เปิดดัชนีเสรีภาพสื่อโลกปี 61 ชี้ผู้มีอำนาจแพร่ความเกลียดชังสื่อ ทำลายประชาธิปไตย ไทยเดินรอยตามจีนโมเดล

วันที่ 26 เมษายน 2561 องค์กรสื่อไร้พรมแดน (Reporters Without Borders) หรืออาร์เอสเอฟ องค์กรไม่แสวงผลกำไรเพื่อความร่วมมือในการปกป้องชีวิตและเสรีภาพในการทำงานของสื่อมวลชนทั่วโลก ได้ออกรายงานดัชนีเสรีภาพสื่อโลกประจำปี 2018 โดยระบุว่า สื่อมวลชนตกเป็นเป้าของความเกลียดชังที่ถูกเผยแพร่อย่างเปิดเผยและกว้างขวางจากบรรดานักการเมือง และระบอบเผด็จการ และส่งผ่านความคิดไปเป็นวงกว้างจนคุกคามต่อแนวคิดประชาธิปไตย อย่างหลายประเทศในยุโรป นักข่าวต่างตกเป็นเป้าหมายโจมตีจากการกล่าวหา รวมถึงเอาชีวิตสื่อจนถึงแก่ความตายอย่างในกรณีของ ดาร์ฟเน่ คาร์ลัวน่า กาลิเซีย นักข่าวสืบสวนที่ถูกคาร์บอมบ์จนเสียชีวิตคาที่ในเกาะมอลต้า หลังออกมาเปิดโปงนักการเมืองท้องถิ่นที่มีส่วนพัวพันกับการฟอกเงินของบรรดาคนรวย หลังการเปิดโปงเอกสาร “พาราไดซ์ เปเปอร์ส”

นายคริสโตเฟอร์ เดลัวส์ เลขาธิการอาร์เอสเอฟ ระบุว่า การปลดปล่อยความเกลียดชังใส่สื่อมวลชน ถือเป็นภัยคุกคามที่เลวร้ายที่สุดต่อประชาธิปไตย ผู้นำทางการเมืองใส่ไฟสื่อมวลชนเพื่อต้องรับภาระอย่างหนัก เพราะพวกเขาต้องการบ่อนทำลายการอภิปรายสาธารณะบนข้อเท็จจริงและแทนที่ด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ และเพื่อโต้แย้งความชอบธรรมของสื่อมวลชนในปัจจุบันที่ถลำเข้าไปในไฟการเมืองสุดอันตราย

อาร์เอสเอฟยังระบุว่า ดัชนีดังกล่าว ยังสะท้อนถึงการขยายตัวของสื่อในกลไกของรัฐอย่างรัสเซียที่มี สำนักข่าวอาร์ทีและสปุกนิกซ์ในการเผยแพร่ข่าวเชิงโฆษณาชวนเชื่อนิยมรัสเซียออกสู่ระดับโลก หรืออย่างจีนภายใต้การนำของสีจิ้นผิิง ที่ได้ทำให้จีนกลายเป็นต้นแบบของการเซ็นเซอร์การสื่อสารอย่างเข้มข้นเพื่อสกัดแนวคิดที่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของรัฐและอุดมการณ์คอมมิวนิสต์จีน และจีนเองกลายเป็นแบบอย่างของความพยายามควบคุมการแสดงความคิดเห็นแบบเบ็ดเสร็จ ไม่ว่าจะในกัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์หรือไทย

สำหรับปีนี้ ประเทศที่มีเสรีภาพสื่อมากที่สุดโลก นอร์เวย์ยังคงเป็นอันดับ 1 (7.63) ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ส่วนอันดับท้ายสุดยังคงเป็นเกาหลีเหนือ (อันดับที่ 180 มี 88.87 คะแนน) (การวัดดัชนี ถ้าผลรวมยิ่งใกล้ 1 ยิ่งหมายถึงมีเสรีภาพมาก)

ในขณะที่ประเทศไทย ปีนี้อยู่อันดับที่ 140 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ในอันดับที่ 142 อย่างไรก็ดี ไทยยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศแถบสีแดง ซึ่งจัดว่าเสรีภาพสื่ออยู่ในขั้นย่ำแย่ และอยู่ในอันดับ 3 ของกลุ่มอาเซียน โดยอันดับ 1 คือ อินโดนีเซีย อยู่อันดับที่ 124 (39.68 คะแนน) อันดับ 2 คือ ฟิลิปปินส์ และอันดับ 3 คือ พม่า แต่ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มสีแดง ยกเว้นลาวและเวียตนามที่อยู่ในกลุ่มสีดำ ซึ่งถือว่าสถานการณ์เสรีภาพสื่ออยู่ในขั้นย่ำแย่ที่สุด