เครื่องบินรบขับไล่แบบใบพัด AT-6TH เตรียมเข้าประจำการ กองบิน 41 เชียงใหม่

AT-6TH

กองบิน 41 เผยเตรียมประจำการ AT-6TH จำนวน 2 ลำ เข้าฝูงบิน 411 มิถุนายน นี้  ที่เหลือเข้าประจำการปลายปีนี้ 

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ที่กองบิน 41 อ.เมือง จ.เชียงใหม่ น.อ.ปรธร จีนะวัฒน์ ผู้บังคับการกองบิน 41 แถลงข่าวการนำเครื่องบิน AT-6TH เข้าประจำการฝูงบิน 411 ว่า กองทัพอากาศได้สั่งซื้อเครื่องบินดังกล่าว จำนวน 12 ลำ ตามงบประมาณผูกพัน ปี 2564-2468 รวมมูลค่ากว่า 4,600 ล้านบาท ซึ่งเครื่องบินดังกล่าวเป็นเครื่องบินรบแบบขับไล่ ที่มีความเร็ว 250-300 น็อต หรือความเร็วไม่สูงมาก โดยมีแผนเข้าประจำการที่กองบิน 41 จ.เชียงใหม่ จำนวน 2 ลำ ในช่วงมิถุนายนนี้ และเข้าประจำการครบทุกลำช่วงปลายปีนี้ ซึ่งได้ส่งนักบินชุดแรกไปฝึกซ้อมที่สหรัฐอเมริกา ก่อนรับเครื่องบินดังกล่าวเข้าประจำการฝูงบินตามลำดับ

“เครื่องบินดังกล่าวเป็นเครื่องบินโจมตีเบา เหมาะสมกับภูมิประเทศภาคเหนือที่มีแนวชายแดนติดประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อใช้ลาดตระเวนและสนับสนุนการรบภาคพื้นดินทหารราบ เนื่องจากมีความเร็วไม่สูงมากนัก สามารถบินได้นาน 4 ชั่วโมงครึ่ง โดยมีศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานที่ตาคลี จ.นครสวรรค์ ดูแลและบำรุงรักษา ภายใต้ความร่วมมือการพัฒนาด้านเทคโนโลยีกับบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะระบบซอฟต์แวร์เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการบินภายในประเทศด้วย” น.อ.ปรธรกล่าว

ไม่หวั่นปะทะ MIG-35 ส่ง F-16 คุ้มกัน

น.อ.ปรธรกล่าวอีกว่า เครื่องบินรบดังกล่าวเพื่อทดแทนฝูงบิน L-39 ที่ปลดประจำการแล้ว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถป้องกันประเทศและรักษาอธิปไตยของชาติ ซึ่งเครื่องบินดังกล่าวมีอายุการใช้งานกว่า 30 ปี มีค่าบำรุงรักษาน้อย สามารถประหยัดงบประมาณได้มากขึ้น

“ข้อสงสัยว่าเป็นเครื่องบินรบใบพัด สามารถต่อกรกับเครื่องบินไอพ่นเพื่อนบ้านได้หรือไม่ โดยเฉพาะ MIG-39 ที่ผลิตในรัสเซีย หากต้องเผชิญหน้าสงครามกลางเวหาก็ขอบอกว่ากองทัพอากาศมีเครื่องบินรบไอพ่นแบบขับไล่ อาทิ F-16 คอยคุ้มเครื่องบินดังกล่าวอยู่แล้ว พร้อมปกป้องคุ้มครองอธิปไตยไม่ให้ศัตรูรุกราน หรือฝ่ายตรงข้ามล่วงล้ำเข้ามาอีก จึงไม่น่าเป็นห่วงเรื่องดังกล่าวมากนัก เพราะต้องปฏิบัติตามสถานการณ์ และกฎการปะทะตามสากลอยู่แล้ว” น.อ.ปรธรกล่าว

น.อ.ปรธรกล่าวต่อว่า ดังนั้น อยากให้ประชาชนเชื่อมั่นขีดความสามารถกองทัพอากาศและเหล่าทัพ เพื่อสร้างความมั่นใจและอุ่นใจในการปกป้องรักษาความมั่นคงและความสงบของประเทศด้วย

น.อ.ปรธร จีนะวัฒน์ ผู้บังคับการกองบิน 41

ชี้ไทยลูกค้าต่างชาติรายแรก

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2564 เว็บไซต์ ไฟล์ทโกลบอล รายงานว่า บริษัทเท็กซ์ตรอน อาวิเอชั่น ดีเฟนซ์ (Textron Aviation Defense) บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินจากรัฐแคนซัส สหรัฐอเมริกา บรรลุสัญญาขายเครื่องบินจู่โจมขนาดเล็กอย่าง Beechcraft AT-6 Wolverine ให้กับกองทัพอากาศไทย ที่จะสั่งซื้อเครื่องบินดังกล่าวจำนวน 8 ลำด้วยกัน ภายใต้สัญญามูลค่า 143 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 4,675 ล้านบาท

รายงานระบุว่า สัญญาซื้อขายเครื่องบินระหว่าง บริษัทเท็กซ์ตรอน กับกองทัพอากาศไทย ถูกประกาศที่งานมหกรรม “ดู ไบ แอร์โชว์” มหกรรมแสดงสินค้าเทคโนโลยีการบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่มหานครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ต่อมา วันที่ 17 พ.ย. 2564 กองทัพอากาศไทยได้แถลงยอมรับข่าวดังกล่าว ว่า เป็นการจัดหาเครื่องบินโจมตีแบบเบา (AT-6) จำนวน 8 เครื่อง พร้อมอุปกรณ์อะไหล่ ระบบสนับสนุนการฝึกอบรม และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่จำเป็น เพื่อทดแทนเครื่องบินแบบ L-39 ซึ่งมีอายุการใช้งานนานกว่า 25 ปี และได้ปลดประจำการแล้ว รองรับภารกิจการโจมตีทางอากาศ การค้นหาและช่วยชีวิตในพื้นที่การรบ รวมถึงบูรณาการความร่วมมือในการสนับสนุนการป้องกันประเทศ และรักษาผลประโยชน์แห่งชาติกับหน่วยงานอื่น วงเงินงบประมาณ 4,500 ล้านบาท (143,396.000 USD)

ทั้งนี้ วงเงินงบประมาณอาจมีความผันผวนตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินในห้วงนั้น (หากอ้างอิงตามอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ วันที่ 16 พ.ย.64 เป็นเงิน 4,688,260,522 บาท ซึ่งเป็นโครงการผูกพันงบประมาณ 5 ปี ระหว่างปี 64-68

ใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตเอง-จ้างประกอบภายในประเทศ

วันเดียวกัน พล.อ.ต.ประภาส สอนใจดี โฆษกกองทัพอากาศในขณะนั้น ให้สัมภาษณ์ว่า

“ยืนยันว่าการดำเนินโครงการจัดหาเครื่องบินโจมตีแบบเบา (AT-6) ในครั้งนี้ เป็นไปเพื่อดำรงขีดความสามารถของกองทัพอากาศ ในการปฏิบัติหน้าที่ปกป้องอธิปไตยของชาติตามที่กฎหมายกำหนด การจัดหาทุกขั้นตอนเป็นไปด้วยความโปร่งใส คำนึงถึงความคุ้มค่า และประโยชน์สูงสุดของประเทศเป็นสำคัญ”โฆษกกองทัพอากาศ กล่าว

นอกจากนี้กองทัพอากาศยังเผยแพร่ภาพประชาสัมพันธ์มีเนื้อหาระบุว่า เครื่องบินดังกล่าว เป็นเครื่องบินฝึกและเป็นเครื่องบินโจมตีเบาได้ สามารถบินลาดตระเวนตรวจการณ์ ทั้งยังส่งเสริมอุตสาหกรรมการบินในประเทศ เพราะใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตเอง และจ้างประกอบภายในประเทศ รวมถึงยังได้กรรมสิทธิ์ซอฟแวร์ที่พัฒนาต่อยอดได้เอง เครื่องบินดังกล่าวยังมีเสียงเบา เป็นการลดมลภาวะทางเสียงด้วย