ไซเบอร์ วอทช์แมน : เราได้อะไรจาก 4 ปี ภายใต้รัฐบาลทหาร คสช.

อีกไม่กี่วัน ก็ใกล้บรรจบวาระสำคัญทางการเมืองไทยอย่าง 4 ปี การรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะทหารภายใต้ชื่อ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ

แน่นอนว่า 4 ปีนี่นานพอสมควรสำหรับประเทศไทยที่เข้ายุคสหัสวรรษใหม่ เรามีรัฐบาลทหารแล้ว 2 ครั้ง นอกจาก คสช. ที่อยู่กับเรา ยังมี คมช. ที่มาตอนรัฐประหาร 2549 อันนั้นอยู่สั้นไม่นานแค่ปีเศษ ซึ่งรัฐบาลทหารทั้ง คมช. และ คสช. ก็สร้างผลกระทบต่อสังคมและประเทศไทยแตกต่างกัน

เรามาโฟกัสช่วง 4 ปีมานี้ดีกว่า

ถ้าสรุปสั้นๆ จะบอกได้ว่า 4 ปีของ คสช. “ยิ่งนาน ยิ่งดื้อ – ยิ่งยื้อ ยิ่งต้าน”

เพราะอะไร?

 

การเข้ามาของ คสช. แน่นอนว่า คำมั่นสัญญาที่ คสช. ให้ไว้กับประชาชน ไม่เพียงแค่ “คืนความสุขให้ประชาชน” ที่กลายเป็นสโลแกนประจำตัว คสช. เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยด้วยการจัดการเลือกตั้ง สร้างการเมืองที่เชื่อว่าใสสะอาด ปราศจากการคอร์รัปชั่น

แต่ตลอด 4 ปีมานี้ นอกจากการเลือกตั้งที่เลื่อนออกไปจากปี 2558 ไปปี 2559 มาปี 2560 แล้วอีกครั้งที่กลายเป็นครั้งที่คนทวงมากที่สุดคือ พฤศจิกายน 2561 แต่แล้ว คสช. กลับขอเลื่อนอีกเป็นกุมภาพันธ์ 2562

ความไม่อยู่กับร่องกับรอย และคำมั่นสัญญาที่ไม่เป็นสัญญานี้เอง มันส่งผลทำให้ประชาชนเริ่มไม่มีความเชื่อมั่น แค่ผลนิด้าโพลล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (13 พฤษภาคม) ก็มากถึงร้อยละ 57 ที่มองว่า เลือกตั้งจะไม่เกิด เพราะบ้านเมืองยังไม่สงบและเลื่อนบ่อยจนคนขาดเชื่อมั่นว่าจะมีจริงๆ

นี่ถือเป็นสัญญาณหนึ่งที่ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาล คสช. ไปอย่างปฏิเสธไม่ได้

 

แม้การเลือกตั้งจะดูเกิดได้ยาก แต่ในเวลาเดียวกันนั้น กระแสฝ่ายต่อต้าน คสช. ที่มีมาตั้งแต่ปี 2557 จนถึงบัดนี้ ก็มีแล้วหลายกลุ่ม

แต่ที่ต้องจับตามากที่สุด คงหนีไม่พ้นกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่ชูธงว่า จะเอาเลือกตั้งพฤศจิกายน 2561 ไม่ใช่กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งใช้โซเชียลมีเดียในการสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้จัดและแนวร่วมในการเคลื่อนไหว และกลุ่มคนอยากเลือกตั้งก็ตกเป็นข่าว

การเคลื่อนไหวบนโซเชียลอย่างแข็งขันและการเป็น “ข่าว” บนหน้าสื่อไม่ว่าทีวีหรือสื่อทั้งสิ่งพิมพ์และออนไลน์ ย่อมเป็นเรื่องที่ไม่ถูกใจอยู่แล้วสำหรับ คสช. ที่จะมีคนที่เห็นแย้งกับตน หรือบ่อนทำลายอำนาจและความมั่นคงของรัฐบาล (แต่ชอบอ้างว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ) จะมีบทบาทและเป็นที่รับรู้ของประชาชน ปฏิบัติการปิดสื่อจึงเกิดขึ้น โดยเริ่มจากพีซทีวี ที่โดนก่อนด้วยการจอดำ 30 วัน ซึ่งมีผลตั้งแต่เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา และตามข่าวยังมีอีก 2 สถานีคือ ทีวี 24 ซึ่งเป็นช่องทีวีฝ่ายคนเสื้อแดงที่โดนสอยตามกันไป รวมถึงวอยซ์ทีวีที่ครั้งนี้จะไม่พักใบอนุญาต แต่จะใช้วิธีพูดคุยขอความร่วมมือ

โดยสาเหตุของการปิดสื่อหรือจำกัดบทบาทของสื่อ 3 ช่องนี้ ซึ่งโดนกันประจำ โดนมากกว่าช่องทีวีอื่นไม่เพียงข้ออ้างที่ว่าช่องข่าวดังกล่าวเผยแพร่ข่าวสารที่อาจปลุกระดมมวลชน

แต่ในช่วง 3-4 ปีมานี้ ทั้ง 3 ช่องสถานี นำเสนอข่าวของฝ่ายต่อต้าน คสช. ชนิดที่เรียกว่ามากกว่าช่องสถานีอื่น

ดังนั้น จึงไม่แปลกใจหาก คสช. จะเล่นงานโดยยืมมือ กสทช. จัดการด้วยมาตรการลงโทษรูปแบบต่างๆ

ทำให้สถานีโทรทัศน์ต้องเปิดช่องทางบนโลกออนไลน์ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย นำเสนอข่าวสารไปอีกทางด้วย

 

พอโยกเข้ามาโซเชียลมีเดีย ดินแดนที่มักถูกพูดถึงว่าเป็น “พรมแดนแห่งเสรีภาพอันไร้ขอบเขต” เพราะโซเชียลมีเดียคือไซเบอร์สเปซที่คลุมโลกทั้งใบ ข่าวสารเกิดจากที่หนึ่ง อีกหลายที่ย่อมเห็นว่าที่แห่งนั้นเกิดอะไรขึ้น และทุกคนมีส่วนที่จะเข้าถึงและสร้างเรื่องราวได้ด้วยตัวเอง

เรียกว่ามีตั้งแต่คนธรรมดา จนถึงบริษัท องค์กรหรือพรรคการเมืองใช้โซเชียลสื่อสารเข้าถึงผู้ใช้โดยตรง เรียกว่าสะดวกและไม่ซับซ้อน

จึงไม่แปลกใจถ้ารัฐจะขอร่วมวงด้วย แต่ว่าใช้แพลตฟอร์มเป็นเครื่องมือในการทำสงครามข่าวสารเพื่อปกป้องรัฐบาลและสร้างความปั่นป่วนต่อประชาชนเพื่อลดทอนความน่าเชื่อถืออีกฝ่าย

การที่ คสช. มารัฐประหารในยุคที่ประเทศไทยใช้โซเชียลมีเดียในอัตราที่สูงนั้นทำให้ข่าวสารที่สื่อหลักถูกปิดกั้น ข้อมูลข่าวสารบนโซเชียลได้ช่วยให้ประชาชนได้รับรู้ และเพราะบทบาทของโซเชียลนี้เอง คสช. ไม่ยอมอยู่เฉยให้ข้อมูลบนโลกออนไลน์มาไหลบ่าทำลายอำนาจของตน การออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องโลกออนไลน์จึงเกิดขึ้นและมากขึ้น

รวมถึงปริมาณการจับกุมที่เกี่ยวกับการใช้โซเชียลมีเดียหรือการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นภัยต่ออำนาจรัฐบนโลกออนไลน์ก็เพิ่มขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม จะพยายามออกกฎหมายแค่ไหนหรือจับกุมไปมากเท่าไหร่ ก็ยังไม่สามารถที่จะควบคุมหรือหยุดการแสดงความคิดเห็นที่ต่อต้าน คสช. ได้ เห็นได้จากข่าวอื้อฉาวไม่ว่า บ้านพักตุลาการเชิงดอยสุเทพที่ชอบเรียกกันว่า “หมู่บ้านป่าแหว่ง” ก็กระหึ่มเป็นพลังได้เพราะโซเชียล หรืออย่างประเด็นนาฬิกาหรูของผู้มีอำนาจในรัฐบาลก็ยังถูกพูดถึง และอีกสารพัดโครงการ ไม่ว่าไทยนิยม จัดซื้อเรือดำน้ำ-รถถัง

หรือแม้แต่คำพูดของผู้มีอำนาจในรัฐบาล คสช. ผ่านสื่อ ก็ถูกชาวโซเชียลเอามาแซว จิกกัด ล้อเลียนกันสนุกสนาน ด้วยการนำเสนอในรูปแบบต่างๆ ที่ทำให้รู้สึกว่า ในเมื่อวิจารณ์กันตรงๆ แล้วเกรงว่าจะมีรถฮัมวี่หรือรถยนต์ติดฟิล์มดำมืดที่ไม่คุ้นตา มาจอดรอหน้าบ้าน

ก็ใช้การเปรียบเปรย การนำเสนอภาพแทนหรือการยกคำพูดร้อยเรียงเป็นเรื่องราว ดูจะเป็นการนำเสนอที่ปลอดภัยที่สุดและยังเป็นสิทธิในการแสดงความคิดเห็นไว้ได้

 

เพราะด้วยความเคลื่อนไหวบนโซเชียลที่ยังเต็มไปด้วยการล้อเลียนจนถึงการแสดงความคิดเห็นต่อต้าน คสช. อย่างชัดแจ้ง คสช. เองก็เข้าร่วมสงครามข่าวสาร ตั้งแต่การตั้งศูนย์สงครามไซเบอร์กองทัพบก การทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อสร้างระบบการสอดส่องความคิดประชาชนบนโลกออนไลน์ การให้เจ้าหน้าที่เข้าแทรกซึมไปยังนักเคลื่อนไหวที่เล่นโซเชียล หรือการเปิดรับสมัครเจ้าหน้าที่จำนวนมากของสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ ย่อมสะท้อนถึงความพยายามที่ คสช. จะทำทุกอย่างที่ยับยั้งข้อมูลข่าวสารและความเคลื่อนไหวของฝ่ายต่อต้านให้ได้

เพราะยิ่งใกล้วันที่ 22 พฤษภาคม ก็ยิ่งทำให้รัฐบาลหวั่นใจ ไม่นับกระแสการเลือกตั้งในมาเลเซียที่ส่งสัญญาณราวกับกดดันไทยอ้อมๆ หรือกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องดูดนักการเมืองคุ้มต่างๆ หมายหวังจะต่อท่อสืบทอดอำนาจ ยิ่งต้องควบคุมให้อยู่หมัด

แต่ถึงอย่างนั้น 4 ปีของการดำรงอยู่ของ คสช. ก็ให้บทเรียนกับประชาชนและสังคมไทยมามาก จนมีคำพูดที่สะท้อนความเอือมระอากับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ แล้วกลายเป็นชื่องานดนตรีแห่งหนึ่งที่อยากบอกความรู้สึกกับ คสช. ว่า

#จะ 4 ปีแล้วนะ (เซ็นเซอร์)!