ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 มิถุนายน - 4 กรกฎาคม 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | นงนุช สิงหเดชะ |
เผยแพร่ |
‘ดราม่า’ หลังเลือกตั้ง
ใช้เวลา 2 เดือนนิดๆ หลังเลือกตั้งสำหรับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในการเจรจากับพรรคอื่นๆ เพื่อจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งขั้นแรกสำเร็จไปแล้ว คือสามารถรวบรวมเสียงเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็ทราบผลกันไปแล้วคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คัมแบ๊กอีกรอบ รอเพียงการทูลเกล้าฯ รายชื่อ ครม.
หลังเลือกตั้งครั้งนี้มีดราม่าเยอะกว่าทุกครั้ง เพราะสองซีกมีคะแนนสูสีกัน แต่ละซีกแบ่งขั้วทางการเมืองชัดเจน ไม่มีทางเข้ากันได้ เหมือนน้ำกับน้ำมัน ทำให้สังคมต้องลุ้นเป็นพิเศษว่าสุดท้ายจะตั้งรัฐบาลได้หรือไม่
ในช่วงการฟอร์มรัฐบาล ดราม่าหนักอยู่ที่พรรคขนาดกลางที่เป็นแปรสำคัญอย่างประชาธิปัตย์ ซึ่งเกิดปัญหาเสียงแตกเป็นสองฝ่ายว่าจะเข้าร่วมกับ พปชร.หรือไม่
จนเกิดเดดล็อกอยู่พักใหญ่
เงื่อนไขที่ทำให้เกิดเดดล็อก มีขึ้นก่อนการเลือกตั้งแล้ว เมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขณะดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ได้ออกมาประกาศจุดยืนไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ อีกทั้งไม่เอาพรรคที่เคยมีปัญหาทุจริต
ซึ่งก็แปลว่าจะไม่ร่วมกับทั้ง พปชร.และซีกเพื่อไทย แต่ขอวางตัวเป็นขั้วที่ 3 หรือทางเลือกที่ 3
แต่การเสนอตัวเป็นทางเลือกที่ 3 ของนายอภิสิทธิ์ จะมีความเป็นไปได้ต่อเมื่อ ปชป.ได้เก้าอี้ ส.ส.เป็นอันดับสองรองจากเพื่อไทย และมากกว่า พปชร.
เพราะกรณีนี้ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ ของ พปชร.อาจยอมเปิดทางให้นายอภิสิทธิ์ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ และ ส.ว.ก็อาจจะยอมยกมือสนับสนุน
นายอภิสิทธิ์อ้างว่า เหตุผลที่ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์เป็นศูนย์กลางความขัดแย้ง
อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าหากนายอภิสิทธิ์ได้เป็นนายกฯ ก็ไม่ใช่ว่าจะปลอดจากการถูกอีกฝ่ายกล่าวหาว่าเป็นบุคคลที่อยู่ในความขัดแย้งทางการเมืองเช่นกัน
ซีกเพื่อไทยและพันธมิตรอาจจะขุดเรื่องราวเดิมๆ มาเล่นงาน เช่น เหตุการณ์กระชับพื้นที่แยกราชประสงค์ที่มีผู้เสียชีวิต เรื่องที่ได้ ส.ส.น้อยกว่าอีกพรรคแต่ได้จัดตั้งรัฐบาลจึงไม่สง่างาม และหนักสุดจะถูกหาว่าใช้บริการทหารเป็นแบ๊กอัพในการตั้งรัฐบาล เหมือนที่ครั้งหนึ่งถูกฝ่ายตรงข้ามหาว่าตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร
ด้วยเหตุนี้ แม้นายอภิสิทธิ์จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ไม่พ้นจะถูกครหาเรื่องสืบทอดอำนาจเผด็จการ
เมื่อผลการเลือกตั้งออกมา ซึ่ง ปชป.หล่นรวดเดียวไปอยู่อันดับ 4 ได้เก้าอี้ ส.ส.น้อยกว่า พปชร.และยังสูญพันธุ์ในกรุงเทพฯ ทั้งหมด นายอภิสิทธิ์ก็ยังยืนยันไม่สนับสนุนประยุทธ์ แถมสมาชิกที่เป็นคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งเสนอให้ ปชป.เป็นฝ่ายค้านอิสระแทนการเข้าร่วม พปชร.
ข้อเสนอของทั้งนายอภิสิทธิ์และบางคนใน ปชป. เป็นข้อเสนอที่ไม่ pragmatic คือไม่อยู่กับความจริงและปฏิบัติไม่ได้ เพราะไม่มีทางที่ พปชร.จะถอนชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ออกจากการเข้ารับโหวตเป็นนายกฯ ในสภา เพราะ พปชร.มีเก้าอี้ ส.ส.มากกว่า ปชป. ดังนั้น จึงมีความชอบธรรมกว่า
ในเมื่อนายอภิสิทธิ์ลั่นวาจาไว้ก่อนเลือกตั้งว่าไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้น เมื่อพรรคมีมติร่วมรัฐบาลและสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ
นายอภิสิทธิ์ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากประกาศลาออกจาก ส.ส.
ส่วนอาการของซีก (ที่อ้างว่าเป็น) ประชาธิปไตย หลังเลือกตั้งและหลังโหวตเลือกนายกฯ แน่นอนว่าเกรี้ยวกราดกว่าใคร บอกว่าพวกตัวเองถูกปล้นชัยชนะ บอกว่าถูกเอาเปรียบเพราะใช้เสียง ส.ว.โหวตช่วย อาการเช่นนี้เกิดขึ้นเพราะไม่อยู่กับความจริง
ท่ามกลางเสียงโวยวายเกรี้ยวกราดนี้ ซีกเพื่อไทยและพันธมิตรคงลืมไปว่า กระบวนการทุกอย่าง อาทิ การให้ ส.ว.ร่วมโหวตบุคคลที่จะเป็นนายกฯ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ผ่านการลงมติจากประชาชนเสียงข้างมากมาแล้ว
ดังนั้น ถ้าจะบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นเผด็จการ ก็เป็นเผด็จการที่ประชาชนมีส่วนในการตัดสินใจ
ถ้าจะบอกอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์สืบทอดอำนาจเผด็จการ ก็ต้องนับว่าได้รับฉันทานุมัติการสืบทอดจากประชาชนเหมือนกัน เพราะคะแนนรวมทั่วประเทศของ พปชร.นั้นมาเป็นอันดับหนึ่ง คือ 8 ล้านกว่าเสียง การจะบอกว่าเป็นเผด็จการ ก็คงพูดได้ไม่เต็มปากเต็มคำ
ถ้าอ้างว่า พปชร.ชนะเพราะมีการใช้เงินซื้อเสียง ใช้อำนาจรัฐ ก็ให้ย้อนกลับไปดูสมัยพรรคของคุณทักษิณชนะเลือกตั้ง ก็ไม่พ้นข้อครหาว่าซื้อเสียงเช่นกัน โดยเฉพาะการชนะในสมัยที่ 2 นั้นถูกหาว่าใช้อำนาจรัฐผสมเข้าไปอย่างเข้มข้นด้วยเหมือนกัน
แต่สังเกตไหม พอใครหาว่าพรรคของคุณทักษิณซื้อเสียง คนพรรคนี้ก็จะโกรธจัด และตอบโต้ทันทีว่าดูถูกประชาชนคนยากคนจนที่เป็นฐานเสียงของพรรค อ้างว่าพรรคชนะเพราะนโยบายดีถูกใจชาวบ้าน โดยเฉพาะกองทุนหมู่บ้าน โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค
แต่ทำไมพอประชาชนเลือก พปชร.กลับบอกว่ามีการซื้อเสียง ทั้งที่นโยบายหลายอย่างของ พปชร.ก็น่าจะถูกใจคนหลายกลุ่มไม่น้อย เช่น มารดาประชารัฐ ให้เงินสนับสนุนตั้งแต่ท้องจนคลอดเดือนละ 3,000 บาท และเงินช่วยเลี้ยงดูเด็กอีกเดือนละ 2,000 บาทจนถึง 6 ขวบ/ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท /เงินเดือนปริญญาตรี 20,000 บาท
ความจริงสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ซีกเพื่อไทยและพันธมิตร ไม่สามารถเอาชนะขั้วบิ๊กตู่ได้ ก็เพราะเพื่อไทยไม่ได้ทำตัวเป็นทางเลือกใหม่ เพราะตัวเองก็เป็นศูนย์กลางความขัดแย้งมาก่อน ไม่สามารถดึงพรรคอื่นมาสนับสนุน
อีกทั้งก็พูดไว้ล่วงหน้าในทำนองไม่สามารถร่วมมือกับ ปชป.
ส่วนพรรคภูมิใจไทยที่ถูกทักษิณและคนในพรรคเพื่อไทยบางส่วนมองว่าทรยศหักหลัง เนื่องจากแยกตัวมาจากไทยรักไทยนั้น ก็ไม่มีทางที่เพื่อไทยจะอ้าแขนรับ ในทางกลับกันหัวหน้าพรรคภูมิไทยก็พูดก่อนเลือกตั้งแล้วว่าถ้า ปชป.จับมือกับพรรคเพื่อไทย ทางภูมิใจไทยก็จะเป็นฝ่ายค้าน
ทางด้านพรรคอนาคตใหม่ ก็ไม่ใช่ทางเลือกใหม่ที่จะพาออกจากความขัดแย้ง เนื่องจากนับวันยิ่งแนบแน่นกับเครือข่ายทักษิณจนแทบจะกลายเป็นดีเอ็นเอเดียวกันไปแล้ว เผลอๆ อาจหนักกว่าทักษิณ เพราะเผยให้เห็นเค้าลางมาอย่างต่อเนื่องว่าพรรคนี้ไม่ใช่พรรคที่จะเชื่อมประสานคนในชาติได้แน่ๆ แต่ส่อแววจะก่อให้เกิดการแตกแยกมากกว่า
อนาคตใหม่จะเป็นทางเลือกใหม่อย่างแท้จริง หากไม่ทำให้คนหวาดระแวง ทั้งจากการส่งสัญญาณปกป้องคดีทุจริตของทักษิณ พูดในทำนองว่าทักษิณไม่ได้รับความเป็นธรรม ซ้ำร้ายไปกว่านั้นหัวหน้าพรรคยังแสดงท่าทีอยากจะกำจัดประเพณีไทย ทั้งไม่ควรไหว้ครู ไม่ควรเรียกใครว่าพี่ ป้า น้า อา เรียกแค่คุณ ผม-ดิฉัน พอแล้ว ยังดีหน่อยเดียวที่ไม่ห้ามเรียกใครว่าพ่อ แม่ ปู่ ย่า
สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่าหัวหน้าพรรคนี้ เชื่อว่าการเดินตามฝรั่ง แล้วทิ้งรากเหง้าและเอกลักษณ์ตัวเองทั้งหมด เป็นเรื่องเท่ ดูก้าวหน้าทันสมัย เป็นคนรุ่นใหม่ ฝรั่งจะได้เอ็นดูรับเข้าไปอยู่ใต้อุปถัมภ์
สิ่งนี้เป็นลักษณะของคนที่ไปเรียนเมืองนอก มีความรู้แบบฝรั่งมากมาย แต่ยังขาดภูมิปัญญาที่ลึกซึ้ง ขาดสายตาที่แหลมคมในการนำพาประเทศ
จะเอาประชาธิปไตยแบบฝรั่งยังไม่พอ แม้แต่วัฒนธรรมประเพณี ก็ต้องเอาแบบฝรั่ง เป็นเรื่องที่คนฉลาดควรทำหรือไม่
ต้องไม่ลืมว่า อะไรก็ตามที่ก๊อบปี้คนอื่น จะขาดเอกลักษณ์ ขาดคุณค่า ไร้ราคา ถ้าเป็นสินค้าก็เตรียมตัวเจ๊งได้เลย ในที่นี้ถ้าเทียบประเทศไทยเป็นสินค้า ก็หมายถึงเจ๊งทั้งประเทศภายใต้พรรคของคนรุ่นใหม่