สัพเพเหระ “อาเซียน” กับ “ดุลยภาค ปรีชารัชช” การเมืองภูมิภาค-ความท้าทาย ที่ประธานคนใหม่ต้องรับมือ

ผ่านไปสำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นวาระเวียนมาถึงไทยได้นั่งเป็นประธานอาเซียน หลังจากไทยได้เป็นเมื่อ 10 ปีก่อน

และบรรจบครบในยุคของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรีต่อหลังครองอำนาจมา 5 ปีจากการก่อการรัฐประหาร แต่การตั้งรัฐบาลรอบใหม่ครั้งนี้ก่อตัวเหมือนมรสุมภายใน

บทบาทของไทยต่ออาเซียนในห้วงการเมืองไทยภายในที่ยังไม่เข้าที่เช่นนี้ จะทำให้ไทยแสดงบทบาทโดดเด่นในภูมิภาคได้มากแค่ไหน

 

ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช นักวิชาการด้านการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงทิศทางของอาเซียนภายใต้การนำของไทยว่า รัฐไทยมีความโดดเด่นในการสถาปนาอาเซียนตั้งแต่ยุคก่อตั้งในปี 1967 จากปฏิญญากรุงเทพ และรัฐไทยพยายามมีบทบาทในหลายประเด็นในการขับเคลื่อนอาเซียน

แต่ในฐานะประธานอาเซียนนี้ มีประเด็นน่าพิจารณาคือ

1. ไม่เกี่ยวกับระบอบการเมือง ไม่ว่าจะเผด็จการหรือประชาธิปไตย เป็นประธานอาเซียนได้หมด เพราะเรียงลำดับการนั่งเป็นประธานตามชื่อขึ้นต้นของภาษาอังกฤษแต่ละประเทศ

และ 2. ในขณะเดียวกันก็อยู่ที่ความพร้อมของประเทศที่เป็นประธานอาเซียนในการจัดประชุมต่างๆ ซึ่งมีเยอะมาก ไม่ว่าการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (อาเซียนซัมมิต) หรือการประชุมระดับรัฐมนตรีที่สำคัญในโครงสร้างหลักของอาเซียน ผมคิดว่าประเทศไทยรับบทหนักตรงนี้

แต่หากเทียบกับเมื่อ 10 ปี ก่อน เรามีความผันผวนทางการเมือง และตรงกับช่วงที่จัดประชุมอาเซียนพอดี (รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปี 2552) ถามว่าจะเกิดขึ้นแบบนั้นไหมในช่วงเวลานี้ คือไม่รู้ว่าจะตั้งรัฐบาลได้ก่อนหรือหลังการจัดประชุมอาเซียน แต่ว่าในแง่ความสงบเรียบร้อย

แม้จะมีสัญญาณบางอย่างที่ต้องระวัง แต่คิดว่าคงมีการถ่ายงานกันมาแล้ว นั่นคือ คสช.แบ่งส่วนกันดู เช่น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รับผิดชอบด้านความมั่นคงความปลอดภัยในช่วงประชุม คุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ดูสารัตถะเกี่ยวกับเศรษฐกิจ คุณวิษณุ เครืองาม ดูเรื่องพิธีการ

บุคคลสำคัญ 3 คนนี้ก็คงอยู่ในลำดับต้นของโผคณะรัฐมนตรี ก็คิดว่าคงดำเนินต่อไปได้พอสมควร

 

นอกจากการประชุมอาเซียนที่จัดขึ้นในระดับรัฐบาลของชาติสมาชิกแล้ว ยังมีเวทีประชุมระดับภาคประชาสังคมในภูมิภาคด้วย อย่างไรก็ตาม เวทีภาคประชาสังคมไม่ได้จัดมาต่อเนื่องถึง 3 ปีแล้ว โดยหากดูจากปีที่แล้ว ซึ่งสิงคโปร์เป็นประธานอาเซียน (ชาติสมาชิกเวียนเป็นประธานตามวาระ 1 ปี) ก็ถูกปิดกั้น ไม่ให้งบฯ จัดเวที

รวมถึงครั้งนี้ที่ไทยก็ไม่มีเวทีนี้ด้วย (ไม่นับรวมการสกัดความเคลื่อนไหวของนักเคลื่อนไหวทั้งไทยและชาติอาเซียนที่จะยื่นข้อเรียกร้องต่อเวทีประชุมระดับรัฐบาล)

ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลชาติสมาชิกอาเซียนไม่ได้ให้ความสำคัญกับประชาชนอาเซียนจริงๆ

ผศ.ดร.ดุลยภาคมองความเคลื่อนไหวนี้ว่า เราต้องดูการก่อเกิดของอาเซียนนั้น เราเรียกว่าเป็น “ประเพณีการทูตในสนามกอล์ฟ” คือผู้นำนัดพบปะสังสรรค์ พูดคุยเจรจากันว่าจะแก้ไขปัญหา ขับเคลื่อนภูมิภาคไปในทิศทางไหน? เพราะฉะนั้น กลไกของอาเซียนถูกกำหนดไว้ในระดับชนชั้นนำทางการเมือง ถ้ามีความขัดแย้งอะไร ผู้นำคุยกันรู้เรื่อง ก็แก้ไขปัญหาไปได้เป็นกรณีๆ ไป

แต่เมื่อดูภาคประชาสังคม ก็มีข้อจำกัดที่ระบอบการเมืองของประเทศสมาชิกอาเซียน หลายส่วนไม่ได้เอื้อให้ภาคประชาสังคมเข้มแข็ง ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยหรือสนับสนุนการเมืองภาคประชาชน แม้แต่องค์กรประชาสังคมบางกลุ่มอยู่ฝ่ายเดียวกับรัฐ ผมคิดว่าเรื่องนี้มีความซับซ้อน นั่นทำให้เอาเข้าจริง พลังทางการเมืองภาคประชาชน เวลาขับเคลื่อนประเด็นอาเซียนก็มีปัญหา

อีกทั้งวาระการประชุมหรือกฎบัตรอาเซียน คำแถลงของอาเซียนหลายอย่างก็มีนัยยะและผูกติดกับบางประเด็น เช่น ความมั่นคง มีประชาสังคมก็ต้องมีรัฐด้วย

ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องยาก กล่าวโดยสั้นๆ ก็คือ ประเพณีการก่อเกิดและระดับการทำงานเป็นระดับรัฐบาล และสารัตถะในบทบัญญัติ คำแถลง กฎบัตร ไม่ได้เน้นกับภาคประชาสังคมแบบเนื้อๆ แต่กลับปิดบังอำพราง

ฉาบด้วยองค์กรระดับรัฐที่เหนือกว่าภาคประชาสังคม

 

อาเซียนมีประเด็นการเมืองที่กลายเป็นเรื่องระหว่างประเทศ อย่างวิกฤตโรฮิงญา แต่อาเซียนกลับแสดงบทบาทต่อเรื่องนี้น้อยมาก คิดว่าไทยในฐานะประธานอาเซียนจะสามารถนำประเด็นเรื่องนี้มาหารือได้หรือไม่ ผศ.ดร.ดุลยภาคกล่าวว่า ในเรื่องดังกล่าว ถือเป็นปัญหาข้ามภูมิภาค (พม่ากับบังกลาเทศ) ถ้าอาเซียนจะจัดการ จะต้องผลักดันกลไกความร่วมมือไปสู่กลุ่มประเทศเอเชียใต้ สามารถผลักดันได้แค่ไหน อย่างไร นี่จึงเป็นประเด็นท้าทายของอาเซียน

พอมาดูบทบาทความร่วมมือของอาเซียนเอง แม้แต่บรรทัดฐานเองก็ยังมีปัญหา โดยหนึ่งในบรรทัดฐานนั้นคือ “หลักไม่แทรกแซงกิจการภายใน” แม้เรื่องโรฮิงญาจะเกี่ยวกับบังกลาเทศ แต่ถ้าอธิปไตยของพม่า ซึ่งรัฐยะไข่ที่ชาวโรฮิงญาอาศัยก็อยู่ในพม่า คำถามคือ เมื่ออาเซียนยกประเด็นนี้ขึ้น จะเป็นการแทรกแซงกิจการภายในหรือไม่ ซึ่งกระทบบรรทัดฐานสำคัญ

สำหรับประเทศไทยก็รับรู้ปัญหาโรฮิงญา คลื่นผู้อพยพชาวโรฮิงญามาหลายจุด แม้เป็นเรื่องน่าท้าทาย แต่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่า เนื้อแท้ถูกวางความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ก็คือชนชั้นนำของพม่า (หรือกองทัพ) ถามว่าไทยจะจัดวางสัมพันธภาพยังไง ถ้ายกประเด็นนี้ขึ้นมา แต่ในความสัมพันธ์ทวิภาคี พม่ากลับไม่สบายใจ ลดความร่วมมือทั้งในอาเซียนและไทย

ไทยจึงต้องชั่งน้ำหนัก ระหว่างเรื่องผลประโยชน์ชาติกับมนุษยธรรม

 

นอกจากนี้ ผศ.ดร.ดุลยภาคกล่าวว่า ตำแหน่งประธานอาเซียนเป็นสิ่งที่อยู่ไม่นาน

แม้สิงคโปร์จะประสบความสำเร็จในฐานะต้นแบบด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของอาเซียน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้เศรษฐกิจอาเซียนดีขึ้น หรือชาติสมาชิกมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน

สิงคโปร์ก็เน้นเรื่องเมืองอัจฉริยะ แต่ก็ไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ให้กับอาเซียน

ถ้าประเทศไทยขึ้นมาเป็นประธานอาเซียน สิ่งที่ควรมองเป็นอันดับต้นคือ ให้การประชุมผ่านไปอย่างราบรื่น ซึ่งสัมพันธ์กับช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของไทยพอดี ถ้าอยากให้การประชุมราบรื่น การเปลี่ยนผ่านก็ต้องราบรื่น หรืออย่างน้อยคือสงบเรียบร้อยในช่วงหนึ่ง

ด่านต่อไปคือ กิจกรรมทางการทูตของไทย ทั้งต่างประเทศ พาณิชย์ องค์กรต่างๆ เข้าไปขับเคลื่อนได้มากแค่ไหน นอกจากเราเป็นประธานแล้ว เราดูความเคลื่อนไหวของ 3 เสาหลัก กลไกต่างๆ เพื่อความร่วมมือขับเคลื่อนไปได้

แต่ถ้าหวังให้ไทยเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในอาเซียน เรามีไพ่บางใบที่เล่นได้คือ เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หรือไทยในฐานะจุดยุทธศาสตร์ของ CLMV แต่ถ้าให้ไทยดึงดูดนักลงทุนเข้ามาหรือส่งเสริมนักลงทุนไปอาเซียน อันนี้ไม่ได้ ต้องดูว่าตอนนี้ประเทศที่น่าดึงดูดในตอนนี้คือเวียดนาม หรือพม่า

นั่นทำให้กลับสู่คำถามอันแหลมคมว่า เราปฏิเสธไม่ได้ถึงการเมืองแห่งอำนาจ ประเทศไหนที่มีศักยภาพเป็นผู้นำมีอำนาจ ดูได้จากเสถียรภาพทางการเมือง วิสัยทัศน์ผู้นำ การมีส่วนร่วมกิจกรรมระดับผู้นำโดดเด่นหรือไม่ พลังเศรษฐกิจ วิทยาการต่างๆ ไทยคงต้องเป็นมหาอำนาจ ถึงจะทำแบบนั้นได้ หรืออย่างน้อยเป็นตัวเล่นหลัก แต่ทุกวันนี้ พลังของไทยไม่ได้มีชีวิตชีวา นโยบายต่างประเทศยุค คสช.ก็คงเส้นคงวาแต่ไม่หวือหวา ไม่กระฉับกระเฉง ไม่รุกบุกตลาด ถึงที่สุดระบอบการปกครองก็เกี่ยวด้วย

ไทยจึงไม่ได้เป็นมหาอำนาจ ต่อให้นั่งประธานอาเซียนก็ทำอะไรมากไม่ได้

 

แม้ชาติอาเซียนจะแข่งขันกันเป็นเจ้าอำนาจในภูมิภาค แต่การเผชิญหน้าระหว่างชาติมหาอำนาจอย่างจีนกับสหรัฐ โดยเฉพาะการแสวงหาพันธมิตรและสงครามการค้า ได้ส่งผลกระทบอย่างมาก ผศ.ดร.ดุลยภาคกล่าวว่า อาเซียนได้รับผลแน่ ในด้านจีนคือยุทธศาสตร์ Belt and Road ที่ทำให้อาเซียนถูกพญามังกรพันโอบล้อมหมดแล้ว ทั้งเส้นทางทะเลหรือทางรถไฟในลาว

ในส่วนสหรัฐอเมริกาเองก็พยายามเข้ามา แม้ถูกจำกัดด้วยพื้นที่ภูมิศาสตร์ แต่สหรัฐเข้ามาได้ผ่านฐานทัพลอยน้ำอย่างกองเรือบรรทุกเครื่องบิน กับโครงการริเริ่มในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเพื่อคานอำนาจจีน หรือการให้ความช่วยเหลือกัมพูชา ลาว ที่จีนไม่ได้ให้

ผมคิดว่าภูมิภาคนี้เป็นพื้นที่ตรึงกันในสงครามการค้าหรือการแข่งขันอิทธิพลทางภูมิรัฐศาสตร์

แต่สิ่งที่น่ามองคือ รัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดำเนินนโยบายต่างประเทศเอนให้ประเทศไหนหรือถ่วงดุลกัน ผมคิดว่าไทยเอาทั้งจีนและสหรัฐ หรือลาว กัมพูชา เอนจีนมากกว่า ถ้าเราหยิบแต่ละประเทศมาประเมินกัน เราจะเห็นอิทธิพลของทั้งสองมหาอำนาจ ซึ่งจะส่งผลต่อระบบคิดและการพัฒนาประเทศด้วย

ไทยก็ดูวิธีปกครองของจีน ซึ่งไม่ได้เอื้อต่อการพัฒนาประชาธิปไตย แต่กลับเอื้อการคงอยู่ของเผด็จการด้วยซ้ำไป