คนของโลก : ไอ.เอ็ม. เป ชายเบื้องหลังพีระมิดลูฟร์

พีระเมิดลูฟร์ ประตูทางเข้าสู่พิพิธภัณฑ์ลูฟร์อันโด่งดังในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส มีอายุครบรอบ 30 ปีไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

แน่นอนว่าสถาปัตยกรรมหนึ่งในสัญลักษณ์ของกรุงปารีสจะยังคงตระหง่านอยู่ต่อไปอีกนานเท่านาน ทว่าสถาปนิกผู้อยู่เบื้องหลังสถาปัตยกรรมสะดุดตาแห่งนี้ได้จากโลกนี้ไปแล้วด้วยวัย 102 ปี เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ผลงานสถาปัตยกรรมของเป สถาปนิกชาวอเมริกันเชื้อสายจีนจำนวนมากตั้งแต่พีระมิดลูฟร์ที่สร้างชื่อมากที่สุด เรื่อยไปจนถึงอาคารที่ทำการ “แบงก์ ออฟ ไชน่า” ในฮ่องกงนั้นถูกมองว่าเป็นการใช้ความทันสมัยเสริมด้วยรากฐานมาจากประวัติศาสตร์ในการออกแบบ

“สถาปนิกร่วมสมัยมีแนวโน้มที่จะนำเอาความทันสมัยมาใช้ในบางสิ่ง แม้จะมีการโยงถึงประวัติศาสตร์บ้างแต่ก็ไม่ลึกนัก” เประบุกับเดอะนิวยอร์กไทม์สเอาไว้เมื่อปี 2008

“สถาปัตยกรรมที่อยู่ยืนยงนั้นต้องมีรากเหง้า” เประบุ

 

เกิดในประเทศจีน เมื่อปี 1917 ลูกชายของนายธนาคาร เดินทางเข้าสู่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่อายุ 17 ปี เรียนจบปริญญาตรีด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) ในปี 1940 จบระดับปริญญาโทในสาขาวิชาเดียวกันจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในปี 1946 ก่อนจะได้สัญชาติอเมริกันในปี 1954

ผลงานในช่วงแรกของเป ที่โดดเด่น เช่น อาคารด้านตะวันออกของหอศิลป์แห่งชาติในกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ที่เปิดให้เข้าชมครั้งแรกเมื่อปี 1978

อาคารที่สร้างขึ้นด้วยหินที่มีเหลี่ยมมุม พีระมิดแก้วขนาดใหญ่ ประกอบกับน้ำตกความสูง 15 เมตร ส่งผลให้อาคารหลังดังกล่าวยังคงกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความทันสมัยของกรุงวอชิงตัน แม้จะผ่านมาถึง 30 ปีแล้วก็ตาม

ผลงานอันเป็นที่จดจำมากที่สุดของเป เกิดขึ้นเมื่อฟรังซัวส์ มิตเตอรองด์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศสในเวลานั้นต้องการสร้างพีระมิดที่พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ เพื่อแก้ปัญหาทางเข้าพิพิธภัณฑ์ให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้เป็นจำนวนมาก

เปผู้ออกแบบพีระมิดกระจกใสขนาดยักษ์ซึ่งสร้างเสร็จและเปิดใช้งานในปี 1989 นั้นได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากรูปทรงอันแปลกตา ทว่าผลงานของเขาก็กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของกรุงปารีสไปแล้วในเวลานี้

“หลังจากลูฟร์ ผมคิดว่าไม่มีโครงการไหนที่จะยากไปกว่านี้แล้ว” เประบุ

 

ผลงานอื่นๆ ของเปที่เป็นที่รู้จักนั้นรวมไปถึงหอเกียรติยศและพิพิธภัณฑ์ร็อกแอนด์โรลในเมืองคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ, พิพิธภัณฑ์มิโฮะ ในประเทศญี่ปุ่น, มอร์ตัน เมเยอร์สัน ซิมฟอร์นี เซ็นเตอร์ ในเมืองดัลลัส รวมไปถึงหอสมุดจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ในเมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา

ชื่อเสียงของเปส่งผลให้สถาปนิกชื่อดังได้รับการว่าจ้างให้ทำงานที่ไม่ถนัดด้วย อย่างการออกแบบพิพิธภัณฑ์ศิลปะอิสลาม ในกรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ พิพิธภัณฑ์ที่เปิดให้เข้าชมเมื่อปี 2008 ที่ผ่านมา ผลงานที่ทำให้เปใช้เวลานานหลายเดือนเดินทางในอียิปต์ และตูนิเซีย เพื่อหาแรงบันดาลใจ

เปกระตือรือร้นที่จะสนับสนุนศิลปะและการศึกษา เคยนั่งเป็นที่ปรึกษาให้กับหอศิลป์ในนครนิวยอร์กที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและเอ็มไอที รวมไปถึงนั่งเป็นที่ปรึกษาให้กับคณะกรรมการด้านศิลปะในรัฐบาลหลายตำแหน่ง

เปเคยมอบเงินที่ได้รับจากรางวัล “พริตซ์เกอร์ อะวอร์ด” รางวัลที่เทียบเท่ากับออสการ์ในวงการสถาปัตยกรรมศาสตร์ มูลค่า 100,000 ดอลลาร์ เป็นทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาจากประเทศจีนได้มาศึกษาต่อในสหรัฐอเมริกา

 

นอกจากนี้ สถาปนิกชื่อดังยังเป็นสถาปนิกคนแรก เคยเป็น 1 ใน 12 ผู้แปลงสัญชาติที่ได้รับเหรียญแห่งเสรีภาพจากมือประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ในปี 1986 ก่อนจะได้รับเหรียญแห่งอิสรภาพ จากประธานาธิบดีจอร์จ บุช ในปี 1993

นอกจากนี้ เปยังได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของฝรั่งเศสชั้นอัศวิน ก่อนจะได้รับในระดับสูงขึ้นเป็นชั้นเจ้าพนักงานในปี 1993 หลังจากการก่อสร้างพีระมิดพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ในเฟสที่ 2 เสร็จสิ้นเมื่อปี 1993 ด้วย

นอกจากผลงานที่ฝรั่งเศส การมีส่วนร่วมกับรัฐบาลและเอกชนแล้ว เปยังทำงานที่เกี่ยวข้องกับบ้านพักคนรายได้ปานกลางและรายได้น้อยด้วย

“ความสามารถและทักษะของเขาในการใช้วัสดุต่างๆ เข้าขั้นกวีนิพนธ์” คณะกรรมาธิการรางวัลพริตซ์เกอร์เมื่อปี 1983 ระบุ

และว่า “ประสาทสัมผัสและความอดทนทำให้เขาสามารถดึงเอาผู้คนที่มีความสนใจในสาขาวิชาแตกต่างกันมาทำงานเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้”