“บิ๊กตู่” นั่งหัวโต๊ะถกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แบ่งแผนแม่บทช่วงละ10 ปี ปรับให้ทันสถานการณ์

“บิ๊กตู่” นั่งหัวโต๊ะถกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เคาะแบ่งแผ่นแม่บทละ 10 ปี ไม่ต้องบอกใช้งบเท่าไหร่ ยกเว้นจำเป็น แนะทีมปฏิรูปตำรวจ 6 ข้อ ปรับระบบสอบสวน – แต่งตั้ง

เมื่อวันที่ 20 เมษายน ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ โดยที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบในหลักการการจัดทำ รูปแบบ และเค้าโครงของแผนแม่บทตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยเห็นควรให้แผนแม่บทมีกรอบระยะเวลาดำเนินการ 20 ปี สามารถแบ่งช่วงระยะเวลาการพัฒนาตามแผนแม่บทเป็น 2 ช่วง ๆ ละ 10 ปี และควรปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้ง ให้ระบุแผนงาน โครงการ การดำเนินการที่เป็นเรื่องสำคัญที่จำเป็นต้องดำเนินการตามแผนแม่บท ทั้งนี้ ไม่ต้องระบุงบประมาณของแผนงาน โครงการ การดำเนินการต่าง ๆ ที่ปรากฏในแผนแม่บท ยกเว้นในเรื่องสำคัญที่จำเป็นต้องดำเนินการตามแผนแม่บท ให้มีการระบุกรอบงบประมาณเบื้องต้น และได้มอบหมายให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 คณะใช้ในการเตรียมการจัดทำแผนแม่บทของยุทธศาสตร์ชาติแต่ละด้านต่อไป

ที่ประชุมได้พิจารณาร่างยุทธศาสตร์ชาติ ที่จัดทำโดยคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 คณะ ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง 2.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3.ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 4.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทาง 5.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 6.ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ พร้อมกันนี้ ยังเห็นชอบข้อเสนอการปรับปรุงในประเด็น ได้แก่ ระดับรายละเอียดของเนื้อหาในยุทธศาสตร์ชาติ ความแตกต่างและความทับซ้อนกันระหว่างยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ด้าน ความเหมาะสมของตัวชี้วัดรายยุทธศาสตร์ การใช้คำศัพท์ที่สอดคล้องกันและเข้าใจง่าย โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาปรับปรุงร่างยุทธศาสตร์ชาติตามความเห็นของคณะกรรมการฯ และนำเสนอประธานกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบในนามคณะกรรมการฯ ก่อนเสนอ ครม. ต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาให้ข้อคิดเห็นต่อผลการดำเนินการของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) โดยมีความเห็นว่าการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ควรให้ความสำคัญกับความต้องการของประชาชนและประเทศ ใน 6 เรื่องสำคัญตามที่ได้มีการสั่งการในที่ประชุม ครม. ด้วยแล้ว ได้แก่ 1.โครงสร้างองค์กรและการถ่ายโอนภารกิจบางส่วน 2.การปรับปรุงด้านการสอบสวนเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่น 3.ระบบแต่งตั้งโยกย้าย และการร้องเรียนที่เป็นธรรม 4.ความพร้อมด้านวัสดุ อุปกรณ์ในการปฏิบัติงาน 5.มาตรฐานด้านนิติวิทยาศาสตร์ และ 6.ระบบสวัสดิการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมอบหมายคณะกรรมการพิเศษพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. … รับความเห็นของคณะกรรมการฯ ไปประกอบการดำเนินการต่อไป