว่า เราต้องการการสนับสนุนจากกองทัพ คงต้องขึ้นอยู่กับจุดยืนของกองทัพ

“แต่เราหวังว่ากองทัพจะยอมรับเรื่องนี้ ว่าสามารถลดได้ทีละนิดเมื่อเวลาผ่านไป”

 

สํานักข่าวอิรวดี สื่อยักษ์ใหญ่ของพม่าได้สรุปประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญล่าสุดจนถูกฝ่ายกองทัพวีโต้นี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้คณะกรรมการแก้ไขมากเกือบ 4,000 เรื่อง

เมื่อประมวลข้อเสนอต่างๆ ที่เข้ามา พบว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับฝ่ายอำนาจบริหารมากที่สุดถึง 1,211 เรื่อง ตามด้วยอำนาจนิติบัญญัติ 859 เรื่อง และอำนาจตุลาการ 632 เรื่อง ที่เหลือคือ ว่าด้วยประมุขของรัฐ, หลักการว่าด้วยประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน, โครงสร้างรัฐ เป็นต้น

ต่อมาเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทั้งสองสภานั้นคือ สภาผู้แทนราษฎรและสภาชนชาติ ได้ลงคะแนนเสียงรับรองการจัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเห็นชอบ 414 เสียง ไม่เห็นชอบ 191 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 6 เสียง

และเมื่อดูจำนวนสมาชิกคณะกรรมการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็พบว่า จากจำนวน 45 คน มีสมาชิกจากพรรคเอ็นแอลดีมากสุดถึง 19 คน ตามด้วยตัวแทนฝ่ายกองทัพ 8 คน และจากตัวแทนจากพรรคการเมืองของชนชาติต่างๆ พรรคละ 1-3 คน

ทำให้คาดการณ์ว่าพรรคเอ็นแอลดีจะเป็นหัวหอกในการนำข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นและลดบทบาททางการเมืองของกองทัพพม่า

แต่ทั้งหมดกลับต้องหยุดลง นำไปสู่การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนและการเผชิญหน้ากันระหว่างมวลชนสองฝ่าย เมื่อสมาชิกสภาฝั่งกองทัพคัดค้านการตั้งคณะกรรมการแก้ไข โดยอ้างว่า เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับทหาร

 

ด้าน น.ส.พรรณิการ์ วานิช ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ และติดตามการเมืองพม่าสมัยทำงานในกองบรรณาธิการต่างประเทศของวอยซ์ทีวี ให้ความเห็นเรื่องนี้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันทั้งไทยและพม่า เหมือนกันตั้งแต่ที่มาซึ่งร่างโดยทหารและผ่านประชามติที่ไม่โปร่งใส โดยพม่าเกิดเหตุพายุนาร์กิสถล่มในช่วงก่อนวันลงประชามติ ทำให้ประชาชนไม่พร้อมทำกิจกรรมรณรงค์ได้ และผ่านการประชามติ ท่ามกลางการประณามจากนานาชาติ ในเรื่องการปราบปรามและคุมขังผู้แสดงจุดยืนไม่รับร่าง และมีความผิดปกติต่างๆ ในวันลงประชามติ

อีกทั้งยังเหมือนกันที่การสถาปนาอำนาจผ่านการแต่งตั้ง โดยเฉพาะสมาชิกสภาแต่งตั้งจากฝั่งทหาร 25% ขณะที่ไทยมีสมาชิกวุฒิสภาจากการแต่งตั้งถึง 250 คน

และเหมือนกันตรงที่ แก้ไขรัฐธรรมนูญยาก

อย่างไรก็ตาม น.ส.พรรณิการ์มองว่า แม้แทบเป็นไปไม่ได้ ก็หมายความว่า ยังเป็นไปได้ การแก้รัฐธรรมนูญเป็นภารกิจที่เกือบเป็นไปไม่ได้ แต่หากไม่ทำ รัฐบาลจากการเลือกตั้งก็จะไม่สามารถได้มาซึ่งอำนาจในการบริหารประเทศอย่างสมบูรณ์ได้ ต้องงอนง้อพึ่งใบบุญกลไกสืบทอดอำนาจทหารตลอดไป และหากไทยจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ต้องเจอเกมเดียวกันกับที่พม่าเจออยู่ตอนนี้

น.ส.พรรณิการ์กล่าวตอนท้ายว่า สำเร็จหรือไม่ ไม่ใช่คำถาม ต้องถามว่า สำเร็จเมื่อไหร่

คำตอบคือ นี่เป็นการวิ่งมาราธอน ใช้ความอดทนและมุ่งมั่นของเรา ประชาชน มีวิธีนี้วิธีเดียวที่จะปลดประเทศไทยจากพันธนาการที่ คสช.ล่ามเราไว้ จะล้มรัฐธรรมนูญและรัฐบาลของประชาชน ใช้รถถังและเวลาชั่วอึดใจ แต่จะล้มรัฐธรรมนูญทหารด้วยมือเปล่าของคนธรรมดา ด้วยวิธีสันติ ใช้เวลาหลายปี

แต่เรารอได้ จนกว่าจะถึงวันที่ชัยชนะเป็นของประชาชน

 

พลังการเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคประชาชนในพม่า อาจไม่ได้หยุดแค่ที่เมืองใหญ่อย่างย่างกุ้งอีกแล้ว

แต่พลังเสื้อแดงได้ขยายตัวไปตามเมืองต่างๆ ทั่วพม่า

โดยล่าสุดเมื่อ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา เมียนมาไทม์สรายงานว่า ประชาชนราวหมื่นในเมืองมัณฑะเลย์ ได้จัดกิจกรรมขบวนจักรยานเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ

นายจอว์ จอว์ อูว์ ประชาสัมพันธ์ของตลาดค้าอัญมณีในเมืองมัณฑะเลย์กล่าวว่า ผู้ค้าอัญมณีในตลาดทุกคนสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2008 เพราะตอนนี้ได้ถึงเวลาของการเปลี่ยนแปลงแล้ว ตอนแรกคาดว่าจะมีคนเพียง 2,000 คน หากเราได้รับอนุญาตให้จัดการประท้วง แต่ว่าจำนวนคนร่วมกลับเพิ่มขึ้น

ยิ่งเราแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เร็วเท่าไหร่ ยิ่งดีต่อประชาชนเท่านั้น