“เบญจา” เซ็ง กองทัพบก-กองทัพเรือ เลี่ยงให้ข้อมูลธุรกิจพลังงานของกองทัพอย่างตรงไปตรงมา อ้างปั๊มน้ำมันมีเพื่อสนับสนุนภารกิจของหน่วยงาน แต่กลับแสวงหารายได้จากภายนอก รายได้ไม่ส่งคลัง

เบญจา แสงจันทร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจของกองทัพไปอยู่ในความดูแลของหน่วยงานอื่นหรือย้ายไปสถานที่อื่นที่เหมาะสม กล่าวถึงการประชุม กมธ. วิสามัญฯ เมื่อวานนี้ (9 เม.ย) มีเรื่องน่าตั้งข้อสังเกต 2 ประเด็น

หนึ่ง กรณีสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ให้ความคิดเห็นทางกฎหมายตามที่ กมธ.วิสามัญฯ แจ้งขอ โดยให้เหตุผลว่าเพราะ กมธ. ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ

สืบเนื่องจาก กมธ. ต้องการให้มีการตีความสถานะทางกฎหมายของ ททบ.5 และ RTA (Royal Thai Army Enterprise) ว่าเป็นอะไรกันแน่ เช่นเป็นหน่วยงานของรัฐภายใต้กองทัพบกหรือไม่ เพราะจะมีผลต่อการบริหารจัดการในอนาคต แต่กฤษฎีกากลับระบุว่า กมธ. ไม่ได้เป็นหน่วยงานของรัฐ กฤษฎีกาจึงไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องให้ความเห็น

เบญจากล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่ตนพบกรณีเช่นนี้ และเห็นว่ามีปัญหา 2 ส่วน (1) การตีความว่า กมธ.วิสามัญฯ ซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจของสภาฯ และสภาฯ แต่งตั้งขึ้น เป็นกรรมาธิการ ไม่ใช่หน่วยงานรัฐนั้น ความน่ากังวลของเรื่องนี้คือ กมธ. ถูกตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมสภาฯ เป็นหนึ่งในกลไกของฝ่ายนิติบัญญัติในการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายบริหาร การที่กฤษฎีกาให้ความเห็นเช่นนี้ จะนำไปสู่ปัญหาของกลไกการตรวจสอบถ่วงดุล ที่จะเป็นการลดอำนาจการพิจารณา สอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ที่เป็นหน้าที่ของสภาฯ หรือไม่ (2) หากกฤษฎีกายืนยันว่า กมธ. ไม่ใช่หน่วยงานรัฐ เหตุใดที่ผ่านมากฤษฎีกาจึงวางตนไม่สม่ำเสมอ เมื่อไรอยากให้ความเห็นทางกฎหมายก็ให้ แต่พอถึงเรื่องที่ไม่อยากให้ความเห็นก็อ้างว่าไม่ใช่หน้าที่ อ้างว่า กมธ. ไม่ใช่หน่วยงานรัฐ ทั้งที่ในอดีต กมธ. คณะต่างๆ ก็เคยเชิญกฤษฎีกามาให้ความเห็นทางกฎหมายหลายต่อหลายครั้ง

การหาคำตอบให้ได้ว่า ททบ.5 มีสถานะอะไร เป็นเรื่องจำเป็น เนื่องจากตอนนี้ ททบ.5 ซึ่งประกอบกิจการโทรทัศน์ ที่มีกองทัพบกเป็นผู้รับใบอนุญาต และ RTA ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่ ททบ.5 ไม่เคยยอมรับว่าเป็นบริษัทของตนเอง เป็นบริษัทที่มีกองทัพบกถือหุ้นใหญ่เกินกว่าร้อยละ 50 ถือเป็นกิจการที่มีส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐถือหุ้นเกินกว่ากึ่งหนึ่ง ยิ่งไปกว่านั้น มิใช่กองทัพบกถือหุ้นอย่างโดดๆ เพราะมีข้าราชการทหารเป็นเสมือนผู้แทนในหุ้นนั้น ซึ่งก็เป็นประเด็นข้อสงสัยสำคัญว่า สถานะของ ททบ.5 และ RTA เป็นกิจการของรัฐประเภทใด เข้านิยามตามกฎหมายใด เป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่ เพราะขณะนี้ไม่สามารถยืนยันสถานะทางกฎหมายของ ททบ.5 และ RTA ได้

หลังจากนี้ กมธ. จะทำหนังสือส่งถึงกองทัพบก เพื่อขอให้กองทัพบกสอบถามไปที่กฤษฎีกาว่าสรุปแล้ว ททบ.5 และ RTA มีสถานะเป็นอะไร เชื่อว่าแนวทางนี้จะได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน เช่นเดียวกับกรณีธนาคารกรุงไทย ที่ตนเคยดำเนินการตามคำแนะนำของกฤษฎีกามาแล้ว

กล่าวคือเมื่อครั้งมีคำถามว่าธนาคารกรุงไทยมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้แนะนำให้สอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะอดีตหน่วยงานกำกับดูแลธนาคารกรุงไทย ได้คำตอบกลับมาว่าธนาคารกรุงไทยยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจตามกฏหมาย 3 ฉบับ ซึ่งหากตนเทียบเคียงกับกรณี ททบ.5 และ RTA จึงควรทำหนังสือถึงกองทัพบกในฐานะผู้ถือหุ้นมากกว่า 50% เพื่อให้กองทัพบกส่งให้กฤษฎีกาให้ความเห็นว่า ททบ.5 และ RTA มีสถานะใดกันแน่

เบญจากล่าวต่อว่า อีกกรณีคือข้อมูลด้านธุรกิจพลังงานของกองทัพ ที่พบว่าบางเหล่าทัพพยายามหลีกเลี่ยงการให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา

โดยในอนุกรรมาธิการก่อนหน้านี้ ได้ให้เหล่าทัพต่างๆ เข้ามาชี้แจง พบว่ากองทัพอากาศและกองบัญชาการกองทัพไทยให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่ 2 เหล่าทัพที่ค่อนข้างน่าผิดหวัง คือกองทัพเรือ ไม่สามารถให้ความชัดเจนเกี่ยวกับกิจการที่ตัวเองมี และอ้างว่าสถานีบริการน้ำมันเป็นเพียงส่วนสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์หรือภารกิจของกองทัพเรือ ทั้งที่ความจริงกองทัพเรือมีรายได้จากหน่วยบริการเหล่านี้

อีกหน่วยงานคือ กองทัพบกที่ไม่ยอมให้ข้อมูลตามที่อนุกรรมาธิการขอไป อ้างว่ากิจการ เช่น สถานีบริการน้ำมัน ไม่ใช่กิจการด้านพลังงาน จึงไม่มีเอกสารรายรับ รายจ่าย รายได้ หรืองบการเงิน ตามที่ขอไปมาชี้แจง ซ้ำยังขอเวลารวบรวมเอกสารเพิ่มเติมทั้งที่กองทัพบกเองก็เคยถูกขอมาแล้วหลายครั้ง

เรื่องนี้ทำให้นึกถึงกรณีการผลิตปิโตรเลียมที่บ่อน้ำมันในลุ่มแอ่งฝาง จ.เชียงใหม่ ซึ่งศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือชี้แจงว่าสงวนพื้นที่ไว้เป็นหลักประกันความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศในช่วงวิกฤต แต่ความเป็นจริงคือปิโตรเลียมถูกขุดและนำมากลั่นที่โรงกลั่นน้ำมันฝาง ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น แนฟทา (Naphtha) น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา ก่อนที่ทั้งหมดจะถูกส่งออกไปขายภายนอกยังคู่ค้าเอกชน ทั้งที่ปิโตรเลียมถือเป็นสมบัติของชาติ เป็นทรัพยากรร่วมกันของคนไทยทุกคน หากจะทำธุรกิจด้านนี้ต้องเสียค่าภาคหลวงเช่นเดียวกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น ปตท. แต่กรณีบ่อน้ำมันที่ฝาง ตลอดกว่า 66 ปีที่ผ่านมา กรมการพลังงานทหารกลับครอบครองไปใช้สร้างรายได้ให้หน่วยงานตัวเองโดยไม่เสียค่าภาคหลวงแต่อย่างใด