‘สุรชาติ’ ลั่น อาจจะดูหดหู่ มอง 1 ปีข้างหน้า ‘เหมือนซ้อมรบ’ สงครามโลกครั้งที่ 3 เกิดไหม? คงต้องสวดมนต์

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ที่ห้องคริสตัล บ็อกซ์ ชั้น 19 เกษร เออร์เบิน รีสอร์ท อาคารเกษรทาวเวอร์ แยกราชประสงค์ กรุงเทพฯ เนื่องในโอกาสหนังสือพิมพ์มติชนก้าวเข้าสู่ปีที่ 47 กองบรรณาธิการมติชน จัดเวทีมติชนฟอรั่ม ‘Thailand 2024 : Surviving Geopolitics’ เพื่อสะท้อนถึงสถานการณ์และหนทางปรับตัว ภายใต้ปัจจัย ‘ภูมิรัฐศาสตร์’ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชากรโลก ภาคส่วนต่างๆ ตลอดจนประชาชนคนไทย ทั้งในเชิงการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิรัฐศาสตร์ในมิติต่างๆ มาให้ความเห็น ได้แก่ ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ, ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ประธานหลักสูตรเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ, รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายคุณากร วาณิชย์วิรุฬห์ นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์โลก และภูมิรัฐศาสตร์

บรรยากาศเวลา 09.20 น. ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข บรรยายในหัวข้อ Thailand 2024 : Surviving Geopolitics ดำเนินรายการโดย นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ

ในตอนหนึ่ง เมื่อถามว่า 1 ปีหลังจากนี้ไป ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งสงคราม โลกระบาด อากาศเปลี่ยนแปลง จะกระทบกับคนไทยในมิติอื่นๆ อย่างไรบ้าง ?

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุขกล่าวว่า ตนเอาสงครามเป็นตัวตั้งเพราะเห็นชัด ในเรื่องสงครามยูเครน จากปี 2022-2024 ถามว่าจะจบในปีนี้หรือไม่ ตนติดว่า ‘ไม่’ เพราะเป็นสงครามใหญ่ในแบบที่เราไม่เคยเห็น

“เป็นสงครามที่ผมตั้งคำถามว่า กำลังคล้าย สงครามกลางเมืองสเปน ในปี 1936 หรือไม่ คือ ‘การซ้อมรบ’ ก่อนการมาของสงครามใหญ่ คือสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1939 ในยุโรป คิดอย่างนี้นอนไม่หลับแน่ แต่ข้อดีคือยังรบอยู่แค่ในวงยูเครน

แต่ปัญหาคือ ถ้าหากดูข่าวสัปดาห์ที่แล้ว เราเริ่มเห็น ‘ปูติน’ เริ่มสั่งซ้อมรบการใช้ขีปนาวุธทางยุทธวิธี ที่เบรารุส ถ้าปูติน ตัดสินใจยิงนิวเคลียร์ ทางยุทธวิธี เป้าหมายยูเึจ ถามว่า ‘นาโต’ จะยอมไหม นาโต เขาประกาศแล้วว่าไม่ยอม แล้วจะยังไงต่อ” ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติกล่าว และว่า

หรือถ้าไม่ใช้นิวเคลียร์ทางยุทธวิธี แต่รัสเซียตัดสินใจขยายพื้นที่สงคราม เข้าสู่ ‘มอลโดวา’ สู่พื้นที่แถบนั้น สัปดาห์ที่แล้วอังกฤษ กับฟินแลนด์ เริ่มจับมือกันแน่นขึ้น ใครที่ตามข่าวจะเห็นว่าวันนี้ประเทศแถวทะเลบอลติก ลิทัวเนีย ลัตเวีย และเอสโตเนีย 3 ประเทศที่เคยถูกรัสเซียยึดครอง วันนี้เตรียมพร้อมสู่สงคราม ฝูงบินของนาโตบางส่วน ก็ประจำการอยู่ประเทศแถบนี้

“เราก็พอคาดคะเนได้ว่า จากไตรมาสที่ 3 ของปี 2024 จนถึงสิ้นไตรมาส 2 ของปี 2025 ตนคิดว่า

1.สงครามยูเครน จะยังเห็นอยู่ แต่ตอบไม่ได้ว่าจะขยายตัวไหม

2.สงครามกาซา อาจจะจบ แต่ไม่รู้จะจบอย่างไร ข้อดีของกาซา มีอย่างเดียวคือ เป็นแนวกั้น สงครามในเลบานอน ให้ไม่เกิด เท่ากับสงครามไม่ขยายตัว

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ กล่าวอีกว่า อีกส่วนหนึ่ง คือการโต้ตอบบางส่วนกับอีหร่าน ก็จะจบลงแบบไม่เกิดอะไร แต่ไม่ได้ตอบว่า ‘สงครามในกาซา ถ้าจบ ตกลงอิสราเอลชนะไหม’ หรือสิ่งที่เราเห็น มันคือความพ่ายแพ้ทางการเมืองครั้งใหญ่ เพราะวันนี้ผู้นำอิสราเอล 2 คน ต้องเตรียมรับหมาย จากศาลอาญาระหว่างประเทศ

ดังนั้นโจทย์วันนี้คือ ‘ยูเครน + กาซา+ โจทย์ทะเลแดง +ช่องแคบไต้หวัน + การทดลองขีปนาวุธ + ทะเลจีนใต้’

“ตกลง การทดลองขีปนาวุธนิวเคลียร์ ของเกาหลีเหนือ จะจบลงตรงไหน และจบลงด้วยรูปแบบอะไร

ส่วน ‘ทะเลจีนใต้’ วันนี้เปราะบางมาก การกระทบกระทั่งเกิดต่อเนื่อง จนเกิดคำถามว่า ‘ถ้าสงครามไม่เกิดในทะเลจีนใต้ สงครามจะเกิดที่ช่องแตบใต้หวันไหม’ หรือ ‘สงครามช่องแคบใต้หวัน จะเกิดก่อนสงครามทะเลจีนใต้ แต่จะผูกโยงกัน’ ไปจนถึงอีกสงครามที่เราพูดถึงน้อยมากคือ สงครามกลางเมืองในพื้นที่ของรัฐชายขอบ อย่าง ซูดาน โซมาเลีย มาลี เมียนมา และอียิปต์ เป็นประเทศที่ยังไม่มีคำตอบ ซูดานวันนี้น่าเป็นห่วง

“สุดท้าย สงครามที่ตอบได้อย่างเดียว’ต้องภาวนาและสวดมนต์เยอะๆ คือ ‘สงครามโลกครั้งที่ 3’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา เกิดกระแสพูดเรื่องสงครามโลกครั้งที่ 3 มากขึ้น” ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติชี้

เมื่อพิธีกรถามว่า ส่วนตัวอาจารย์มองว่าทำไมถึงเกิดกระแสการพูดถึง ‘สงครามโลกครั้งที่ 3’ ในไทยในช่วงที่ผ่านมา ?

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติกล่าวว่า ตนมองว่าเป็น Fear and Anxiety เกิดจากความกลัวและกังวล จากราคาทองที่ผันผวน คือคำยืนยันความกลัวสงคราม ที่ถูกตอบโดยคำพูดของผู้นำ

“กลางเดือน ม.ค.ปีนี้ ผู้นำกองทัพอังกฤษ ประกาศชัดว่า คนอังกฤษรุ่นปัจจุบันจะมีสถานะ
เป็นคนยุคก่อนสงคราม Pre-war Generation แล้วก็ประกาศว่าต้องเตรียมพร้อมระบบกับกองทัพรัสเซีย ผมว่ามีการคิดแบบนี้ในยุโรปกันเยอะ เพียงแต่จะพูดหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง”

รวมถึงมีความเปราะบางหลายอย่าง เช่น ข้อเสนอของประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ที่จะส่งกองกำลังของฝรั่งเศส เข้าสู่สงครามยูเครน

หรืออีกอันที่ดูซับซ้อนคือ มีข้อเสนอให้ตั้งระบบทำลายจรวด หรือที่เรียกว่า ‘ระบบต่อต้านขีปนาวุธ’ ในพื้นที่นอกยูเครน และหากรัสเซียมีการยิงจรวดใส่ หรือกระทำการทางอากาศใส่ยูเครน ระบบต่อต้านพวกนี้จะทำงาน

“ถ้ารัสเซียตัดสินใจบอมบ์ ‘ที่ตั้งของระบบต่อต้านขีปนาวุธ’ ที่อยู่นอกยูเครน มันจะนำไปสู่มาตรา 5 ของนาโต (การโจมตีสมาชิกประเทศใดประเทศหนึ่งของชาติสมาชิก NATO ‘จะเท่ากับเป็นการโจมตีสมาชิกทุกประเทศ’) คือ การพานาโต เข้าสู่สงคราม

“โจทย์ยุโรปในวันนี้ ผมกำลังสงสัยว่าเรายังอยู่ก่อนปี 1939 (ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2) เพียงไม่นานหรือไม่”

“หรือถ้าคิดแบบคนในเอเชีย ผมคิดว่า นี่คืออาการก่อน 25 มิถุนายน 1950 หรือสงครามเกาหลี ตอบอย่างนี้มันอาจจะดูหดหู่นิดนึง” ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติกล่าว