‘จิรัฏฐ์’ จี้ถาม ‘ศักดิ์สยาม’ เปลี่ยนป้ายสถานีกลางบางซื่อ 33 ล้านบาท ทำทำไม ?

‘จิรัฏฐ์’ จี้ถาม ‘ศักดิ์สยาม’ เปลี่ยนป้ายสถานีกลางบางซื่อ 33 ล้านบาท ทำทำไม แพงเกินไปหรือไม่ ชี้ ใช้เงินมือเติบ ไม่สนใจเงินภาษีประชาชนถูกผลาญ ย้อนข้อมูล รฟท. เพิ่งแพ้คดียูนิค ทำไมยังเลือกจ้าง ด้าน รมว.คมนาคมแจง เปลี่ยนชื่อเป็นประเพณีปฏิบัติ ทำเป็นปกติ ขอรอผลสอบใน 15 วัน

วันที่ 5 มกราคม 2566 ที่รัฐสภา จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามสดศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กรณีการเปลี่ยนป้ายสถานีกลางบางซื่อ เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ มูลค่ากว่า 33 ล้านบาท โดยตั้งคำถาม 3 ประเด็น ได้แก่ (1) ราคาแพงเกินไปหรือไม่ (2) เพราะอะไรจึงเปลี่ยนชื่อ และ (3) ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ กรณีที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพิ่งแพ้คดีบริษัทยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทผู้รับจ้าง

จิรัฏฐ์กล่าวว่า ประเด็นแรก ป้ายสถานีกลางบางซื่อปัจจุบันมีอายุ 3 ปี เดิมมีแค่ตัวอักษร แต่ในการปรับปรุงครั้งนี้ จะเพิ่มโลโก้ รฟท. เข้าไปด้วย ซึ่งไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเพิ่ม มีประโยชน์อย่างไร หาก รฟท. ต้องการประหยัดงบประมาณ สามารถเปลี่ยนแค่บางส่วนก็ได้ เช่น เก็บคำว่า ‘สถานีกลาง’ ไว้ แต่เปลี่ยนชื่อ หรือข้อเสนอของพรรคก้าวไกลคือให้ใช้ทั้ง 2 ชื่อคู่กัน เพราะไม่ว่าอย่างไร ประชาชนก็จะเรียกว่าสถานีกลางบางซื่ออยู่ดี จึงขอถามว่า ราคาค่าจ้างการเปลี่ยนป้ายมูลค่า 33 ล้านบาทนั้น เหมาะสมหรือไม่ แพงไปหรือไม่

ศักดิ์สยาม ชี้แจงว่า ที่ผ่านมาระบบขนส่งสาธารณะของประเทศไทยที่ให้บริการประชาชนทุกโครงการ ล้วนได้รับพระราชทานชื่อที่เป็นมงคลนาม การเปลี่ยนชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ซึ่งมีความหมายว่า ‘ความรุ่งเรืองยิ่งแห่งกรุงเทพมหานคร’ จึงไม่ต่างจากการเปลี่ยนชื่อสนามบินหนองงูเห่า เป็นสนามบินสุวรรณภูมิ โดยได้ดำเนินการขอพระราชทานชื่อเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ได้รับพระราชทานชื่อใหม่เมื่อเดือนกันยายน 2565 และเดือนตุลาคม 2565 กระทรวงคมนาคมสั่งการให้ รฟท. ติดตั้งป้ายชื่อพระราชทานให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่ง รฟท. กำหนดทีโออาร์การดำเนินการต้องสอดคล้องกับ พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 จึงจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจง เพราะการปรับปรุงป้ายจะกระทบโครงการเดิมที่ดำเนินการเสร็จแล้วและอยู่ระยะค้ำประกันสัญญา หากไม่ใช้วิธีนี้จะมีปัญหา ต่อมาเมื่อเห็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน จึงได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในวันนี้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส มีรองปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน จะทราบผลภายใน 15 วัน

จิรัฏฐ์กล่าวว่า คำถามของตนสั้นมาก ถามว่าราคา 33 ล้านบาทแพงเกินไปหรือไม่ ประชาชนคิดว่าแพง แต่รัฐมนตรีตอบไม่ตรงคำถาม อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้รัฐมนตรีพุ่งเป้าการตรวจสอบไปที่ รฟท. เพียงอย่างเดียว เพราะปีศาจมักซ่อนอยู่ในรายละเอียด หากย้อนไปเมื่อเดือนมกราคม 2563 ผู้รับเหมาคือบริษัทยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งร่วมกับบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ติดตั้งป้ายสถานีกลางบางซื่อเสร็จสิ้น ต่อมาเมื่อได้รับพระราชทานชื่อใหม่ รัฐมนตรีก็เร่งรีบให้ รฟท. เปลี่ยนป้าย จึงใช้วิธีเฉพาะเจาะจง กำหนดราคากลางเสร็จเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว เมื่อประชาชนเห็นราคาที่สูงก็ตั้งคำถาม รัฐมนตรีจึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ถือเป็นสูตรสำเร็จในการเอาตัวรอด น่าสงสัยว่ารัฐมนตรีไม่รู้มาก่อนเลยหรือว่าอยากได้ชื่อสถานีใหม่ หรือไม่ว่าอย่างไรก็จะเปลี่ยนชื่อให้ได้โดยไม่สนว่าต้องใช้เงินภาษีประชาชนเท่าไร จึงขอตั้งคำถามที่สองต่อว่า ทำไมต้องเปลี่ยนชื่อสถานี

“รัฐมนตรีทราบหรือไม่ ว่ามีป้ายเล็กป้ายน้อยอีกเท่าไรที่ต้องเปลี่ยนชื่อตาม ทั้งหมดต้องใช้เงินเท่าไร พาลจะลำบากไปถึง กทม. ผมคิดว่ารัฐมนตรีใช้เงินมือเติบเกินไป วันนี้ถ้าเอาหน่วยงานราชการของประเทศไทยมาเรียงกัน การรถไฟฯ น่าจะยาจกที่สุด เพราะขาดทุนต่อเนื่องทุกปีเป็นแสนล้าน แต่กลับใช้เงินสุรุ่ยสุร่ายแบบนี้” จิรัฏฐ์กล่าว

จิรัฏฐ์กล่าวว่า ที่รัฐมนตรีคมนาคมบอกว่า การเปลี่ยนชื่อเป็นประเพณีนั้น คือประเพณีอะไร และหากทราบว่าเป็นประเพณี ทำไมจึงทำป้ายถาวรมาก่อน ถ้าหน่วยงานราชการอื่นเอาแบบอย่าง จะต้องใช้เงินภาษีประชาชนอีกเท่าไร นอกจากนี้ อีกเรื่องที่สำคัญ คือเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 รฟท. เพิ่งจะแพ้คดีต่อกิจการร่วมค้า SU ระหว่าง บริษัท ยูนิค กับ บริษัท ซิโนไทย ความเสียหายกว่า 7,500 ล้านบาท เหตุผลหลักที่แพ้คดีในครั้งนั้น ตามที่ปรากฏในสำนวนการฟ้อง คือ รฟท. เอาสถานีกลางบางซื่อที่ยังไม่ได้จ่ายค่าก่อสร้างครบถ้วน ไปทำศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ จนคนงงทั้งประเทศว่าทำไมต้องมาฉีดที่นี่ น่าตั้งคำถามว่าทำแบบนี้เพื่อให้แพ้คดีโดยง่ายหรือไม่และน่าแปลกที่เกิดข้อพิพาทขนาดนั้น วันนี้ดอกเบี้ยก็ยังเดินอยู่ แต่ทำไมถึงยังจัดซื้อจัดจ้างบริษัทยูนิค ความเสียหายที่เกิดขึ้นใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ รวมถึงงานก่อสร้างในอนาคตที่มีกิจการร่วมค้า SU จะมีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นอีกหรือไม่ เป็นประเด็นคำถามที่สาม

ศักดิ์สยาม กล่าวว่า ยืนยันว่ากระทรวงคมนาคมไม่มีอะไรต้องปกปิด ขอให้รอผลการตรวจสอบ เมื่อผลออกมาจะรายงานให้ประชาชนทราบแน่นอน การเปลี่ยนชื่อนั้น เป็นประเพณีปฏิบัติ ไม่ใช่ความต้องการของตน สถานที่สำคัญของราชการหลายแห่งก็ทำแบบนี้ เป็นเรื่องปกติ ส่วนประเด็นราคาถูกหรือราคาแพง ตนไม่ยืนยัน เพราะไม่ใช่คนกำหนดราคา และเรื่องคดีความที่ว่า จนถึงตอนนี้คดียังไม่ถึงที่สุด ยังมีการต่อสู้อยู่ ต้องมีการอุทธรณ์ต่อไป