เลย์ออฟ มันเรื่องธรรมดา เลือกระหว่างองค์กรสิ้นสลาย หรือปรับให้โอบอุ้มคนที่เหลือได้

ข่าวคราวการปลดพนักงานขององค์กรใดก็ตามเป็นเรื่องน่าใจหาย น่าตกใจ แต่ถ้าหากเราเข้าถึงหลักธรรมของโลก เราก็จะรู้ว่าความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมดา แสนจะธรรมดา เด็กต้องโตเป็นผู้ใหญ่ แก่เฒ่าแล้วก็ต้องจากไป บ้านเรือนมีโอกาสผุพัง ลาภ ยศ สรรเสริญมีวันเปลี่ยน รวยแล้วจน จนแล้วรวย

เพิ่งอ่านข้อคิดของท่านอาจารย์ไพศาล วิศาโล ท่านบอกว่าเปลี่ยนทิศทางลมไม่ได้ แต่เราปรับใบเรือได้

สำหรับพนักงานคนหนึ่งที่อยู่ในองค์กรที่กำลังจะปลดพนักงาน ถ้าหากพนักงานคนไหนสะสมเงินทองไว้มากพอ ก็มีโอกาสหยุดพักตั้งหลัก แล้วเดินสู่เส้นทางชีวิตสายใหม่

สำหรับคนที่ไม่เคยสะสมอะไรไว้ แถมยังผ่อนบ้าน ผ่อนรถไม่หมด ก็แย่เหมือนกัน

การเปลี่ยนแปลงนั้น สำหรับองค์กรหนึ่งๆ ที่ต้องดูแลคนเป็นจำนวนมาก มีทรัพย์สินทางปัญญาที่สะสมไว้ มีทรัพย์สินที่เป็นวัตถุสิ่งของมากมาย ก็ย่อมจะต้องเลือกระหว่างให้องค์กรสิ้นสลายไป หรือปรับให้มันสามารถโอบอุ้มคนที่เหลือได้ และทำให้องค์กรเข้มแข็งกว่าเดิมในโลกแห่งความเป็นจริงที่กำลังเปลี่ยนแปลง

เพราะโลกมันหมุนเร็วรี่

บทเรียนจากองค์กรอื่นๆ ก็มี

 

ขอยกตัวอย่าง Bloomberg Businessweek ซึ่งมีการปรับองค์กรขนานใหญ่เมื่อต้นปีที่แล้ว 2558

Bloomberg Businessweek วางโพซิชั่นตนเองเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องข่าวการเงิน

โลกธุรกิจการเงินทุกวันนี้มันก็เปลี่ยนแปลงไป ตัวอย่างเล็กๆ เช่น เมื่อผู้เขียนไปคุยกับเจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งหนึ่ง เขาบอกว่ารายได้ของธนาคารดีขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงและปรับตัว ที่เคยนั่งรอเงินฝาก เงินกู้ ก็หันมาทำธุรกิจ retail รายได้จากค่าบริการที่ได้รับคือตัวที่ทำให้ธนาคารมีกำไร

โลกทุกวันนี้ขับเคลื่อนด้วยอินเตอร์เน็ต ในแต่ละเดือนผู้เขียนโอนเงินจากหน้าจอมือถือ เสียค่าโอนต่างธนาคารครั้งละ 25 บาท เดือนหนึ่งๆ เสียค่าธรรมเนียมโอนเงินหลายร้อยบาท เพื่อซื้อความสะดวกสบาย

ใครที่ก้าวทันอินเตอร์เน็ตและนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์คือผู้ได้เปรียบและกุมชัยชนะทางธุรกิจในที่สุด

 

ในกรณีของ Bloomberg Businessweek เลือกที่จะปรับโครงสร้างองค์กร ปลดพนักงาน ผู้สื่อข่าวทั้งในสำนักงานที่นิวยอร์ก ยุโรป และเอเชีย จำนวน 30 คนโดนปลดจากงาน ตัวบรรณาธิการของ Businessweek ก็เลือกที่จะเดินจากไปด้วย

นอกจากนี้ ยังเปลี่ยนตัวผู้นำองค์กร โดยซื้อตัว John Micklethwait จาก The Economist มาบริหารโดยทำงานกับ Michael Bloomberg ผู้ก่อตั้ง Businessweek ซึ่งห่างเหินจากธุรกิจสิ่งพิมพ์ไปนั่งเป็น Lord Mayer ของนิวยอร์กอยู่หลายปี

John Micklethwait ไม่เพียงมารั้งตำแหน่ง Editor in Chief ของ Bloomberg แต่เขายังนั่งในตำแหน่ง Media Chief ด้วย

ทำไมถึงไปซื้อตัวบรรณาธิการจาก The Economist มา

 

เพราะ Bloomberg Businessweek ต้องการเปลี่ยน style การนำเสนอ และต้องการบุกด้านออนไลน์ด้วย

ผู้อ่านนิตยสารทั้งสองฉบับนี้รู้ว่าทั้งสองฉบับไม่เหมือนกัน The Economist ลุ่มลึกกว่า นั่นเป็นเรื่อง content ที่ Micklethwait ต้องเข้ามาปรับ

ในด้านโครงสร้าง การปรับของเขาทำให้เห็นถึงโฟกัสของโครงสร้างใหม่ได้อย่างดี

Micklethwait ตั้ง Editorial Management Committee ดูแลงานด้าน editorial ของ Bloomberg News ซึ่งรับผิดขอบด้านข่าว wire news และบทความสำหรับ terminals ที่บรรดานักธุรกิจด้านการเงินเข้ามาใช้

อีกโฟกัสหนึ่งคือ Bloomberg Media ดูแลนิตยสาร ทีวี วิทยุ เว็บไซต์ และอีเวนต์

กลุ่มเป้าหมายของ Bloomberg ได้เปลี่ยนจากแค่นักการเงินมาจับกลุ่มผู้บริโภคธรรมดาด้วย

Micklethwait ได้วางรูปแบบศูนย์กลางคอนเทนต์ เขาบอกว่าข่าวเดียวกัน คอนเทนต์เดียวกันมันไม่ make sense ที่จะมีคนเขียนหลายคน มันซ้ำซ้อน

Micklethwait ให้บรรณาธิการหลักๆ จากรายการทีวี วิทยุ และดิจิตอล นำเสนอเขาผ่าน Editorial Management Committee

เขาบอกว่ามันทำให้องค์กรมีความสมานสามัคคีและเป็นหนึ่งเดียว

 

เมื่อครั้งที่ Micklethwait เป็นบรรณาธิการอยู่ที่ The Economist เขาเป็นผู้ริเริ่มข่าวออนไลน์ เพื่อจับกลุ่มที่ชอบอ่านข่าวบนมือถือ โดยเขาให้นักข่าวที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ส่งข่าวเข้ามา เพื่อความสดใหม่ และน่าเชื่อถือ

ที่ The Economist เขายังเป็นคนแรกที่ริเริ่มเซ็กชั่น China ให้สำคัญเท่าๆ กับ อเมริกา และยุโรป รวมทั้งเซ็กชั่น International ด้วย

อย่าลืมว่า The Economist อายุ 171 ปีแล้ว และการจะเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ใช่เรื่องง่าย

The Economist มีสำนักงานอยู่ทั่วโลก 20 แห่ง การบริหารทั้งหมดนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกัน แต่ด้วยบุคลิกนิ่มนวลของเขา ก็ทำให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยดี

ความใจกว้างของเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารบุคคล Micklethwait บอกว่า “ถ้าใครจะไปแช่อยู่ที่ศรีลังกาสัก 4 วัน ก็ไม่เป็นปัญหา ตราบใดที่เขากลับมาเขียนเรื่องชั้นเลิศ” เขาเข้าใจดีว่าการเขียนให้ลุ่มลึกก็จะต้องมาจากการฝังตัวทำความเข้าใจกับเนื้อเรื่อง

Micklethwait ยังคงมุ่งมั่นต่อไปเพื่อปรับช่องว่าง อันได้แก่ การทำงานที่ซ้ำซ้อนกัน และความร่วมมือกันภายในทีม

อยากรู้เห็นความเปลี่ยนแปลงของ Bloomberg Businessweek ก็ลองคลิกเข้าไปดูกันนะคะ