กรองกระแส : แนวโน้ม ความเชื่อ การเลือกตั้ง ผลการเลือกตั้ง แนวโน้ม การเมือง

มีความเชื่อ 2 ความเชื่อใหญ่ซึ่งดำรงอยู่ในแวดวงทางการเมือง เป็นการดำรงอยู่ในลักษณะซึมลึกและดำเนินไปอย่างมีอาการแพร่ลามอย่างรวดเร็ว

ทั้งที่ 1 ดำเนินไปอย่างเหลือเชื่อ ทั้งที่ 1 ดำเนินไปอย่างสวนกระแส

ความเชื่อ 1 คือ ความเชื่อที่ว่าอาจมีการเลือกตั้ง “เร็ว” กว่าที่โรดแม็ปได้กำหนดเอาไว้ นั่นก็คือ ก่อนปลายปี 2560

ความเชื่อ 1 คือ ความเชื่อที่ว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้ง

ทำไมถึงว่า ความเชื่อทั้ง 2 ประการนี้ดำเนินไปอย่างเหลือเชื่อ บนฐานแห่งความเป็นไปไม่ได้เพราะเท่ากับขัดกับ “โรดแม็ป” ซึ่งกำหนดโดย คสช. และรัฐบาล

เพราะจะเป็นไปได้อย่างไร

ความเป็นไปได้ในที่นี้ประเมินจาก คสช. ประสานกับจากรัฐบาล และความพร้อมของฝ่ายการเมืองอย่างเป็นหลัก

จึงเห็นว่าเป็นเรื่องเหลือเชื่อ จึงเห็นว่าเป็นเรื่องสวนกระแส

กระนั้น ยิ่งผ่านเดือนตุลาคมเข้าไปยังเดือนพฤศจิกายน ความเชื่อนี้จะยิ่งฝังอย่างชนิดจำหลัก หนักแน่นมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

ไม่ว่าเรื่อง “เลือกตั้ง” ไม่ว่าเรื่อง “พรรคเพื่อไทย”


หากเป็น ความจริง

ต้องเริ่มจาก คสช.

หากถือเอา คสช. เป็นหลัก ไม่ว่าจะมองผ่านกระบวนการของรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะมองผ่านกระบวนการในการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

ไม่มีเหตุผลอะไรทำให้ คสช. ต้องเปลี่ยน “โรดแม็ป”

อย่าลืมเป็นอันขาดว่า หมุดหมายแรกสุด คสช. จะต้องการให้ทุกอย่างเรียบร้อยภายในเดือนตุลาคม 2558 ภายหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

แต่ที่ต้องเลื่อนหลายครั้งหลายหน

เลื่อนจาก “ปฏิญญาโตเกียว” เมื่อเดินทางไปพบ ชินโสะ อาเบะ กระทั่งกลายมาเป็น “ปฏิญญานิวยอร์ก” เมื่อเดินทางไปร่วมประชุมสหประชาชาติ

เพราะความจำเป็น และเป็นการเลื่อนอย่างมีเหตุผล

ความจำเป็นที่ยังไม่สามารถจัดระบบของบ้านเมืองได้ด้วยความเรียบร้อย เหตุผลหลักก็คือ รัฐธรรมนูญ เหตุผลหลักก็คือ ยังมีความขัดแย้ง ยังมีความแตกแยก เหตุผลนี้ คสช. สามารถอ้างได้แม้กระทั่งเมื่อผ่านปี 2559 เข้าไปยังปี 2560

เท่ากับยืนยันว่าการเลือกตั้งตามโรดแม็ปจะเป็น “ก่อน” ปลายปี 2560 ได้อย่างไร

ตรงนี้แหละทำให้ความเชื่อดำเนินไปในลักษณะอันสรุปได้ว่า “เหลือเชื่อ” ตรงนี้แหละทำให้ความเชื่อดำเนินไปในลักษณะ “สวนกระแส”

ความหมายก็คือ สวนต่อ “โรดแม็ป” และความต้องการของ “คสช.”


เพื่อไทย ชนะเลือกตั้ง

“ความเป็นไปไม่ได้”

ถามว่าเป้าหมายของรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 คืออะไร

คำตอบเด่นชัดอย่างยิ่งว่า คือความต้องการที่จะอุดช่องว่างและรอยโหว่อันเนื่องแต่รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

นั่นก็คือ รัฐประหาร “เสียของ”

เห็นได้จากการดำรงความมุ่งหมายในการบดขยี้ต่อพรรคไทยรักไทย ต่อเนื่องมายังพรรคพลังประชาชน และที่สุดคือพรรคเพื่อไทย

หากศึกษาจาก “รัฐธรรมนูญ” ก็จะเห็นอย่างเด่นชัด

ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ไม่ว่าจะเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติและจะกลายเป็นรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ในที่สุด

เป้าหมาย คือ พรรคเพื่อไทย

การถอดถอนที่เริ่มจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไล่เรียงมายัง นายประชา ประสพดี กระทั่งอดีต ส.ส. ที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มีส่วนร่วมในการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม คือ สินค้าตัวอย่างอันเท่ากับเป็นการตัดแขนขาพรรคเพื่อไทย

ทำให้พรรคเพื่อไทยมีชะตากรรมอย่างเดียวกันกับพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชนโดยแทบไม่จำเป็นต้องยุบ

แล้วพรรคเพื่อไทยจะเอา “ปัจจัย” อะไรไปทำให้ได้ “ชัยชนะ”

ลำพังต้องต่อกรกับพรรคประชาธิปัตย์ก็เหน็ดเหนื่อยสาหัสแล้ว ลำพังต้องต่อกรกับพรรคภูมิใจไทยก็เหน็ดเหนื่อยสาหัสแล้ว

ภายในพรรคเพื่อไทยก็ใช่ว่าจะเป็นเอกภาพ

ยังมีเส้นสายของแกนนำอย่าง นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ จากภาคเหนือ ยังมีเส้นสายของแกนนำอย่าง คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ซึ่งรอจังหวะที่จะผงาดขึ้นมาแทนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ภายในพรรคเพื่อไทย

แล้วพรรคเพื่อไทยจะเอา “กำลัง” จากไหนไปสัประยุทธ์กับสภาวะอันแหลมคมยิ่งในทางการเมือง

ที่ว่าพรรคเพื่อไทยจะได้ชัยชนะจากการเลือกตั้งจึงแทบจะเป็นไปได้ และมีโอกาสสูงอย่างยิ่งที่จะกลายเป็นเรื่องเหลือเชื่อและดำเนินไปอย่างสวนกระแส

สวนกระแส คสช. สวนกระแสสังคม “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง”


เริ่มจาก ความเชื่อ

ดำรงในความเชื่อ

ต้องยอมรับว่าเริ่มมีการตั้งข้อสังเกตมากและถี่ยิบขึ้นเป็นลำดับว่า อาจเกิดแนวโน้มและความเป็นไปได้ที่จะมีการเลือกตั้งเร็วขึ้น

นั่นหมายถึง แนวโน้มที่ “โรดแม็ป” จะต้องเปลี่ยนแปลง

ขณะเดียวกัน ก็เริ่มมีการตั้งข้อสังเกตมากและถี่ยิบขึ้นเป็นลำดับว่า ภายในกระบวนการของการเลือกตั้งที่จะมีในอนาคตอันใกล้ของปี 2560 โอกาสจะยังเป็นของพรรคเพื่อไทยมากกว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคภูมิใจไทย

นั่นหมายถึง ความเชื่อที่ทำให้ชะตากรรมของรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ซ้ำรอยกับรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

หาก “ความเชื่อ” กลายเป็น “ความจริง”