ไซเบอร์ วอทช์เมน : การปราศรัย จากไลฟ์ออนไลน์สู่บรรยากาศจริง ข้อสังเกตหลากช่องทางสื่อสารในเลือกตั้ง “62

ประชาชนวัยชรากำลังส่งเสียงหัวเราะนั่งฟังนักการเมืองรุ่นเก๋าปราศรัยบนเวทีบริเวณริมน้ำเจ้าพระยางามยามเย็นลมพัดโกรก ในขณะที่อีกด้าน คนวัยทำงานเปิดดูถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ของสำนักข่าวแห่งหนึ่งขณะกำลังกลับบ้านหลังเลิกงาน

นี่คือความแตกต่างที่เกิดขึ้นในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งของไทยก่อนวันเข้าคูหา 24 มีนาคม 2562 จะมาถึง

การติดตามบรรยากาศทางการเมืองที่เหมือนกันแต่รูปแบบไม่เหมือนกันนี้ชัดมากจากครั้งก่อนในปี 2554 กับตอนนี้ ที่การสื่อสารของพรรคการเมืองเข้าหาประชาชนมีความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ

นวัตกรรมการสื่อสารของโลกในยุคปัจจุบันเข้าถึงได้ง่ายขึ้นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับประเทศไทย ช่องทางที่ไม่ซับซ้อนและหลากหลายนี้ทำให้เกิดรูปแบบความสัมพันธ์ใหม่ๆ ขึ้นมากับทุกมิติในสังคมไทย แม้แต่การเมืองเองก็เปลี่ยนโฉมไปด้วย

แต่เรื่องว่าด้วยการสื่อสารรูปแบบใหม่นี้ สร้างความเปลี่ยนแปลงยังไงกับการเมืองไทย โดยเฉพาะการเลือกตั้งหนนี้?

 

กรณีการเลือกตั้งปี 2554

ตอนปี 2554 โซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ยังไม่บูมมากในไทย เพิ่งมาเปิดบริการในไทยไม่กี่ปี ดังนั้น อินเตอร์เน็ตแบบ 2.0 หรือเว็บไซต์ โดยเฉพาะของสำนักข่าวต่างๆ จึงเป็นช่องทางหนึ่งในการเสนอข่าวกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมืองต่างๆ

อีกช่องทางในการสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ตคือเว็บบอร์ดของเว็บไซต์ต่างๆ ที่จะต้องมีห้องกระทู้การเมืองที่รวมบรรดาคอการเมืองตั้งแต่น้องใหม่ยันหายใจเป็นการเมืองสิงสถิตอยู่ คอยตั้งกระทู้และตอบโต้ความคิดเห็นกันอย่างเผ็ดร้อน

บรรดาเว็บบอร์ดการเมืองต่างๆ ในช่วงนั้นเองก็รุนแรงไม่น้อย เพราะยังคงมีอารมณ์ค้างจากเหตุสลายผู้ชุมนุม นปช.ปี 2553 แม้ผ่านไปปีเศษ แต่ความตึงเครียดของการเมืองเหลือง-แดงยังคงดุเดือด คำว่า “ควายแดง-สลิ่ม” ปรากฏให้เห็นตลอด

การปราศรัยทางการเมืองในการเลือกตั้งปี 2554 สื่อทีวียังคงเป็นช่องทางหลักในการสื่อสารกับประชาชน

ในเวลาเดียวกันนั้นเอง วิทยุชุมชนและสื่อดาวเทียมหลายช่องก็แพร่หลาย บ้านแต่ละหลังต้องมีดาวเทียมที่ค่ายผู้ให้บริการต่างๆ เสนอการบริการตอบสนองผู้บริโภค ทีวีดาวเทียมมีอิทธิพลสูงทั้งในเมืองและชนบท อีกทั้งสื่อสำนักต่างๆ ก็มีการเกิดขึ้นของสื่อค่ายการเมืองที่แบ่งเป็นเหลือง-แดงอีก ก็จะนำเสนอข่าวการเมืองโดยเฉพาะพรรคการเมืองที่สื่อดาวเทียมแต่ละแห่งสนับสนุน

ส่วนเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ที่เพิ่งเข้ามา ยังคงเป็นลักษณะการโพสต์ข้อความและตอบคอมเมนต์ แต่ว่าอิทธิพลของโซเชียลมีเดียนี้เองก็เริ่มเติบโต ดึงดูดผู้ใช้งานหน้าใหม่เข้ามาเรื่อยๆ ในขณะที่เว็บบอร์ดต่างๆ ค่อยๆ หดตัวลง แม้ห้องราชดำเนินของเว็บบอร์ดพันทิป ประชาไท ผู้จัดการ ยังคงเป็นที่นิยมและแลกเปลี่ยนความเห็นทางการเมืองได้

อย่างไรก็ตาม โซเชียลมีเดียแม้จะเข้ามาได้ไม่นาน แต่สิ่งนี้ได้ทำให้เกิดพลเมืองเน็ตที่พร้อมเป็นนักข่าวที่รายงานข่าวสารต่างๆ สร้างเนื้อหาของตัวเอง แม้แต่กิจกรรมทางการเมืองที่ตัวเองชื่นชอบและสนับสนุน สารทางการเมืองทั้งจากพรรคการเมืองและผู้สนับสนุนจึงถูกเผยแพร่ไปเป็นวงกว้าง

และอย่าลืมว่าตอนนั้นไอโฟนที่รุ่นแรกเปิดตัวเมื่อปี 2551 จนมาถึงปี 2554 ก็พัฒนาเป็นไอโฟน 4 ออกสู่ตลาดได้ครบปีแล้ว ยิ่งช่วยสร้างเนื้อหาบนโซเชียลมีเดียให้ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นับว่าสมาร์ตโฟนคือประดิษฐกรรมที่เปลี่ยนรูปแบบการสื่อสารและผลิตเนื้อหาอย่างมีนัยสำคัญ

แต่ถึงกระนั้น สิ่งที่ไม่เปลี่ยนไปเลยในช่วงเวลาปกติหรือช่วงเลือกตั้งคือสงครามข่าว ที่ฝ่ายต่างๆ ตั้งกระทู้วิพากษ์วิจารณ์ หรือนำเสนอข่าว ทั้งจริงและไม่จริง ในการช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมือง

 

การเลือกตั้งปี 2562

การสื่อสารหลังการเลือกตั้งปี 2554 จนถึงปัจจุบันนั้นเปลี่ยนไปมาก อินเตอร์เน็ตได้พัฒนาให้สามารถทำวิดีโอสตริ่มมิ่ง หรือก็คือจอทีวีบนอินเตอร์เน็ต ที่ทุกคนสามารถดูช่องรายการต่างๆ รวมถึงดูหนัง ฟังเพลงผ่านอินเตอร์เน็ตเหมือนดูทีวี เพียงแต่ทีวีถูกย่ออยู่ในสมาร์ตโฟนทำให้สามารถดูที่ไหนก็ได้ ทีวีที่ตั้งในห้องรับแขก จึงกลายเป็นของประดับบ้านไปโดยปริยาย

การเปลี่ยนโฉมจากทีวีสู่สมาร์ตโฟน คือสิ่งที่เรียกว่า นวัตกรรม ที่ต้องมีวิวัฒนาการและสิ่งที่เคยมีอยู่ก็จะหมดความสำคัญและถูกกาลเวลาทำลายลง

เฟซบุ๊กเห็นการขยายตัวของไลฟ์สตรีมมิ่งที่กำลังเติบโตมากขึ้น จึงทำให้ในปี 2559 เฟซบุ๊กได้เพิ่มตัวเลือกในการถ่ายทอดสดขึ้นมาในชื่อ “เฟซบุ๊ก ไลฟ์” เพื่อดึงผู้ใช้ด้วยฟีเจอร์ใหม่นี้ให้มากขึ้น และก็เติบโตอย่างรวดเร็วผ่านการถูกใช้ไปกับกิจกรรมต่างๆ ซึ่งมีทั้งด้านดีและเลวร้ายจนน่ากลัว (เช่น ไลฟ์เฟซโชว์ฆ่าตัวตาย หรือทำร้ายร่างกายจนถึงฆาตกรรม)

เทคโนโลยีสตรีมมิ่งทั้งในเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียที่เริ่มจากเฟซบุ๊ก กลายเป็นไม้ตายที่สร้างผลกระทบต่ออุตสาหกรรมทีวี รวมถึงสื่อทีวีอย่างหนัก

ผู้คนที่มีสมาร์ตโฟนก็ไปดูถ่ายทอดสดกีฬาฟุตบอล หรือรายการโทรทัศน์แบบชมสดได้ทุกที่ รูปแบบการบริโภคเปลี่ยน การนำเสนอสื่อของบรรดาบริษัทโฆษณาก็ทุ่มกับออนไลน์มากขึ้น การโฆษณาผ่านทีวีโทรทัศน์จึงลดลงอย่างฮวบฮาบ ยอดขายดาวเทียมก็ตกลงไปด้วย

แม้แต่กิจกรรมทางการเมือง นักการเมืองหรือพรรค ต่างมีพื้นที่ของตัวเอง สร้างเนื้อหาเอง แบบไม่ง้อสำนักข่าวไม่ว่าจะญาติดีหรือไม่ชอบหน้าก็ตาม

สื่อมวลชนที่ได้รับผลกระทบจากการดิสรัปต์การสื่อสารจึงต้องปรับตัวกันยกใหญ่ สื่อดั้งเดิมอย่างสื่อสิ่งพิมพ์หรือทีวีก็ค่อยๆ ล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ คนที่ยังอยู่ก็ต้องเรียนรู้กันหนักเพื่ออยู่กับเทคโนโลยีใหม่นี้ให้ได้ ผลผลิตยังเหมือนเดิมนั้นคือเนื้อหาที่ตอบสนองต่อผู้บริโภค แต่ที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงคือรูปแบบการสื่อสาร แม้ว่าสื่อดั้งเดิมยังคงจำเป็นเพราะความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตที่สูงในหลายพื้นที่

การพลิกโฉมของเทคโนโลยีดิจิตอลได้เปลี่ยนโฉมสังคมไปมาก การเลือกตั้งในปี 2562 จึงเป็นการเลือกตั้งที่ใช้ทุกเทคโนโลยีที่มีและใช้กันอย่างแพร่หลายมาสร้างพื้นที่ทางการเมืองเข้าไปอยู่ในใจประชาชน ยิ่งประชาชนที่มีสมาร์ตโฟนด้วยแล้ว พวกเขาสามารถเข้าถึงนักการเมืองในดวงใจที่กำลังหาเสียงตามตลาด ตรอกซอกซอย หรือป่าเขาที่ห่างไกล หรือกลางเวทีปราศรัยในเมืองใหญ่ผ่านอุปกรณ์การสื่อสารที่มีอยู่ในมือ

โดยไม่ต้องกังวลเวลาไม่อยากออกจากบ้านหรือติดธุระอยู่ แล้วพลาดที่จะมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของพรรคการเมือง

 

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับการสื่อสารยุคดิจิตอลที่เกี่ยวพันกับตัวเลขความนิยมของพรรคการเมือง โดยเฉพาะตอนนี้ ที่เหลือเวลาอีกไม่กี่อาทิตย์แล้ว หลายพรรคการเมืองต่างนับดูจำนวนสนับสนุนทั้งจำนวนคนที่นั่งร่วมฟังการปราศรัยว่ามีกี่คน เทียบกับจำนวนผู้ชมผ่านไลฟ์บนโซเชียลมีเดีย

คำถามคือ จำนวนตัวเลขผู้ชมไลฟ์ผ่านโซเชียลมีเดียสามารถนับเป็นตัวเลขจริงในการวัดความนิยมได้หรือไม่ เพราะข้อกังวลหนึ่งคือ ตัวเลขที่ปรากฏเป็นพันคนอาจไม่ใช่คนชมจริงๆ ก็เป็นได้ ประกอบกับเวทีปราศรัยที่คนจริงๆ มานั่งฟังเองก็ยังคงปรากฏจำนวนเก้าอี้ที่ไม่มีคนนั่ง นั้นจึงเป็นสิ่งที่ทำให้ทีมหาเสียงของพรรคต่างๆ มีความกังวลอยู่บ้างว่าจะดึงผู้สนับสนุนได้มากแค่ไหน

ยิ่งภาพที่ออกมาผ่านโพสต์ต่างๆ ในโซเชียลมีเดียที่ต่างยกมาเกทับกัน ไม่ว่าการปราศรัยที่มีคนรุ่นใหม่นั่งฟังกันแน่นขนัดของพรรคอนาคตใหม่ทั้งในปัตตานีและหาดใหญ่ ภาพหาเสียงที่แน่นหอประชุมของพรรคพลังประชารัฐ หรือตัวเลขผู้ชมไลฟ์การปราศรัยของพรรคเพื่อไทย พรรคไทยรักษาชาติกลางลานคนเมือง ศาลาว่าการ กทม. ที่ขึ้นเกือบหมื่นคน

ทั้งหมดนี้ล้วนมีผลทางจิตวิทยาและเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจได้ ไม่นับนโยบายและลีลาการปราศรัยของนักการเมืองที่เป็นตัวดึงคนให้เลือกพรรคนั้นๆ อีก

พูดได้เต็มปากว่า การเลือกตั้ง 2562 การสื่อสารแบบดิจิตอลได้ขึ้นมาเป็นตัวเลือกหลักเหนือสื่อรูปแบบเดิมเสียแล้ว

ถ้าคุณอยากให้ใครรับรู้นโยบายแบบรวดเร็ว น่าดึงดูดและกระจายสู่คนให้ได้มากที่สุด

“การสื่อสารผ่านออนไลน์” คือคำตอบ