ศัลยา ประชาชาติ : ตัวเลขเศรษฐกิจบีบหัวใจ จีดีพีไตรมาส 3 วูบ พิษสงครามการค้า-ทัวร์จีนหด

จากที่เคยเป็นข่าวดีรับศักราชใหม่ 2561 กูรูหลายสำนักฟันธงตรงกันว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ท่าจะไปโลด ขณะที่ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลก็คาดหวังว่าสัญญาณบวกช่วงต้นปีจะหนุนจีดีพีเติบโตทะลุ 5% ได้

หลังจากหลายปีที่ผ่านมา อัตราขยายตัวเศรษฐกิจไทยต่ำกว่าระดับศักยภาพมาตลอด

และยิ่งมีความหวังมากขึ้น เพราะไตรมาสแรกตัวเลขเศรษฐกิจออกมาขยายตัวสูงถึง 4.9% ต่อด้วยตรมาส 2 ขยายตัว 4.6% เฉลี่ยแล้ว 2 ไตรมาส หรือครึ่งปีแรกเติบโตถึง 4.8%

แต่จู่ๆ มีปัจจัยลบเข้ามาแทรกซ้อน

เริ่มจากเหตุการณ์เรือนักท่องเที่ยวจีนล่มที่ จ.ภูเก็ต ช่วงเดือนกรกฎาคม ซึ่งส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวเกินคาดหมาย ยอดนักท่องเที่ยวจีนหดหายไปจำนวนมาก

ขณะเดียวกันพายุลูกใหญ่สงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่ก่อตัวทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ภาคการส่งออกได้รับผลกระทบทั้งด้านลบและบวก

กระนั้นการส่งออกสินค้าไทยก็ยังเติบโตเป็นบวกได้ทุกเดือนโดยเฉพาะช่วง 8 เดือนแรก

พอเข้าเดือนที่ 9 สถานการณ์ก็พลิกกลับยอดส่งออกหดตัวลง 5.20% เป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 19 เดือน นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2560 ที่ติดลบ 2.87% โดยกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ผลกระทบจากสงครามการค้า ทำให้มูลค่าการส่งออกในเดือนกันยายน 2561 หายไป 402 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือลดลง 1.8%

ส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทยในไตรมาส 3 โดยวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า การเติบโตของเศรษฐกิจมีการขยายตัวเพียง 3.3%

 

“ทศพร ศิริสัมพันธ์” เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า สศช.ได้ปรับประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้ใหม่ คาดว่าจะเติบโตได้ 4.2% จากเดิม 4.2-4.7% ซึ่งคาดว่าไตรมาส 4 จะกลับมาเติบโตได้ดีขึ้นมากกว่าไตรมาส 3

ทั้งนี้ ปัจจัยลบมาจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว เห็นได้จาก GDP ของหลายๆ ประเทศส่วนใหญ่ชะลอตัว ส่งผลให้มูลค่าส่งออกสินค้าเติบโตในอัตราชะลอลงที่ 2.6% ส่วนรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศก็เติบโตเพียง 0.5% ทั้งจากนักท่องเที่ยวจีนและยุโรปที่ลดลง นอกจากนี้ การลงทุนภาครัฐชะลอตัวเล็กน้อย

“มูลค่าการส่งออกและรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมกันมีสัดส่วนกว่า 60% ของ GDP พอเติบโตในอัตราชะลอลง ทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจ Q 3 ออกมาเติบโต 3.3% แต่ 9 เดือน ยังโตที่ 4.3%”

อย่างไรก็ตาม สศช.มองว่าภาคเศรษฐกิจในประเทศเติบโตอย่างแข็งแกร่งขึ้นมาก ในไตรมาส 3 การบริโภคเอกชนขยายตัว 5% การลงทุนเอกชนขยายตัว 3.9% สูงสุดในรอบ 15 ไตรมาส โดยเซ็กเตอร์ที่ขยายตัวได้สูงได้แก่ สาขาก่อสร้าง ขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญๆ ก็เพิ่มขึ้น อาทิ น้ำตาล 91.4% อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 11.2% ยานยนต์ 2.6% เครื่องจักรอื่นๆ ที่ใช้งานทั่วไป 18.1% เป็นต้น

“ทศพร” กล่าวว่า ประมาณการเศรษฐกิจทั้งปีที่จะโต 4.2% นั้น มาจากสมมุติฐานว่า มูลค่าการส่งออกทั้งปีจะขยายตัว 7.2% ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะโต 10% การบริโภคภาคเอกชนโต 4.7% ดีกว่าเดิมที่คาดว่าจะโต 4.1% การลงทุนรวมเติบโต 3.6% จากเดิมที่ 4.4% ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่ง โดยอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1.1% ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 6.4%

 

ส่วนปี 2562 สศช.คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโต 3.5-4.5% ต่อปี หรือเฉลี่ย 4% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกปีหน้าจะชะลอตัวลง ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยจะอยู่ที่การลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนรวมปีหน้าจะเติบโต 5.1% การบริโภคภาคเอกชนโต 4.2% ส่วนส่งออกจะเติบโต 4.6%

“เรามองว่า ปีหน้ามาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลดำเนินการเรื่องการท่องเที่ยวและโปรโมตเรื่องการลงทุน จะทำให้ภาคท่องเที่ยวกลับมาอยู่ในระดับปกติ การลงทุนก็น่าจะขยายตัวในเกณฑ์ที่ดี อย่างไรก็ดี ต้องระวังความเสี่ยง คือความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยในตลาดโลกที่โตเร็วกว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ กับการกีดกันทางการค้าสหรัฐกับจีน”

ทั้งนี้ สศช.ได้เสนอแนะการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือปีนี้ต่อเนื่องจนถึงปีหน้า ที่จะเน้นเรื่องการขยายตัวทางด้านการท่องเที่ยว โดยปีนี้ตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวไว้ 38.05 ล้านคน สร้างรายได้ 2.05 ล้านล้านบาท ปีหน้าคาดการณ์ยอดนักท่องเที่ยว 39.8 ล้านคน สร้างรายได้ 2.24 ล้านล้านบาท เพราะเชื่อว่ามาตรการรัฐบาลจะดึงนักท่องเที่ยวจีนกลับมาได้

ในส่วนของภาครัฐต้องเร่งส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน ทั้งในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) และการส่งเสริมการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ต่างๆ การลงทุนภาครัฐและรัฐวิสาหกิจก็ต้องเร่งรัดให้ได้ตามเป้า

นอกจากนี้ รัฐยังต้องให้ความสำคัญกับการดูแลเศรษฐกิจฐานราก ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้วย ซึ่งที่ผ่านมา แม้ว่าดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมเพิ่มขึ้น แต่ราคาสินค้าเกษตรโดยรวมเริ่มมีแนวโน้มลดลง

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยลบต่างๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านี้เป็นสิ่งที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เตรียมพร้อมรับมือไว้แล้ว

และที่ผ่านมาก็พยายาม “แก้เกม” มาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการให้สิทธิประโยชน์พิเศษด้านวีซ่า ดึงนักท่องเที่ยวจีนกลับมาเที่ยวเมืองไทย

การเร่งรัดการลงทุนในพื้นที่ EEC

การเร่งประมูลโครงการต่างๆ โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน การปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุน ให้จูงใจนักลงทุนยิ่งขึ้น

แม้ว่าจะถูกดักคอเรื่องการออกนโยบายเศรษฐกิจในช่วงนี้ ที่ใกล้เลือกตั้ง ล่าสุดวันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติแพ็กเกจมาตรการอัดฉีดเงิน ทั้งผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยและผู้สูงอายุ การช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง รวมถึงข้าราชการบำนาญ วงเงินรวมๆ เฉียด 1 แสนล้านบาทอีกด้วย

ด้านภาคการส่งออกหลังจากนี้ บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า ยังคงเป้าหมายส่งออกปีนี้ไว้ที่ 8% และมั่นใจว่าทำได้ ซึ่งช่วงที่เหลือของปีต้องส่งออกให้ได้เฉลี่ย 2.19 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน ส่วนปี 2562 ตั้งเป้าหมายส่งออกโต 8% มูลค่า 2.76 แสนล้านเหรียญสหรัฐ แม้จะมีปัจจัยเสี่ยงทั้งสงครามการค้าและอัตราแลกเปลี่ยน

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ระบุว่าในส่วนของกระทรวงการคลังกำลังคิดมาตรการ “ช้อปช่วยชาติ” เวอร์ชั่นใหม่ เน้นให้ซื้อสินค้าแบบเฉพาะเจาะจงขึ้น เช่น ยางพารา หนังสือ เป็นต้น ตั้งเป้าให้มาตรการมีผลบังคับใช้ในช่วงรอยต่อระหว่างปี 2561 กับปี 2562 เป็นเวลา 1 เดือน

ขณะที่รองนายกฯ สมคิดบอกว่า สาเหตุที่เศรษฐกิจไตรมาส 3 ชะลอ มาจากการส่งออกตกลงไปมาก แต่การบริโภค การลงทุนยังดี ถือว่า “ไส้ใน” ไม่ได้มีปัญหา ไตรมาสสุดท้ายต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจให้ได้ตามแผน ช่วยเศรษฐกิจให้ขยายตัว ส่วนการส่งออกล่าสุดเดือนตุลาคมเป็นบวก จึงเหลือลุ้น 2 เดือนสุดท้าย ว่าจะเป็นไปตามเป้าหรือไม่

“ช่วง 2 เดือนสุดท้ายที่เหลือขึ้นกับการลงทุนต้องผลักดันให้เป็นไปตามเป้าหมายให้ได้ การท่องเที่ยวต้องประคองให้ฟื้น การใช้จ่ายของรัฐต้องเร่งรัด และดูเรื่องการส่งออกในส่วนที่เราควบคุมได้ ไตรมาส 4 ถ้าโตได้สัก 3.5% จีดีพีปีนี้ก็ยืนอยู่เหนือ 4% ได้แล้ว แต่ถ้าเกินกว่านั้นก็โตได้ 4% กว่า”

ส่วนมาตรการที่เพิ่งผ่าน ครม. ทั้งช่วยเหลือชาวสวนยาง คนชรา ผู้มีรายได้น้อย รวมถึงข้าราชการบำนาญที่ได้ค่าครองชีพไม่ถึง 1 หมื่นบาท/เดือน แม่ทัพเศรษฐกิจของรัฐบาลย้ำว่า ทั้งหมดไม่ใช่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เป็นการช่วยเหลือคนกลุ่มต่างๆ

“ที่ผ่านมา เราสู้กันมาเยอะ เหลืออีกนิดเดียวก็จะเลือกตั้งแล้ว ก็สู้กันต่อไปให้จีดีพียืนเหนือ 4% ให้ได้ แม้ตัวเลขจะไม่สำคัญ แต่การแข่งขันของประเทศสำคัญ” รองนายกฯ สมคิดกล่าว

จากภาพเศรษฐกิจไตรมาส 3 ที่ออกมาบีบหัวใจ นำมาสู่สารพัดมาตรการอัดฉีด ต้องจับตาดูว่าจะช่วยปลุกเศรษฐกิจดัน GDP ให้เติบโตเข้าเป้าได้หรือไม่ อีกอึดใจเดียวได้รู้กัน