รายงานพิเศษ : ชวนคุยกับ “เนติวิทย์” ต่อจุดยืน “เกณฑ์ทหาร” และ “การปฏิเสธด้วยมโนธรรมสำนึก”

เดือนเมษายนของทุกปี นอกจากวันหยุดยาวแล้ว ยังเป็นช่วงของการเรียกบุคคลเข้ารับการตรวจเป็นทหารกองประจำการ หรือเรียกง่ายๆ คือ “เกณฑ์ทหาร” เป็นช่วงวัดใจของชายไทยทุกคนที่ลุ้นกันว่าจะจับได้ใบดำหรือใบแดง

ความท้าทายที่สำคัญในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งกองทัพต้องออกมาชี้แจงต่อสังคม ไม่เพียงเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการเสียชีวิตของทหารที่มีทุกปีเท่านั้น กระแสการเปลี่ยนระบบคัดบุคคลเป็นทหารให้มาเป็นระบบสมัครใจ ก็ถูกพูดถึงและผลักดันในระดับพรรคการเมืองขึ้นด้วย

ซึ่งสัญญาณดังกล่าวดังมากขึ้นจนเกิดการถกเถียงระหว่างฝ่ายสนับสนุนกับฝ่ายยกเลิกระบบเกณฑ์ทหาร

อีกด้านหนึ่ง ยังมีกระแสเรียกร้องระดับบุคคลที่เห็นมาต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 แล้วสำหรับ แฟรงค์-เนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล อดีตประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการเยาวชนของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เด็กหนุ่มสวมแว่นเหมือนเด็กเรียนคนนี้ ได้เรียกร้องสิ่งที่อาจไม่ค่อยได้ยินกันมาก่อนท่ามกลางค่านิยมและกฎหมายบังคับของไทย

สำนึกที่จะไม่ใช้ความรุนแรงใดกับใครด้วย “มโนธรรมของมนุษย์”

 

“เนติวิทย์” ที่ตอนนี้เรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 ของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ แต่ก็ได้ร่วมงานกับเพื่อนร่วมสถาบัน ตั้งสำนักพิมพ์สามย่านเพื่อผลิตหนังสือแปลซึ่งตอนนี้มีหลายเล่มแล้ว และยังเป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาในมาตรา 116 จากกรณีชุมนุมบนสกายวอล์กแยกปทุมวัน หรือกรณี MBK39 ได้ชวนคุยย้อนถึงสิ่งที่เรียกว่า “การปฏิเสธด้วยเหตุมโนธรรมสำนึก” (Consciousness Objector) และเป็นจุดยืนที่เนติวิทย์แสดงออกให้ทุกคนรู้ว่า “เขาไม่อยากเป็นทหาร”

เนติวิทย์เริ่มที่ว่า “การปฏิเสธเป็นทหารด้วยเหตุผลมโนธรรมสำนึก” เป็นแนวคิดที่มีมานานในหลายประเทศ ซึ่งในแถบยุโรปก็ยอมรับว่ามีคนกลุ่มหนึ่งมองว่า การทำสงคราม เป็นสิ่งที่ละเมิดชีวิตคนและสำหรับพวกเขา พระเจ้าประทานชีวิตให้พวกเขา ไม่ได้ประทานให้ไปฆ่าคน ซึ่งก็เป็นลูกของพระเจ้าเช่นกัน ทางตะวันตกหรือชาวคริสต์จะมีความคิดแบบนี้ ในอดีตมีคนต่อต้านการเกณฑ์ทหารด้วยเหตุผลนี้มาตลอด

“ผมได้รับแนวคิดจากการอ่านหนังสือ โดยเฉพาะหนังสือของ อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้ชี้แนะเรื่องนี้ และทำให้สนใจว่าคืออะไร จึงได้ค้นในอินเตอร์เน็ต แล้วผมยังได้พบชาวต่างชาติที่เป็นนักสันติวิธี จัดเสวนา ซึ่งทุกวันนี้ยังทำอยู่ มีคนหนึ่งเคยเป็นอาจารย์สอนอยู่ธรรมศาสตร์ เขาเคยเป็นผู้ปฏิเสธเกณฑ์ทหารเหมือนกับคนสุดท้ายในสงครามเวียดนาม นั้นทำให้เป็นที่มาว่ารู้จักได้ยังไง ต่อมาตอนอายุ 18 ขณะอยู่ที่อินเดีย ผมดูหลายเงื่อนไขว่าจะประกาศดีไหมว่า เราเป็นคนไม่เอาเกณฑ์ทหารด้วยมโนธรรม ตอนนั้นเป็นอะไรที่ค่อนข้างคิดเยอะว่าควรทำดีไหม แต่สถานการณ์ตอนนั้นคือหลังรัฐประหาร จึงคิดว่าเหมาะแล้ว ผู้ปฏิเสธการเกณฑ์ทหารด้วยมโนธรรมส่วนตัวและในเรื่องการเมืองด้วย”

เนติวิทย์กล่าว

 

เมื่อถามว่าเป็นคนไม่ชอบใช้ความรุนแรงหรือไม่

เนติวิทย์ตอบว่า ใช่ ผมเป็นคนไม่ชอบใช้ความรุนแรง และผมคิดว่าการใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องไม่จำเป็นในโลกสมัยใหม่ จริงๆ ไม่จำเป็นมาตลอด เรามีวิธีแก้ปัญหาอีกมาก และธรรมชาติมนุษย์ของเขาก็ต้องส่งเสริมมีสันติภาพระหว่างบุคคลมากกว่า จึงไม่จำเป็นที่ต้องทำสงคราม ไม่จำเป็นต้องเกณฑ์ทหาร แต่ก็ไม่ปฏิเสธว่าคนอื่นทำแล้วไม่ถูก เขาก็มีสิทธิเกณฑ์ทหาร

ดังนั้น จุดร่วมของผมคือ ให้เป็นระบบสมัครใจ ผมต้านเกณฑ์ทหาร แต่ก็สามารถรับใช้ชาติในทางอื่นได้ ถ้าชาตินี้เป็นของประชาชน เกื้อกูลประโยชน์ของประชาชน ในฐานะพลเมืองก็ต้องรับใช้ชาติ แล้วทีนี้อีกอย่างยิ่งมั่นใจมากขึ้นคือ ได้อ่านหนังสือของ อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่มีคนค้นพบและไม่เคยถูกเผยแพร่มาก่อน

อ.ป๋วยเคยทำในสภาช่วงปี 2517 โดยได้พูดชัดและอยากให้ระบุในรัฐธรรมนูญว่า ต้องมีผู้ปฏิเสธเกณฑ์ทหาร และไม่รู้ด้วยเพราะบังเอิญคิดตรงกันหรือไม่ แต่ศีลในศาสนาพุทธที่ระบุว่า “ปาณาติบาต” การฆ่าสัตว์ว่าบาปแล้ว ฆ่าคนไม่บาปยิ่งกว่าหรือ อ.ป๋วยยกตัวอย่าง ถ้ามีเด็กที่ถูกสั่งสอนมาดี ไม่ยิงนก แต่ถ้าต้องไปเกณฑ์ทหารฆ่าคน ซึ่งผิดกับมโนธรรม ก็ต้องให้โอกาสเขาทำอย่างอื่น

เมื่อคนหนึ่งไม่อยากฆ่าคน ไม่อยากใช้ความรุนแรง ไม่ว่าด้วยเหตุผลส่วนตัวหรือศาสนา เขาควรมีสิทธิเลือกในประเทศแห่งนี้

 

เนติวิทย์ได้นำแนวคิดนี้เสนอสู่สังคมในการผ่อนผันเกณฑ์ทหารครั้งแรก แต่สิ่งที่ได้รับนั้น เนติวิทย์กล่าวว่า สังคมไม่เข้าใจ ดังนั้น ส่วนใหญ่จึงพูดง่ายๆ ว่าเปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจ และระบบสมัครใจของผมก็ต้องรวมเรื่องนี้ด้วย ไม่ใช่มีแค่ผมคนเดียว เพิ่งรู้ว่ามีกลุ่มศาสนาคริสต์บางกลุ่มต่อต้านเกณฑ์ทหารมาก แต่ทำกันอย่างลับๆ สมาชิกบางคนเคยติดคุกเพราะหนีเกณฑ์ทหาร และจริงๆ คนที่เป็นชาวพุทธก็ควรมีสิทธิเลือก ตีความคำสอนพระพุทธเจ้า มีพระสูตรรองรับด้วยซ้ำว่า การเป็นทหารเนี่ย เสี่ยงมากที่จะเป็นบาป

เนติวิทย์กล่าวอีกว่า แนวคิดนี้นอกจากสังคมแล้ว แม้แต่สัสดีหรือทหารที่ดูแลการเกณฑ์ทหารก็ไม่เข้าใจ เพราะประเทศไทยไม่เคยฝึกให้มาใส่ใจความรู้สึกคนอื่นที่ละเอียดอ่อนว่า คนนั้นแตกต่างและมีความคิดของตัวเอง แต่บ้านเราไม่สนตรงนี้ ดังนั้น จึงมักได้ยินว่า “พูดอะไรไร้สาระ” หรือ “เหลวไหลทั้งนั้น”

เราจึงไม่เจริญก้าวหน้าซักที เพราะไม่เคยพยายามเข้าใจในตัวมนุษย์เลยว่ามีความรู้สึกที่ละเอียดอ่อน

 

กรณีผู้ปฏิเสธเป็นทหารด้วยมโนธรรมสำนึกที่ตกเป็นข่าวล่าสุด เกิดขึ้นที่เกาหลีใต้ โดยเฉพาะเด็กหนุ่มหลายพันคนเลือกที่จะหลีกเลี่ยงเข้าเกณฑ์ทหารด้วยการทำให้ตัวเองไม่ผ่านการตรวจร่างกาย ทั้งเพิ่มน้ำหนักเกินมาตรฐานหรือทำให้ร่างกายบาดเจ็บสาหัส จนทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้เตรียมพิจารณาทางเลือกด้วยเหตุผลของมโนธรรมสำนึก

เนติวิทย์กล่าวถึงกระแสดังกล่าวว่า รัฐบาลเกาหลีใต้เตรียมแก้ไขกฎหมายนี้ เพราะคนติดคุกเยอะมาก ซึ่งหลายคนเชื่อว่าพระเจ้าสอนให้ทำดี หรือในกรณีสหรัฐมีคนปฏิเสธทำสงครามที่อิรัก คือจู่ๆ ไม่จับอาวุธจนต้องติดคุก ซึ่งสาเหตุมาจากเขาอ่านคำสอนของพระพุทธเจ้า

อีกทั้งเรื่องการปฏิเสธด้วยมโนธรรมสำนึกไม่ได้จำกัดในแง่ศาสนาอย่างเดียว ยังมีอีกกรณีคืออ้างเพราะความรักชาติ อย่างเกาหลีที่ถูกแบ่งเป็นเหนือกับใต้ แต่ทั้งสองประเทศก็เป็นชนชาติเดียวกัน จะเกณฑ์ทหารเพื่อไปฆ่าคนเกาหลีเหนือจึงเลือกปฏิเสธเพราะว่าเป็นคนชาติเดียวกัน ความรู้สึกถึงสันติภาพ ไม่ได้เกี่ยวแค่แง่ศาสนาอย่างเดียว

หรืออีกเรื่องคือ เคยอ่านงานวิทยานิพนธ์ที่ศึกษาโรงเรียนนายร้อย พบว่าช่วงแรกหลังก่อตั้ง คนไทยไม่ไปสมัคร ด้วยเหตุผลที่ว่า คนไทยไม่อยากจับอาวุธไปฆ่าคน

อย่างไรก็ตาม เนติวิทย์กล่าวว่า เรื่องแบบนี้ผมไม่เรียกร้องให้ใครเป็นผู้ปฏิเสธ เพราะราคาที่ต้องจ่ายนั้นสูงมาก เหมือนตอนที่ตัวเองเจอคือ ให้จ่าย 5 หมื่นไม่ต้องไปเกณฑ์ เราทำไม่ได้ คือเราเข้าใจข้อจำกัดของคนอื่น แต่ผมพยายามบอกว่าสำคัญยังไง ในขณะเดียวกันก็เข้าใจเขา

คนที่เลือกเป็นผู้ปฏิเสธมีทางเลือกไม่เยอะ ต้องติดคุก ต้องเสี่ยงชีวิต

 

ในกระแสการเลือกตั้งที่ผ่านมา มีบางพรรคการเมืองชูนโยบายปฏิรูปกองทัพ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการเปลี่ยนระบบคัดเลือกทหารจากการเกณฑ์ทหารเป็นระบบสมัครใจ

เนติวิทย์มองว่า แน่นอน ผมอยากผลักดันเรื่องนี้ เรื่องมโนธรรมสำนึกควรจะเพิ่มเข้าไปด้วย สำหรับคนที่ละเอียดอ่อนทางความคิด แต่ถ้ากังวลกันว่า เดี๋ยวไม่มีคนเกณฑ์ทหารหรือถ้ามีสงครามจะทำยังไง ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าผู้ปฏิเสธมีหลายแนวมาก ถ้ามีสงครามขึ้นจริงๆ ในฐานะพลเมืองก็ต้องเข้าร่วม แต่เราจะเข้าร่วมในจุดไหนก็ได้

แต่ว่าประเทศไทยคงไม่เกิดภาวะแบบนั้นขึ้นง่าย จริงๆ มีตัวเลือกมากมาย บริการสังคมก็ได้ ผมว่านี่คือความจำเป็นของประเทศไทย อย่างตอนอยู่อินเดีย เจอชาวสวิสคนหนึ่ง บอกว่าเข้าเกณฑ์ทหารและรัฐบาลส่งมาทำงานเอ็นจีโอ

การเกณฑ์ทหาร สาระสำคัญคือ การทำให้รู้สึกรักชาติ รู้สึกรักพี่น้องเดียวกัน แต่การไปอยู่ในกองทัพ คุณไม่ได้รู้สึกอย่างนั้นหรอก การที่รู้สึกว่าคนที่ไม่มาเพราะมีเงิน ในขณะที่ทหารเกณฑ์ส่วนใหญ่เป็นคนจน ซึ่งในสังคมทหารเกณฑ์ก็มีแบ่งชนชั้นด้วย ยิ่งใส่แว่นจะถูกมองอีกแบบ หรือเรียนจบ ป.ตรี จบ ม.6 ก็ไม่เท่าเทียมกันอีก แถมยังอิจฉากันด้วย ดังนั้น กุศโลบายการเกณฑ์ทหารที่ดีที่สุดคือ ต้องทำให้คนได้ทำงานมีส่วนร่วมกันอย่างเท่าเทียม ช่วยเหลือคนในประเทศ ผมว่าดีกว่าและประเทศชาติจะเข้มแข็งด้วย

ทั้งนี้ ระบบเกณฑ์ทหารของไทย ตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497 ระบุไว้ว่า ชาวไทยที่มีอายุย่าง 18 ปี จะต้องไปแสดงเพื่อลงบัญชีทหารกองเกิน ก่อนเข้าสู่การตรวจเลือกเข้าทหารกองประจำการ ถ้าฝ่าฝืนไม่ไปรับตรวจเลือก จะต้องถูกจำคุกไม่เกิน 3 ปี

เนติวิทย์กล่าวถึงตรงนี้ว่า ก็ไม่รู้สึกยังไง ต้องมีคนแรกก่อน ผมก็แปลกใจว่า ทำไมก่อนหน้านี้ไม่มีคนทำ ทั้งที่รู้ว่าทหารไทยเป็นปัญหา การทำแบบนี้ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นการต่อสู้เพื่อส่วนรวมด้วย

ตั้งแต่ผมอายุ 18 ก็คิดเรื่องนี้มาตลอด นับถอยหลังทุกวัน จิตใจต้องพร้อม แต่ก่อนถึงวันนั้นก็ต้องรณรงค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้ได้ ซึ่งน่ายินดีที่มีพรรคการเมืองพยายามเปลี่ยนแปลง

ไม่รู้ว่าได้ผลหรือไม่ แต่ก็ต้องทำ