บทวิเคราะห์ : ปัญหายาเสพติดเข้าขั้นวิกฤต จากไทยไปทั่วเอเชีย

รายงานของทอม อัลลาร์ด แห่งรอยเตอร์ส เมื่อ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ไม่ควรที่จะถูกละเลยด้วยประการทั้งปวง

เนื่องเพราะรายงานชิ้นดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงภาวะ “วิกฤต” ของการปราบปรามยาเสพติด ทั้งในประเทศและในระดับภูมิภาค ไม่ใช่เพียงแค่ในอาเซียนเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมกว้างขวางไปถึงทั่วเอเชีย

อัลลาร์ดเริ่มต้นด้วยการพูดถึงการขยายตัวของยาเสพติดที่รู้จักกันมานานไม่น้อยแล้ว แต่จำกัดแคบอยู่ในแวดวงผู้เสพระดับหนึ่งซึ่งไม่ใช่บุคคลทั่วๆ ไป นั่นคือ “ยาไอซ์” ที่เรียกกันอย่างเป็นทางการว่า “คริสตัล เมธ”

เขาบอกว่า ปริมาณการจับกุมยาเสพติดชนิดนี้ในประเทศไทย ทางผ่านยาเสพติดที่สำคัญและใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน หรืออาจจะในเอเชีย เมื่อปี 2018 นั้น เพิ่มขึ้นอย่างชวนให้สังเกตและกังขา

ตัวเลข “เบื้องต้น” ที่รวบรวมโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ระบุเอาไว้ว่า ตลอดปี 2018 นั้น ปริมาณการจับกุม “ไอซ์” เพิ่มสูงขึ้นเป็น 18.4 ตัน จากที่เคยจับกุมได้เพียง 5.2 ตันในปี 2017 และ 1.6 ตันเท่านั้นในปี 2016

ตัวเลข 18.4 ตันที่ว่านั้น เป็นตัวเลขที่สูงกว่ายอดรวมของการจับกุมยาไอซ์ในภูมิภาคอาเซียนทั้งภูมิภาคเมื่อ 5 ปีก่อนถึงกว่า 3 เท่าตัว

นอกจากไอซ์แล้ว “เมธ แท็บเล็ต” หรือยาบ้า ก็มีปริมาณจับกุมเพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน จาก 114 ล้านเม็ดในปี 2016 กลายเป็น 516 ล้านเม็ดในปี 2018 เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าครึ่งเลยทีเดียว

 

การเพิ่มขึ้นชนิด “มีนัยสำคัญสูงยิ่ง” ดังกล่าวนี้ ทำให้เจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญทั้งในท้องถิ่นของภูมิภาคเอง เรื่อยไปจนถึงผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ ปักใจเชื่อว่า เป็นเพราะ “แก๊งอาชญากรรม” ที่เป็นตัวการหลักในการผลิตและค้ายาเสพติด สามารถ “ทำความตกลงกันได้” กับทั้งเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และ กองกำลังติดอาวุธในพื้นที่

ผลของการทำความตกลงกันได้ดังกล่าว ทำให้แก๊งยาเสพติดที่มีเครือข่ายมหึมานี้ สามารถจัดตั้ง “ซูเปอร์แล็บ” โรงงานผลิตยาเสพติดประเภท เมธแอมเฟตามีน ที่มีศักยภาพการผลิต “ในระดับอุตสาหกรรม” ขึ้นได้

โดยปกติทั่วไปแล้ว ปริมาณการจับกุมสูงๆ น่าจะเป็นผลดีต่อการปราบปรามยาเสพติด แต่แม้แต่คนอย่างเจเรมี ดักลาส ตัวแทนประจำภูมิภาคเอเชียของสำนักงานเพื่อการปราบปรามยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดีซี) ยังออกปากว่า

ในแง่ของปริมาณการผลิตของเมธแอมเฟตามีนแล้ว ปี 2018 นั้นถือเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจาก “หายนะ” ดีๆ นี่เอง

นิยม เติมศรีสุข เลขาธิการ ป.ป.ส. ชี้ให้เห็นความผิดปกติเอาไว้ว่า ถ้าเป็นในกรณีทั่วๆ ไป การจับกุมได้มากๆ จะส่งผลให้ราคา “ยา” ตามท้องถนนแพงขึ้น แต่ข้อเท็จจริงกลับเป็นตรงกันข้าม

ยาบ้าเม็ดเดียวเมื่อปี 2013 เคยขายกันอยู่ที่ 200 บาท แต่ในปี 2017 แค่ 80 บาทก็หามาเสพติดกันได้แล้ว

นั่นถ้าไม่หมายความว่า ถึงจะจับได้มากแค่ไหน ยาบ้าอีกจำนวนมากก็ยังเล็ดลอดหูตาเจ้าหน้าที่เข้าสู่ตลาดมากขึ้นจนราคาถูกลง ก็ตีความได้ว่า ผู้ผลิตยาจงใจ “ทำราคา” ให้ต่ำลงเพื่อ “ขยายตลาด” ไปยังผู้เสพใหม่ๆ เพื่อรองรับผลการผลิตมหาศาลของตน

 

ข้อมูลทั้งของยูเอ็น ไทยและเจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดในระดับภูมิภาคอื่นๆ ยืนยันกับรอยเตอร์สตรงกันว่า แหล่งผลิตสำคัญของยาบ้า และยาไอซ์ ยังคงอยู่ตามตะเข็บชายแดนไทย-พม่า โดยเฉพาะในส่วนที่ลึกเข้าไปในพม่า มีการ “ซื้อตัว” ผู้เชี่ยวชาญที่เป็น “นักเคมี” จากจีนและไต้หวัน เข้ามาทำหน้าที่บริหารการผลิตของ “ซูเปอร์แล็บ” โรงงานยาเสพติดระดับซูเปอร์ของตนเอง

หลักฐานที่ปรากฏชัดก็คือ โรงงานใหม่ ใหญ่ ทันสมัย ในระดับ “สเตต ออฟ ดิ อาร์ต” ที่ทางทหารพม่าบุกเข้าทลายและยึดได้ใกล้เมืองมูเซ หรือมูเซ่ ในรัฐฉาน ใกล้กับชายแดนจีนเมื่อเดือนที่ผ่านมานี่เอง

ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า “ไอซ์” ที่ยึดได้นั้นมี “ความบริสุทธิ์” สูงสุด สูงอย่างที่ไม่เคยเห็นกันมาก่อน

ข้อมูลของ ป.ป.ส.ของไทย ยืนยันใกล้เคียงกันว่า 99.92 เปอร์เซ็นต์ของไอซ์ที่ไทยจับกุมได้ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2018 นั้น ระดับความบริสุทธิ์ของตัวยาอยู่ที่ 90 เปอร์เซ็นต์ หรือสูงกว่าทั้งสิ้น

ตำแหน่งที่จับกุมแสดงให้เห็นว่า ยาเสพติดชนิดนี้ระบาดไปไกลแค่ไหน ว่ากันว่า ไอซ์จากสามเหลี่ยมทองคำส่งขายตั้งแต่เกาหลีใต้ไปยันนิวซีแลนด์และเกือบทุกประเทศในระหว่างนั้น

ไทยเองจับกุมไอซ์ได้ในระหว่างเส้นทางลำเลียงช่วงภาคใต้ของไทยไปจนถึงชายแดนมาเลเซียสูงถึง 8 ตัน เจ้าหน้าที่ตำรวจน้ำปีนัง ก็เคยยึดเรือที่กำลังจะพ้นน่านน้ำมาเลเซียขณะที่มีไอซ์เต็มลำได้มาแล้ว

เรือเล็กลำนั้น กำลังลำเลียงยาเสพติดไปขึ้น “เรือแม่” ลำใหญ่ที่รอคอยรับยาอยู่ในทะเลอันดามัน เพื่อลำเลียงออกไปขายไกลถึงออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ที่ฟิลิปปินส์ ก็เคยมีการตรวจพบลักลอบขนไปกับคอนเทนเนอร์สินค้ามาแล้วเช่นกัน

เจเรมี ดักลาส บอกสถานการณ์ไว้สั้นๆ ว่า ขณะที่เจ้าหน้าที่ปราบปรามก็อยู่ในสภาพ “เต็มไม้เต็มมือ” เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขในประเทศเหล่านี้ ก็ตกอยู่ในสภาพ “ขาดแคลนทุกอย่าง” ลดทอนศักยภาพในการบำบัดรักษาให้หลงเหลือ “จำกัดจำเขี่ย” เต็มที

ไม่หายนะตอนนี้แล้วจะหายนะตอนไหน?