สุรชาติ ชี้ Geopolitics คือความเสี่ยงของโลกสมัยใหม่ รัฐไทยยังปรับตัวช้าหวั่นไม่ทันโลก ระบุ รัฐประหาร ยังเป็นโจทย์ที่น่ากังวลในประเทศ ฝ่ายขวาไทยยังฝันเรื่องเดียวไม่รู้จบ

สุรชาติ ชี้ Geopolitics คือความเสี่ยงของโลกสมัยใหม่ รัฐไทยยังปรับตัวช้าหวั่นไม่ทันโลก ระบุ รัฐประหาร ยังเป็นโจทย์ที่น่ากังวลในประเทศ ฝ่ายขวาไทยยังฝันเรื่องเดียวไม่รู้จบ

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 24 พ.ค.2567 ที่ห้องคริสตัล บ็อกซ์ เกษร เออร์เบิน รีสอร์ท อาคารเกษร ทาวเวอร์ หนังสือพิมพ์มติชน จัดงาน “มติชนฟอรั่ม” หัวข้อ Thailand 2024 : Surviving Geopolitics ซึ่งเป็นกิจกรรมต่อเนื่องในโอกาสที่หนังสือพิมพ์มติชนก้าวเข้าสู่ปีที่ 47 เมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีบุคคลจากหลากหลายวงการ และประชาชนทั่วไปจำนวนมากเข้าร่วมงาน

นายสุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายในหัวข้อ Thailand : Surviving Geopolitics ว่า การมองพื้นที่ภูมิศาสตร์ผ่านแว่นทางการเมือง มีความยาก เพราะการเมืองไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะเรื่องการเมืองเท่านั้น แต่มีเรื่องการทหาร ความมั่นคง และเศรษฐกิจ เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

วันนี้มีโจทย์ที่น่ากลัวของภูมิรัฐศาสตร์อยู่ 3 ชุด คือ 1.สงคราม 2.โรคระบาด และ 3.การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ Geopolitics จึงเป็นความเสี่ยงระดับโลก เราเห็นได้ชัดว่าความเสี่ยงที่มาจากสงครามเราป้องกันไม่ค่อยไหว สงครามยูเครนเป็นสงครามใหญ่ในแบบที่เราไม่เคยเห็น ส่งผลกระทบกับตลาดเงิน ตลาดทอง ตลาดหุ้น แม้แต่ตลาดสดก็กระทบกับผู้คนในชีวิตประจำวัน

สถานการณ์ขณะนี้ คล้ายกับช่วงสงครามสเปนในปี 1936 หรือไม่ หากเป็นเช่นนั้น สงครามยูเครนจึงเหมือนการซ้อมรบก่อนการมาถึงของสงครามใหญ่ แต่หากคิดในข้อดี คือสงครามยูเครนยังรบอยู่ในยูเครน ซึ่งไตรมาสที่ 3 ของปี 2024 จะยังเห็นสงครามยูเครนอยู่ แต่ไม่แน่ใจว่าจะขยายตัวหรือไม่

นอกจากนี้ ยังมีโจทย์ความเสี่ยงของสถานการณ์ในกาซา ไต้หวัน การทดลองขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ ทะเลจีนใต้ที่สถานการณ์มีความเปราะบาง และสงครามการเมืองในพื้นที่ของรัฐชายขอบในหลายๆพื้นที่ของโลก ตนเชื่อว่า อีกไม่นานกระแสสังคมไทยจะพูดถึงสงครามโลกครั้งที่ 3 มากขึ้น ซึ่งเกิดจากความกังวล ความกลัว ข้อบ่งชี้คือราคาทองที่เป็นคำยืนยันความกลัวสงคราม

ขณะที่โจทย์เรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เป็นโจทย์ใหญ่ของทุกประเทศ วันนี้เราเห็นอุทกภัยใหญ่หลายพื้นที่ ในประเทศไทยวันนี้สำนวนเพลงลูกทุ่ง น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง จะกลับมาจริงๆ ส่วนโรคระบาดเราหวังอย่างเดียวว่าโควิดจะเป็นแค่เบาๆอ่อนๆ

นายสุรชาติ กล่าวด้วยว่า ผู้นำไทยคงเห็นสถานการณ์โลกในระยะหลัง แต่คำถามคือ ไทยจะตั้งรับอย่างไร คำตอบตรงนี้เราไม่ค่อยเห็น ผลพวงจากสถานการณ์ยูเครน สิ่งที่น่ากลัวในไทยคือความชาชินกับสถานการณ์ ทั้งวิกฤตโลกถือว่าเป็นสถานการณ์ที่หนักขึ้น คำถามคืออะไรคือการปรับตัวของรัฐกับสังคมไทย ในบริบทของสังคมไทย ตนคิดว่าภาคเอกชนมีการปรับตัว แต่ปัญหาคือภาครัฐบนเงื่อนไขที่เป็นระบบราชการ รัฐราชการ ต้องยอมรับว่ากระแสการขับเคลื่อนในการปรับตัวจึงเกิดขึ้นช้า

การเตรียมการรับมือกับปัญหา มีข้อจำกัดเหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา ตนอยากเห็นผู้นำของไทยมีความเข้าใจ และวิสัยทัศน์ เพราะหากรัฐไทยไม่ปรับตัวจะไม่สามารถแข่งขันในรัฐอำนาจใหญ่ได้ แต่การปรับตัว ต้องไม่ปรับด้วยเงื่อนไขยุทธศาสตร์ทางทหาร และเงื่อนไขยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพราะไม่ตอบโจทย์ อีกทั้งยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก็ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ด้วย

นายสุรชาติ กล่าวอีกว่า ภายใต้บริบทที่มีความผันผวนของการเมืองไทย และการเมืองโลก รัฐประหารยังเป็นประเด็นในสังคมไทย เพราะเกิดจากความกังวล และความกลัว ซึ่งรัฐประหารถือเป็นการละเมิดระเบียบระหว่างประเทศ ที่ในเวทีโลกเสรีนิยมไม่ตอบรับต่อการรัฐประหาร

อีกประเด็นคือกระแสปีกขวาที่ปีนี้มากกว่า 50 ประเทศทั่วโลกมีการเลือกตั้ง คนมากกว่า 49% ทั่วโลกเดินเข้าคูหากาบัตร ซึ่งการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาช่วงเดือนพ.ย.นี้ ตนไม่แน่ใจว่าเป็นการเลือกตั้งของสหรัฐฯ หรือของโลก เพราะหากโดนัลด์ ทรัมป์ มาจะมีเรื่องคุยกันอีกเยอะ ซึ่งฝ่ายขวายุโรปหรือขวาโลก ไม่ใช่ขวาไทยที่เป็นขวาล้าหลัง และคิดอยู่เรื่องเดียวคือ การความฝันเกี่ยวกับรัฐประหารที่ไม่รู้จบ