“จอห์น วิญญู” มองการเมืองไทย 5 ปี คสช.และรัฐบาลใหม่ ไม่ราบรื่น ทำอะไรไว้ โซเชียลมีเดียแคปไว้หมดแล้ว

คนบันเทิงกับการเมืองไทย อาจเรียกว่าของไม่ถูกกัน มีน้อยมากที่จะพูดหรือแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาเพราะเกรงจะกระทบต่องานหรือความสัมพันธ์

แต่นั่นไม่ใช่สำหรับ “วิญญู วงศ์สุรวัฒน์” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “จอห์น วิญญู” พิธีกรและผู้ดำเนินรายการซึ่งคลุกคลีกับวงการบันเทิงไทยมานาน

ในทศวรรษวิกฤตการเมืองไทยที่กินมานานจนถึงตอนนี้ จอห์นเป็นคนบันเทิงเพียงคนเดียวที่กล้าวิจารณ์ ตั้งคำถามต่อเหตุการณ์บ้านเมืองอย่างเปิดเผย

โดยเฉพาะรายการแจ้งเกิดอย่าง “เจาะข่าวตื้น” ซึ่งจัดมาตั้งแต่ปี 2553 จนปัจจุบันแล้วถึง 217 ตอน สวมแว่นดำเสนอและวิเคราะห์ประเด็นการเมือง สังคมทั้งไทยและต่างประเทศ ตั้งแต่รัฐบาลเลือกตั้งจนรัฐบาลทหาร

และมีรายการใหม่เพิ่มอีก อย่าง “หาเรื่องคุย”

แง่มุมต่างๆ ของหนุ่มลูกเสี้ยวไทย-จีน-อเมริกันที่แสดงออกทั้งรายการบนยูทูบ ทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก ได้สร้างจุดประกายทางความคิดต่อผู้คนในสังคมไทยโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่

ทำให้จอห์นถูกนิตยสารไทม์ส ยกให้เป็น 1 ในผู้นำคนรุ่นใหม่ของโลกในปี 2557

และการอยู่ในสังคมไทยตลอด 5 ปีของรัฐบาล คสช. (จนแต่งงานมีลูกชาย 2 คนแล้ว) จอห์นได้เรียนรู้ไปพร้อมกับคนรุ่นหนุ่มสาวชาวไทย และได้เลือกตั้งกันแล้ว

แต่การเมืองไทยหลัง คสช.พ้นจากอำนาจไป อนาคตที่กำลังปรากฏจะสมหวังคนอย่างจอห์นและอีกหลายคนหรือไม่?

 

รัฐประหาร 2557
ไม่ควรเกิดขึ้นแล้ว
แต่ก็กลับมา…

จอห์นเล่าด้วยท่าทางสบายๆ กลางสตูดิโอสโป๊กดาร์ค ย้อนกลับไปในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ว่า ความรู้สึกแรกคือค่อนข้างช็อก เพราะคิดว่าไม่น่าจะเกิดแล้วในยุคสมัยนี้ ไม่ควรมีการรัฐประหารแล้วกับประเทศที่กำลังพัฒนามานานมาก (ตอนนี้ก็ยังกำลังพัฒนาอยู่) เพราะถ้าอยากให้ประเทศพัฒนา ต้องหยุดวังวนการรัฐประหาร แต่ก็ยังกลับมาเกิดขึ้น

หนำซ้ำเป็นการรัฐประหารที่มีคนสนับสนุนจำนวนมาก โดยเฉพาะคนมีชื่อเสียง คนในวงการบันเทิง คนในวงวิชาการ ซึ่งหลายคนมีโอกาสไปต่างประเทศ และเห็นว่าโลกไปไกลขนาดไหนแต่ก็ยังยินดีปรีดากับการรัฐประหาร นับเป็นเรื่องน่าเศร้าใจมาก

“เอาจริงๆ ก็มีความโกรธเข้ามาด้วย เพราะรู้ แม้จะไม่ใช่หมอดูหรือคนมองเห็นอนาคต แต่หลักการและมีข้อพิสูจน์มานักต่อนักแล้วว่า การรัฐประหารกับสังคมที่มีความกระหายเป็นประชาธิปไตย จะนำพาไปสู่อะไร แล้วเมื่อสังคมโลกไม่ยอมรับเผด็จการ หรือการรัฐประหาร จะส่งผลเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของประเทศอย่างไรบ้าง”

จอห์นกล่าวด้วยสีหน้าจริงจัง

 

คสช.-ประยุทธ์ ในสายตา “จอห์น วิญญู”

จอห์นกล่าวถึงการบริหารของคณะรัฐประหารอย่าง คสช.ว่า การนำของ คสช.โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เป็นผู้นำที่ในมุมมองผม ไม่ได้มีความสามารถอะไร

และใน 5 ปีที่ผ่านมาก็ได้พิสูจน์แล้วในหลักการ คือนานาชาติและประชาคมโลกไม่ได้มองประเทศไทยว่าดี แต่มองว่ากำลังถูกปกครองภายใต้เผด็จการทหารที่คลุมผ้าว่าเป็นประชาธิปไตย

ประชาคมโลกไม่ได้โง่ รู้ว่าจริงๆ แล้วใครเป็นคนกุมอำนาจ แล้วก็เป็นอย่างนี้ ความน่าเชื่อถือ การลงทุนโยกไปที่อื่น เงินหมุนเวียนในประเทศลดลง คนลำบาก ใช้เงินยากขึ้น กลุ่มทุนก็ได้รับผลกระทบ แต่กลุ่มทุนอีกกลุ่มกลับได้ประโยชน์

แล้วยิ่งในยุคของโซเชียล อินเตอร์เน็ต ข่าวสารที่ไหลเวียนก็ออกมาเปิดโปงหรือแฉให้เห็นมากขึ้นว่า “เป็นเรื่องจริง” กับสิ่งที่เรากลัว นี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมผมโกรธ คือคนเห็นแก่ตัวหรือเปล่า ก็คงเห็นแก่ตัว แม้อ้างว่าทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม แต่จริงๆ คือเป็นผลประโยชน์ของพรรคพวกตัวเอง ถ้าเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ป่านนี้ประเทศคงเจริญไปแล้ว

แต่ดูเหมือนเราจะจมปลักแบบนี้ไปอีกหลายปี และเผชิญมรสุมกับรัฐธรรมนูญและกฎกติกาของพวกเขา

 

การงาน-ชีวิตส่วนตัว
และเสรีภาพภายใต้ 5 ปี คสช.

จอห์นกล่าวถึงชีวิตการทำงานและความเป็นอยู่ตลอดการบริหารของ คสช.ว่า ไม่ได้กระทบ อาจเพราะเป็นกลุ่มหนึ่งที่โชคดี เป็นชนชั้นกลางที่มีรายได้พอดูแลครอบครัวได้

งานในวงการบันเทิงบอกเลยว่าทุกคนลำบากมากขึ้น เหนื่อยมากขึ้น บวกกับผลพวงดิจิตอลทีวี ก็เป็นการซ้ำเติมคนในอุตสาหกรรมนี้ แต่สำหรับผมว่าคิดอยู่ตลอด ประเทศไทยไม่ค่อยมีเสถียรภาพทางการเมือง ก็จะระมัดระวังเรื่องพวกนี้ตลอด ยิ่งยุค คสช. ยิ่งระมัดระวังเพิ่มขึ้น เพราะมีความคิดว่า พวกเขาไม่มีทางบริหารเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้ ไม่มีทาง! เพราะฉะนั้น ก็ต้องระวัง

แต่คนอื่นกลับลำบาก ทั้งคนไม่คาดคิดเตรียมการ และลำบากหนักสุดก็คนทำธุรกิจขนาดเล็กที่โดนเยอะ คนรายได้น้อยก็หนักอีก

ผมมีโดนในเชิงการทำงานเล็กน้อยแต่ไม่มาก โดยเฉพาะรายการเจาะข่าวตื้น ก็มีเจ้าหน้าที่เข้ามาถามว่า ทำเรื่องนี้อีกไหม เพราะกังวลช่วงนักศึกษาโดนจับขึ้นศาลทหาร พวกเขามีความกลัวว่าจะนำพาไปสู่การลุกฮือไหม

ผมก็บอกว่าเดี๋ยวไปทำเรื่องอื่นแล้ว แต่อีกใจหนึ่งก็รู้สึกว่า พวกเขามีความกลัว ความกังวลและไม่มั่นคงในอำนาจ ไม่อาจถึงขั้นคุกคาม แต่เรียกว่าโดนจับจ้องบ้าง

ผมรู้สึกแอบสะใจเล็กๆ ที่คนยึดอำนาจกลับไม่มีความมั่นคงในอำนาจอย่างนี้

ส่วนเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ยังคงเหมือนเดิม ผมโพสต์หรือทวีตข้อความบนข้อเท็จจริง หลักการสากล ก็เลยไม่ได้มีความรู้สึกว่าจะต้องกังวล

แต่ยอมรับตอนยึดอำนาจใหม่ๆ ก็มีกังวล แต่เรารู้สึดอัดอั้น ความรู้สึกเศร้าและอึดอัดใจที่เห็นคนรอบข้างในอุตสาหกรรมบันเทิง ยินดีกับรัฐประหาร

จริงๆ ถ้าแค่เลือกตั้งใหม่ ให้การเมืองแก้ไขปัญหาเอง ตบให้เข้าที่ก็ทำได้ แต่การฝากความหวังให้ทหาร พวกเขามีความสามารถอะไรในการบริหาร แถมตรวจสอบไม่ได้

คนที่เคยเชียร์หรือยินดีออกนอกหน้ากับการรัฐประหาร ก็รู้สึกแย่กับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะเห็นตัวตนของคนยึดอำนาจ ตอนนี้ไม่ใช่แค่เราคนเดียวที่แสดงความเห็น แต่คนบันเทิงจำนวนหนึ่งก็เริ่มแสดงออกแล้วว่ามีความไม่พอใจ และความกลัวต่อ คสช.ลดลงไปเยอะ

 

สื่อมวลชน : วิจารณ์ด้วยความเห็นใจ

จอห์นกล่าวถึงบทบาทสื่อยุค คสช.ว่า ผมเคยได้ทำงานกับทีวีช่องหนึ่ง พวกเขาเจอแรงกดดัน ทั้งจากฝ่ายบริหาร หรืออะไรต่างๆ ซึ่งต้องระมัดระวังในการนำเสนอข่าวเพราะจะกระทบกับช่องของพวกเขา แต่นั่นก็เป็นเรื่องน่าเศร้าอยู่ดี การทำข่าวต้องมีความเกรงกลัวจากรัฐบาลด้วยเหรอ?

ถ้าเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ก็เห็นโพสต์หรือโวยวายเต็มที่ ขนาดละครยังด่า ต่อยุครัฐบาลทหาร เรื่องนาฬิกาหรู ตอบคำถามสื่อ การใช้อำนาจของ ม.44 คือแบบ ก็น่าเศร้าที่ไม่ได้รับการติดตามแบบเข้มข้น

แล้วยังมีสื่อบางคนที่ผมติดตามแต่รู้สึกเซ็งว่าทำไมมองข้าม หรือเมินเฉยกับความผิดปกติของสังคม แม้สนับสนุนการยึดอำนาจ พวกเขานิ่งเฉยได้ยังไง หรือการเลือกตั้งที่ผิดปกติ จะไม่หาคำตอบกับประชาชนหน่อยหรือ?

แต่ไม่ตำหนิเพราะเข้าใจว่าทุกคนต้องเอาตัวรอด แต่ก็อยากขอว่า ถ้าคุณเสียสละทำตามหลักการหรืออะไรที่ผิดปกติต้องรายงาน ซึ่งจะพาสังคมไทยพ้นจากวังวนนี้ ผมว่าปล่อยออกมา ทำหน้าที่ให้เต็มที่ดีกว่า ประชาชนต้องการข้อมูลเพื่อตัดสินใจและแสดงจุดยืน

 

5 ปี คสช. และรัฐบาลใหม่
จากมรดกรัฐประหาร

จอห์นกล่าวว่า ทั้งหมดคือการกลับไปวังวนเดิม ใช้อำนาจโดยไม่สนใจประชาชน ยอมรับว่าเมื่อก่อนเครียด คิดว่าเมื่อไหร่ คสช.จะไปซะที แต่ตอนนี้กลับรู้สึกว่า คือ 5 ปี เราเอาคืนมาไม่ได้อยู่แล้ว แต่พอมองในแง่ดี เราได้เห็นธาตุแท้ของคนที่มาเกี่ยวข้องกับ คสช.เยอะแยะมากมาย ไม่ว่าตัว คสช.เอง พรรคพวก คนเข้ามาเป็น สนช. เข้ามาเป็น กรธ. จนตอนนี้เป็น ส.ว. หรือแม้แต่สื่อเอง ข้าราชการประจำที่สนับสนุน คสช. ผมรู้สึกว่า เราได้ตัวตนที่แท้จริงของพวกเขา ถ้าไม่ถึง 5 ปี เราอาจไม่ได้เห็นพวกเขาแสดงตัวตนออกมาก็ได้ รวมถึงนักการเมืองด้วย

ใครที่เราควรสนับสนุน ใครควรจับตามอง โซเชียลมีเดียตอนนี้ก็ช่วยไม่ให้คนลืมได้ด้วย แล้วผมมองข้ามช็อตไปถึงการเลือกตั้งครั้งต่อไปแล้ว ถึงตอนนั้นคงมีอะไรสนุกๆ ออกมามากกว่าการเลือกตั้งมีนาคมที่ผ่านมา

ส่วนรัฐบาลใหม่หลัง คสช. ผมรู้สึกว่ายังไม่ราบรื่นเลย เห็นอารมณ์หงุดหงิดของผู้มีอำนาจ เห็นความกระวนกระวาย รู้สึกว่า กติกาที่เขียนให้เข้าทาง มีองค์กรอิสระแล้ว ก็ยังดูมีความยากลำบาก เพราะกระแสสังคมกดดันหนัก ซึ่งจะไม่ราบรื่น และประเทศไทยก็จะติดลูปความวุ่นวายไปเรื่อยๆ

ตราบใดที่ยังไม่เป็นไปตามกติกาหรือทำอะไรโปร่งใส ยึดติดตัวบุคคลมากกว่าระบบ คนถืออำนาจตอนนี้ควรรู้ตัวว่าควรไปได้แล้ว