รายงานพิเศษ : การเลือกตั้งไทยเสรี-เป็นธรรมจริงหรือ? จากมุมมอง 3 องค์กร-เครือข่ายผู้สังเกตการณ์

แม้ผ่านมากว่า 1 สัปดาห์แล้ว แต่เสียงวิจารณ์ต่อการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการจัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมายังคงดังอย่างต่อเนื่องและขยายตัวมากขึ้น ไม่ว่าปริมาณรายชื่อเสนอถอดถอน กกต. ประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา แม้แต่ความกังวลต่อการเมืองไทยหลังการเลือกตั้งก็มีมากขึ้นไปด้วย

ไม่เพียงผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวไทยส่วนใหญ่จะออกมาตั้งคำถามถึงความเป็นอิสระและความเชื่อมั่นของ กกต. ผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งที่ติดตามการทำงานของ กกต. และบรรยากาศการเลือกตั้ง ตั้งแต่ช่วงหาเสียงที่มีเวลาเพียงเดือนเศษ หลังประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง จนถึงวันเข้าคูหา ก็พบเรื่องทั้งดีและมีปัญหามากมาย

สิ่งที่ผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งค้นพบ จะสามารถบ่งชี้ได้มากแค่ไหนว่า การเลือกตั้งไทยที่ผ่านพ้นไป บริสุทธิ์ ยุติธรรมและเสรี อย่างที่ผู้มีอำนาจและ กกต.ยืนยันกับสังคมให้มีความเชื่อมั่น ท่ามกลางคำถามและความคลางแคลงใจมากมาย

 

“ANFREL” ชี้เลือกตั้งราบรื่น
แต่ความน่าเชื่อถือกลับเต็มไปด้วยคำถาม

เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี หรือ “อันเฟรล” องค์กรระหว่างประเทศเฉพาะด้านในการสังเกตการณ์เลือกตั้งระดับภูมิภาคเอเชีย ได้ออกรายงานผลการสังเกตการณ์เลือกตั้งโดยสังเขป โดยอันเฟรลได้ส่งผู้สังเกตการณ์จากต่างประเทศกว่า 30 ชีวิต ในการสังเกตการณ์หน่วยเลือกตั้งทั้งวันเลือกตั้งล่วงหน้าและวันเลือกตั้งทั่วไป

ในส่วนสรุปของรายงานชิ้นนี้ อันเฟรลชมประเทศไทยที่จัดการเลือกตั้งได้อย่างราบรื่น ไม่เกิดเหตุวุ่นวาย มีผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งถึง 75% ซึ่งอันเฟรลถือว่าพวกเขายังเชื่อมั่นต่อการเลือกตั้งและโอกาสในการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ต้องนำทุกประเด็นทั้งของผู้สังเกตการณ์และผู้ใช้สิทธิมาปรับเพื่อส่งเสริมและฟื้นความเชื่อมั่นต่อการเลือกตั้ง แม้จะราบรื่นแต่ก็ยังพบข้อบังคับในการกาลงคะแนนที่เข้มงวดเกินไป ทำให้บัตรเลือกตั้งกว่า 2.8 ล้านใบกลายเป็นบัตรเสีย

อีกทั้งสภาพแวดล้อมทั่วไปในช่วงการเลือกตั้งนั้น สำหรับอันเฟรลมองว่าเอนเอียงหนักไปให้กับกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลทหาร คสช. และกรอบกฎหมายจำนวนมากที่บังคับใช้อยู่ ส่งผลลดทอนการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ประชาสังคมและผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง

ขณะที่ประเด็นการซื้อเสียงและการใช้ทรัพยากรของรัฐ อันเฟรลได้ให้รายละเอียดว่า พบการทุจริตหน้าที่ในหลายพื้นที่ แม้บางส่วนของรายงานดูเหมือนจะไม่มีหลักฐานที่บ่งบอกได้ว่าเป็นเรื่องจริง ในขณะที่มีความพยายามลดการซื้อเสียงมากขึ้นเพื่อทำให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างโปร่งใส

แต่ทรัพยากรของรัฐนั้นกลับถูกใช้ในทางที่ผิด โดยเฉพาะความสัมพันธ์ของโครงการของรัฐบาลกับการหาเสียงเป็นไปอย่างกว้างและลึก โดยเฉพาะ 7 โครงการสวัสดิการประชารัฐ มีการอนุมัติเพิ่มวงเงินในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของการหาเสียง

ส่วนสถานการณ์ในวันที่ 24 มีนาคม อันเฟรลถือว่าค่อนข้างไปเป็นอย่างเรียบร้อย แต่กระนั้น อันเฟรลยังคงได้รับรายงานว่ามีหลายหน่วยเลือกตั้งไม่มีความสม่ำเสมอต่อขั้นตอนและกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการเลือกตั้ง การฝึกฝนเจ้าหน้าที่ดูแลการเลือกตั้งที่ยังคงไม่เข้าใจหลักปฏิบัติ

การใช้สถานที่ตั้งหน่วยเลือกตั้งอย่างไม่เหมาะสม เช่น การตั้งหน่วยเลือกตั้งในร้านธงฟ้าประชารัฐ (ชื่อมีความพ้องกับพรรคพลังประชารัฐ)

ในขณะที่ช่วงนับคะแนน อันเฟรลมีความเป็นห่วงมากต่อความโปร่งใสในการนับคะแนนและการดำเนินการอื่นในช่วงนั้น ซึ่งไม่มีตัวแทนจากสื่อหรือพรรคการเมืองมาร่วมสังเกตการณ์ รวมถึงการนับคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า ไม่มีการเปิดเผยออกสู่สาธารณชน ปราศจากการเข้าถึงที่จำเป็นในการตรวจสอบกระบวนการเลือกตั้งอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่ช่วงเปิดหีบจนถึงช่วงนับคะแนน ทำให้ผู้สังเกตการณ์ไม่สามารถผลิตข้อมูลที่ชัดเจนต่อความน่าเชื่อถือของผลการเลือกตั้งโดยรวมได้

ทั้งที่ๆ กลไกจัดการการเลือกตั้งจะต้องทำให้เชื่อมั่นว่าผลการเลือกตั้ง ไม่เพียงต้องแม่นยำ แต่ผลยังต้องมาจากกระบวนการที่น่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับจากสาธารณชน

 

“คนส.” การจัดเลือกตั้งเป็นไปตามมาตรฐาน?

ด้านเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง เครือข่ายของนักวิชาการเพื่อส่งเสริมสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย (คนส.) ที่ตั้งขึ้นในยุค คสช. ก็ได้เผยแพร่รายงานการสังเกตการณ์ในวันที่ 24 มีนาคม ระบุว่ามีอาสาสมัครทั้งจากอาจารย์และนักศึกษาร่วมลงพื้นที่ 160 เขต จาก 350 เขตทั่วประเทศ พบการทุจริตถึง 27 เขต หรือ 17% จากทั้งหมด โดยส่วนใหญ่คือพื้นที่กรุงเทพมหานคร

คนส.ระบุอีกว่า ในส่วนพฤติกรรมทุจริตที่พบนั้น มีการกระทำส่อทุจริตก่อนให้ลงคะแนนถึง 2.5% มากที่สุดคือ ปิดประกาศรายชื่อผู้สมัครไม่ครบถ้วน ตามเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยไม่ครบ และหีบเลือกตั้งไม่ปิดล็อกให้แน่นหนา และยังพบการกระทำส่อทุจริตช่วงลงคะแนน มากที่สุดคือ ใช้สื่อ/แสดงพฤติกรรมชี้นำการเลือกตั้ง การนำคนจำนวนมากมาลงคะแนน และกรรมการไม่ให้ผู้มาใช้สิทธิลงชื่อเป็นหลักฐาน

ส่วนช่วงปิดการลงคะแนน ยังพบการกระทำส่อทุจริต โดยมากที่สุดคือ จัดสรุปจำนวนบัตรเลือกตั้งไม่ตรงกับความเป็นจริง และช่วงนับคะแนนที่ผู้คนให้ความสนใจ พบพฤติกรรมส่อทุจริตมากที่สุดคือ ตัวเลขสรุปผู้มาใช้สิทธิ บัตรดี-บัตรเสีย ไม่ตรงตามจำนวนบัตรที่เหลืออยู่ ตามด้วยการวินิจฉัยบัตรเสียอย่างไม่เป็นธรรม และมีบุคคลภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องกับการนับคะแนน

ผลสรุปความผิดปกติเหล่านี้ คนส.ได้สรุปออกมาเป็นแถลงการณ์ โดยความสำคัญอยู่ที่ การพบข้อพิรุธหลายอย่างที่ส่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เป็นอิสระ สุจริตและยุติธรรม และได้ยื่นข้อเรียกร้องให้ กกต.เปิดเผยคะแนนเสียงดิบทุกหน่วยเลือกตั้งให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้เข้าถึงและตรวจสอบได้ง่าย โดยไม่จำเป็นต้องกลับไปร้องขอดูคะแนนในแต่ละจังหวัด

หากไม่มีการเปิดเผย จะยิ่งตอกย้ำว่า กกต.ปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นกลาง ทำให้การเลือกตั้งขาดความน่าเชื่อถือและส่งผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลอย่างปฏิเสธไม่ได้

 

“We Watch” เลือกตั้งสงบ แต่ไม่โปร่งใส

We Watch ชื่อนี้อาจใหม่สำหรับหลายคน แต่เครือข่ายนี้ถูกก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งมีอาสาสมัครจากหลากหลายอาชีพร่วมทำงานในการสังเกตการณ์เลือกตั้ง จนมาครั้งนี้ We wWatch ได้ออกรายงานเบื้องต้นต่อการเลือกตั้งของไทยที่ผ่านมา โดยสาระสำคัญนั้น We watch ชี้ว่า การเลือกตั้งเต็มไปด้วยความสงบ

แต่กลับไม่โปร่งใส ขาดประสิทธิภาพในการจัดการเลือกตั้ง

We Watch พบว่า การจัดการเลือกตั้งยังขาดความชัดเจนของกฎหมายและระเบียบ กกต. เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยขาดความเข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่ โดยพบว่าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทำหน้าที่แทนกรรมการประจำหน่วย และยังมีการพกพาอาวุธเข้าไปในพื้นที่หน่วย แม้จะไม่ขัดต่อระเบียบของไทย แต่ในระดับสากลถือว่าร้ายแรงมาก

ไม่เพียงเท่านี้ ในหลายหน่วยเลือกตั้ง กรรมการประจำหน่วยปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นที่น่าพอใจ โดยร้อยละ 19.1 ไม่มีการเจาะบัตรที่ไม่ได้ใช้ออกเสียง, ร้อยละ 24.9 ไม่มีความพร้อมให้บริการกับผู้พิการหรือทุพพลภาพ ผู้สูงอายุและสตรีมีครรภ์ โดยเฉพาะการปฏิเสธช่วยลงคะแนนเสียงให้กับผู้พิการ

มีกรณีบัตรเสียที่เกิดขึ้นทั้งจากกรณีบัตรจากนิวซีแลนด์ 1,542 ใบ ไปไม่ถึงเขตก่อนปิดคูหา หรือการแจกบัตรผิดเขตในวันเลือกตั้งล่วงหน้าจนทำให้เกิดบัตรเสียที่ไม่ได้มาจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

แม้การเลือกตั้งครั้งนี้จะมีการจัดเวทีดีเบต ประชันวิสัยทัศน์ ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่กลับพบว่าหลายที่เชิญพรรคการเมืองที่มีนัยยะสำคัญ จนจำกัดโอกาสและความเท่าเทียมกับพรรคการเมืองอื่น

อีกเรื่องที่ We Watch ระบุด้วย แม้ว่าเครือข่ายได้รับอนุญาตจาก กกต.ให้ร่วมสังเกตการณ์ แต่อาสาสมัครของ We watch กลับเจอปัญหาที่เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยไม่ให้ความร่วมมือ

และผู้สังเกตการณ์จากอันเฟรลก็บพบกับการปฏิบัติแบบนี้เช่นเดียวกัน

 

การเลือกตั้งไทยที่ผ่านพ้นไป สิ่งที่ทั้ง 3 องค์กรผู้สังเกตการณ์กล่าวเหมือนกันอย่างหนึ่งคือ กระบวนการเลือกตั้งครั้งนี้ มีปัญหาในมาตรฐานการจัดการเลือกตั้งและการนับคะแนน ซึ่งแม้ว่าจะมีการเปิดเผยคะแนนที่ถูกนับ 100% แล้วก็ตาม

แต่ตัวเลขที่คำนวณจนออกมาเป็นจำนวน ส.ส.ที่ยังไม่เป็นที่ชัดเจน กำลังกลายเป็นประเด็นล่าสุดที่สังคมตั้งคำถามต่อการทำงานของ กกต.

การวางพวงหรีดดำหน้าสถานทูตไทยในกรุงเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ ที่ออกมาไว้อาลัยต่อ 1,542 เสียงที่ไม่ได้ถูกนับ จึงยิ่งตอกย้ำความกังขาต่อมาตรฐานการเลือกตั้งของไทยและความชอบธรรมของรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาต่อจากรัฐบาลทหาร คสช.ที่กุมอำนาจบริหารประเทศมา 5 ปี