สรุปข่าวต่างประเทศ : วิกฤตคนจน-คนรวยในประเทศกำลังพัฒนา! / ดัน’มหาธีร์’ลงนายกฯมาเลอีกรอบ / ความตึงเครียดคาบสมุทรเกาหลี

อินโดนีเซีย

จาการ์ตา – สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ธนาคารโลกออกมาเตือนในรายงานฉบับใหม่ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ระบุว่า ช่องว่างที่ถ่างกว้างระหว่างคนรวยและคนจนในประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกกำลังคุกคามรากฐานแห่งความสำเร็จทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้อย่างสำคัญ เพราะแม้การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเฟื่องฟูจะยกระดับชีวิตของผู้คนนับหลายล้านคนในภูมิภาคนี้ให้พ้นจากภาวะยากจนนับจากช่วงทศวรรษ 1980 ก็ตาม แต่ความมั่งคั่งดังกล่าวไม่ได้เป็นหลักประกันความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นของประชากรหมู่มากในภูมิภาคนี้แต่อย่างใด การเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุ การขยายตัวของชุมชนเมือง และการหายไปของแรงงาน กำลังเป็นปัจจัยคุกคามที่จะทำให้ผู้คนหลายล้านคนกลับไปอยู่ใต้เส้นแบ่งความยากจนที่หมายถึงกลุ่มคนที่มีเงินประทังชีวิตในแต่ละวันเพียง 3.10-5.50 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 100-150 บาท)

Chinese investors sit in front of a screen showing stock market movements at a securities firm in Hangzhou, eastern China’s Zhejiang province on May 31, 2016.
Asian stocks rose on May 31, led by a surge in Shanghai, while the dollar edged higher as traders weighed the fallout from a likely US interest rate rise this summer. / AFP PHOTO / STR / China OUT

ธนาคารโลกระบุอีกว่า จำนวนคนยากจนในภูมิภาคนี้ ซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาและชาติหมู่เกาะในแปซิฟิกหลายสิบประเทศ ไม่รวมญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ได้ลดจำนวนลงอย่างมากในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยในปี 2015 ประชากร 2 ใน 3 มีสถานะทางเศรษฐกิจที่มั่นคงหรือเป็นกลุ่มชนชั้นกลาง ซึ่งเพิ่มขึ้นจากในปี 2002 ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ทว่าความไม่เท่าเทียมในเรื่องรายได้ที่ขณะนี้มีอยู่สูงหรือเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และกำลังเป็นปัญหาที่รุนแรงที่สุดในอินโดนีเซียและจีน ต่อปัญหานี้ธนาคารโลกชี้แนะให้ประเทศเหล่านี้เร่งเสริมสร้างระบบประกันสังคมให้มีความแข็งแกร่งและช่วยเหลือคนยากจนให้มีสถานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น หากต้องการหลีกเลี่ยงผลกระทบเชิงลบที่จะเกิดขึ้นตามมาจากปัญหาความไม่เท่าเทียมกันด้านรายได้

มาเลเซีย

กัวลาลัมเปอร์ – เว็บไซต์แชนแนลนิวส์เอเชียรายงานอ้างการเปิดเผยของแหล่งข่าวระบุว่า นายมหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีที่ทรงอิทธิพลและดำรงอยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดของมาเลเซีย ซึ่งปัจจุบันอยู่ในวัย 92 ปี ได้รับการสนับสนุนด้วยเสียงส่วนมากจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่จะให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี ในการเลือกตั้งทั่วไปของมาเลเซียที่คาดว่าจะมีขึ้นในราวกลางปีหน้า โดยการเสนอชื่อนายมหาธีร์ให้ดำรงตำแหน่งสูงสุดดังกล่าวมีขึ้นในระหว่างการหารือกันอย่างไม่เป็นทางการเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาของพรรคร่วมฝ่ายค้านมาเลเซียในการเตรียมแผนสู้ศึกเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในกลางปีหน้า ซึ่งมีการเสนอว่าหากฝ่ายค้านชนะเลือกตั้ง จะให้นายมหาธีร์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปจนกว่า นายอันวาร์ อิบราฮิม อดีตรองนายกรัฐมนตรีและแกนนำฝ่ายค้านมาเลเซียโดยพฤตินัยที่ยังคงรับโทษจำคุก 5 ปีอยู่ในเรือนจำในฐานความผิดมีพฤติกรรมรักร่วมเพศ จะได้รับการปล่อยตัวออกมา ที่คาดว่าอาจเป็นในช่วงกลางปีหน้าเนื่องจากมีความประพฤติดี ขณะที่ยังมีการวางตัว นางวัน อาซิซะห์ วัน อิสมาอิล ภรรยาของนายอันวาร์ ให้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีด้วย

(FILES) This file photo taken on June 14, 2012 shows former Malaysian prime minister Mahathir Mohamad speaking during an interview with AFP at his office in Kuala Lumpur. Former Malaysian premier Mahathir Mohamad announced February 29, 2016 he was quitting the ruling party, saying it had degenerated into an organisation whose sole purpose was to protect scandal-plagued Prime Minister Najib Razak. AFP PHOTO / FILES / Saeed KHAN

อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวคนเดียวกันระบุว่า ข้อเสนอนี้ได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่าย ยกเว้น นายอัซมิน อาลี มุขมนตรีรัฐสลังงอร์ ซึ่งเป็นรองประธานพรรคพีเคอาร์และกลุ่มผู้สนับสนุนนายอาลีเพียงไม่กี่คนที่ไม่เห็นด้วย โดยมีการกล่าวหาว่านายอาลีอยากได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไว้เอง

เกาหลีใต้

โซล – สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า คาบสมุทรเกาหลียังไม่มีทีท่าที่จะคลายความตึงเครียดลงหลังจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเกาหลีเหนือประกาศความสำเร็จในการทดสอบยิงขีปนาวุธนำวิถีข้ามทวีป (ไอซีบีเอ็ม) ฮวาซง-15 ที่ถูกระบุว่าเป็นไอซีบีเอ็มที่มีประสิทธิภาพสูงสุดของเกาหลีเหนือโดยสามารถยิงโจมตีได้ทั่วดินแดนของสหรัฐอเมริกา โดยบรรยากาศยิ่งเพิ่มความตึงเครียดขึ้นเมื่อกองทัพสหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้เปิดฉากปฏิบัติการซ้อมรบทางอากาศครั้งใหญ่ที่สุดร่วมกันระหว่างวันที่ 4-8 ธันวาคม โดยการซ้อมรบร่วมครั้งนี้มีขึ้นภายใต้ปฏิบัติการ “วิจิแลนต์ เอซ” มีอากาศยานเข้าร่วม 230 ลำ รวมถึงฝูงบินขับไล่เอฟ-22 แร็พเตอร์ เครื่องบินขับไล่เอฟ-35 และทหารสหรัฐราว 12,000 นาย ร่วมซ้อมรบกับทหารเกาหลีใต้ ขณะที่ก่อนเปิดฉากการซ้อมรบครั้งนี้ ฝ่ายเกาหลีเหนือได้ออกมาประณามการซ้อมรบร่วมของสหรัฐและเกาหลีใต้ว่าเป็นการยั่วยุและเป็นการร้องขอสงครามนิวเคลียร์ของรัฐบาลสหรัฐ

A woman walks past a television screen showing file footage of a North Korean missile launch, at a railway station in Seoul on April 5, 2017.
Nuclear-armed North Korea fired a ballistic missile into the Sea of Japan on April 5, just ahead of a highly-anticipated China-US summit at which Pyongyang’s accelerating atomic weapons programme is set to top the agenda. / AFP PHOTO / JUNG Yeon-Je

อย่างไรก็ดี ยังคงมีความพยายามที่จะเดินหน้าแก้ไขปัญหาพิพาทนี้ด้วยวิถีทางการทูตกับเกาหลีเหนือต่อไป โดยล่าสุดองค์การสหประชาชาติได้ส่ง นายเจฟฟรีย์ เฟลต์แมน รองเลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ฝ่ายการเมือง เดินทางไปเยือนเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยจะเกิดขึ้นนักในการเยือนเกาหลีเหนือของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของยูเอ็น และมีขึ้นภายใต้ความมุ่งหวังที่จะดับชนวนวิกฤตตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีลง