‘ประจิน’ โว ‘อียู’ชื่นชม ไทยยกเลิกพลเรือนขึ้นศาลทหาร

“บิ๊กจิน” เผย ทูตอียู แค่ถามเรื่องโรดแมปเลือกตั้ง ไม่ได้ประเมิน หลัง สนช. คว่ำ 7 กกต.- โว อียูชื่นชม ไทยยกเลิกพลเรือนขึ้นศาลทหาร

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวภายหลังนายปีร์กะ ตาปีโอละ เข้าเยี่ยมคารวะในโอกาสเข้ารับหน้าที่เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป (อียู) ประจำประเทศไทย ว่า ทูตอียูได้แสดงความยินดีที่ไทยที่มีพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนด้วยการยกเลิกนำพลเรือนขึ้นศาลทหารไปเมื่อเดือนกันยายน 2559 นอกจากนี้ ยังสอบถามว่าการเลือกตั้งของไทยจะเป็นไปตามโรดแมปหรือไม่ ภายหลังที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีมติไม่ให้ความเห็นชอบบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ทั้ง 7 คน ซึ่ง พล.อ.อ.ประจินได้ยืนยันว่าเจตนารมณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังต้องการให้การเลือกตั้งเป็นไปตามโรดแมป แต่ส่วนประเด็น กกต. นั้น เราต้องขอเวลา เพราะตอนนี้ก็ไม่ทราบว่าขั้นตอนต่อไปจะเป็นอย่างไร เมื่อมีข้อมูลแล้วจึงจะแจ้งฝ่ายอียูไปอีกครั้ง

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การต้องสรรหา กกต. ชุดใหม่ จะส่งผลต่อการประเมินสถานการณ์ทางการเมืองในไทยของอียูหรือไม่ พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า วันนี้อียูไม่ได้พูดเรื่องประเมิน แต่พูดหลายเรื่องที่ชื่นชมเรา โดยเฉพาะเรื่องสิทธิมนุษยชน

“ ทูตอียูใบหน้ายิ้มแย้ม เขาไม่เคร่งเครียด ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่พบกัน เพราะทูตคนนี้เขารับตำแหน่งเมื่อเดือนธันวาคมปี 2560 หลังจากนี้ เขาต้องการนัดพูดคุยกับเราอีกครั้งที่กระทรวงยุติธรรม ในประเด็นเกี่ยวกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เพราะอียูทำงานกับกรมคุ้มครองสิทธิฯมาพอสมควร มีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายทั้งในไทยและต่างประเทศอยู่มากมาย จะได้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน” พล.อ.อ.ประจินกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่า การที่ทูตอียูสอบถามเรื่องสิทธิมนุษยชนนั้น เกิดจากการที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี 2560/61 ที่ระบุว่ารัฐบาลไทยมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนหรือไม่ พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า จริงๆแล้วเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสากล ไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้หลักการนี้ และมีการปฏิบัติมานาน ไม่ใช่ไม่เคยทำ เหตุที่อียูจับตา เพราะประเทศไทยมีเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองและการเลือกตั้ง ทำให้ประเด็นสิทธิมนุษยชนถูกพูดถึงเยอะในช่วงเวลานี้