นักวิชาการ ชี้ มรดกระบอบประยุทธ์ยังอยู่-เป็นอุปสรรคการพัฒนาที่ยั่งยืน

สฤณี อาชวานันทกุล นักคิด นักเขียน นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวปาฐกถา “ป๋วย อึ๊งภากรณ์” ครั้งที่ 19 โดย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วงหนึ่ง วิจารณ์กล่าวถึง มรดกระบอบประยุทธ์ยังคงอยู่ในระบบราชการ-เศรษฐกิจปัจจุบัน โดยเรียกว่าเป็นระบอบอุปถัมภ์ทุนผูกขาด

“ดิฉันเห็นว่าเราไม่มีวันบรรลุ เป้าหมาย “การพัฒนาที่ยั่งยืน” อย่างแท้จริงตามนิยามของศัพท์บัญญัติคำนี้ หรือแม้แต่คืบหน้าในสาระสำคัญได้ หากเรายังไม่เผชิญหน้าและรับมือกับความอยุติธรรม ความไม่เป็นธรรมและความรุนแรงเชิงโครงสร้างทั้งหลายที่ยังฝังลึกในนโยบายรัฐและการดำเนินธุรกิจของกลุ่มทุนบางกลุ่ม” สฤณี ระบุ

สฤณี กล่าวต่อว่า “ดิฉันเห็นด้วยกับอาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ และ วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร ที่เสนอว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสซ.) สร้าง “ระบอบประยุทธ์” ผ่านการออกแบบรัฐธรรมนูญที่ฝังกลไกสืบทอดอำนาจให้กับกองทัพและชนชั้นนำ และสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับกลุ่มทุนจำนวนมาก คำว่า “ระบอบประยุทธ์” ในข้อเสนอของอาจารย์ทั้งสอง ไม่ได้หมายถึงตัวบุคคล แต่หมายถึง “ระบอบคณาธิปไตยแบบใหม่ ซึ่งอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจถูกผูกขาดอยู่ในมือของชนชั้นนำจำนวนน้อย ที่หันไปรื้อฟื้นวัฒนธรรมศักดินาอุปถัมภ์มาปกครองสังคม”

ในระบอบนี้ “กลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่มีเส้นสายเชื่อมโยงกับกลุ่มอำนาจ ได้เข้าถึงกระบวนการกำหนดนโยบาย ทรัพยากรและสถานะที่สามารถครอบงำระบบเศรษฐกิจไทย และกีดกันไม่ให้กลุ่มทุนรายย่อยและผู้ประกอบการอิสระสามารถแข่งขัน ในระบบอย่างเท่าเทียมกันได้

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะไม่เห็นมาตรการลดการผูกขาดหรือส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมตลอดหลายปีที่ผ่านมา

มิหนำซ้ำสถานการณ์กลับเลวร้ายลง เมื่อองค์กรอิสระหลายองค์กรรวมถึงสถาบันตุลาการ ถูกตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าเป็น “อิสระ” จริงหรือไม่ อย่างไร หรือว่าเป็นอิสระจากประชาชน แต่ไม่เป็นอิสระจากผู้ครองอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง

ในปี 2024 หลายปีหลังจากที่อาจารย์ประจักษ์และวีระยุทธเสนอคำว่า “ระบอบประยุทธ์” หลังจากที่ “ประยุทธ์”ในชื่อระบอบนี้ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี “ระบอบประยุทธ์” ก็ยังคงเจริญงอกงาม ถ้าดูจากการทำงานขององค์กรอิสระและองคาพยพต่างๆ ที่เผด็จการทหารวางรากฐานไว้ รวมถึงหน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันที่สำคัญ ยกตัวอย่างเช่น

ㆍคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในปี 2018 คสช. ออกคำสั่งแต่งตั้งกรรมการทั้งคณะ 7 คน ซึ่ง ณ ต้นปี 2024 บุคคลเหล่านี้ 5 จาก 7 ดน ยังดงดำรงตำแหน่งกรรมการ กกพ.

ㆍคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) 7 คน นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจากบุคคลที่ผ่านการคัดเลือกโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี กรรมการในคณะกรรมการสรรหาส่วนใหญ่ 5 ใน 9 คน เป็นปลัดกระทรวง อีก 2 คน เป็นประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เท่ากับให้ภาคเอกชนมีบทบาทในการสรรหากรรมการที่จะมีอำนาจกำกับภาคเอกชน โดยคณะกรรมการ กขค. ชุดปัจจุบันมาจากการแต่งตั้งของหัวหน้าคณะรัฐประหาร 2014 ในฐานะนายกรัฐมนตรีในจำนวนนี้เกินกึ่งหนึ่งคือ 4 คน ได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2023 ก่อนเปลี่ยนรัฐบาล และมีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี

ㆍ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มาจากความเห็นชอบจากวุฒิสภา ซึ่ง ณ ต้นปี 2024 ยังคงเป็นวุฒิสภาที่มาจากการคัดเลือกของคณะรัฐประหาร แม้จะมีที่มาหลากหลายก็ตาม

นักวิชาการนักเศรษฐศาสตร์อิสระท่านนี้ ระบุว่า “ดิฉันเห็นว่าการทำงานตลอดหลายปีที่ผ่านมาของหน่วยงานกำกับดูแลเหล่านี้ สะท้อนความ “เกรงใจกลุ่มทุน”มากกว่าเกรงใจประชาชนหรือประโยชน์สาธารณะ การตัตสินหลายกรณีนอกจากจะส่งผลให้ผู้ครองตลาดได้เถลิงอำนาจเหนือตลาดมากกว่าเดิม กีดกันการแข่งข้นมากกว่าเดิมแล้วเหตุผลที่ให้ยังทำให้น่าสงสัยว่าอาจถูก “ยึดกุม” (regulatory capture) โดยกลุ่มทุนที่เกี่ยวข้องไปแล้วด้วยซ้ำไป”

“ดิฉันอยากขนานนาม “ระบอบประยุทธ์” หลังการเลือกตั้ง2023 ว่า “ระบอบอุปถัมภ์ทุนผูกขาด” และเสนอว่า ตราบใดที่ระบอบนี้ยังดำรงอยู่ เราจะไม่มีวันเบนเข็มเข้าสู่ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ได้อย่างแท้จริง เพราะระบอบนี้ไม่แยแสความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ ความยุติธรรมทางสังคม และความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า เป็น”หัวใจ” ของการพัฒนาที่ยั่งยืน” สฤณี กล่าว