สส.ก้าวไกล สมุทรสาคร จี้รัฐสังคายนาทั้งระบบ หลังลงพื้นที่สำรวจปัญหาประชาชนที่อาศัยใกล้โรงงานพบกากแคดเมียม

วันที่ 9 เมษายน 2567 ที่ซอยกองพนันพล ตำบลบางน้ำจืด อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร นายณัฐพงษ์ สุมโนธรรม สส.จังหวัดสมุทรสาคร เขต 1 พรรคก้าวไกล ได้ลงพื้นที่เพื่อร่วมสังเกตุการณ์การตรวจคัดกรองประชาชนที่อาศัยบริเวณใกล้เคียงพื้นที่โรงงานที่พบกากแคดเมี่ยม

นายณัฐพงษ์ ระบุว่า แม้ล่าสุดจะพบกากแคดเมียมเพิ่มเติมอีกจุดหนึ่งในพื้นที่ตำบลคลองมะเดื่อ อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร อีกจำนวนราว 500 ตัน ทำให้ขณะนี้พบกากแคดเมี่ยมที่จังหวัดสมุทรสาครแล้วทั้งสิ้น 3 จุด ในตำบลบางน้ำจืด 2 จุดและตำบลคลองมะเดื่อ 1 จุด มีจำนวนรวมราว 4,474 ตัน แต่ทราบมาว่ายังไม่พบว่ามีการหลอมแคดเมียม และไม่พบการปนเปื้อนออกไปภายนอกโรงงาน แต่ขณะนี้เกิดความไม่สบายใจของประชาชนชาวจังหวัดสมุทรสาคร และชาวจังหวัดอื่นๆ ถึงกับมีการพูดว่าจะไม่กินอาหารทะเลจากมหาชัย เนื่องจากกลัวสารแคดเมียมตกค้าง

“ผมขอยืนยันว่าอาหารทะเลยังทานได้ปกติ เพราะพื้นที่อ่าวไทยและแหล่งอาหารทะเล กับพื้นที่ที่พบกากแคดเมียมอยู่ห่างกันมาก คือแคดเมี่ยมถูกพบที่ตำบลบางน้ำจืด 2 จุด และพบที่ตำบลคลองมะเดื่อล่าสุดอีก 1 จุด ซึ่งข้อมูลล่าสุดที่ได้รับมาจากหน่วยงานรัฐ คือแคดเมี่ยมไม่ได้มีการแพร่ไปสู่สภาพแวดล้อมนอกโรงงาน แม้ว่าล่าสุดจะมีการตรวจพบปริมาณสารตกค้างในร่างกายของพนักงานโรงงานที่ซอยกองพนันพล แต่คาดว่าเกิดจากการทำงานที่สัมผัสโดยตรงและต่อเนื่อง แต่ข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องล่าสุด ยังยืนยันว่าไม่พบการแพร่หรือรั่วไหลของสารแคดเมียมใดๆ ออกสู่พื้นที่โดยรอบ ทั้งในดินน้ำอากาศ นอกจากนี้ทางสาธารณสุขก็ได้มีการตรวจหาสารแคดเมี่ยมจากประชาชนที่อาศัยอยู่พื้นที่โดยรอบใกล้กับสถานที่ที่พบแคดเมียมด้วยแล้ว ” นายณัฐพงษ์ กล่าว

นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากเรื่องแคดเมี่ยมแล้ว ประชาชนในพื้นที่มีความกังวลกันมานานว่าโรงหลอมในพื้นที่มักหล่อหลอมในช่วงกลางคืน และมีการปล่อยควัน ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนประชาชน ซึ่งไม่รู้เลยว่า สิ่งที่หลอมเป็นสารอันตรายด้วยหรือไม่นี่เป็นปัญหาเรื้อรังและเป็นปัญหาใหญ่ของจังหวัดมานาน หากเป็นสารอันตรายก็ย่อมส่งผลกระทบกับสุขภาพของประชาชน และจะเป็นการผ่อนส่งสุขภาพของประชาชนไปในทุกๆ วัน จึงควรใช้โอกาสนี้ ในการดูสารอันตรายอื่นๆ ด้วย

อย่างไรก็ตามมีหลายโรงงานที่ไม่สนใจและไม่รับผิดชอบในการประกอบธุรกิจ แต่ก็มีหลายโรงงานที่อยากจะปรับตัว แต่อาจติดเรื่องเงินทุนหรือพื้นที่ในการทำระบบบำบัด สิ่งเหล่านี้ภาครัฐจำเป็นต้องเข้ามารับฟังและหาทางแก้ปัญหาเหล่านี้ รวมถึงประเด็นที่ไกลไปกว่านั้นคือ สุดท้ายแล้วรัฐบาลจะเอาอย่างไรกับเรื่องเหล่านี้ จะหาสมดุลอย่างไร ระหว่างเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน เพราะถึงที่สุดแล้วธุรกิจบางอย่างก็เป็นสิ่งที่ในประเทศที่พัฒนาแล้วเขาไม่อนุญาตให้ทำ หรือหากจะทำต้องมีระบบที่ดี รับผิดชอบต่อสังคม แต่หากทำไม่ได้ก็ต้องถูกสั่งปิด และเลิกกิจการไป สิ่งเหล่านี้รัฐ ในฐานะผู้กำกับดูแล ต้องเข้ามาจัดการ ตนจึงขอให้รัฐบาลใช้โอกาสนี้ในการสังคายนาทั้งระบบ