สมรสเท่าเทียมผ่านแล้วหลังมติในสภาเป็นเอกฉันท์ เบสท์-โฆษกพรรคไทยสร้างไทยชี้ การเดินทางครั้งนี้ต้องเดินหน้าต่อไป เพื่อให้ความเท่าเทียมทางเพศเกิดขึ้นได้จริง

(27 มีนาคม 67) ที่รัฐสภา มีการประชุมเพื่อลงมติผ่านวาระที่ 2 และ 3 ของร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือที่รู้จักกันในชื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งผลปรากฏว่า เห็นชอบ 400 เสียง, ไม่เห็นชอบ 10 เสียง, งดออกเสียง 2 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 3 เสียง จึงนับได้ว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร “เห็นชอบ” ในร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม และเตรียมนำเสนอกฎหมายดังกล่าวให้วุฒิสมาชิกแห่งวุฒิสภาพิจารณา

เบสท์ วงศ์ไพโรจน์กุล รองโฆษกพรรคไทยสร้างไทยได้ให้ความเห็นว่า นี่คือก้าวสำคัญของความเท่าเทียมทางเพศในสังคมไทย เพราะการที่ร่างกฎหมายฉบับนี้สามารถเดินทางมาถึงการรับรองร่างในวาระที่ 2 และ 3 มาได้นั้น เขาในฐานะผู้ที่ร่วมอยู่ในกระบวนการร่าง-ร่างกฎหมายฉบับนี้มาตั้งแต่วันแรก รู้สึกยินดีและภาคภูมิใจเป็นอย่างมากที่วันนี้ ร่างกฎหมายที่เบสท์ร่วมผลักดันสามารถเข้าสภาและได้รับการรับรองจริงๆ

แต่เบสท์ระบุเพิ่มเติมว่า นี่ยังเป็นการเดินทางที่ไม่ถึงปลายทางโดยสมบูรณ์ เพราะต้องนำร่างกฎหมายดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมวุฒิสภาอีกครั้ง เพื่อให้ได้รับการรับรองก่อนจะนำร่างกฎหมายประกาศใช้งานจริง ซึ่งมีแนวโน้มที่จะได้ใช้งานจริงในช่วงเดือนมิถุนายนนี้

นอกจากนี้ เบสท์มองเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีมากซึ่งสังคมตื่นตัว และให้ความสำคัญกับการผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้เข้าสู่สภา นับแต่วันแรกที่มีการล่ารายชื่อผ่านแคมเปญรณรงค์ที่ได้รับการยืนยันชื่อกว่า 300,000 รายชื่อ ไปจนถึงการพูดถึงบนพื้นที่สาธารณะ หน้าสื่อมวลชน อีกทั้งการให้ความสำคัญกับกฎหมายฉบับนี้อย่างจริงจังของพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งพรรคไทยสร้างไทยสนับสนุน และเน้นย้ำถึงความสำคัญของกฎหมายสมรสเท่าเทียมมาโดยตลอด พร้อมทั้งผลักดันนโยบายเพื่อสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศในหลายมิติ ซึ่งเบสท์เองก็เป็นหนึ่งในคณะทำงานนี้ด้วย

หากแต่ว่าการอภิปรายในสภาเมื่อเช้านี้ มีการกล่าวถึงการแก้ไขมาตรา 5 ที่ปรับอายุของผู้ที่สามารถหมั้นได้จาก 17 ปี เป็น 18 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนฉบับอื่นๆ ที่ไทยเป็นภาคี โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรท่านหนึ่งได้ขึ้นอภิปราย “ไม่เห็นด้วย” ต่อการเปลี่ยนแปลงอายุในครั้งนี้ โดยอ้างหลักการทางศาสนา พร้อมกับค่านิยมว่า “ถ้าผู้ปกครองอนุญาตก็แต่งกันได้ ซึ่งหลักการนี้มีมากกว่า 1400 ปีแล้ว”

เบสท์ระบุว่าวิธีคิดนี้เป็นวิธีคิดที่อันตรายมาก เพราะการปรับอายุให้การแต่งงานทำได้ตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นการป้องกันการแต่งงานตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิ์เด็ก อีกทั้งยังผิดกฎหมาย และผิดเงื่อนไขในอนุสัญญาหลายๆ ข้อที่ไทยมีส่วนร่วมด้วย แต่สุดท้ายด้วยมติที่ประชุมนั้น เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 5 จนสภามีมติเห็นชอบในที่สุด

เบสท์กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากให้ประชาชนยังคงร่วมกันจับตาเมื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในวุฒิสภา ซึ่งยังมีความน่าเป็นห่วงในการลงมติเพื่อรับรองกฎหมาย โดยเบสท์ย้ำว่า หากวุฒิสภารับรองกฎหมายฉบับนี้ทั้ง 3 วาระ ไทยจะเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศที่สามในเอเชียที่มีสมรสเท่าเทียม ซึ่งจะเป็นความภูมิใจอย่างยิ่งของกลุ่มคนเพศหลากหลาย และการตอกย้ำถึงความเท่าเทียมทางเพศที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย